ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปจะยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO กรณีที่ทางการจีนออกกฎบังคับให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน
ตัวแทนของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปได้หารือร่วมกันและพิจารณาว่าจะร่วมกันฟ้องร้องต่อ WTO ในเดือนมีนาคมนี้ โดยระบุว่าเพื่อปกป้องเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของตนรั่วไหลไปสู่บริษัทของจีน
รัฐบาลจีนได้ออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการควบคุมบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ โดยกำหนดให้บริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้าสู่ตลาดในจีนจะต้องจัดตั้งเป็น “บริษัทร่วมทุน” กับบริษัทจีน บริษัทต่างชาติจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีนหรือบริษัทร่วมทุน และบริษัทจีนมีสิทธิ์จะพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างเสรี
กฎเกณฑ์นี้ทำให้บริษัทญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ยากที่จะปกป้องเทคโนโลยีและข้อมูลความลับที่ตนเองได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาขึ้นมา โดยอ้างว่าฝ่ายจีนสามารถ “ชุบมือเปิบ” ไปได้อย่างง่ายๆ ฝ่ายญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรประบุว่าข้อกำหนดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีขัดต่อหลักการของ WTO ที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติหรือบริษัทท้องถิ่น
เศรษฐกิจจีนที่รุ่งเรืองต่อเนื่องกว่า 30 ปี ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มเปลี่ยนนโยบายจากการเปิดประเทศต้อนรับเงินทุนต่างชาติอย่างแทบไม่มีข้อจำกัด มาเป็นการพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีของตนเอง ในปี 2011 บริษัทจีนได้เตรียมจดสิทธิบัตรนานาชาติในเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ที่ฝ่ายจีนได้พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีของญี่ปุ่นและเยอรมนี แต่ฝ่ายจีนอ้างว่าเป็นเทคโนโลยีที่ตนเองสร้างขึ้น
ชาติต่างๆ ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการจดสิทธิบัตรของจีน ซึ่งนำไปสู่การเจรจากัน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ จนต้องให้ WTO เป็นผู้ตรวจสอบในกรณีนี้ โดยถ้าคณะอนุญาโตตุลาการของ WTO ระบุว่ากฎการค้าเสรีถูกละเมิดก็จะเรียกร้องให้จีนดำเนินการแก้ไข การพิจารณาของ WTO อาจใช้เวลานานมาก แต่ญี่ปุ่น,สหรัฐ และสหภาพยุโรปได้ตกลงร่วมกันแล้วว่าเรื่องนี้จะปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้
รัฐบาลจีนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ออกแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ตั้งเป้าให้จีนเป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, หุ่นยนต์ และ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้าและระบบคมนาคมขนส่ง บริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้จึงตระหนักว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสกัดการรั่วไหลของเทคโนโลยีไปสู่จีน.