xs
xsm
sm
md
lg

ไปชม “ดอกบ๊วย” ก่อนซากุระบาน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ญี่ปุ่นปีนี้ช่วงที่หนาวก็หนาวจัด แต่บทจะอุ่น อยู่ ๆ อุณหภูมิก็สูงพรวดทันทีจนต้องปรับเปลี่ยนเสื้อผ้ากะทันหัน แต่ก็ดีเหมือนกันที่ทำให้มีโอกาสออกไปสัมผัสอากาศภายนอกได้สะดวกกว่าเดิม และด้วยอากาศเย็นแบบเดินสบาย ผมจึงได้แวะเวียนไปสวนสาธารณะใจกลางกรุงเพื่อมุ่งไปชมดอกไม้รับฤดูใบไม้ผลิ

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ดอกซากุระยังไม่บานต้นเดือนมีนาคม ดอกที่ไปชมมาในยามที่ลมหนาวยังไม่หมดคือ “อุเมะ” (梅;ume) หรือ “บ๊วย” ภาษาจีนกลางเรียกว่า “เหมย” อันเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า ชื่อ “อุเมะ” ในภาษาญี่ปุ่นอาจมาจากภาษาจีนคำนี้หรือคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน เนื่องด้วยคนญี่ปุ่นสมัยโบราณมักเพิ่มเสียงขึ้นจมูกก่อนออกเสียงพยัญชนะนาสิก (ขึ้นจมูก) อย่างเช่นคำที่ใช้เสียง “ม” ดังนั้น คำว่า “เมะ” (หรืออะไรที่ใกล้เคียงกับ “เหมย”) จะออกเสียงว่า “(อื)ม-เมะ” และกลายเป็น “มุเมะ” ในภาษาญี่ปุ่น และกลายเป็น “อุเมะ” ดังเช่นในปัจจุบัน

สวนที่ผมไปมาคือ “สวนโคะอิชิกะวะ-โคระกุเอ็ง” (小石川後楽園 ; Koishikawa-Kōraku-en) ซึ่งเป็นสวนที่เก่าแก่มาก มีมาตั้งแต่สมัยเอะโดะ โดยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2172 และตอนนี้กลายเป็น 1 ใน 3 สวนของไดเมียว (“ไดเมียว” หมายถึง เจ้าผู้ครองนคร มีหลายคนตามหัวเมืองต่าง ๆ ส่วนโชกุนโดยหลักการก็คือไดเมียวคนหนึ่ง แต่เป็นผู้ที่กุมอำนาจสูงสุด) ที่ยังหลงเหลือจากสมัยที่เมืองเอะโดะกลายเป็นศูนย์กลางทางการทหารของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเก่าแก่ แต่สภาพภายในสวนซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 70,000 ตารางเมตรไม่ได้แลดูทรุดโทรมเลย

พอก้าวพ้นกำแพงด้านนอกเข้าไปไม่เท่าไรจะพบบ่อน้ำตรงกลาง ปลายหน้าหนาวอย่างนี้ ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพใบโกร๋น รวมทั้งต้นซากุระอีกมากมายที่รอเวลาอากาศอุ่นติด ๆ กันสักพักก็คงพร้อมจะผลิดอกออกมาดึงดูดผู้ชม ท่ามกลางบรรยากาศที่ดูแห้งแล้งนี้ มีป้ายชี้ไปยัง “ป่าบ๊วย” ทางปีกซ้ายของสวน เดินเรื่อย ๆ ฟังเสียงเท้ากระทบพื้นกรวดเลาะริมบ่อไปอีกหน่อยเดียวก็ขึ้นสู่เนินเตี้ย ๆ เห็นสีชมพูลิบ ๆ มาแต่ไกล ขยับเข้าไปอีกหน่อย ก็เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าสีชมพูนั้นมีความเข้มจางต่างกันออกไป ดูเผิน ๆ คล้ายดอกซากุระ แต่ในช่วงเวลาอย่างนี้ต้องไม่ใช่แน่


