ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนสอบเข้ามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ประกอบกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานเกี่ยวกับ “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” (ลงวันที่ 23 มกราคม 2561) ว่าด้วย “กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้...” ในฐานะคนวงการศึกษาที่ได้สัมผัสทั้งระบบของไทยและญี่ปุ่น จึงถือโอกาสแบ่งปันมุมมองกว้าง ๆ เชิงเปรียบเทียบอีกสักครั้ง เกี่ยวกับการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องในและนอกระบบการศึกษาของญี่ปุ่น
เรื่องการศึกษาเป็นประเด็นที่พูดกันไม่จบมาเนิ่นนานในประเทศไทย ดูเหมือนเรายังหาตัวเองไม่เจอว่าการศึกษาของคนไทยควรจะเดินไปทางไหนเพื่อให้ทันโลก และพอพูดเรื่องนี้ทีไร ญี่ปุ่นก็มักถูกหยิบยกมาอ้างอิงบ่อย ๆ เพราะมองกันว่าประชากรคุณภาพสูงของญี่ปุ่นคือผลผลิตของระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งก็มีส่วนถูกอยู่มากแม้ไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม กล่าวคือ นอกจากการศึกษาในสถาบันแล้ว สังคมญี่ปุ่นยังมีมิติอื่นที่ทำให้คนญี่ปุ่นดูเป็นทรัพยากรบุคคลคุณภาพสูงอยู่ด้วย เพียงแต่คนภายนอกมักมองภาพรวมโดยมุ่งไปที่ระบบการศึกษาเป็นหลัก มิติที่ว่านี้คือทัศนะของสังคมและภาคธุรกิจต่อศักยภาพของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา
เมื่อว่ากันเรื่องการศึกษาชั้นสูง ควรย้อนดูแนวคิดพื้นฐานของคนญี่ปุ่นว่าด้วยการถ่ายทอดความรู้อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตด้วย คนญี่ปุ่นใช้อยู่ 2 คำ คำแรกคือ “เคียวอิกุ” (教育;kyōiku) แปลว่า “การศึกษา” หมายถึงการเรียนการสอนตามระบบสถาบัน เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และอีกคำหนึ่งคือ “เคียวโย” (教養 ; kyōyō) ซึ่งน่าจะแปลว่า “ภูมิปัญญา” แต่จะแปลให้กระชับด้วยคำเดียวก็ยากอยู่สักหน่อย เพราะคำนี้ครอบคลุมถึงความรอบรู้ การบ่มเพาะความรู้ การถ่ายทอดศิลปวิทยา การอบรมบ่มนิสัย การปลูกฝังขัดเกลามารยาท ตลอดจนการเรียนรู้กระบวนการด้านต่าง ๆ คือมีความหมายกว้างกว่า “การศึกษา” ตามระบบ
อธิบายให้เข้าใจง่ายด้วยแนวคิดแบบไทย เช่น คนบางคนมีความรู้ท่วมหัวเพราะผ่านการเรียนตามระบบโรงเรียนมา (เคียวอิกุ) แต่เอาตัวไม่รอดเพราะรู้แค่ตัวหนังสือ แต่ไม่รู้วิธีหากิน (เคียวโย) หรือบางคนมีการศึกษา แต่เหมือนไม่ได้รับการอบรม เช่น มารยาทแย่ ไร้จิตสำนึกที่ดี หรือคนรุ่นปู่ย่าตายายของเรามากมายที่ไม่ได้รับการศึกษาสูง ๆ แต่มีวิชาความรู้ดำรงชีวิตมาได้อย่างชาญฉลาด คือมีภูมิปัญญา หรือ “เคียวโย” นั่นเอง
