นครเกียวโตจะเปลี่ยนเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ปริมาณ” ไปสู่ “คุณภาพ” โดยมุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และสนใจการท่องเที่ยวในเชิงลึกซึ้ง
จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนครเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นมีมากกว่า 50ล้านคนต่อปี และเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลกันมาทำให้เกิดความแออัดเกินจะรองรับได้ และปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ความสกปรกจากการทิ้งขยะ, ความเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว, การจราจรที่คับคั่ง และการรบกวนชีวิตของชาวบ้าน เป็นต้น ทำให้ทางการท้องถิ่นต้องออกมาตรการ เช่น การเก็บภาษีโรงแรมและที่พักต่างๆ รวมทั้งโฮมสเตย์ โดยมุ่งจะคัดกรองและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
ข้อมูลจากทางการนครเกียวโตระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการใช้จ่ายราว 100,000 เยนถือเป็นกลุ่มที่จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้มาก นักท่องเที่ยวระดับบนยังมีความสนใจในวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกว่า ไม่ใช่เพียงแค่มาถ่ายรูป, โพสต์ลงเฟชบุ๊ก แล้วก็จากไป พวกเขาเหล่านี้จะเป็น “ทูตวัฒนธรรม” ที่ดี
นครเกียวโตยังร่วมมือกับจังหวัดคะนะซะวะและแหล่งท่องเที่ยวอื่นเพื่อจัดการทัศนศึกษาตามความสนใจเฉพาะ เช่น การสวมชุดกิโมโน, เยี่ยมชมโรงบ่มเหล้าสาเก และร่วมพิธีชงชา เป็นต้น วัดหลายแห่งยังเปิดการอบรมสมาธิโดยใช้ภาษาอังกฤษ ศูนย์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็เปิดอบรมงานฝีมือ เช่น การทำพัดหรือเครื่องปั้นดินเผา โครงการเฉพาะทางเหล่านี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก
ทางการนครเกียวโตระบุว่า ในอดีตการส่งเสริมการท่องเที่ยวมักทำโดยจังหวัดหรือภูมิภาคต่างๆ แทนที่จะร่วมมือกันโปรโมทญี่ปุ่นทั้งประเทศ รัฐบาลนครเกียวโตจึงร่วมมือกับท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ซับโปโร, นาระ และ อิชิคาวะ เพื่อร่วมกันดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย.