ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เรื่องเล่าของฮะชิโก
ปีนั้นคือปีโชวะ 12 ตรงกับ พ.ศ. 2466 มีลูกสุนัขตัวหนึ่งเกิดในจังหวัดอะกิตะของญี่ปุ่น วันนั้นคือวันที่ 10 พฤศจิกายน เจ้าสุนัขตัวน้อยเกิดมาโดยไม่รู้วันรู้เวลาแบบมนุษย์หรอก มันรู้แค่ว่าอกแม่โกะมะของมันนั้นช่างอุ่นนัก และมันไม่รู้หรอกว่า ความเป็นสุนัขอะกิตะดังที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “อะกิตะ-อินุ” หรือที่แพร่หลายกว่าในชื่อ “อะกิตะ-เก็ง” นั้น ทรงคุณค่าอยู่ในตัวมาแต่โบราณในฐานะสุนัขล่าสัตว์ มันรู้แค่ว่าตัวมันมีค่าต่อโกะมะแม่ของมัน เพราะแม่เลียขนให้มัน กอดมัน ทะนุถนอมรักใคร่มัน
แต่มันก็จำหน้าแม่ไม่ได้ พอนึกย้อนไป มันจำได้เพียงสัมผัสแห่งความห่วงใยจาง ๆ ที่ห่างหายไปนานแล้วเท่านั้น เพราะหลังจากเกิดได้ราวสองเดือน มันต้องย้ายที่อยู่ ไกลห่างจากแถบตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่นครหลวงโตเกียว
สามสิบเยน เจ้าหนูนี่จะเดินทางวันที่ 14 มกราคม
นั่นคือข้อตกลงกันระหว่างเจ้าของเดิมในอะกิตะกับเจ้าของใหม่ในย่านชิบุยะของกรุงโตเกียว มันรู้ในภายหลังว่า “สามสิบเยน” คือค่าตัวที่นายใหม่ของมันยินดีจ่ายเพื่อซื้อมันมา
แรงสะเทือนของตู้รถไฟบรรทุกสินค้าที่สั่นเป็นจังหวะตลอดเวลาระหว่างการเดินทางแสนไกลนั้นเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับมันซึ่งเป็นสัตว์ตัวน้อยที่ยังอ่อนต่อโลก จากสถานีโอดะเตะในอะกิตะ กว่าจะถึงสถานีอุเอะโนะในกรุงโตเกียวใช้เวลาราวยี่สิบชั่วโมง มันหลับบ้าง ตื่นบ้าง ครางหงิง ๆ เป็นระยะ
“โอ้ มาถึงแล้ว เจ้าหนู คงจะเพลียแย่เลยนะ”
แล้วมันก็ได้เรียนรู้ต่อมาว่าเจ้าของเสียงนั่น กับฝ่ามือที่ลูบไล้มันตั้งแต่หัวไล่ไปตามหลังจนถึงหาง คือนายคนใหม่ พร้อมทั้งได้เรียนรู้อะไรอีกสองสามอย่างในช่วงสั้น ๆ เช่น นายผู้ชายที่อุ้มมันอย่างเบามือมีชื่อว่าอุเอะโนะ อันเป็นชื่อเดียวกับสถานีปลายทางที่มันเดินทางมาถึง นายผู้นี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และคนในครอบครัวอุเอะโนะเรียกมันว่า “ฮะชิ”
“ฮะชิ นี่จอห์นกับเอสนะ เพื่อน ๆ ของแกไงล่ะนะ” อาจารย์อุเอะโนะนำฮะชิมาแนะนำกับสุนัขสองตัวด้วยแววตารักใคร่ไม่น้อยไปกว่ากัน จอห์นกระดิกหางรับน้องใหม่อย่างสนใจใคร่รู้ขณะที่ฮะชิยังตื่นสถานที่และครางเป็นพัก ๆ จอห์นในฐานะรุ่นพี่ประจำบ้านดูแลฮะชิเป็นอย่างดี ขณะที่ฮะชิก็ค่อย ๆ คุ้นเคยกับบ้านใหม่มากขึ้น
อากาศที่โตเกียวไม่หนาวเหมือนอะกิตะ นายใหม่ดูแลฮะชิไม่ขาดตกบกพร่อง รักมันเหมือนลูก พูดคุยกับมันราวกับมันรู้ภาษามนุษย์พอ ๆ กับมนุษย์คนหนึ่ง “หนาวใช่ไหมล่ะ มานี่มา ตรงนี้อุ่นกว่า” เป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่ของมันเสมอ “ไง หิวแล้วสิ”
