xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “อิชิโงะ-ไดเอ็ตโตะ” ลดความอ้วนด้วยสตรอว์เบอร์รี

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

เรื่องของเรื่องมันเริ่มจากหัวข้อสนทนาของคนวัยอ้วนง่ายกับบุพการีว่าด้วย “วิธีไดเอ็ต” ผมโทร.กลับเมืองไทยทีไร ตอนนี้ก็มักจะรายงานให้คุณแม่ฟังเป็นระยะว่าลดไปกี่ขีดแล้ว (ระดับกิโลคงยังไม่ต้องพูด) ใคร ๆ ก็รู้ว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีวินัยด้านการกินด้วย ผมก็คนหนึ่งที่พยายามจะตระหนักในเรื่องนี้ ตั้งปณิธานตอนปีใหม่ว่า “ห้ามอ้วน” บังเอิญว่าอ้วนไปแล้ว จึงต้อง “ลดความอ้วน” แต่ในเมื่อการหาเวลาไปออกกำลังกายทำได้ยาก จึงต้องหันมาดูแลด้านอาหาร

ทีนี้พอคุยกับเพื่อนและถูกถามว่าคุมยังไง ผมก็ตอบไปตามความจริง บังเอิญว่าตอบทางไลน์ จึงไม่ได้เห็นสีหน้า แต่คาดว่าคงเป็นเสียงชื่นชมผสมหมั่นไส้ แต่ผมก็มีเหตุผลของผมที่เลือกใช้วิธีนี้ คือ มันง่ายและเป็นไปตามฤดูกาล วันนี้จึงถือโอกาสเอาเรื่องนี้มาขยายแบบสบาย ๆ หลังจากที่ “ญี่ปุ่นมุมลึก” เข้าสู่ “มุมหนัก” อย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน

คนญี่ปุ่นเรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า “อิชิโงะ” แปลเป็นไทยว่า “สตรอว์เบอร์รี” บางครั้งภาษาญี่ปุ่นเรียกทับศัพท์ว่า “ซุ-โต-โระ-เบะ-รี” แต่คำหลังมักใช้เพื่อหมายถึงรสชาติ เช่น ไอศกรีมรสสตรอว์เบอร์รี “อิชิโงะ” นี่แหละคืออาหารเย็นอาทิตย์ละ 2-3 วันที่ผมเริ่มกินมาตั้งแต่กลางเดือนมกราคม เพราะสตรอว์เบอร์รีเริ่มออกเยอะ และจะดำเนินต่อไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม คือกินจนกว่าจะฤดูจะซาลง วิธีแบบนี้คนญี่ปุ่นเรียกว่า “อิชิโงะ-ไดเอ็ตโตะ” (いちごダイエット;Ichigo-daietto) หรือ “การลดความอ้วนด้วยสตรอว์เบอร์รี” ซึ่งเป็นสูตรที่แพร่หลายทั่วไปตามอินเทอร์เน็ต คนไทยฟังแล้วอาจมองบนมองล่าง หรืออาจจะหรี่ตาทำหน้าเอือมว่า “นี่มันลดความอ้วนแบบไฮไซ”