เหตุที่อธิบายมาขนาดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมด้านการศึกษาของคนญี่ปุ่นกับคนไทยมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกันอยู่ ซึ่งส่วนหลังนี้เกี่ยวเนื่องไปถึงการพัฒนาคนด้วย หากจะหาคำตอบว่าทำไมเราพัฒนาคนไม่ได้อย่างญี่ปุ่นทั้ง ๆ ที่กรอบการศึกษาก็เหมือนกัน คือ ประถม 6 ปี มัธยมต้น-ปลาย รวม 6 ปี และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ 4 ปี คำตอบไม่ได้อยู่ภายในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่อยู่นอกรั้วด้วย เมื่อยกเรื่องการศึกษาของญี่ปุ่นขึ้นมาเปรียบเทียบเมื่อไร เราควรมองมิติแวดล้อมส่วนนั้นเพิ่มเข้าไป
ส่วนที่เหมือนกันระหว่างญี่ปุ่นกับไทยคือ ทั้งสองสังคมให้ความสำคัญแก่การศึกษามาก เพราะมองว่าการศึกษาคือเครื่องมือทำมาหากิน (นั่นคือแนวคิดซื่อ ๆ บนพื้นฐานที่ว่าการศึกษาต้องรับใช้สังคมแบบตรงไปตรงมา ประมาณว่า เรียนอะไรมาก็ไปทำอย่างนั้น ดังที่ทำให้เกิดข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไทยว่าให้สำรวจสาขาวิชาที่หางานยาก ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการมองแค่ด้านเดียว) สำหรับคนญี่ปุ่น ถ้าการศึกษาสูง จบมาจากสถาบันเด่นดัง ก็จะหางานง่ายกว่า...เท่านั้นเอง นี่คือมุมมองจากผู้เรียน ส่วนในมุมมองของสังคมที่รับช่วงจากสถาบันการศึกษาคือ คนกลุ่มนี้ผ่านการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่มาในระดับหนึ่งโดยมีอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะ ย่อมมีความพร้อม (เคียวโย) สำหรับการปรับตัวในโลกของการทำงาน
ส่วนคนไทย การศึกษามีนัยมากกว่านั้นหน่อย คือ นอกจากเป็นเครื่องมือทำกินแล้ว ยังเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ เป็นแรงส่งสำหรับการเปลี่ยนสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น เพราะคนไทยมีแนวโน้มมองคนที่ “ระดับการศึกษา” (เคียวอิกุ) ไม่ได้มองที่ “ปริมาณของความรู้ความเชี่ยวชาญ” (เคียวโย) ซึ่งตรงนี้เป็นค่านิยมที่ต่างจากคนญี่ปุ่น หรือถ้าพูดแรงหน่อยคือ คนไทยมีแนวโน้มดูถูกกันด้วยระดับการศึกษา และใช้การศึกษาวัดคุณภาพคนเกือบทุกด้านผ่านผลการเรียน แทนที่เกรดจะเป็นแค่เกณฑ์ประเมิน แต่กลายเป็นกฎตัดสินคน
จุดประสงค์ของคนญี่ปุ่นในการเรียนสูงเกินระดับมัธยมปลาย โดยหลักการคือเพื่อเรียนวิชาเฉพาะสาขาก็จริง แต่ในทางพฤตินัยคือ “ฝึกความเป็นผู้ใหญ่ในสถานที่ที่สอนให้รู้จักขบคิดอย่างลึกซึ้งและคุ้นชินกับกระบวนการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยสามัญ หรือวิทยาลัยเฉพาะทาง เมื่อจบออกมาแล้ว นายจ้างจะให้คุณค่าแก่พัฒนาการทางภูมิรู้ (เคียวโย) ที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นมาเพราะการศึกษา โดยพร้อมจะจ่ายค่าจ้างให้สูงกว่าคนที่จบมัธยมปลายเมื่อจะรับพนักงานใหม่
