xs
xsm
sm
md
lg

เข้าแถว-เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ธรรมดาในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน นานมาแล้วฉันเคยได้ยินเรื่องการแซงคิวซื้ออาหารในเมืองไทยครั้งหนึ่ง เรื่องก็คือว่ามีผู้ใหญ่คนหนึ่งพาเด็กมาด้วย เห็นคิวยาวแล้วก็ตะโกนโหวกเหวกว่า “เด็กหิวแล้ว” และไปแซงคิวทันที ชายคนที่ยืนอยู่ต้นแถวก็ตะโกนถามคนอื่น ๆ ในแถวว่ามีใครยอมให้คุณป้าท่านนี้แซงคิวบ้าง มีเสียงขานรับกันว่าไม่ ๆ สุดท้ายคุณป้าเลยต้องไปต่อแถว อ่านเรื่องนี้แล้วก็ขำดี และนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เจอเกี่ยวกับการเข้าแถวที่ญี่ปุ่นขึ้นมาค่ะ

ร้านแต่ละร้านจะมีวิธีการเข้าแถวไม่เหมือนกัน กระทั่งร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาที่ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน บางแห่งก็ให้ต่อคิวเป็นเคาน์เตอร์ ๆ ไป แต่บางแห่งก็ให้ยืนเพียงแถวเดียวแล้วพอเคาน์เตอร์ไหนว่างลง คนที่อยู่ในแถวลำดับต่อไปก็จะได้จ่ายเงินก่อน สังเกตว่าวิธีการต่อแถวแบบนี้ก็มีใช้ในร้านขายเสื้อผ้าทั้งที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ทำให้ไม่ต้องเข้าหลายแถว และยุติธรรมกับลูกค้ามากกว่า ถ้าเป็นร้านขายเสื้อผ้ายังดูง่ายว่ามีแถวเดียวเพราะเขาทำคอกให้เข้าแถวไว้อย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นร้านสะดวกซื้อต้องคอยสังเกตเอาเองว่าเขาจัดวิธีเข้าแถวแบบไหน เช่น ดูป้ายลูกศรที่อยู่ที่พื้น หรือไม่อย่างนั้นก็สังเกตจากคนอื่น ๆ ว่าเขาเข้าแถวกันอย่างไร บางทีแถวก็อาจอยู่กึ่งกลางของร้าน เป็นต้น
ภาพจาก http://yukakun.com/
ฉันเคยเข้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายในโรงแรมใกล้สนามบิน จึงมีคนต่างชาติมาใช้บริการมาก ร้านนี้ใช้วิธีการเข้าแถวเพียงแถวเดียว โดยมีเคาน์เตอร์ให้บริการสองช่อง มีชาวต่างชาติคนหนึ่งเห็นว่าด้านหน้าเคาน์เตอร์ถัดไปไม่มีคนรอต่อแถวจึงไปยืนรอ ผู้ชายชาวญี่ปุ่นในชุดสูทที่ยืนอยู่ข้างหน้าฉันหันไปพูดกับเขาเป็นภาษาอังกฤษอย่างสุภาพว่า "คุณต้องเข้ามาต่อแถวตรงนี้"  ชาวต่างชาติคนนั้นยิ้มพลางบอกว่าไม่เป็นไรหรอกน่า คนญี่ปุ่นไม่ยอม ยังคงพยายามสอนและอธิบายต่อไปอย่างอดทนเหมือนผู้ใหญ่สอนเด็กว่า “คุณทำอย่างนั้นไม่ได้ ที่นี่เป็นประเทศญี่ปุ่น มันเป็นระเบียบวินัยของเรา เขาทำกันแบบนี้ คุณต้องหัดเรียนรู้และทำเหมือนคนอื่น ๆ”

ฉันแอบอมยิ้ม ทึ่งคนญี่ปุ่นคนนี้มากตรงที่กล้าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ยอมลงให้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แถมปกติฉันไม่ค่อยจะเห็นคนญี่ปุ่นเป็นฝ่ายคุยกับคนต่างชาติเองก่อนสักเท่าไหร่ แถมยังเป็นเรื่องการตักเตือนด้วย เลยประทับใจ สุดท้ายชาวต่างชาติคนนั้นก็ต้องไปต่อคิว เพราะพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เขาก็ช่วยรักษาระเบียบเหมือนกัน เมื่อไม่ทำตามกฎก็ไม่ให้บริการ ฉันอยากให้หลาย ๆ แห่งเป็นแบบนี้จังเลยค่ะ มันเป็นวิธีที่ทำง่ายสอนง่าย แต่ทำให้คนเรียนรู้เรื่องระเบียบ มารยาท และสิทธิอันชอบธรรมติดตัวไปได้ทั้งชีวิต

เมื่อก่อนฉันเป็นคนพูดเสียงเบามาก และไม่กล้าตะโกนเพราะกลัวจะเป็นจุดสนใจ พอมาอยู่สหรัฐฯ แรก ๆ เวลาไปซื้อกาแฟหรือคุยกับเคาน์เตอร์คลีนิก ฉันมักโดนพูดกลับมาว่า “I can’t hear you.” (ฉันไม่ได้ยินที่เธอพูด) อยู่เรื่อย ตอนแรกฉันหลงเข้าใจผิดไปว่าคนอเมริกันที่มีปัญหาทางการได้ยินมีเยอะจัง เพราะเขาพูดว่า “I can’t hear you.” ซึ่งการพูดโดยเอา “I” เป็นที่ตั้ง สำหรับฉันซึ่งอยู่ญี่ปุ่นมานานและชินกับการที่หากมีปัญหาอะไรเราจะไม่โทษคนอื่นแต่โทษตัวเองก่อนเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ฉันเลยเข้าใจไปว่าเขาโทษตัวเองว่าเป็นปัญหาที่ตัวเขาที่ไม่ได้ยิน หากเป็นที่ญี่ปุ่นเขาอาจจะพูดว่าขอโทษนะ ช่วยพูดอีกครั้งได้ไหม เราก็จะรู้กันว่าเราต้องพูดดังขึ้นหรือพูดให้ชัดขึ้นหรือพูดให้ช้าลง
ภาพาก http://cashflow.xsrv.jp/public_html/horiemon
พอฉันนึกว่าคนอเมริกันที่ฉันคุยด้วยน่าจะมีปัญหาพิการทางหูบางอย่าง ฉันจึงหันไปขอความช่วยเหลือสามีที่เสียงดังกว่าฉันให้พูดแทนเพราะฉันไม่อยากตะโกนใส่ใคร เกือบบอกสามีเป็นภาษาอังกฤษว่า “ช่วยพูดแทนให้ฉันหน่อยสิ คนนี้เขามีปัญหาทางการได้ยิน” แต่ดีนะที่ฉันไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเพราะขืนใครได้ยินเข้าคงนึกว่าฉันหาเรื่องทะเลาะแน่

หลัง ๆ มาฉันถึงรู้ว่าพวกเขาไม่ได้พิการทางหูแต่เสียงฉันค่อยเกินไปสำหรับพวกเขา อย่างไรก็ดีฉันสังเกตว่าคนอเมริกันพูดกันเสียงดังมากจนบางทีนึกว่าทะเลาะกันอยู่ หรือบางทีคุยกันเองในกลุ่มก็เสียงดังมากรบกวนคนอื่น ฉันไปประเทศตะวันตกอื่น ๆ ไม่ยักเคยเห็นที่ไหนเสียงดังแบบนั้น และก็ไม่เคยโดนว่าสักครั้งว่าไม่ได้ยินเสียงที่ฉันพูด ฉันเดาว่าคนอเมริกันอาจจะชินกับการพูดและได้ยินเสียงที่ดังมากกว่าปกติจนชิน พอได้ยินเสียงที่ค่อยกว่าปกติเลยไม่ได้ยินจริง ๆ ก็เป็นได้

ไม่ทราบว่าเพราะฉันอยู่สหรัฐฯ มาระยะหนึ่งจึงเริ่มซึมซับนิสัยกล้าพูดกล้าทำ และเสียงดังมากกว่าเดิมหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ฉันไม่ได้ยินใครพูดใส่ว่าไม่ได้ยินอีกแล้ว แถมยืนเข้าแถวรอคืนสินค้า เห็นมีอยู่แถวเดียวคนรอเพียบ เห็นพนักงานอีกสองคนยืนว่างอยู่ ก็ตะโกนถามว่า “พวกเธอทำเรื่องคืนสินค้าได้หรือเปล่า” สองสาวน้อยไม่ได้บอกว่าไม่ได้ยินและยังตอบกลับมาเสียงเบากว่าฉันอีกว่า “เราทำไม่ได้ค่ะ ได้เฉพาะคนนั้นคนเดียว ขอโทษด้วยนะ” วันนั้นฉันรู้สึกทึ่งตัวเองว่าฉันก็ตะโกนได้แฮะ การตะโกนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด (ฮา)

