xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “ภาษีและการขึ้นภาษี” ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ภาษีกับประชาชนมักยืนอยู่คนละขั้ว คนในประเทศไหน ๆ มักไม่ชอบใจที่ต้องจ่ายภาษี อย่างดีก็แค่ยินดีจ่ายเพราะเห็นรัฐนำเงินไปใช้ในทางที่เหมาะสมและสร้างผลงานเป็นสวัสดิการให้แก่ชีวิตตน แต่แม้กระนั้น คนในประเทศที่มีสวัสดิการดีอย่างในแถบสแกนดิเนเวียหรือญี่ปุ่นก็ยังบ่นว่าภาษีแพง และหากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากจ่ายแพง แต่โลกนี้ไม่ได้สวยงามเช่นนั้น เมื่อถึงคราวที่รัฐบาลไม่มีเงิน ภาษีคือทางเลือกหนึ่งที่รัฐจะนำมาออกใช้เพื่อหารายได้เพิ่มดังที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามทำอยู่

ความสะดุดหูสะดุดใจส่งท้ายปีนี้ของคนญี่ปุ่นจึงหนีไม่พ้นเรื่อง “ขึ้นภาษี” ซึ่งจะนำไปสู่การสะดุดของกระเป๋าสตางค์ในหมู่คนทำงานส่วนหนึ่งตั้งแต่ปีหน้า คำว่า “ภาษี” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “เซ” (税;zei) หรือหากจะพูดว่า “เงินภาษี” คือ “เซกิง” (税金;zeikin) และ “การขึ้นภาษี” พูดว่า “โซเซ” (増税;zōzei)อักษร 増 (zō) แปลว่า “เพิ่ม” เมื่อรวมกับ税 (zei)คือ増税 จึงแปลว่า “การขึ้นภาษี”

ก่อนจะพูดถึงเรื่องการขึ้นภาษีในญี่ปุ่น มาทำความคุ้นเคยกับภาษีใกล้ตัวคนญี่ปุ่นกันสักหน่อย ภาษีมีหลายประเภท บางประเภทจัดเก็บหรือเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ คำที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันดี เช่น ภาษีการบริโภค หรือ ภาษีผู้บริโภค (เทียบกับของไทยคือภาษีมูลค่าเพิ่ม) เรียกว่า “โชฮิ-เซ” (消費税; shohi-zei) ปัจจุบันอยู่ที่ 8%, ภาษีเงินได้ เรียกว่า “โชะโตะกุ-เซ (所得税;shotoku-zei), ภาษีผู้พำนักอาศัย หรือ ภาษีบำรุงท้องที่ เรียกว่า “จูมิน-เซ” (住民税;jūmin-zei)

โครงสร้างการเก็บภาษีโดยสังเขปมีดังนี้ คือ ภาษีการบริโภค จ่ายเมื่อซื้อของเหมือนกับภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย ป้ายราคาสินค้าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเขียนตัวเลขไว้ 2 ตัว ได้แก่ ตัวเลขราคาสินค้าที่ยังไม่ได้รวมภาษีการบริโภค กับตัวเลขที่รวมภาษีแล้ว (บางครั้งอาจมีตัวเลขเดียว คนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ได้อาจต้องถามว่าตัวเลขนั้นรวมภาษีหรือยัง) ญี่ปุ่นนำภาษีชนิดนี้มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2532 โดยเก็บที่ 3% ต่อมาเพิ่มเป็น 5% (พ.ศ. 2540) และ 8% (พ.ศ. 2554) จนถึงปัจจุบัน

สำหรับรายรับที่ได้จากการทำงาน ญี่ปุ่นมี ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เรียกว่า “เก็นเซ็นโชชู-เซ” (源泉徴収税 ; genzen chōshū-zei) โดยเรียกเก็บ 10% ซึ่งต่างของไทยในกรณีทั่วไปที่เก็บ 3% ส่วนการแจ้งภาษีเงินได้ประจำปีนั้นทำเหมือนกัน โดยคำนวณ การหักลดหย่อนพื้นฐาน (基礎控除;kisokōjo) 380,000 เยน และค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้วแต่บุคคล หากพบว่ายอดสะสมการจ่ายภาษี (ณ ที่จ่าย) ในปีนั้นน้อยกว่าความเป็นจริง ก็จะต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่ง ณ จุดนี้ได้กลายเป็นภาษีเงินได้ และหากจ่ายไปมากกว่าที่ควรจ่าย จะได้รับ การคืนเงินภาษี เรียกว่า “เซกิง โนะ คัมปุ” (税金の還付;zeikin no kanpu) มีลักษณะเดียวกันกับระบบภาษีของไทย

