xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นบนความท้าทาย: เปิดประตูสู่สากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ญี่ปุ่นจะต้องต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างแดนจำนวนมาก ถึงแม้ญี่ปุ่นจะพัฒนาประเทศจนรุดหน้าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แต่โดยทัศนคติของชาวญี่ปุ่นแล้วยังคงปิดกั้นต่อโลกภายนอกอย่างมาก เห็นได้จากถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ แต่ชาวต่างชาติกลับได้โอกาสในการทำงานที่ญี่ปุ่นน้อยมาก ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงมองว่าชาวต่างชาติเป็น “คนนอก” ที่ไม่มีทางเข้ากับญี่ปุ่นได้

“ปัญหาปี 2040” ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น เนื่องจากมีการประเมินว่า ในปี 2042 จำนวนประชากรที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นจะมีมากที่สุดถึง 39,350,000 คน และตั้งแต่ปี 2040 จำนวนผู้สูงอายุที่มหาศาลและจำนวนเด็กที่น้อยลง จะทำให้เทศบาลแห่งต่างๆ ราวครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นอาจต้องล้มละลาย หรือไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์และการพยาบาลที่เพียงพอแก่ประชาชน เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงกับกับรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปยังทำให้ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นพบว่า การขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่นเลวร้ายที่สุดในช่วงกว่า 25 ปี

ญี่ปุ่นมีนักศึกษาต่างชาติจำนวนมาก และมีผลการสำรวจพบว่า นักศึกษาชาวต่างชาติกว่าร้อยละ 60 ที่ศึกษาในญี่ปุ่นปรารถนาที่จะทำงานและอยู่ในญี่ปุ่นต่อไป แต่มีนักศึกษาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สามารถหางานในญี่ปุ่นได้

สาเหตุคือความคาดหวังที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับนักเรียนต่างชาติ บริษัทส่วนใหญ่มีระบบการเพิ่มเงินเดือนตามระบบอาวุโสและการจ้างงานตลอดอาชีพ นอกจากนี้ บริษัทญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับทักษะการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนต่างชาติมากกว่าผลงานที่ผ่านมาหรือความสามารถด้านอื่น ๆ สิ่งนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีความน่าดึงดูดน้อยสำหรับชาวต่างชาติที่คิดจะอาศัยอยู่ญี่ปุ่นตลอดไปในฐานะสมาชิกของสังคม

รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามเปิดรับแรงงานต่างชาติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับเป็นเพียงนโยบาย “ลักปิดลักเปิด” เพราะมีการตั้งคุณสมบัติไว้สูงมาก หรือเปิดเฉพาะในบางสาขาอาชีพที่เป็น “แรงงาน” จริงๆ ไม่ใช่พนักงานบริษัทเหมือนชาวญี่ปุ่น

โครงการ “ฝึกงานทางเทคนิค” ที่ขณะนี้มีชาวต่างชาติราว 250,000 คนอยู่ในญี่ปุ่นถูกวิจารณ์ว่าเป็นวิธีหาแรงงานราคาถูกเพื่อทำงานที่คนญี่ปุ่นไม่อยากทำ มีบางกรณีที่ผู้ฝึกงานถูกให้ทำงานโดยได้รับเงินเดือนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ บางบริษัทก็ยึดหนังสือเดินทาง หรือจำกัดอิสรภาพของผู้ฝึกงาน จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องพนักงานฝึกงานชาวต่างชาติจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อยกระดับการควบคุมดูแลบริษัทและหน่วยงานที่รับพนักงานฝึกงาน นายจ้างที่ใช้ความรุนแรงและการข่มขู่เพื่อบังคับให้พนักงานฝึกงานต้องทำงานจะถูกลงโทษปรับหรือจำคุก

งานดูแลผู้สูงอายุเป็นงานหนึ่งที่ขาดแคลนแรงงานขั้นร้ายแรง กฎหมายนี้จึงอนุญาตให้พนักงานฝึกงานชาวต่างชาติรับการฝึกงานพยาบาล โดยสถานพยาบาลและโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่สามารถรับพนักงานฝึกงานได้ กฎหมายนี้กำหนดให้มีหัวหน้าผู้ดูแล 1 คน ต่อพนักงานฝึกงาน 5 คน พนักงานจะฝึกอบรมผ่านการปฏิบัติงานจริงในการช่วยผู้ป่วยอาบน้ำและป้อนอาหารให้ผู้ป่วย

กฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้บริษัทที่มีประวัติการจ้างงานที่ดีจ้างพนักงานฝึกงานได้ถึง 5 ปี

โครงการฝึกงานมีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดทักษะ เทคโนโลยี และความรู้ขั้นสูงของญี่ปุ่นแก่ประเทศอื่น ๆ แรกเริ่มมีเพียงแค่บริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่รับผู้ฝึกงานชาวต่างชาติ แต่ตั้งแต่ปี 2533 มีการนำระบบใหม่มาใช้ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเข้าร่วมรับผู้ฝึกงานได้

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบใหม่คือ มีการขยายขอบเขตประเภทของงานที่สามารถทำได้, เพิ่มจำนวนผู้ฝึกงาน รวมถึงจำนวนองค์กรที่รับผู้ฝึกงาน สมัยก่อนชาวต่างชาติทำงานในภาคการผลิตเป็นหลัก แต่รัฐบาลของนายกฯชินโซ อะเบะได้เริ่มเน้นการรับแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรและภาคการพยาบาลดูแล รวมถึงภาคการก่อสร้างหลังจากกรุงโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 นอกจากนี้ก็ยังเริ่มมีการรับแรงงานต่างชาติในงานประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น งานบ้าน

ถึงแม้ว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ จะผ่อนปรนเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น แต่สิ่งที่ยากจะเปลี่ยน คือ ทัศนคติของผู้ที่บริหารชาวญี่ปุ่น ที่ยังคงเลือกให้งานกับชาวญี่ปุ่นมากกว่า และชาวญี่ปุ่นมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า

การเลือกปฏิบัติแบ่งแยกคนนอก-คนในสะท้อนอยู่ในรากฐานความเป็นญี่ปุ่น ตั้งแต่ภาษา, การทำงาน จนถึงวิถีชีวิต สาเหตุเพราะญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นเกาะที่แยกจากแผ่นดินใหญ่  ชาวญี่ปุ่นจึงมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง และมองว่าชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็น “คนแปลกหน้า” หรือไม่ก็ “ผู้บุกรุก”

ในยุโรปมีแนวคิดว่า “เงินไม่มีสัญชาติ งานไม่แบ่งประเทศ” ยุโรปจึงเปิดรับแรงงานต่างชาติมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนได้ ขอเพียงแต่ชาวต่างชาติคนนั้นทำงานได้ และเสียภาษีให้กับประเทศเท่านั้น ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงมองว่าชาวต่างชาติเป็น “คนนอก” ที่ไม่มีวันเข้าใจและเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้ ทั้งๆที่สังคมญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการ “ล้มละลาย” แต่ชาวญี่ปุ่นกลับยังเชื่อในเครื่องจักรกล มากกว่าศักยภาพของมนุษย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น