วันหนึ่งฉันกลับมาเมืองไทย ยังอยู่ภายในสนามบิน กำลังเข้าแถวต่อจากอีกคนหนึ่งเพื่อรอแลกเงินนิดหน่อย มีกลุ่มคนต่างชาติกลุ่มหนึ่งมาทีหลังฉัน และไปยืนออกันอยู่ข้างชายคนที่กำลังแลกเงินอยู่ก่อนหน้าฉัน กลุ่มคนชาตินี้เป็นที่เลื่องลือในเรื่องการแซงคิว พอชายคนนั้นจากไป กลุ่มนี้ก็รีบยื่นเงินให้พนักงานหน้าตาเฉย พนักงานก็ทำท่าจะรับเสียอีก ฉันเลยหันไปทำหน้ายักษ์ใส่คนแซงคิวให้ไปเข้าแถว ซึ่งเขาก็ยอมไปแต่โดยดี ถ้าเป็นสมัยก่อนฉันอาจจะยืนกัดฟันกรอด ๆ อยู่ข้างหลังแต่ไม่ได้พูดอะไร แล้วก็นึกเสียใจทีหลังว่าทำไมเราถึงไม่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกนะ

พูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการเข้าคิวของคนชาตินี้ ก็นึกได้ว่าเคยดูรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งเปรียบเทียบเรื่องการเข้าแถวระหว่างสองประเทศนี้ คือในญี่ปุ่นคนก็ยืนต่อแถวทั่วไปธรรมดาเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่พอเป็นประเทศนี้ปั๊บ แม้เจ้าหน้าที่จะจัดคอกเป็นแถวไว้ให้แล้ว คนก็ยังยืนชิดติดกับคนข้างหน้าแบบไม่ให้มีช่องว่างแม้แต่น้อย บางคนแทบยืนกอดเอวคนข้างหน้าไว้เหมือนเวลาเล่นงูกินหางแบบบ้านเรา กระนั้นก็ยังมีคุณป้าคนหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบลัดคิวจากหางแถวไปยังจุดที่เธอเห็นว่ามีช่องว่างเพื่อที่จะแทรกเข้าไปให้ได้จนเจ้าหน้าที่ต้องวิ่งตามจับ เห็นแล้วก็ทั้งฮาทั้งระอาใจ ได้ข่าวเดี๋ยวนี้รัฐบาลของประเทศนี้เขาก็พยายามสอนคนในชาติให้รู้จักระเบียบและมารยาทเวลาไปประเทศอื่นบ้างแล้วเหมือนกัน

พูดถึงเรื่องเข้าแถวนี่ก็รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นมีความอดทนกันจริง ๆ นะคะ ร้านรวงต่าง ๆ ในญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากจะมีคนจัดแถวจัดคิวให้อย่างเป็นระเบียบ บางทีครึ่งแถวหน้าอยู่ฟากหนึ่ง ถ้าไม่ดูให้ดีจะหลงดีใจว่าโอ้แถวสั้นดีจัง แต่มองไปอีกฟากจะเห็นแถวต่อกันยาวเหยียดเป็นหางว่าวรออยู่ โดยมีพนักงานยืนรออยู่หน้าแถวหางว่าวนั้นรอปล่อยคนเป็นชุด ๆ ไป บางทีแถวยาวจนไม่ทราบว่าหางแถวอยู่ตรงไหนก็จะมีคนยืนชูป้ายเขียนว่า “หางแถว” อยู่เพื่อให้ทราบว่าต้องต่อแถวตรงนี้ ฉันชอบวิธีนี้มาก มันทำให้คนไม่สับสน ไม่มีการไปแซงแถว แทรกคิว หรือตั้งแถวใหม่กันเองโดยไม่ตั้งใจ และยุติธรรมดี ทำให้ทราบง่ายด้วยว่าต้องรออีกนานแค่ไหน บางทีหางแถวจะบอกไว้เลยว่าตรงนี้รออีกกี่นาที ดูคล้ายกับระบบของพวกสวนสนุกหรือพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศบางแห่งที่ได้รับความนิยมมาก ๆ
ภาพจาก http://lifebridge.jugem.jp
แถวเหล่านี้บางทีรอกันเป็นชั่วโมงหรือสองชั่วโมง แต่คนญี่ปุ่นก็มีความอดทนกันมากที่จะยืนรอเพียงแค่ให้ได้ซื้อป๊อบคอร์น เพรทเซล แซนวิช โดนัท กาแฟ หรืออะไรต่อมิอะไรที่เป็นร้านดังจากนอกเข้ามาเปิดใหม่ บางร้านที่คนเยอะมาก ๆ เขาก็จะจำกัดว่าคนหนึ่งซื้อได้ไม่เกินกี่ชิ้นเพื่อให้ลูกค้าคนอื่นได้ซื้อบ้าง ที่ทำงานเก่าของฉันก็มีหลายคนชอบป๊อบคอร์นร้านดังร้านหนึ่งเหมือนกัน เวลาใครไปแถวนั้นทีและไปซื้ออยู่ก็จะไลน์หรือโทรมาถามว่าใครจะฝากซื้อบ้างไหม เอาขนาดไหน หรือบางทีเพื่อนร่วมงานก็ใจดีซื้อมาฝาก เวลาป๊อบคอร์นมาถึงออฟฟิศก็จะกระดี๊กระด๊าดีใจมากเพราะนาน ๆ จะได้รับประทานเสียทีหนึ่ง ตัวฉันเองแม้จะเป็นคนชอบรับประทานของอร่อยแค่ไหนก็ไม่มีความอดทนที่จะไปยืนต่อแถวรอนานถึงขนาดนั้น