โอ้...อย่าไปมองแบบนั้น เพราะจะบอกให้ว่าสตรอว์เบอร์รีในญี่ปุ่นไม่ใช่ของแพงเท่าไร รูปลักษณ์หรูหราดูน่ารับประทานอาจทำให้คิดว่าราคาแพง แต่เปล่าเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในญี่ปุ่น หรือแม้แต่จะเทียบกับค่าครองชีพของคนไทยก็ถือว่าไม่แพงนักเมื่อพิจารณาคุณภาพประกอบ ซึ่งบอกได้อีกว่า สตรอว์เบอร์รีขนาดเกือบเท่าลูกปิงปองไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดในญี่ปุ่น ราคาต่อ 1 ห่อพลาสติกซึ่งมีประมาณ 12-15 ลูกคือร้อยกว่าบาท กัดเข้าไปแต่ละคำต้องรอเวลาให้ฟันบนกับฟันล่างเดินทางสักพักกว่าจะมาสบกันได้ เรื่องรสชาติไม่ต้องพูดถึง อร่อยกว่าของไทย และอร่อยกว่าในยุโรปด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าไปตามซูเปอร์มาร์เกตญี่ปุ่น จะได้เห็นสตรอว์เบอร์รีสีแดงสดวางขายเต็มพรืดไปหมด และส่วนใหญ่ของที่วางนั้นขายหมดทุกวัน ถ้าเหลือถึงวันรุ่งขึ้น ราคาจะลูกลงไปอีก สีสันแดงฉ่ำของลูกสด ๆ ที่เรียงสลอนเต็มแผงนั้น เมื่อผ่านตาใคร รับรองว่าต้องเหลียวมองซ้ำแน่ ๆ ดังนั้น ใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นหน้าหนาว หากจะหาไฮไลต์นอกเหนือจากหิมะ สิ่งที่ไม่ควรพลาด คือ “สตรอว์เบอร์รี” และหากมีเวลา ขอแนะนำให้ซื้อทัวร์ไปฟาร์มสตรอว์เบอร์รีก็จะได้กินเต็มอิ่มแบบไม่อั้นด้วย ค่าเข้าอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 เยนสำหรับ 30 นาที สถานที่ใกล้ ๆ โตเกียวมีมากมาย เช่น ชิบะ ยะมะนะชิ ชิซุโอะกะ แต่ต้องระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้าติดใจกลับเมืองไทยแล้วอยากกินขึ้นมา ราคานำเข้าที่วางขายกันอยู่นั้นเข้าขั้นโหดระดับหลายร้อยไปถึงหลักพัน

สตรอว์เบอร์รีมีมากมายหลายพันธุ์ ว่ากันว่าเป็นร้อย แต่สำหรับคนไทย ด้วยความที่ไม่ใช่ผลไม้แพร่หลายในเมืองเราอย่างมะม่วงที่พอจะมองออกว่าแบบไหนน้ำดอกไม้ แบบไหนอกร่อง ดังนั้น พอคนไทยเห็นสตรอว์เบอร์รี เรามักจะแยกไม่ออก บอกชื่อไม่ถูกว่ารูปร่างแบบนี้ชื่อพันธุ์อะไร รู้แต่ว่าลูกใหญ่ลูกเล็ก สีแดงแจ๋ หรือแดงหัวขาว ลูกเรียว หรือลูกป้อม เอาเป็นว่าพันธุ์ที่น่าจะถูกปากคนไทย ประมาณว่าสะใจที่สุด คงจะเป็น “อะมะโอ” (あまおう;Amaou) หรือชื่อจริง ๆ คือ “ฟุกุโอะกะS6” นั่นหมายความว่า พันธุ์นี้พัฒนาขึ้นในจังหวัดฟุกุโอะกะก่อนจะแพร่หลายไปทั่วประเทศ

เครื่องหมายการค้า Amaou (อะมะโอ) บ่งบอกลักษณะของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์นี้ด้วย คือ A (akai) = แดง, Ma (marui) = กลม, O (ookii) = ใหญ่, U (umai) = อร่อย และของจริงก็แดง กลม ๆ ลูกใหญ่มาก และอร่อยตามชื่อทุกประการ คนฟุกุโอะกะถึงได้ภาคภูมิใจยิ่งนัก สตรอว์เบอร์รีพันธุ์นี้มีน้ำหนักต่อลูกมากถึง 40 กรัมเลยทีเดียว ลองคิดดู ลูกละเกือบครึ่งขีด กินเข้าไปสักห้าหกลูกก็ครึ่งท้อง เพราะแบบนี้ไง สูตรไดเอ็ตของญี่ปุ่นจึงได้ผล

อย่างไรก็ตาม เดิมสตรอว์เบอร์รีที่เห็นกันอยู่ในญี่ปุ่นทุกวันนี้ไม่ใช่พืชพื้นเมือง ชาวฮอลันดาเป็นผู้นำเข้ามาเมื่อ ค.ศ. 1830 ซึ่งตอนนั้นคือสมัยเอะโดะ แรกเริ่มที่นำเข้ามานั้น เป็นของสำหรับดู ไม่ใช่ของกิน เริ่มกินจริงจังเมื่อทศวรรษ 1870 ตอนที่เริ่มมีพันธุ์จากอเมริกาเข้ามาและเริ่มมีการปลูก ซึ่งอยู่ในสมัยเมจิแล้ว ปัจจุบันญี่ปุ่นผลิตสตรอว์เบอร์รีได้ปีละประมาณ 2 แสนตัน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน และอุปสงค์ต่อสตรอว์เบอร์รีจะสูงมากในเดือนธันวาคม เหตุผลคือ คนญี่ปุ่นนิยมนำสตรอว์เบอร์รีมาทำเค้ก โดยเฉพาะเค้กวันคริสต์มาส