บริษัทญี่ปุ่นมองกว้าง ๆ แค่ว่าจบสายวิทยาศาสตร์หรือสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ในกรณีที่สาขานั้นสอนวิชาที่มีความเฉพาะทางสูง เช่น แพทย์ วิศวกร คงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีอาชีพรองรับชัดเจน แต่กรณีที่ไม่ใช่แบบนั้นมีมากกว่า คนที่เรียนบัญชีแล้วไม่ได้เป็นนักบัญชีมีมากมาย คนที่เรียนนิติศาสตร์แล้วไม่ได้เป็นทนายความก็มีมากมาย คนเหล่านี้จะไปประกอบอาชีพอะไร? ผู้ตัดสินหรืออันที่จริงคือผู้ให้โอกาสคือนายจ้าง ซึ่งมองอย่างใจกว้างและรับคนกลุ่มนี้เข้ามาเพื่อนำไปให้การศึกษาต่อในองค์กรของตน ในช่วงปีสองปีแรกของบริษัทญี่ปุ่นจึงเป็นการเรียนรู้ใหม่แทบทั้งหมด
บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้มองนักศึกษาจบใหม่ว่าเป็น “ของสำเร็จรูป” แต่มองว่าเป็น “ทะมะโงะ” (卵;tamago) หรือ “ไข่” ที่รอวันฟักออกมาเป็นตัวเมื่ออยู่กับบริษัทไปสักพัก ไม่ได้คาดหวังว่านักศึกษาจะรู้ทุกเรื่อง แต่สังคมไทยมักจะมองนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นของสำเร็จรูป โถ...อยู่ในรั้วสถาบันมา 4 ปี เข้าเรียนบ้างไม่เข้าบ้าง อู้บ้างจริงจังบ้างไปตามวัย บางทีศัพท์เฉพาะในสาขาของตัวเองยังพูดไม่ค่อยจะคล่องปาก หากบริษัทจะคาดหวังให้พร้อมไปเสียทุกเรื่องก็ออกจะโหดไปนิด
คนญี่ปุ่นมองว่ามหาวิทยาลัยคือสถานที่ฝึกความพร้อม 4 ปี ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการออกไปทำงานร่วมกับผู้อื่นในโลกนอกรั้วสถาบัน การจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อนายจ้างต่ำหรือไม่มีเลยในกรณีของสายสังคมศาสตร์หากไม่ได้มุ่งจะเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ การบอกใคร ๆ ว่าจบโทจบเอกไม่ได้ทำให้สถานะทางสังคมของคนญี่ปุ่นหรูหราขึ้น แต่ตำแหน่งหน้าที่การงานและประสบการณ์ (เคียวโย) ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นยำเกรงกันไม่ว่าจะเรียนสูงแค่ไหนก็ตาม ในชีวิตประจำวัน จึงมีน้อยครั้งมากที่เราจะได้ยินคนญี่ปุ่นเรียกใครว่า “ดอกเตอร์” แต่จะได้ยินคำเรียกตำแหน่งหน้าที่การงานมากกว่า
คนญี่ปุ่นที่จบมัธยมและเป็นพนักงานบริษัทใส่สูทภูมิฐานก็มีมากมาย เป็นเจ้านายของคนที่จบมหาวิทยาลัยก็ไม่น้อย ผู้ที่ผ่านระบบการศึกษาระดับมัธยมได้ออกไปเรียนรู้โลกก่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยและมีความชำนาญในอาชีพของตนก่อน แม้การศึกษาไม่สูง แต่คุณสมบัติในการพัฒนาตนเอง (เคียวโย) ได้รับการปลูกฝังมาเพียงพอ จึงทำให้มีความรู้ไม่ด้อยไปกว่าคนจบปริญญา ประกอบกับบริษัทญี่ปุ่นเลี้ยงคนให้เติบโต กลายเป็นการศึกษาอีกช่วงหนึ่งที่ภาคธุรกิจรับช่วงอย่างจริงจัง ซึ่งจุดนี้นาน ๆ ทีถึงจะมีคนในสังคมไทยพูดถึง
หากจะว่ากันจริง ๆ การหางานได้ไม่ได้ของนักศึกษาจบใหม่นั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาหรือสาขาที่เรียนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับนายจ้างด้วยว่าพร้อมจะให้โอกาสบุคลากรใหม่หรือไม่ ในเมืองไทย เมื่อมีประกาศรับสมัครงาน เรามักจะเห็นว่าบริษัทประกาศ “รับผู้มีประสบการณ์” อ้าว...ถ้ายังไม่ให้โอกาสเริ่มเสียก่อน แล้วจะเอาประสบการณ์มาจากไหน? พอเด็กประสบปัญหาหางานยาก หลายฝ่ายท้วงว่ามหาวิทยาลัยสอนอะไรมา ทำไมไม่มีงานทำ ย้อนกลับไปโทษว่าการศึกษาไม่ดี แต่เราจะโทษการศึกษาอย่างเดียวก็ไม่ถูก นายจ้างเองก็ต้องใจกว้างพอที่จะมองคนที่ศักยภาพและพร้อมที่จะให้การศึกษาต่อไปด้วย
