xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ยักษ์รับความสุขแบบญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก https://www.nta.co.jp/media/tripa
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

วันนี้เป็นวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังหนาวมากแบบกลางฤดูหนาวอยู่เลยค่ะ ดอกบ๊วยที่น่ารักจะเริ่มออกดอกกันในเดือนนี้ แถมเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่เรียกว่าเซ็ทสึบุง (節分) ก็เพิ่งผ่านไปเมื่อวานสด ๆ ร้อน ๆ และถือว่าเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาวตามประเพณีด้วย

เซ็ทสึบุง คือวันก่อนวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิหนึ่งวัน ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปีในช่วงปี พ.ศ. 2528-2567 (ปีถัดจากนั้นจะกลายเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์แทน) เชื่อกันว่าช่วงเปลี่ยนฤดูจะเกิดความชั่วร้าย (ยักษ์) จึงต้องมีการขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปด้วยการโปรยถั่วเหลืองอบพร้อมร้องว่า “โอนิ วะ โซะโตะ ฟุขุ วะ อุจิ” (鬼は外、福は内)แปลตรงตัวว่า “ยักษ์อยู่ข้างนอก ความสุขอยู่ข้างใน” ในบางพื้นที่มีค่านิยมด้วยว่าถ้าสมาชิกในครอบครัวบางคนยังอยู่ข้างนอกจะพูดแค่ว่า “ความสุขอยู่ข้างใน” เพราะขืนพูดว่า “ยักษ์อยู่ข้างนอก” ด้วย เดี๋ยวสมาชิกในครอบครัวที่ยังกลับไม่ถึงบ้านจะกลายร่างเป็นยักษ์ไปเสียก่อน

ในช่วงนี้จะเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตวางขายถั่วเป็นห่อ ๆ โดยเรียกว่าเป็น “ฟุกุมาเมะ” (福豆) หมายถึง “ถั่วแห่งความสุข” หรือ “ถั่วมงคล” บางทีก็จะมีหน้ากากยักษ์แถมมาให้ด้วย ส่วนใหญ่พ่อบ้านมักรับบทเป็นยักษ์แล้วให้ลูก ๆ ปาถั่วใส่ สามีบอกว่าสมัยเด็ก ๆ เคยเล่นแบบนี้ในโรงเรียนอนุบาลกับโรงเรียนประถม โดยเด็กบางคนจะรับบทเป็นยักษ์ แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนเด็กที่รับบทยักษ์จะน้อยลง เดาว่าคงไม่สนุกและเจ็บตัวกระมัง
ภาพจาก https://ryukyushimpo.jp
สำหรับกิจกรรมในครอบครัวนั้น นอกจากปาถั่วใส่ยักษ์แล้วก็มีการโปรยถั่วตามห้องหับในบ้านด้วย โดยคนรับหน้าที่นี้คือเจ้าบ้านหรือพ่อบ้านนั่นเอง ไม่อย่างนั้นก็เป็นลูกชายคนโต ห้องเล็กก็โปรยทีเดียว ห้องใหญ่ก็อาจจะโปรยสักสองหน ได้ข่าวว่าบางบ้านเห็นว่าโปรยแล้วถั่วกระจัดกระจายเต็มบ้านไปหมด ก็เลยห่อเป็นถุงจิ๋ว ๆ แล้วโยนเป็นถุงเอาก็มี

“พอโปรยถั่วเสร็จ ก็ไปเก็บมากินตามจำนวนเท่ากับอายุของตัวเอง” คุณน้าชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าให้ฟัง เพื่อนคนญี่ปุ่นอีกคนที่นั่งคุยอยู่ด้วยทำหน้าตกใจเอ๋ เก็บที่โปรยไปแล้วมากินด้วยหรือคะ” คุณน้าหัวเราะตอบ “อ้าว ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ต้องทิ้งสิ เสียดายของ” ตามประเพณีแล้วดูเหมือนว่าจะเอาถั่วที่โปรยในบ้านนั่นแหละมารับประทาน แต่สำหรับเพื่อนคนนี้เธอไม่อยากเอาของตกพื้นแล้วมารับประทานจึงกันถั่วสำหรับรับประทานไว้ต่างหาก เชื่อกันว่าถ้ากินถั่วจำนวนมากกว่าอายุตัวเองหนึ่งเม็ดจะแข็งแรงและมีโชคลาภ