เมื่อมาคิดดูก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ในเมื่อไม่ใช่ของที่มีมาแต่เดิม แต่มาจากต่างประเทศ ทำไมถึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ เรื่องนี้ก็ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่า เดิมมีคำโบราณพูดว่า “อิ-ชิ-บิ-โกะ” คำว่า “อิ” เป็นคำพูดขึ้นต้นคำศัพท์ ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ส่วน “ชิ” (血;chi) แปลว่า “เลือด” ซึ่งมีสีแดง และคำว่า “บิโกะ” เป็นเสียงแผลงจาก “ฮิโกะ” ใช้ในชื่อคน รวมกันแล้วก็ประหนึ่งว่านั่นคือ “หยาดเลือดของนาย (?) ฮิโกะ” ต่อมาเสียง “อิชิบิโกะ” กลายเป็น “อิชิโงะ” ซึ่งเป็นคำที่นำมาใช้เรียกลูกสตรอว์เบอร์รีสีแดง ๆ ที่ฮอลันดานำเข้ามาด้วยประการฉะนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นเอง จริงเท็จประการใดไม่มีใครรู้แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือ หากจะยึดถือว่าสตรอว์เบอร์รีต้องมีสีแดงเหมือนเลือด ทฤษฎีนี้คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปเพราะตอนนี้มี “สตรอว์เบอร์รีสีขาว” ออกมาแล้ว และคนญี่ปุ่นที่จะคิดลึกไปถึงเลือดก็คงไม่มี ตรงกันข้าม เมื่อเห็นสตรอว์เบอร์รี คนญี่ปุ่นจะมองว่าสีสันสะดุดตา และรู้สึกว่าน่ารักด้วย คำว่า “อิชิโงะ” จึงกลายเป็นชื่อเด็กผู้หญิงแบบน่าเอ็นดู มิได้เป็นฉายา “สตรอ...” ที่รอวันเลือดออก (ปาก) เหมือนในภาษาไทย

หากสังเกตให้ดี จนถึงบรรทัดนี้ ยังไม่ได้มีการใช้คำว่า “ผลไม้” กับสตรอว์เบอร์รีสักคำ เพราะในทางทฤษฎีตามที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นประกาศไว้ สตรอว์เบอร์รีเป็นผัก แม้ว่ามันอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป แต่กระทรวงท่านประกาศไว้แบบนั้นเช่นเดียวกับเมลอน แต่หากจะเรียกแบบประนีประนอมย่อมได้ว่าเป็น “ผักสำหรับกินผล” แต่ไม่ได้เรียกว่าผลไม้อยู่ดี นี่ไง...เข้าตำราว่าหากจะลดความอ้วนต้องกินผัก ดังนั้น การกินสตรอว์เบอร์รีก็ตรงเป๊ะ (ตำราญี่ปุ่นอาจเสี่ยงอยู่อย่างคือ คนญี่ปุ่นกินสตรอว์เบอร์รีกับนมข้นหวาน)

คาดว่า “อิชิโงะ-ไดเอ็ตโตะ” น่าจะได้ผลภายในเดือนสองเดือนนี้ เมื่อนั้นย่อมถือเป็นกุศลอย่างหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวผู้ห่วงใยในสุขภาพของเราสบายใจขึ้น ว่าแต่...ถ้าหมดหน้าสตรอว์เบอร์รีแล้วจะทำไง?

โอ้...อันนี้ก็ง่ายมาก ตำราญี่ปุ่นสรรหาวิธีมาไดเอ็ตได้อยู่ดี วิธีที่ถูกกว่าสตรอว์เบอร์รีก็มีมานานและไม่ขึ้นกับฤดูกาลด้วย คือ “ริงโงะ-ไดเอ็ตโตะ” แปลว่า “ลดความอ้วนด้วยแอปเปิล” ซึ่งทำได้ตลอดปี

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น