เป็นไปตามคาด ในดงต้นบ๊วยของสวนแห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติมารวมตัวกัน บ้างมากับครอบครัว บ้างมากับเพื่อน ท่าทีอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนการชมดอกซากุระคือ หลายคนพยายามโน้มตัวสูดกลิ่นดอกบ๊วย กลิ่นหวาน ๆ ในบรรยากาศเย็น ๆ เช่นนี้คือเสน่ห์ของดอกบ๊วยที่ต่างจากซากุระ อันที่จริง ซากุระก็มีกลิ่น แต่ไม่แรงเท่าบ๊วย และเป็นที่ทราบกันว่าคนญี่ปุ่นรักษามารยาทในที่สาธารณะได้ดี ในการสูดกลิ่นดอกไม้ก็เช่นกัน ไม่ใช่การโน้มกิ่งเข้าหาตัว แต่เป็นการโน้มตัวเข้าหากิ่งโดยไม่แตะต้องส่วนใด ๆ ของต้นเลย จึงอุ่นใจได้ว่าดอกบ๊วยจะไม่ช้ำและอยู่กับต้นทนนานไปตามกาลเวลาของมัน

แต่เมื่อพูดถึงการชมความงามของดอกบ๊วย คงต้องบอกว่าน่าเสียดายที่คนเมืองร้อนคงไม่มีโอกาสได้ทำ อย่างเมืองไทยของเรา แม้รู้จักบ๊วยมานาน แต่พอพูดคำว่าบ๊วย เรามักนึกถึงลูกบ๊วย หรือบ๊วยที่แปลว่า “ที่โหล่” และเป็นไปได้ยากที่จะได้เห็นดอกบ๊วย ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนญี่ปุ่น เมื่อเอ่ย “อุเมะ” คนมักนึกถึง “ดอกบ๊วย” และนอกจากดอกก็นำผลมากินด้วย อาจกินมากกว่าคนไทยด้วยซ้ำ ทั้งบ๊วยอบแห้ง เหล้าบ๊วย และบ๊วยดองซึ่งเรียกว่า “อุเมะโบะชิ” ก็นำมากินกับข้าวต้มและข้าวสวย รวมไปถึงข้าวปั้นโอะนิงิริที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ
อุเมะโบะชิ
สำหรับที่มาของบ๊วยในญี่ปุ่นนั้น เชื่อกันว่ามาจากจีนตั้งแต่โบราณ บ๊วยปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประชุมกลอนจีนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น “ไคฟูโซ” (懐風藻 ; Kaifūsō) แต่งโดยกวีญี่ปุ่นหลายคน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้รวบรวมขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 8 และระหว่างที่ญี่ปุ่นค้าขายกับจีนก็มีการนำเข้าบ๊วยรมควันจากจีน ในจีนนั้นถือว่าบ๊วยมีคุณสมบัติทางการแพทย์ด้วย ญี่ปุ่นก็รับความเชื่อนั้นเข้ามา ต่อมาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันสรรพคุณว่ามีผลดีต่อร่างกายจริง เช่น บ๊วยดองซึ่งมีรสเปรี้ยวนั้นมีกรดซิตริกตามธรรมชาติอยู่มาก กรดซิตริกเป็นกรดที่บริโภคได้ การทานเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย และชะลอความชราได้