แต่นายก็เป็นคนเคร่งครัด บางทีฮะชิเข้าไปประจบ หวังว่าจะได้ขนมมากินเล่น ๆ บ้างเพื่อฆ่าเวลา แต่… “อืม ยังไม่ถึงเวลานะ รอไปก่อน” แล้วฮะชิก็จะเดินคอตกกลับไปเล่นกับจอห์นและเอสตามเดิม ความเข้มงวดแบบนี้อาจเป็นนิสัยที่ติดมาจากหน้าที่การงานในฐานะศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งฮะชิเดาว่าสอนด้านการเกษตรเพราะเห็นนายอ่านหนังสือที่มีภาพต้นไม้มากมายหลายเล่ม
พอฮะชิโตพอที่จะกล้าออกไปวิ่งเล่นไกล ๆ ได้บ้าง นายก็ให้อิสระแก่มัน แต่ถ้าวันไหนเนื้อตัวมอมแมมกลับมา ฮะชิจะถูกนายดุเอาบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างฮะชิกับนายแนบแน่นขึ้นทุกวัน คำพูดอ่อนโยน คำดุว่า ล้วนแต่เกิดขึ้นด้วยความรักใคร่ ฮะชิเข้าใจดี และดูเหมือนนายสนิทกับมันมากกว่าจอห์นและเอสด้วยซ้ำ คงเป็นเพราะฮะชิเองก็พยายามทำตัวใกล้ชิดกับนายมากกว่าเพื่อนรุ่นพี่ของมันนั่นเอง
ฮะชิรักครอบครัวอุเอะโนะมากขึ้น แต่มันรักนายมากที่สุด เมื่อมันเรียนรู้ว่านายจะออกจากบ้านไปทำงาน มันมักจะเดินไปส่งที่ประตูหน้าบ้านไม่เคยขาด ครั้นสังเกตได้ว่านายต้องเดินสักพักไปที่สถานีรถไฟชิบุยะซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่สุดเพื่อไปทำงาน มันก็เริ่มเดินตามออกไปด้วยเพื่อส่งนายให้ได้ระยะทางไกลที่สุดเท่าที่มันจะไปถึง ทีแรกนายกลัวว่ามันจะกลับบ้านไม่ถูก จึงดุมัน
“ฮะชิ กลับไป เดี๋ยวค่อยเจอกันตอนเย็น”
แต่ฮะชิไม่สนใจ พยายามคลอเคลียที่ขาและจะออกไปกับนายให้ได้
“บอกให้กลับก็ไม่กลับ เอ๊ะ ยังไงนะ แกนี่” นายเดินไปบ่นไป หวังว่าระหว่างทางไปสถานี ฮะชิคงจะกลับบ้าน แต่ก็เปล่า เจ้านายกับสุนัขแสนรักเดินไปจนถึงสถานีแล้ว เจ้าสุนัขก็ยังไม่ยอมกลับ และด้วยความเป็นห่วงสุนัขน้อย นายจึงต้องเดินย้อนกลับไปส่งฮะชิให้ถึงบ้านก่อน
บ่อยเข้านายก็รู้แล้วว่าฮะชิอยากไปส่งและกลับบ้านเองได้ จึงเลิกบ่นและปล่อยให้มันเดินไปด้วยจนถึงสถานีชิบุยะ ในที่สุดก็กลายเป็นความเคยชิน ผู้คนแถบนั้นเริ่มเห็นฮะชิถี่ขึ้นและเข้าใจจุดประสงค์ของมันมากขึ้น ฮะชิเองก็ออกจะภูมิใจที่ได้ทำเพื่อนาย แม้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่นั่นคือความรักที่มันแสดงให้นายเห็นได้อย่างเต็มที่
ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ฮะชิอยู่กับครอบครัวอุเอะโนะ มันมีความสุขมาก ชีวิตนี้ฮะชิไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้ว มันมีที่อยู่ มีอาหาร มีเพื่อน และที่สำคัญคือมีนาย ทุกอย่างสมบูรณ์ไปหมด มันไม่หวนหาอดีตอย่างเศร้าสร้อย แทบจะลืมไปแล้วว่ามันไม่ได้เกิดที่นี่ มันไม่คิดถึงอนาคต ปัจจุบันของมันสำคัญที่สุด นายมีความหมายกับมันที่สุด
ทว่าระยะหลัง ๆ ฮะชิสังเกตเห็นนายหน้าคล้ำ ๆ ช่วงแรกมันไม่ได้สนใจเท่าไร เพราะเมื่อกลับจากงาน สีหน้าท่าทางของนายมักจะหมอง ๆ กว่าตอนเช้าอยู่แล้ว แต่ที่มันเริ่มรู้สึกผิดสังเกตมากขึ้นคือ มันถูกดุบ่อยกว่าเมื่อก่อน เมื่อพยายามจะเข้าไปเล่นกับนาย นายก็ผลักมันออกมาบ้าง ทีแรกก็เบา ๆ หนักเข้าเริ่มแรงขึ้น ท้ายที่สุดนายขึ้นเสียงจนมันหงอ มันไม่โกรธนาย แต่สงสัยว่าเกิดอะไรผิดปกติขึ้นในโลกของมนุษย์กระนั้นหรือ
