ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ในขณะที่คนไทยคุ้นกับคำว่าเงินเฟ้อเพราะเห็นได้ชัดว่าข้าวของราคาแพงขึ้นต่อเนื่อง แต่สำหรับญี่ปุ่น ในช่วงประมาณสามทศวรรษมานี้คนญี่ปุ่นคุ้นกับคำว่าเงินฝืดมากกว่า ภาคธุรกิจและประชาชนต่างก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรญี่ปุ่นจะหลุดพ้นภาวะเงินฝืด ตัวเลขสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจของปีก่อนหน้าซึ่งทางการประกาศในช่วงต้นปีถัดไปจึงเป็นข้อมูลที่ผู้คนจับตามอง “ญี่ปุ่นมุมลึก” จึงขอพาไปสำรวจสภาพการณ์ตอนนี้ ซึ่งญี่ปุ่นพยายามจะผ่านพ้นมานานปีว่ามีแนวโน้มไปถึงไหนบ้างแล้ว
คำสำคัญที่ญี่ปุ่นจะต้องข้ามผ่านไปให้ได้คือ “ภาวะเงินฝืด” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เดะฟุเระ” มาจากภาษาอังกฤษ deflation (ดิเฟฺลชัน) โดยออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า “เดะ-ฟุ-เร-ช่อง” และมักพูดสั้น ๆ ว่า “เดะฟุเระ” ส่วนคำตรงข้ามคือ “ภาวะเงินเฟ้อ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อินฟุเระ” มาจากภาษาอังกฤษ inflation (อินเฟฺลชัน) โดยออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า “อิน-ฟุ-เร-ช่อง” และมักพูดสั้น ๆ ว่า “อินฟุเระ”
สำหรับผู้อ่านในวัยเยาวชนที่อาจไม่คุ้นเคยกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ขออธิบายคร่าว ๆ ว่าทำไมการที่ข้าวของราคาถูกเรื้อรังจึงไม่ใช่เรื่องดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าไม่ขึ้น (ไม่เกิดเงินเฟ้อ) รายรับของธุรกิจก็เท่าเดิม การปรับค่าจ้างขึ้นก็ทำได้ยาก ขณะเดียวกันผู้คนก็ไม่มั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจ จึงไม่ค่อยใช้เงิน พยายามใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ การหมุนของเงินจึงฝืด และบริษัททั้งหลายก็ลังเลที่จะลงทุนเพิ่ม การลงทุนใหม่ ๆ ไม่เกิด การปล่อยกู้จากธนาคารชะงัก กิจกรรมทางธุรกิจไม่ขยายตัว เศรษฐกิจไม่โต เป็นวงจรฝืดแบบนี้วนไป
ในขณะที่คนไทยบ่นกันถ้วนหน้าว่าเงินร้อยบาทสมัยนี้ทำอะไรไม่ค่อยได้โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ในญี่ปุ่นกลับมีบรรยากาศโหยหาภาวะเงินเฟ้อท่ามกลางสภาพที่ราคาสินค้าแทบจะถูกตรึงแน่นอยู่ในระดับเดิมด้วยภาวะเงินฝืดมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ปัจจุบันนี้คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นซ้ำ ๆ ในช่วงหลายปีคงเริ่มรู้สึกว่าข้าวของในญี่ปุ่นไม่ได้แพงจนซื้อไม่ลงเหมือนเมื่อก่อน นั่นเป็นเพราะราคาในญี่ปุ่นไม่ค่อยขึ้น ประกอบกับราคาอะไรต่อมิอะไรในเมืองไทยแพงขึ้นมากจนเราชักจะเริ่มชิน พอซื้อของในญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความแตกต่างเหมือนเมื่อก่อน
ประเด็น “ดะสึ-เดะฟุเระ” หรือ “การหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด” (脱デフレ; datsu defure) คือ เป้าหมายหนึ่งของนโยบายระดับประเทศที่มาในรูปแบบของวาทกรรม “ลูกศร 3 ดอก” (三本の矢; Sanbon no ya) ได้แก่ มาตรการการเงิน (ขนานใหญ่) การกระตุ้นการคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง นโยบายนี้ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ จึงได้ชื่อว่า “อะเบะโนมิกส์” (Abe + economics) ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2013 (พ.ศ. 2556)
เมื่อพิจารณาเฉพาะความเปลี่ยนด้านภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าหากถามว่าทำไมต้อง 2% ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นให้คำอธิบายว่าเพราะอัตราเงินเฟ้อระดับนี้จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในทั้งด้านค่าครองชีพและการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และเป็นเกณฑ์ที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ เช่น อังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาติดตามความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้และถามว่า ณ สิ้นปี 2560 ญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดหรือยัง คำตอบคือ “ยัง” ถึงแม้มีกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปรากฏให้เห็นและราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งจริง ๆ ก็เกิดเสียงบ่นจากประชาชนเหมือนกันเมื่อต้องซื้อของแพงขึ้นแต่ค่าแรงยังไม่ขึ้น (ส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนี้ คือราคาสินค้าขึ้นนำไปก่อนค่าแรง)
สิ่งที่สะท้อนภาวะเงินเฟ้อคือระดับราคา ซึ่งแสดงออกมาเป็นตัวเลขโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index; CPI;ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า消費者物価指数;shōhisha bukka shisū) สำนักงานสถิติของญี่ปุ่นประกาศดัชนีของปี 2017 (พ.ศ. 2560) เทียบกับปี 2015 (พ.ศ. 2559) เป็นปีฐาน (100) ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม โดยประมวลและแสดงเป็นกราฟ ดังนี้
เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนในเบื้องต้น
1) ดัชนีรวม ณ เดือนธันวาคมปี 2017 คือ 101.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีก่อน 1.0% (กราฟ 1)
2) ดัชนี ณ เดือนธันวาคมปี 2017 (ไม่คิดสินค้าประเภทอาหารสด) คือ 100.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมปีก่อน 0.9% (กราฟ 2)
3) ดัชนี ณ เดือนธันวาคมปี 2017 (ไม่คิดสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน) คือ 101.0 เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า 0.3% (กราฟ 3)
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนำสินค้าประเภทอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กับพลังงาน เช่น น้ำมัน มาคำนวณด้วยในดัชนีทั้งแบบรวมและแบบแยกเพื่อให้เห็นเด่นชัด และจะเห็นได้ว่า ดัชนีในบางเดือนของปี 2017 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน แต่เมื่อมองทั้งหมดจะพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ว่านั้นก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายของอะเบะโนะมิกส์ ดังที่ตัวเลขเฉลี่ยทั้งปีสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนดังนี้ คือ
1) ดัชนีรวมเฉลี่ยของปี 2017 คือ 100.4 เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า 0.5% (แสดงด้วยเส้นหนา)
2) ดัชนีรวมเฉลี่ยของปี 2017 (ไม่คิดสินค้าประเภทอาหารสด) คือ 100.2 เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า 0.5% (แสดงด้วยเส้นบาง)
3) ดัชนีรวมเฉลี่ยของปี 2017 (ไม่คิดสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน) คือ 100.7 เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า 0.1% (แสดงด้วยเส้นประ)
กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงในดัชนีราคาผู้บริโภคมของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2005-2017 (พ.ศ. 2548 – 2560)
เมื่อดูตัวอย่างสินค้าเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่ามีอะไรแพงขึ้นบ้าง หนังสือพิมพ์ Yomiuri Shinbun สรุปบางส่วนไว้ดังตาราง
จากตัวเลขทั้งหมดที่ยกมานี้ เมื่อมองรวม ๆ แล้วจะเห็นได้ว่า แม้ระดับราคามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในทางสูงขึ้น แต่อัตราเฉลี่ยของปี 2017 สูงขึ้นเพียง 0.5% จากปี 2016 ซึ่งบอกได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% อยู่มาก แต่หากจะมองในแง่ดี ก็กล่าวได้ว่าผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการพยายามทำให้เงินเยนอ่อนค่า หรือการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ก็มิได้เป็นศูนย์ไปเสียหมด
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่อยู่ญี่ปุ่นมาเกือบยี่สิบปี ผมก็รู้สึกเหมือนกันว่า ราคาสินค้าในญี่ปุ่นแทบไม่เปลี่ยนแปลง ตรงข้ามกับของไทยโดยสิ้นเชิง ในญี่ปุ่นผู้ประกอบการไม่ค่อยกล้าขึ้นราคาเพราะกลัวลูกค้าไม่ซื้อ การขึ้นราคามีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าโดยตรง ผมเองก็เลิกกินอาหารของบางร้านไปเช่นกันนับตั้งแต่ภาษีผู้บริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ถูกปรับขึ้นจาก 5% เป็น 8% เมื่อปี 2557 หลายร้านจึงใช้วิธีไม่ขึ้นราคาแต่ลดปริมาณ ซึ่งในเชิงจิตวิทยาก็ถือว่ายังพอใช้ได้ สาเหตุที่ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปด้วยก็เพราะค่าแรงไม่ขึ้นนั่นเอง
รัฐบาลดูเหมือนตระหนักในข้อนี้ดี ดังนั้นเพื่อสร้างสมดุลสำหรับการผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในขณะที่พลังขับเคลื่อนของอะเบะโนมิกส์ถูกใช้เกือบทุกด้านแล้ว รัฐบาลจึงออกมาตรการเพิ่มเติมคือ ให้แรงจูงใจทางภาษีแก่บริษัทที่จะขึ้นค่าจ้างแก่พนักงาน ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งตอบรับในเชิงบวกแล้ว
การหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดเป็นโจทย์ที่ยังแก้ยากสำหรับญี่ปุ่น คงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ถ้ามองแบบเบา ๆ จากสายตาของนักท่องเที่ยวชาวไทย ก็บอกได้ว่าภาวะเงินฝืดได้เอื้อให้นักนักท่องเที่ยวใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมในช่วงหลายปีมานี้เหมือนกัน และด้วยสายตาของคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง ก็บอกว่าได้สภาพแบบนี้จะดำเนินต่อไปอีกพักใหญ่ อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงช่วงโตเกียวโอลิมปิก 2020
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com