xs
xsm
sm
md
lg

สะเทือน! ญี่ปุ่นปฏิเสธลงทุนรถไฟความเร็วสูงในไทย ยันให้ได้แค่ “เงินกู้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตัวแทนของญี่ปุ่นปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ให้ร่วมลงทุนให้โครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย โดยเสนอให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่านั้น

สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายนงานว่า กระทรวงคมนาคมไทยนำโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคมได้หารือกับตัวแทนของฝ่ายญี่ปุ่น ที่นำโดยนายโนริโยชิ ยะมะงะมิ รองผู้อำนวยการสำนักการขนส่งทางราง กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 ก.พ. เพื่อหารือโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้สิทธิ์ดำเนินการโครงการ

รัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโครงการ เพื่อลดหนี้ที่เกิดจากการลงทุน แต่คำตอบของฝ่ายญี่ปุ่นคือ สามารถให้ได้เพียงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนโครงการเท่านั้น

ผลการศึกษาของฝ่ายญี่ปุ่นพบว่า โครงการรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่ต้องใช้เงินลงทุนราว 420,000 ล้านบาท และนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งให้ศึกษาแนวทางลดความเร็วรถไฟเหลือเพียง 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง แต่จากประสบการณ์อันยาวนานของฝ่ายญี่ปุ่นพบว่า หากลดความเร็วของรถไฟลงจะไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินราคาประหยัดได้เลย

อ่านข่าวย้อนหลัง : ญี่ปุ่นมึน!? รัฐบาลไทยเสนอลดความเร็ว “ชินคันเซ็น เชียงใหม่” หวังลดต้นทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมต.คมนาคม รับมอบข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงจากนายทาคาโอะ มะกิโนะ รมต.คมนาคมญี่ปุ่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุว่า รถไฟเส้นทางนี้จะใช้เทคโนโลยี “ชินคันเซ็น” ซึ่งทำความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมเสนอว่าอาจต้องตัดสถานีบางแห่งเพื่อลดต้นทุนของโครงการ แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้สูญเสียผู้โดยสารตามสถานีรายทางจากสถานีที่ถูกตัดออกไป

หลังจากการหารือที่ไม่สามารถรอมชอมกันได้ รัฐมนตรีคมนาคมของไทยระบุว่าจะหารือกับกระทรวงการคลัง และฝ่ายญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาทางออกร่วมกันในโครงการนี้

เมื่อตรวจสอบความคิดเห็นจากสื่อมวลชนญี่ปุ่น พบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่า การต่อรองขอลดความเร็วจะทำให้เสียเอกลักษณ์ของเทคโนโลยี “ชินคันเซ็น” ส่วนการเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นลงทุนร่วมนั้นถือเป็นความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ให้ความช่วยเหลือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาตลอด เช่น โครงการรถไฟใต้ดินในกรุงเทพฯ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เปรียบเทียบกับเส้นทางรถไฟสายอีสาน ที่ฝ่ายจีนได้รับสิทธิ์ดำเนินการ ซึ่งฝ่ายจีนก็ได้ยื่นข้อเสนอที่มากกว่าฝ่ายญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจลงทุนเอง และตัดเส้นทางให้สั้นลงจนแทบไม่เกิดประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น