บางทีมันเห็นนายยกสองมือบีบตรงขมับสองข้างบ้าง ถอนหายใจเสียงดังบ้าง ไม่ใช่ฮะชิเท่านั้นที่เห็น แต่นายหญิงเริ่มสังเกตเห็นแล้ว และเข้ามาถามไถ่อยู่บ่อย ๆ พอมันเห็นนายหญิงเข้าไปนั่งใกล้นายผู้ชาย ฮะชิก็จะรีบกระดิกหางวิ่งเข้าไปสมทบทันที มันอยากรู้ทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มันไม่เข้าใจอะไรมากนัก ได้แต่เดาว่านายคงเหนื่อยจากการตรากตรำทำงาน
ในฤดูใบไม้ผลิของปีที่สองที่มันมาอยู่กับครอบครัวอุเอะโนะ อากาศคลายความหนาวลงมากแล้ว นี่เป็นฤดูที่มันชอบที่สุด เพราะจะได้ออกไปวิ่งเล่นหรือเดินไปส่งนายโดยไม่ต้องกลัวความหนาว นายเองก็ดูสดชื่นกว่าเดิมมาก ภาคการศึกษาใหม่เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ทั้งนายทั้งฮะชิกระตือรือร้นกว่าหน้าหนาวที่ผ่านมา ฮะชิยังคงไปส่งนายตอนเช้า และไปรอรับนายที่สถานีชิบุยะตอนเย็นเช่นเคยทุกวัน
แต่วันนั้นดูเหมือนนายกลับมาผิดเวลา นี่สี่โมงเย็นแล้ว ทำไมนายยังมาไม่ถึงสถานี? ฮะชิเริ่มกระวนกระวาย เดินวนเวียน ผ่านไปสิบห้านาทีก็แล้ว มันชะเง้อมองหา ก็เห็นแต่ชาวบ้านกับคนที่มันไม่รู้จักเดินไปเดินมา แต่ไร้วี่แววของนาย ห้าโมง...ห้าโมงครึ่ง ฮะชิเริ่มทนไม่ไหว อยากจะวิ่งวนรอบสถานีเพื่อตามหานาย แต่กลัวว่า ถ้ามันไปจากตรงนี้แล้วนายมาพอดีก็จะคลาดกัน มันเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นไม่หยุด ผู้คนเริ่มสงสัยว่ามันเป็นอะไร แต่ไม่มีใครเข้าไปดูมันใกล้ ๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวเจ้าของคงมารับมันกลับ
เวลาล่วงเลยไปอีก ฮะชิทนไม่ไหวแล้ว มันวิ่งกลับบ้านเผื่อว่านายคลาดกับมันแล้วกลับมาถึงบ้านก่อน มันเห่าส่งสัญญาณให้รู้ว่ามันกลับมาแล้ว แต่ไม่มีเสียงคนเคลื่อนไหวในตัวบ้าน มีแต่เสียงเห่ารับของจอห์นกับเอส ฮะชิวิ่งไปรอบบ้าน จะเข้าบ้านก็ไม่ได้เพราะบ้านถูกปิดไว้ ท่าจะไม่มีใครอยู่ มันตัดสินใจวิ่งกลับไปที่สถานีอีก เห่าดังลั่นเพื่อเรียกนายจนผู้คนเริ่มแตกตื่นและแตกฮือเพราะกลัวว่ามันจะกระโจนเข้าทำร้ายใครโดยไม่ทันตั้งตัว ฮะชิเป็นห่วงนาย ทำไมนายไม่กลับมา นี่ก็มืดแล้ว ได้เวลาอาหารของมันแล้ว นายลืมไปแล้วหรือว่าต้องมองส่งมันตอนที่มันจะกิน ทำไมนายถึงทิ้งมันไปอย่างนี้
ฮะชิกลับบ้านในที่สุด นายหญิงกลับมาพอดี มันสังเกตเห็นนายหญิงตาแดง นายหญิงเปิดประตูบ้านให้มัน นั่งลงลูบหัวมันแล้วพูดอะไรกับมันได้สองสามคำแต่เป็นคำที่มันไม่เข้าใจ แล้วก็ส่ายหน้าร้องไห้ ฮะชิได้แต่ครางอยู่ในคอ มันยังจับต้นชนปลายไม่ถูก จอห์นกับเอสวิ่งเข้ามาหา ทุกตัวได้แต่ครางเสียงต่ำ ๆ
ในช่วงสามวันนับตั้งแต่นายไม่ปรากฏตัว ฮะชิยังคงไปรอนายที่สถานีชิบุยะ มันไปกับจอห์นและเอสด้วย ผู้คนแถวนั้นพากันจ้องมองพวกมันแล้วซุบซิบอะไรบางอย่างกัน มันไม่เข้าใจ เฝ้านึกเพียงว่านายจะต้องกลับมา จะต้องกลับมา!
