xs
xsm
sm
md
lg

"คนใน-คนนอก" และ "หน้าฉาก-หลังฉาก" ในสังคมญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นได้จากการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นคือ สังคมญี่ปุ่นมีการแบ่งแยก “คนใน-คนนอก” ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งในการงาน ชีวิตประจำวัน และในภาษาญี่ปุ่น ณ เวลาหนึ่งคนคนหนึ่งอาจเป็น “คนใน” ในเวลาหนึ่งคนเดียวกันนี้อาจกลายเป็น “คนนอก” แล้วแต่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนและมีสถานะอย่างไรในเวลานั้น ที่เคยกล่าวไว้ว่าคนญี่ปุ่นรู้หน้าที่ของตัวเองว่าเวลาไหนควรทำอะไร ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากเรื่องการแบ่ง “คนใน-คนนอก” นี้เองก็เป็นได้

ฉันสังเกตเห็นการแบ่งแยกนี้ชัดเจนตอนที่ฉันไปหาเพื่อน ๆ ชาวญี่ปุ่นที่เคยทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยกันสมัยมหาวิทยาลัยหลังจากไม่ได้เจอกันมานานหลายปี พวกเรายกโขยงกันไปร้านอาหารที่เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มเป็นผู้จัดการร้านอยู่ ที่ผ่านมาเวลาคุยกันเราก็คุยกันด้วยภาษาเป็นกันเองทั่วไป แต่วันนั้นเพื่อนที่เป็นผู้จัดการร้านพูดจากับพวกฉันซึ่งเป็นลูกค้าด้วยภาษาสุภาพระดับยกย่อง และระดับลดตัวลงสำหรับตัวเขาเอง เป็นการเป็นงานมาก แถมยังลงไปนั่งยอง ๆ รับออเดอร์อีกต่างหาก เพราะเขาถือว่าพวกฉันที่เป็นลูกค้าเป็น “คนนอก” ในเวลานั้นไม่ใช่เพื่อนซึ่งถือเป็น “คนใน”

สมัยที่ฉันไปสมัครทำงานพิเศษร้านอาหารก็เช่นกัน ตอนที่ผู้จัดการร้านสัมภาษณ์ฉัน เขาก็พูดด้วยภาษาและท่าทางที่สุภาพมากและให้เกียรติ แต่พอได้งานเท่านั้นแหละ เมื่อเริ่มทำงานฉันก็กลายเป็น “คนใน” ทันใด ท่าทีของผู้จัดการร้านจึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาษาและท่าทางอันสุภาพให้เกียรติมลายหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เราต้องหันมาเล่นบทบาทของเจ้านายและลูกน้อง ภาษาของผู้จัดการก็กลายเป็นอีกแบบคือเป็นภาษาที่ใช้พูดกับคนกันเอง แถมยังโว้กว้ากได้เต็มที่ ฉันรู้สึกน้ำตาตกใน คิดในใจว่า “หลอกกันนี่หว่า”

ทีนี้หลังจากที่ฉันไม่ได้ทำงานที่นั่นแล้ว วันหนึ่งไปรับประทานอาหารที่ร้านนั้น แม้ฉันจะเคยเป็นลูกน้องเก่าแต่ผู้จัดการก็พูดด้วยภาษาสุภาพมากรวมทั้งมีท่าทีให้เกียรติ เพราะในเวลานั้นฉันคือลูกค้าซึ่งเป็น “คนนอก” ที่เขาต้องปฏิบัติตัวด้วยอีกแบบหนึ่ง ถ้าเป็นที่เมืองไทยผู้จัดการร้านอาจทัก “อ้าวเป็นไงมาไงละเนี่ย สบายดีหรือ ตอนนี้ทำอะไรอยู่” แล้วคุยกันตามแบบฉบับคนที่เคยคุ้นเคยกัน ขืนมาพูดสุภาพมากต่างจากที่เคยเป็น อดีตลูกน้องคงงงว่าทำไมอดีตนายจึงมีท่าทีเย็นชา