บ๊วยผูกพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมาก ปรากฏอยู่ในหลายบริบท จนกล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับบ๊วยไม่แพ้ซากุระซึ่งมีลักษณะคล้ายกันและบานในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่คงเพราะความอลังการของดอกซากุระที่เบ่งบานละลานตาเป็นพุ่มท่วมต้นจนแทบไม่เห็นกิ่งก้าน คนส่วนใหญ่จึงประทับใจซากุระมากกว่า เมื่อก่อนดูเหมือนว่าดอกบ๊วยได้รับความสนใจมากกว่าดอกซากุระเสียอีก ดังที่สะท้อนออกมาใน “การชมดอกไม้” หรือ “โอะ-ฮะนะมิ” ในสมัยก่อนคือการชมดอกบ๊วย ไม่ใช่ดอกซากุระดังเช่นตอนนี้ หรือแม้แต่ในประชุมโคลงกลอนญี่ปุ่น “มังโยชู” ศตวรรษที่ 8 ซึ่งถือว่าเป็นมีความสำคัญมาก ก็กล่าวถึงบ๊วย 118 บท แต่กล่าวถึงซากุระ 42 บท
ศาลเจ้าไดไซฟุเท็มมังงู (ภาพโดยJakub Hałun)
บ๊วยในญี่ปุ่นปรากฏเป็นตำนาน “บ๊วยบิน” หรือ “โทะบิอุเมะ” (飛梅;Tobi-ume) ด้วย เรื่องราวไม่ได้น่าตื่นเต้นเหมือนหนังกำลังภายในสักเท่าไร แต่ค่อนไปทางเรื่องซึ้งใจมากกว่า เรื่องมีอยู่ว่าปราชญ์และกวีในราชสำนักสมัยเฮอัง (พ.ศ. 1337-1728) ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงและปัจจุบันถือว่าเป็นเทพแห่งการเรียนรู้นามว่า “เท็นจิง” (天神 ; Tenjin) เกิดความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในราชสำนัก และถูกสั่งย้ายไปประจำในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดฟุกุโอะกะ เขามีต้นบ๊วยที่รักมากอยู่ต้นหนึ่งในสวนที่บ้าน เมื่อรู้ว่าจำต้องพลัดพรากจากต้นบ๊วยแสนรัก จึงแต่งกลอนสะท้อนความเศร้าสร้อยพูดกับบ๊วยต้นนั้น ต่อมากลอนบทนั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้ ความว่า “ลมบูรพาพัด สุคนธ์จัดดอกบานสะพรั่ง โอ้เจ้าดอกบ๊วยไซร้ ยามร้างไร้นายของเจ้านั้น อย่าแปรผันลืมใบไม้ผลิ” ต้นบ๊วยรักนายของมันมาก จึงบินไปถึงเมืองที่นายถูกย้ายไปประจำ และกลายเป็น “บ๊วยบิน” ยืนต้นเติบโตอยู่ที่นั่น ปัจจุบันต้นบ๊วยบินอยู่ที่ศาลเจ้าไดไซฟุเท็มมังงู (太宰府天満宮; Dazaifu Tenman-gū) จังหวัดฟุกุโอะกะ เป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง
ต้นบ๊วยบิน (ภาพโดย SA)
นอกจากตำนานที่ทำให้บ๊วยดูเหมือนมีชีวิตจิตใจแล้ว ต้นบ๊วยยังมีคุณสมบัติที่น่าชื่นชมจริง ๆ อยู่ด้วยในด้านความทรหด เพราะดอกบานตอนที่อากาศยังหนาวมาก คือ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ และบานก่อนดอกไม้ชนิดอื่น คนจีนยกย่องว่าบ๊วยเป็นหนึ่งใน “สามสหายฝ่าเหมันต์” อันประกอบด้วยสน ไผ่ และบ๊วย เพราะความทนทานของพืชเหล่านี้ จึงมีการนำมาสะท้อนอุดมคติแห่งนักปราชญ์ที่เปี่ยมไปด้วยความทรหดอดทนและมุ่งมั่น ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจุดนี้เช่นกัน แต่เมื่อรับมาแล้วก็แตกแขนงไปจากความเชื่อดั้งเดิม โดยมองว่า “โช-ชิกุ-ไบ” (松竹梅 ;shōchikubai) หรือ “สน-ไผ่-บ๊วย” เป็นพืชมงคล จึงนำไปใช้ประดับในพิธีมงคล

การชมป่าบ๊วยคราวนี้ปิดฉากลงในช่วงเย็น ๆ เมื่อแดดเริ่มอ่อนแรง ความหนาวค่อย ๆ ไล่พื้นที่ความอุ่นออกไป คนเริ่มเดินออกจากสวนซึ่งปิดห้าโมงเย็น อีกไม่กี่วันเมื่อดอกบ๊วยร่วง ก็จะถึงคราวซากุระบาน แม้สวนแห่งนี้คงจะแน่นกว่าฤดูบ๊วย แต่เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้จักไม่มาก ใครที่เบื่อการเบียดเสียดในสวนอุเอะโนะ หรือสวนชินจุกุเกียวเอ็ง ที่นี่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกแห่ง กับค่าเข้า 300 เยนถือว่าคุ้มค่า



**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น