แต่แล้วนายก็ยังไม่มา มันเริ่มรู้สึกแล้วว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป ช่วงแรก ๆ ที่นายไม่กลับมา มันเห็นนายหญิงแต่งชุดสีดำอยู่ระยะหนึ่ง เห็นผู้คนพูดคุยกับนายหญิง บางทีนายผู้หญิงก็จะยกผ้าเช็ดหน้าขึ้นแตะที่หัวตาบ้าง พยักหน้าบ้าง ฮะชิรู้แล้วว่าเกิดเรื่องผิดปกติกับนาย
ต่อมานายผู้หญิงก็ซึมเศร้า และหลังจากนั้นมันก็ถูกพาไปอยู่ที่อื่น มันไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร แต่เมื่อดูจากการที่นายหญิงพูดคุยกับคนพวกนั้นแล้ว คาดว่าคงเป็นเพื่อนหรือเป็นญาติกับครอบครัวอุเอะโนะ แต่ก็อีกนั่นแหละ มันอยู่ในที่ใหม่ได้ไม่นานก็ถูกส่งตัวกลับบ้าน และถูกย้ายไปที่อื่นอีก เป็นเช่นนี้อยู่สองสามครั้ง ระหว่างนั้นมันแวะเวียนไปที่หน้าสถานีเพื่อเฝ้ารอนายเป็นครั้งคราว จนกระทั่งที่สุดท้ายที่มันไปอยู่คือบ้านของคุณโคะบะยะชิในย่านโทะมิงะยะ ซึ่งไม่ห่างจากที่เดิมมากนัก
ตอนที่ฮะชิไปอยู่บ้านโคะบะยะชิผู้เป็นอดีตคนสวนของนายเก่ามันนั้น คือช่วงหลังจากที่นายหายไปได้สองปีกว่า คุณโคะบะยะชิเลี้ยงดูมันอย่างดีเช่นกัน ชีวิตของฮะชิเริ่มเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง มีที่ซุกหัวนอน มีอาหารกิน แต่มันยังคงว้าเหว่เมื่อไม่มีนายอุเอะโนะ ชีวิตมันคงขาดนายไม่ได้ นายคือคนที่อุ้มชูมันมาตั้งแต่ยังแบเบาะ แล้วอยู่ ๆ ก็หายไปอย่างนี้ เรื่องแบบนี้เป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้มันรู้สึกขอบคุณคุณโคะบะยะชิอยู่เสมอ แต่อีกใจหนึ่งก็นึกอยู่ตลอดว่า ถ้านายกลับมา มันจะกลับไปอยู่กับนาย
ดังนั้น เมื่ออิ่มท้องแล้ว ฮะชิจึงไปที่สถานีชิบุยะเป็นประจำ เฝ้ามองดูผู้คนไม่หยุดหย่อนเพื่อมองหานาย บางครั้งมันถูกด่าว่าเกะกะ ถูกเอาสิ่งของขว้างใส่บ้าง ถูกคนที่ไม่รู้จักทำร้ายบ้าง ถูกเด็ก ๆ เอามันไปเล่นเจ็บ ๆ มันบาดเจ็บ มันแค้น แต่จะไม่ยอมแพ้ ขอแค่ได้ไปรอจนกว่านายจะกลับมา
เมื่อหิวมันก็กลับบ้านโคะบะยะชิ เมื่ออิ่มมันย้อนกลับไปที่สถานีชิบุยะ ระหว่างทางไปสถานีก็จะแวะชะเง้อชะแง้ดูบ้านอุเอะโนะหลังเก่า แต่ไม่มีนายอยู่ในบ้านนี้ ไม่เห็นนายหญิง จอห์นกับเอสกระจัดกระจายไปไหนหมดก็ไม่รู้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือ มันจะยังเฝ้ารอให้นายกลับมา
ฮะชิไปที่นั่นสม่ำเสมอด้วยเฝ้าหวังว่าสักวันนายจะกลับมาหามัน นี่ก็ผ่านมาห้าปีแล้วนับตั้งแต่มันไปอยู่บ้านโคะบะยะชิ มันไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่จะเฝ้ารอนาย นานวันเข้าผู้คนเริ่มคุ้นตากับฮะชิในฐานะหมาหน้าสถานีชิบุยะ ระยะหลังมานี้ดีขึ้นหน่อย ผู้คนเลิกทำร้ายมัน ส่วนหนึ่งคงเพราะมันแก่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเพราะเรื่องราวของมันเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้คนจึงให้ความเมตตา