ของญี่ปุ่น ยกตัวอย่างนักศึกษาญี่ปุ่นเอกไทยที่ผมรับผิดชอบอยู่ มีน้อยคนมากที่จบแล้วได้งานที่จำเป็นต้องใช้ภาษาไทย หรือจบออกไปทำอะไรที่เกี่ยวกับเมืองไทย ส่วนใหญ่เข้าไปเป็นพนักงานบริษัททั่วไปโดยเฉพาะในบริษัทผู้ผลิต ถามว่าบริษัทรับเข้าไปด้วยเกณฑ์อะไร? เกณฑ์ที่ว่านั้นคือ “ผ่านการขัดเกลามาอย่างน้อย 4 ปี มีทักษะพื้นฐานในการดำเนินชีวิตแบบผู้ใหญ่ และมีศักยภาพที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่องค์กร” ส่วน “ภาษาไทยที่เรียนมานั้น ณ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไร แต่ที่แน่ ๆ คือคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตนซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี และสะท้อนความมุ่งมั่นในหน้าที่ของตน สักวันหนึ่งอาจมีโอกาสได้ใช้ภาษาไทยในงาน (หรืออาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้)” แบบนี้คือการมองศักยภาพในตัวคน แล้วนำไปพัฒนาต่อ
หากจะมองว่าเรียนวิชาอย่างเช่นภาษาหรือวรรณคดีแล้วหางานไม่ได้ จึงไม่ควรสนับสนุนให้เรียน อันนี้เป็นการมองด้านเดียว ทางผู้ว่าจ้างบุคลากรก็ควรเปิดใจด้วย เช่น มองว่าคนที่เรียนสายมนุษยศาสตร์มามีความยืดหยุ่น รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย คุ้นชินกับการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นก็รับเข้ามาและนำไปฝึกให้ทำงานในแนวทางนั้น เป็นต้น สรุปคือเราอย่าไปโทษฝ่ายจัดการศึกษาฝ่ายเดียว ฝ่ายรับผลผลิตจากการศึกษาควรร่วมมือด้วย
สังคมญี่ปุ่นมอง “เคียวโย” ซึ่งไม่มีระบบวัดเป็นตัวเลข โดยอิง “เคียวอิกุ” เป็นเกณฑ์เพราะมีระบบวัดชัดเจน เมื่อกล่าวเป็นรูปธรรมคือ ภาคธุรกิจมองผู้จบการศึกษาระดับปริญญาบนข้อสันนิษฐานที่ว่านักศึกษาเป็นผู้มีศักยภาพ (ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ) ไม่ต้องจบตรงสาขาก็ได้ แต่มีคุณสมบัติที่พร้อมจะพัฒนาให้งอกงามต่อไป การรับนักศึกษาที่จบไม่ตรงสาขางานจึงเกิดขึ้นเสมอ ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นและเป็นมานานแล้วด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ความใจกว้างตรงนี้คือจุดที่ช่วยดูดซับแรงงานเข้าสู่ระบบ เมื่อระบบการศึกษาพยายามสนองในระดับหนึ่ง และฝ่ายรับบุคลากรเองเปิดใจกว้าง กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างแรงงานคุณภาพจึงเกิดควบคู่กันไป เราถึงได้เห็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพของญี่ปุ่นมานานปี
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com