“จริง ๆ แล้วสมัยก่อนยักษ์หมายถึงคนต่างชาติ” คุณน้าเล่าต่อ “ผมสีทอง ตาสีเขียวสีฟ้า จมูกโง้ง” จะว่าไปแล้วก็นึกได้ว่าฉันเคยอ่านการ์ตูนบางเรื่องที่มีตัวละครกล่าวหาคนที่หน้าตาออกไปทางฝรั่งว่าเป็นยักษ์อยู่เหมือนกัน ฉันถามต่อด้วยความสงสัยว่า งั้นสมัยก่อนเขาปาถั่วใส่คนต่างชาติกันหรือคะ ทั้งคุณน้าทั้งเพื่อนพากันหัวเราะ “เปล่า ๆ ไม่มี ๆ”

นอกจากโปรยถั่วแล้วยังมีการประดับก้านฮีรางิเสียบหัวปลาอิวาชิที่โถงหน้าบ้านด้วยเพื่อกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในบ้าน เหตุที่ใช้สองอย่างนี้ก็เพราะใบฮีรางิเป็นหนามและปลาอิวาชิมีกลิ่น ยักษ์กลัวโดนหนามฮีรางิทิ่มตาและเกลียดกลิ่นปลาอิวาชิ เห็นคนญี่ปุ่นบอกว่าประดับเอาไว้เฉพาะแค่ในวันเซ็ทสึบุงเท่านั้นแล้วก็เอาออก
ภาพจาก http://mengry.net/2015/11/02/setubun_iwashi_yurai/
ตอนแรกฉันนึกว่าประเพณีนี้มีไว้เล่นสนุกกันมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่จริงแล้วเป็นการเป็นงานอยู่ไม่น้อย เพราะที่วัดหรือศาลเจ้าก็มีพิธีกรรมในวันเซ็ทสึบุงเช่นกัน โดยแต่ละแห่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ตามวัดใหญ่ดัง ๆ หน่อยอาจมีทั้งพระและแขกรับเชิญ เช่นดาราหรือนักซูโม่ชื่อดังมา พวกเขาจะสวมชุดแบบขุนนางญี่ปุ่นสมัยก่อนและโปรยถั่ว รวมทั้งอาจมีซองใส่เงินนิด ๆ หน่อย ๆ ขนม หรือกระทั่งของรางวัลปะปนอยู่ด้วย และจะมีฝูงชนแห่กันมารอรับ รางวัลนี้มีตั้งแต่ของใช้ในบ้านไปจนถึงได้พักโรงแรมฟรีหนึ่งคืนพร้อมอาหาร เป็นต้น จะมีรายการโทรทัศน์ไปถ่ายทำรายการตามศาลเจ้าหรือวัดดัง ๆ ในวันนี้ด้วย

เมื่อก่อนฉันเข้าใจว่าพิธีในวัดหรือศาลเจ้าคือโปรยถั่วเพื่อความเป็นสิริมงคลคือไล่ความชั่วร้ายออกไป ไฉนประชาชนจึงไปรออยู่ข้างล่างให้เขาปาถั่วใส่เสมือนถูกขับไล่ว่าเป็นยักษ์อย่างนั้นหนอ ถามผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ท่านเคยไปร่วมพิธี ท่านบอกว่าเขาโปรยหรือโยนให้ ไม่ได้ปาใส่ ประชาชนเขาไปรอรับถั่วเป็นสิริมงคล รับแล้วก็เอากลับไปกินตามจำนวนเท่าอายุหรือไม่ก็มากกว่าอายุหนึ่งเม็ดจะได้สุขภาพดี แข็งแรง
ภาพจาก http://www.media-create.jp/minmedia
ฉันจำได้ว่าในวันนี้สามีจะซื้อข้าวห่อสาหร่ายแท่งโต ๆ กลับบ้านมาด้วยหนึ่งแท่งซึ่งเรียกกันว่า “เอะโฮมากิ” หมายถึง “ข้าวห่อสาหร่ายทิศมงคล” เชื่อว่ารับประทานแล้วจะได้มีโชคลาภหรือมีความสุข ข้าวห่อสาหร่ายชนิดนี้มักมีไส้ทั้งหมด 7 อย่าง เวลารับประทานต้องรับประทานทั้งแท่งอย่างนั้นให้หมดโดยไม่มีการหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ที่สำคัญคือต้องหันหน้าไปทางทิศแห่งโชคลาภประจำปีนั้น ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความสุขประทับอยู่ โดยแต่ละปีที่อยู่ของเทพเจ้าองค์นี้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สำหรับปีนี้ก็จะเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่อนไปทางใต้หน่อย