ฮะชิเองก็แก่ตัวลงทุกวัน แต่นายล่ะ? ป่านนี้แล้วทำไมนายยังไม่มา โธ่ ร่างกายของมันเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ถ้าถึงวันที่มันตายแล้วนายยังไม่มา จะทำอย่างไรเล่า แต่ถึงยังไง ฮะชิจะขอรอนายอย่างนี้ต่อไป ฮะชิเฝ้ารอโดยที่ไม่รู้หรอกว่าชื่อของมันจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภักดีในกาลต่อมา มันเฝ้ารอทั้ง ๆ ที่นายจากมันไปนานแล้วอย่างไม่มีวันกลับเพราะภาวะเลือดออกในสมอง
และแล้วหกโมงเศษ ตอนเช้าวันที่ 8 เมษายนหลังจากที่นายตายได้สิบปี ก็มีคนพบศพฮะชิใกล้สะพานข้ามแม่น้ำชิบุยะ
มรดกจากฮะชิโก
“ฮะชิโก” หรือ “ฮะชิ” คือ สุนัขญี่ปุ่นที่โด่งดังระดับโลก ความภักดีที่สุนัขพันธุ์อะกิตะตัวนี้มีต่อนายของมันเป็นที่เล่าขานสืบต่อมายาวนานไม่ต่ำกว่า 80 ปีแล้วนับตั้งแต่มันตาย เรื่องราวของฮะชิโกทำให้มนุษย์ได้หวนตระหนักถึงข้าวแดงแกงร้อนของผู้ใดก็ตามที่เคยมีอุปการคุณต่อเรา เป็นเรื่องที่ฟังแล้วน่าชื่นใจและซาบซึ้ง
ชื่อของสุนัขตัวนี้ จริง ๆ แล้วคือ “ฮะชิ” แต่ผู้คนเรียกกันติดปากกว่า “ฮะชิโก”(ハチ公;Hachi-kō) คำว่า “โก” หรือ “โค” (公) ออกเสียงยาว ไม่ใช่ “โกะ” ในสมัยโบราณ คำนี้ใช้ต่อท้ายชื่อเพื่อแสดงการยกย่องชนชั้นสูง ต่อมาการใช้ได้ครอบคลุมกว้างขึ้น โดยนำมาใช้เรียกต่อท้ายชื่อคนเพื่อแสดงการเหยียดหยามหรือสื่อความเป็นกันเองใกล้ชิดสนิทสนม (หากนึกไม่ออกว่า “การเหยียดหยาม” กับ “ความเป็นกันเอง” ไปด้วยกันได้อย่างไร ลองนึกถึงคำว่า “ไอ้” หรือ “อี” ในภาษาไทย ซึ่งใช้ทั้งแบบดูหมิ่นก็ได้ หรือใช้เรียกชื่อเพื่อน ๆ แบบเป็นกันเองมาก ๆ ก็ได้) และยังครอบคลุมไปถึงการใช้เรียกชื่อสัตว์เพื่อแสดงความเอ็นดู “ฮะชิโก” จึงได้ชื่อมาด้วยเหตุนี้
จากเรื่องที่เล่าข้างต้นนั้น จะพบว่าสมัยก่อนสุนัขในญี่ปุ่นเดินเพ่นพ่านไปไหน ๆ ได้อิสระ แลดูเหมือนสุนัขจรจัดที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย แต่ปัจจุบัน ใครไปญี่ปุ่นย่อมสังเกตได้ว่าไม่มีสุนัขจรจัดปรากฏให้เห็น นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นมีกฎหมายป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งส่งผลให้มีการจับสุนัขไร้เจ้าของส่งศูนย์ของทางการ จริง ๆ แล้วทีแรกผมไม่อยากจะเอ่ยประโยคต่อไปนี้ในโอกาสปีใหม่ เพราะเกรงว่าอาจทำร้ายจิตใจท่านผู้รักสุนัข แต่หากไม่ต่อให้บางท่านคงรู้สึกคาใจว่า “จับเข้าศูนย์ไปทำไม?” จึงขออนุญาตขยายความให้ครบว่า เมื่อสุนัขถูกทางการจับไปสักพักเพื่อรอให้เจ้าของไปแสดงตน หากปรากฏว่าไม่มีใครไปยืนยัน สุนัขจะถูกกำจัดโดยการส่งเข้าห้องรมแก๊ส (แปลว่าฆ่าทิ้งนั่นแหละครับ)
กลับมาดูที่ฮะชิโกผู้เพียรพยายามเฝ้ารอนายผู้เป็นที่รักอยู่นานหลายปี พฤติกรรมของสุนัขตัวนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี จนได้รับฉายาว่า “ชูเก็ง ฮะชิโก” (忠犬ハチ公; Chūken Hachikō) เพราะมันเป็น “ชูเก็ง” หรือ “สุนัขซื่อสัตย์” ที่น่าชื่นชม และเป็นที่รู้จักไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แพร่หลายในต่างประเทศด้วย โดยเป็นแรงบันดาลใจให้นำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และหนังสือมากมาย อย่างภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Hachiko Monogatari (1987) และภาพยนตร์ตะวันตกเรื่อง Hachi: A Dog's Tale (2009) ซึ่งนำแสดงโดยริชาร์ด เกียร์
อันที่จริง ชื่อของฮะชิโกเริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างเพราะนักวิจัยสุนัขคนหนึ่งได้นำเรื่องราวของมันออกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2475 จนกระทั่งเป็นตำนานเล่าขานถึงทุกวันนี้ ฮะชิโกตายด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2477 รวมอายุได้ 11 ปี ก่อนหน้านั้นไม่นาน คือเมื่อปี 2476 มีการสร้างรูปหล่อทองแดงฮะชิโกะขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ แต่ปีถัดมาฮะชิโกตาย และในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปหล่อนั้นได้ถูกหลอมนำไปนำอาวุธยุทโธปกรณ์ ต่อมาในปี 2491 มีการสร้างขึ้นใหม่และเป็นรูปหล่อที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปกันมากที่สุดในย่านชิบุยะ ทุกปีในวันที่ 8 เมษายน จะมีพิธีรำลึกถึงฮะชิโกที่นั่น มีเหล่าผู้รักสุนัขจำนวนมากมาร่วมงาน
ส่วนเจ้าของฮะชิโก คือ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ฮิเดะซะบุโร อุเอะโนะ(上野英三郎;Ueno, Hidesaburō) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2415 เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2468 สิริอายุ 53 ปี เป็นคนจังหวัดมิเอะ แต่ไปเรียนที่โตเกียวและได้เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ดังนั้น นอกจากรูปหล่อของฮะชิโกซึ่งกลายเป็นจุดนัดพบที่สำคัญหน้าสถานีชิบุยะแล้ว ก็ยังมีรูปหล่อของศาสตราจารย์อุเอะโนะคู่กับฮะชิที่สร้างขึ้นในจังหวัดมิเอะด้วย
ในการนำเสนอเรื่องราวของฮะชิโกครั้งนี้ นอกจากความพ้องกับวาระขึ้นปีใหม่ซึ่งเป็นปีสุนัขหรือ “อินุโดะชิ (戌年;inu-doshi) ในภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น “มอม” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชอีกด้วย จึงขอแสดงความคารวะไว้ ณ ที่นี้ที่ทำให้มีแนวทางเล่าเรื่องอิงเค้าความจริงของสุนัข “ฮะชิโก” แห่งญี่ปุ่นแบบสั้น ๆ เพื่อต้อนรับปี 2561 และขอสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกคน... Akemashite O-medetō gozaimasu
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com