การเข้าแถวของร้านหนึ่งที่ฉันว่าไอเดียดีคือ ร้านหนังสือ เขาจัดให้นักเขียนหรือนักวาดการ์ตูนมาแจกลายเซ็น ฉันยังไม่เคยได้ไปสักทีเพราะบางทีงานเหล่านี้ก็จัดในจังหวัดอื่น หรือจัดในช่วงที่ฉันติดงาน กติกาของแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่เคยได้ยินมาคือต้องซื้อหนังสือจากในร้านหนังสือที่นักเขียนมาแจกลายเซ็นแล้วจึงจะมีสิทธิ์เข้าคิวขอลายเซ็นจากนักเขียน โดยร้านหนังสือเขาจะจัดมุมหนึ่งของร้านไว้สำหรับการนี้ไว้เฉพาะ โดยกั้นเป็นคอกไว้ไม่ให้ลูกค้าทั่วไปมองเห็นนักเขียน บรรดาแฟน ๆ ของนักเขียนก็ซื้อหนังสือจะมาต่อคิวกันยาวเหยียดหน้าร้าน ฉันเคยไปแต่งานแบบที่มีการสัมภาษณ์นักเขียนและแจกลายเซ็นเป็นอีเวนท์ ๆ ตามงานสัปดาห์หนังสือหรืองานที่จัดแยกเป็นการเฉพาะที่เมืองไทย โดยสามารถเอาหนังสือที่ตัวเองมีอยู่แล้วไปขอลายเซ็นได้ ไม่ต้องซื้อใหม่แบบที่ญี่ปุ่น

มีเรื่องน่าแปลกใจ น่าขำ และน่าเสียดายระคนกันเกี่ยวกับการต่อแถวที่ญี่ปุ่นเหมือนกันค่ะ คือมีร้านราเมงร้านหนึ่งที่ดังมาก ๆ ลูกค้าเยอะ ต่อคิวกันยาวเหยียด และแถวนั้นดูเหมือนจะเป็นย่านที่อยู่อาศัยด้วย สุดท้ายร้านนี้ต้องปิดตัวลงเพราะ “รบกวนคนในพื้นที่” ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตค่ะที่ฉันได้ยินว่ามีร้านที่ต้องปิดตัวลงจากการ “ขายดีเกินไป” แบบนี้ด้วย ทำให้รู้สึกทึ่งที่คนญี่ปุ่นเขาถือเรื่องการไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อนกิจการของตัวเองเสียอีก และคงเพราะแบบนี้นี่เองคนญี่ปุ่นจึงต้องจัดระเบียบแถวแยกไปอีกฟากหนึ่ง ไม่ให้มาออกันเต็มหน้าร้านหรือกีดขวางทางเดินสัญจรของผู้คน

ถ้าหลาย ๆ แห่งในโลกสามารถจัดระเบียบสังคมและผู้คนทำตามกันเป็นเอกฉันท์ได้อย่างนี้คงจะดีไม่น้อยเลยนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น