แต่อีกส่วนที่คนญี่ปุ่นที่มีรายได้จะต้องจ่ายคือ ภาษีผู้พำนักอาศัย ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแยกย่อยต่างกันออกไปแล้วแต่พื้นที่อยู่อาศัย เช่น กรุงโตเกียว เมืองใหญ่ เมืองเล็ก ภาษีส่วนนี้คำนวณจากรายได้สุทธิของปีที่ผ่านมา และเป็นภาษีที่หนักพอสมควร สำหรับนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ ๆ และเพิ่งเริ่มทำงาน รายรับปีแรกจะถูกหักภาษีเงินได้ (ณ ที่จ่าย) ไว้ เมื่อแจ้งรายรับทั้งปีแล้วจะเสียแค่ภาษีเงินได้ ส่วนภาษีผู้พำนักอาศัยยังไม่ต้องเสียเพราะปีก่อนหน้านั้นไม่มีรายได้ แต่พอทำงานขึ้นปีที่ 2 จะต้องเริ่มจ่ายภาษีผู้พำนักอาศัยด้วย คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะรู้สึกว่าสวรรค์ของคนทำงานคือปีแรกปีเดียว แต่หลังจากนั้น อืม...นรกมีจริง เพราะคำนวณคร่าว ๆ จากรายรับเฉลี่ยของคนทำงานวัยไม่ถึง 30 ปีแล้ว พบว่าต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 100,000 เยน (นอกเหนือจากภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว)

เมื่อหันมามองการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น การที่รัฐบาลแบกรับภาระทางเศรษฐกิจหลายด้านจนแทบจะชักหน้าไม่ถึงหลังนั้นเป็นที่รู้กันทั่ว ทางออกในตอนนี้คือการขึ้นภาษี แม้ประชาชนเข้าใจเหตุผล แต่การขึ้นภาษีซึ่งทำให้เงินในกระเป๋าของตนน้อยลงย่อมก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงขนาดมีกระแสท้วงติงย้อนกลับไปถึงประเด็นเดิม ๆ ว่า ในเมื่อรัฐบาลไม่มีเงิน แล้วยังดันทุรังจัดโตเกียวโอลิมปิก 2020 ทำไม แต่เรื่องนั้นคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้วเพราะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ

การเก็บภาษีเงินได้ของญี่ปุ่นใช้ระบบก้าวหน้า คือ ยิ่งมีรายได้มากจะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นรู้ว่า การเก็บภาษีจากชนชั้นกลางมากขึ้นย่อมเหมือนรีดเลือดกับปู เป้าหมายของการขึ้นภาษีจึงตกอยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง อันที่จริง คนญี่ปุ่นไม่ได้รวยอย่างที่คนภายนอกคิด ทว่าด้วยค่าครองชีพที่แพงกว่าหลายประเทศรวมทั้งไทย ค่าของเงินที่คนญี่ปุ่นถือจึงมีอำนาจการซื้อมากกว่าเมื่อเทียบกับเงินของคนในอีกประเทศหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่ายหน่อยคือ คนญี่ปุ่นรวยเมื่อมาเมืองไทย แต่ตอนอยู่ในประเทศตัวเองก็เป็นมนุษย์ปากกัดตีนถีบนั่นแหละ เพียงแต่โครงสร้างสวัสดิการทางสังคมช่วยค้ำจุนคุณภาพชีวิตไว้ คนที่ตกระกำลำบากจนแทบไม่มีข้าวกินอย่างที่เป็นข่าวบ่อย ๆ ในเมืองไทยจึงมีไม่มาก (แต่ก็มี) นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีชนชั้นกลางมาก ความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลจึงไม่เด่นชัดเหมือนสังคมไทย

คำว่ารายได้สูงในญี่ปุ่นหมายความว่าอย่างไร? เมื่อมองจากสภาพความเป็นอยู่ที่เรียกว่าพอกินพอใช้ของคนญี่ปุ่นคงจะบอกได้ว่ารายได้สูงแปลว่าอะไร รายได้เฉลี่ยของคนในแต่ละวัยที่บริษัท DODA ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจัดหางานรายใหญ่ในญี่ปุ่นสำรวจจากพนักงานประจำอายุ 20-59 ปี จำนวน 290,000 คนตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ถึงสิงหาคม 2560 นั้น มีตัวเลขดังนี้คือ

อายุ 20-29 ปี3.46 ล้านเยน
อายุ 30-39 ปี4.55ล้านเยน
อายุ 40-49 ปี5.41ล้านเยน
อายุ 50-59 ปี6.61ล้านเยน

คนรายได้ประมาณนี้ถือว่าไม่รวยเลยในญี่ปุ่น ถ้ามองย้อนกลับมาที่เมืองไทย ในขณะที่บ้านราคาหลังละ 10 ล้านบาทเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ ก็บอกได้เลยว่า ค่าครองชีพของไทยกับญี่ปุ่นขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกที แน่นอนว่าตัวเลขนี้คือค่าเฉลี่ย คนญี่ปุ่นที่มีอาชีพเฉพาะทาง เช่น หมอ ทนายความ มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่านี้แน่นอนในช่วงอายุนั้น แต่คนแบบนั้นก็มีไม่มาก เช่น ผู้ที่มีรายได้ทั้งปี 8-9 ล้านเยน มีประมาณ 2.4% และ 9-10 ล้านเยน มี 1.1%

ทว่าในเมื่ออยู่สบายกว่าคนทั่วไป จึงสมควรด้วยเหตุผลที่จะจ่ายภาษีมากขึ้น และพ่วงพวกนักสูบบุหรี่เข้าไปด้วย โดยรัฐบาลหวังว่าจะนำเงินภาษีที่ได้มากขึ้นไปใช้เพื่อสวัสดิการเด็ก การศึกษา และผู้สูงอายุ ประเด็นหลักของการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ คือ ผู้ที่มีรายรับทั้งปีเกิน 8.5 ล้านเยนจะเสียภาษีมากขึ้นเพราะเพดานการหักค่าลดหย่อนของคู่สมรสจะถูกปรับลด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ส่วนผลกระทบประมวลได้ดังนี้

พนักงานบริษัทประมาณ 2.3 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ และการทำเช่นนี้จะทำให้รัฐมีรายรับประมาณ 90,000 ล้านเยน ส่วนฟรีแลนซ์ซึ่งขณะนี้มีมากขึ้นในญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์

ส่วนหลัก ๆ ที่เหลือ เช่น บริษัทที่ขึ้นค่าจ้างให้แก่พนักงานและลงทุนมากขึ้นจะเสียภาษีน้อยลง, เริ่มนำภาษีบริหารจัดการป่าไม้มาใช้ตั้งแต่ปี 2567, ขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งในปัจจุบันถูกเรียกเก็บ 12.2 เยนต่อบุหรี่ 1 มวน หรือ ประมาณ 244 เยน (ประมาณ 80 บาท) ต่อบุหรี่ 1 ซอง โดยมีการเสนอให้ขึ้นภาษี 60 เยนต่อซอง ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายรับ 240,000 ล้านเยน

นอกจากนี้ ส่วนที่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวคือ จะเรียกเก็บภาษี 1000 เยนจากทุกคน (ทั้งชาวญี่ปุ่นและคนต่างชาติ) ที่เดินทางออกจากญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายรับ 40,000 ล้านเยนต่อปี และจะนำเงินไปพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยว ปรับปรุงการตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินให้เร็วขึ้น โดยจะเริ่มเก็บภาษีประเภทนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นอย่างเร็ว

การอภิปรายในหมู่ประชาชนแผ่ลามอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ “การปฏิรูประบบภาษี” ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเมื่อกลางเดือนธันวาคมนั้น หลัก ๆ แล้วคือ “การขึ้นภาษี” แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่ยังอุ่นใจได้ในกรณีของคนญี่ปุ่นคือ เงินภาษีที่รัฐเก็บไปนั้นเห็นผลเป็นรูปธรรมกลับมาเป็นการพัฒนาและความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้ผู้จ่ายคลายใจลงได้บ้างแม้จะอดบ่นไม่ได้ก็ตาม

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

กำลังโหลดความคิดเห็น