กล่าวได้อีกอย่างว่า ในญี่ปุ่นเวลาเราพูดกับคนนอกต้องใช้ภาษาสุภาพระดับยกย่อง ส่วนเวลาพูดถึงคนในให้คนนอกฟังต้องใช้ภาษาถ่อมตัว ส่วนเวลาพูดกับคนในกันเองก็พูดภาษาธรรมดา
ภาพจาก woman.mynavi.jp
ตัวอย่างเช่น เวลาเราเอ่ยถึงคนในบริษัทเราให้คนนอกบริษัทฟัง เราจะเรียกชื่อคนในบริษัทตัวเองด้วยชื่อห้วน ๆ ไม่ใส่คำว่า “ซัง” (さん) ที่แปลว่า “คุณ” ลงไปด้วยต่อให้คนคนนั้นมีตำแหน่งสูงกว่าเราหรือเป็นคนที่เราเคารพก็ตาม เพราะอย่างไรก็ถือว่าเป็น “คนใน” ซึ่งเราต้องถ่อมตัวเขาลงมาแทนเขาไปด้วยสมมติว่ามีคนชื่อยามาดะจากบริษัท ก. โทรมาขอคุยกับเจ้านายของเราที่ชื่อทานากะ แต่บังเอิญว่าเขาไม่อยู่ เราต้องตอบว่าทานากะไม่อยู่” ไม่ใช่ “ทานากะซังไม่อยู่”

ในกรณีเดียวกัน สมมติคุณผู้ชายจะแนะนำภรรยาให้เพื่อนบ้านรู้จัก จะพูดว่า “นี่ฮานาโกะ ภรรยาผมครับ” จะไม่พูดว่า “นี่ฮานาโกะซัง ภรรยาผมครับ” เพราะภรรยาถือว่าเป็น “คนใน” ที่เราต้องใช้คำพูดถ่อมตัวลงมา

ส่วนบ้านเรานั้นเวลาแนะนำใครให้รู้จักกับอีกฝ่ายอย่างเป็นทางการ มักใส่คำว่า “คุณ” นำหน้าชื่อด้วยเพื่อให้ฟังดูสุภาพหรือให้เกียรติ เช่น “นี่คุณสมชาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนงานของเราค่ะ” “นี่คุณสมหญิง ภรรยาผมครับ” แม้ในยามปกติจะไม่เรียกกันโดยใช้คำว่า “คุณ” เลยก็ตาม

กลับมาที่ญี่ปุ่นต่อ ในกรณีที่เจ้านายเราซึ่งคุยกับเราด้วยภาษาเป็นกันเองยามอยู่ที่บริษัท เวลาเขาเอ่ยถึงคนในครอบครัวเรา เขาจะใช้คำยกย่องแทน เพราะแม้เราซึ่งเป็นลูกน้องจะเป็น “คนใน” แต่คนในครอบครัวของลูกน้องถือเป็น “คนนอก” อย่างเช่นถ้าเจ้านายถามเราว่าพ่อแม่ของเราสบายดีหรือ จะใช้คำเรียกพ่อแม่เราว่า “โกะเรียวชิน” (ご両親) ซึ่งเป็นคำยกย่อง แทนคำว่า “เรียวชิน” (両親) ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ และใช้เอ่ยถึงพ่อแม่ของตัวเอง

นานมาแล้วตอนฉันคุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นและถามถึงพ่อแม่ของเขา ฉันใช้คำว่า “โกะเรียวชิน” ซึ่งเป็นคำยกย่อง เพื่อนก็มีทีท่าประหลาดใจแกมทึ่งว่า “โอ้โฮ รู้จักใช้คำได้ถูกต้องด้วย” ฉันฟังแล้วก็งง ๆ ตอบไปว่า “ก็เรียนมาอย่างนี้” มาคิดดูตอนนี้แล้วที่เพื่อนรู้สึกทึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่คนต่างชาติรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “คนใน-คนนอก” ด้วยมากกว่า

เรื่องของ “คนใน-คนนอก” นี้มาควบคู่กับสิ่งที่เรียกว่า “ฮนเนะ” (本音) กับ “ทาเตมาเอะ” (建前) ซึ่งเป็นคำที่ใช้สื่อถึงการแสดงความรู้สึกหรือท่าทีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในต่างสถานการณ์ “ฮนเนะ” แปลตรงตัวว่า “ใจจริง” ส่วน “ทาเตมาเอะ” ใช้ในความหมายว่า “สิ่งที่แสดงให้คนอื่นเห็น” ถ้าเอาให้เข้าใจง่ายอาจจะเรียก “ฮนเนะ” ว่าเป็น “หลังฉาก” และ “ทาเตมาเอะ” เป็น “หน้าฉาก” ก็น่าจะได้ (แต่ไม่ใช่ในความหมายไม่ดีนะคะ)

การมี “ฮนเนะ” (หลังฉาก) กับ “ทาเตมาเอะ” (หน้าฉาก) อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนต่างชาติรู้สึกแปลกแยก ไม่เข้าใจคนญี่ปุ่น รวมทั้งรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเหมือนมีสองหน้า เช่น ทำไมในเวลาหนึ่งมีท่าทีอย่างหนึ่ง ในเวลาหนึ่งกลับมีท่าทีอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในยามที่เราอยู่ในฐานะ “คนนอก” เขาจะมีท่าทีที่สุภาพให้เกียรติมาก และจะไม่พูดอะไรออกมาตรง ๆ (ทาเตมาเอะ) แต่ถ้าเป็น “คนใน” ก็จะแสดงทีท่าออกมาตรง ๆ หรือเป็นธรรมชาติมากกว่า (ฮนเนะ)

ดังนั้น คนต่างชาติที่เพิ่งเจอคนญี่ปุ่นแรก ๆ หรือไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะเจอแต่คนญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นเฉพาะ “ทาเตมาเอะ” เพราะหนึ่งคือคนญี่ปุ่นมองคนต่างชาติว่าเป็น “คนนอก” สองคือเราอาจอยู่ในฐานะลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการ นี่อาจทำให้คนต่างชาติรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นใจดี สุภาพ นอบน้อม แต่ลองไปดูหลังฉากหรือรู้จักคนญี่ปุ่นมากขึ้นอาจจะเห็นภาพอีกแบบ
ภาพจาก jp.hjenglish.com
คนญี่ปุ่นชอบเรียกคนต่างชาติว่า “ไกจิน” (外人) แปลตรงตัวได้ว่า “คนนอก” แต่ไม่แน่ใจว่าคำนี้ย่อมาจากคำว่า “ไกโกะคุจิน” (外国人) ที่แปลว่า “คนต่างชาติ” มากกว่าที่จะใช้ในความหมายว่า “คนนอก” หรือเปล่า อย่างไรก็ดี พวกคนฝรั่งที่รูปลักษณ์แตกต่างจากคนญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัดจะโดนเพ่งเล็งก่อนใครเพื่อนว่าเป็น “ไกจิน” เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่คนอเมริกันเขียน เขาบอกว่าตอนอยู่ญี่ปุ่นมักโดนหาว่าเป็น “ไกจิน” พอเขาไปฮาวายซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ แต่เต็มไปด้วยคนญี่ปุ่น เขาจึงเที่ยวไล่ตะโกนใส่คนญี่ปุ่นว่า “ไกจินๆๆ” เป็นการแก้เผ็ด อันนี้แสดงว่าเจ้าตัวคงจะเหลืออดและอึดอัดจริง ๆ อ่านเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงคนฝรั่งในไทยที่ไม่ชอบถูกเรียกว่าเป็น “ฝรั่ง” เหมือนกัน

แม้คนญี่ปุ่นจะเห็นคนญี่ปุ่นด้วยกันว่าเป็น “คนใน” ในบริบทที่ว่าเป็นคนชาติเดียวกันเมื่ออยู่ในญี่ปุ่น แต่พอคนญี่ปุ่นอยู่ในต่างแดน ถ้าเห็นคนญี่ปุ่นด้วยกันที่ไม่รู้จักจะทำตัวเงียบ ๆ มองไปทางอื่น ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่ามีตัวตนคนญี่ปุ่นคนอื่นอยู่ในบริเวณนั้น หรือจะเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้ว่าตัวเองก็เป็นคนญี่ปุ่นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ฉันเคยเจออย่างนี้มาหลายหนแล้ว รู้สึกทั้งน่าแปลก ทั้งน่าอึดอัดคับข้องใจ

ไม่นานมานี้ตอนฉันกับสามีนั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านแห่งหนึ่งที่เยอรมนี มีลูกค้าคนญี่ปุ่นสองคนเข้ามาใหม่ในร้านมานั่งร่วมโต๊ะด้วย แม้ต่างฝ่ายจะรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นญี่ปุ่นแต่ก็ไม่มองหน้ากันไม่คุยกันเลย

ตอนไปสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ก็เห็นคนญี่ปุ่นสองกลุ่มที่คงจะซื้อแพ็คเกจทัวร์มาแล้วมาลงเอยอยู่ในกลุ่มทัวร์เดียวกัน ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกันก็พยายามทำตัวเงียบ ๆ กันทั้งสองกลุ่มเสมือนกลัวอีกฝ่ายจะรู้ว่าตัวเองก็เป็นญี่ปุ่นหรืออย่างไรก็ไม่ทราบทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอยู่ รู้อยู่ว่าคนญี่ปุ่นเหมือนกันนี่แหละ

อีกครั้งคือตอนฉันนั่งรถไฟใต้ดินของนิวยอร์กอยู่กับสามีและพี่ ๆ ตอนแรกฉันคุยภาษาอื่นอยู่ พอได้ยินกลุ่มวัยรุ่นที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามคุยกันด้วยภาษาญี่ปุ่น ฉันเลยลองหันไปคุยกับสามีเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าสงสัยเราจะนั่งเลยป้าย วัยรุ่นกลุ่มนั้นได้ยินก็รีบเปลี่ยนโหมดมาคุยกันเป็นภาษาอังกฤษทันที ทำเอาฉันบื้อไปชั่วขณะเหมือนขอใครแต่งงานแล้วเขาวิ่งหนีจากไป ฉันไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นที่ดูออกจะชาตินิยมและชอบคนเผ่าพันธุ์เดียวกันเองถึงได้ทำตัวแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับพวกพ้องเดียวกันเมื่ออยู่ต่างประเทศ

ถามสามีว่าทำไมเวลาคนญี่ปุ่นอยู่ต่างประเทศเจอคนญี่ปุ่นด้วยกัน นอกจากจะไม่ทักทายแล้วยังต้องทำตัวเหมือนล่องหนด้วย เขาก็งงว่าแล้วทำไมต้องทักต้องคุยกันเพราะว่าเป็นคนญี่ปุ่นเหมือนกันด้วยละ ฉันเลยเป็นฝ่ายงงและตอบไม่ได้ไปแทน

ฉันได้แต่คาดเดาว่าพวกเขาคงไม่อยากรู้สึกกลายเป็น “คนนอก” ในสังคมต่างชาติ และการคุยทักทายกับคนญี่ปุ่นด้วยกันเป็นภาษาญี่ปุ่นในต่างแดนที่คนเขาพูดกันภาษาอื่นกันก็ยิ่งทำให้ปมที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็น “คนนอก” ชัดเจนยิ่งขึ้น

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของสังคมและวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นอันชวนมึน (ฉันเขียนเองยังพลอยรู้สึกปวดหัวตาม) ถ้าไม่เข้าใจและเห็นคนญี่ปุ่นเพียงมุมเดียวก็จะรู้สึกว่าคนญี่ปุ่น “ใจดี” “น่ารัก” หรือไม่ถ้าตรงกันข้ามก็จะรู้สึกว่าคนญี่ปุ่น “ใส่หน้ากาก” ไปเลย แต่พออยู่ในสังคมญี่ปุ่นระยะหนึ่งจะพอเข้าใจเรื่องการแบ่งคนใน-คนนอกและการแสดงทีท่าที่ต่างกันในบริบทที่ต่างกัน ฉันว่ามันทำให้พวกเขารู้ว่าเวลาไหนต้องวางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม จึงจะถูกมารยาทสังคม อาจเรียกว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่จัดระเบียบ บทบาท และหน้าที่อันพึงปฏิบัติอย่าง “ชัดเจน” ได้เช่นกัน.



"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น