ครั้งแรกที่ฉันเห็นสามียืนหันหน้าเข้าหากำแพงในแนวเฉียงแล้วเงยหน้ารับประทานข้าวห่อสาหร่ายแท่งโตทั้งแท่งอย่างทุลักทุเล ก็รู้สึกประหลาดใจเต็มกำลังพลางแอบขำว่าทำอะไรแปลก ๆ แต่ก็ร่วมวงรับประทานด้วย ภายหลังถึงมารู้ว่าจริง ๆ แล้วต้องรับประทานคนละแท่ง และรับประทานไปเงียบ ๆ โดยไม่พูดจนกว่าจะหมด ที่ต้องรับประทานต่อเนื่องกันให้หมดก็เพื่อที่ว่าความสุขจะได้มีตลอดปีไม่ขาดตอน เขาว่ากันอย่างนั้นนะคะ

ปกติสามีไม่ใช่คนที่ต้องทำอะไรตามประเพณี อย่างโปรยถั่วนี่เราก็ไม่เคยทำ แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ซื้อเอะโฮมากิมา รวมทั้งที่ทำงานบางแห่งก็มีการแจกให้พนักงานกันคนละแท่งด้วย ฉันก็เลยนึกว่าทุกคนคงจะต้องรับประทานเจ้าสิ่งนี้กันทุกบ้าน แต่จริง ๆ แล้วบางคนที่ไม่เคยรับประทานเลยก็มี สรุปแล้วเดาว่าสามีคงนึกอยากรับประทานข้าวห่อสาหร่ายเสียมากกว่าอย่างอื่นจึงซื้อมารับประทานไปอย่างนั้นเอง
ภาพจาก https://retrip.jp
ดูเหมือนว่าเดิมทีประเพณีรับประทานข้าวห่อสาหร่ายทั้งแท่งเพื่อเฉลิมฉลองเซ็ทสึบุงนี้เริ่มขึ้นในโอซากาตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยเชื่อว่ากิจการจะได้รุ่งเรือง สมัยนั้นไม่ได้เรียกกันว่าเอะโฮมากิ แต่เรียกว่า “มารุคาบุหริซุฉิ” บ้าง “ฟุโตมากิซุฉิ” บ้าง เพิ่งมาในยุคนี้เองที่เซเว่นอีเลเว่นเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาเลยเอาข้าวห่อสาหร่ายแท่งชนิดนี้มาตั้งชื่อให้ว่า “เอะโฮมากิ” และวางจำหน่ายทั่วประเทศ กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมีคู่กับเทศกาลเซ็ทสึบุงในหลายแห่งไปเสียแล้ว

เดี๋ยวนี้จึงเห็นเอะโฮมากิวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งร้านขายซูชิบางแห่งก็ยังมีให้สั่งได้ ขนาดซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นที่มีหลายสาขาในสหรัฐ ฯ ก็ยังมีให้สั่งจองเช่นกัน แต่ฉันเห็นราคาที่สหรัฐ ฯ แล้วรู้สึกว่าแทบจะพอ ๆ กับข้าวกลางวันหนึ่งมื้อเลยตัดใจ ที่จริงก็มีบางบ้านที่ทำเองเหมือนกัน ฉันก็นึกอยู่เหมือนกันว่าจะทำเองดีไหม แต่เห็นใส่ไส้ตั้ง 7 อย่างเลยขอคิดดูก่อน

เรียกได้ว่าเอะโฮมากิได้เปลี่ยนโฉมจากประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมกลายมาเป็นสินค้าการตลาด และจากสินค้าการตลาดก็กลายมาเป็นประเพณีที่นิยมกันทั่วญี่ปุ่น จะว่าไปแล้วคนญี่ปุ่นนี่มีวิธีการตลาดที่น่าทึ่งนะคะ แถมยังรู้จักเอาสิ่งที่เขามีอยู่ในวิถีชีวิตชุมชน อยู่ในประวัติศาสตร์มาแต่เดิมมาเป็นสินค้าที่นิยมติดตลาดได้ด้วย แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่ก็ยังอนุรักษ์ของเก่าไว้ในแบบแผนของยุคใหม่ได้อย่างชาญฉลาด ได้ทั้งยอดขายและอนุรักษ์วัฒนธรรม

แต่ก็มีคนญี่ปุ่นบางคนแย้งว่าจริง ๆ แล้วประเพณีนี้เริ่มในย่านสถานเริงรมย์ ไม่ควรจะทำตามกันอย่างเอิกเกริกเสมือนเป็นเรื่องดีกันทั้งประเทศเช่นนี้ ไม่ทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร แต่ทางการตลาดก็โฆษณาในทางที่เป็นบวกไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เดาว่าเอะโฮมากิจะยังได้รับความนิยมในฐานะส่วนหนึ่งของเทศกาลเซ็ทสึบุงต่อไปเรื่อย ๆ

สุขสันต์วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิค่ะ



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น