“นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” ภาษิตโบราณของไทยหากชาวญี่ปุ่นได้เรียนอาจต้องตีความใหม่ เพราะธุรกิจญี่ปุ่นหลายแห่งสามารถหารายได้จากศพของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
ในพิธีศพของญี่ปุ่นโดยปกติแล้วจะใช้การเผาศพและให้ญาตินำเถ้ากระดูกกลับไป แต่นอกจากเถ้ากระดูกแล้ว ผู้เสียชีวิตหลายรายยังทิ้ง “ของมีค่า” ไว้ด้วย จนรัฐบาลท้องถิ่นและผู้รับผิดชอบฌาปนสถานหลายแห่งได้ทำสัญญากับบริษัทธุรกิจเพื่อรับซื้อโลหะมีค่าที่หลงเหลือจากศพของผู้วายชนม์
บริษัทฮันชิน แมทีเรียล รับงานจัดการดูแลสิ่งที่เหลือการฌาปนสถานมานานกว่า 80 ปี โดยนอกจากจะจัดการกับสิ่งที่หลงเหลือจากการเผาศพแล้ว ยังได้ประโยชน์จากโลหะมีค่าจำนวนไม่น้อย เช่น ทองคำ และเงินที่อยู่ในฟันปลอม, หรือส่วนต่างๆ ของร่างผู้เสียชีวิต
โลหะมีค่าที่หลงเหลือจากการเผาศพที่ความจริงควรเป็นของญาติผู้ตาย แต่ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะโลหะส่วนใหญ่ถูกหลอมละลายปะปนกับเถ้ากระดูก จึงต้องใช้เทคโนโลยีให้การแยกสกัดออกมา และยังมีหลายกรณีที่เป็นศพที่ไม่มีญาติ โลหะมีค่าอย่างทองคำมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขายได้สูงถึง 35 ดอลลาห์ต่อ 1 กรัม ทำให้บริษัทต่างๆ แข่งขันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการจัดการสถานที่เผาศพ
ประธานบริษัทฮันชิน แมทีเรียล ระบุว่า ทางบริษัทดูแลการฌาปนกิจด้วยความเคารพสูงสุด แต่เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายที่ระบุเกี่ยวกับโลหะมีค่าที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิต กฎหมายที่ท้องถิ่นต่างๆ ใช้จึงเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและแตกต่างกันไป เช่น ที่เมืองโยโกฮามา มีฌาปนสถานของรัฐ 4 แห่งรองรับศพที่มาเผากว่า 30,000 ศพต่อปี ตั้งแต่อดีตรัฐบาลเมืองโยโกฮามาต้องจ่ายเงินจ้างบริษัทเพื่อจัดการเถ้ากระดูกและสิ่งของที่หลงเหลือจากการเผาศพ แต่เมื่อต้นปีนี้รัฐบาลเมืองโยโกฮามาได้เปลี่ยนนโยบาย โดยประมูลขายเถ้ากระดูกที่เหลือให้กับบริษัทนำไปสกัดหาโลหะมีค่า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจัดการด้วยความเคารพ และเงินที่ได้จะนำไปใช้พัฒนาชุมชน
เจ้าหน้าที่เมืองโยโกฮามา ระบุว่า ญาติผู้เสียชีวิตจะนำเถ้ากระดูกกลับไปเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และส่วนที่เหลือจะต้องมีการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งการเปิดให้บริษัทเอกชนประมูลไปสกัดหาโลหะมีค่าก็เป็นวิธีที่ดี ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ เถ้ากระดูกที่ถูกประมูลขายได้มีมูลค่าถึง 325,000 ดอลลาห์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบางท้องถิ่น เช่น นครเกียวโต ไม่อนุญาตให้สกัดหาโลหะมีค่าจากเถ้ากระดูก และยังจัดสร้างสถานที่จัดเก็บเถ้ากระดูกเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นสถานที่ปกปิดเพราะรู้ดีว่าอาจมีผู้ประสงค์หาประโยชน์จากเถ้ากระดูก
เจ้าหน้าที่ของนครเกียวโต ระบุว่า มีบริษัทหลายแห่งติดต่อเพื่อขอซื้อเถ้ากระดูก แต่ทางรัฐบาลนครเกียวโตไม่เห็นชอบ เพราะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่มีค่ามากกว่าจะประเมินเป็นเงินได้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรมีการหารือและออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งมีค่าที่หลงเหลือจากศพ เพราะญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนจะเป็นทั้งการให้ความเคารพต่อผู้วายชนม์ และจัดการมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย.