คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ราวสิบปีก่อนตอนช่วงอากาศหนาว ๆ ฉันไปเดินซื้อกับข้าวอยู่ในตลาดสดย่านอุเอโนะ เห็นร้านอาหารร้านหนึ่งติดป้ายเป็นรูปหม้อไฟดูน่ารับประทานมาก วันหนึ่งจึงชวนเพื่อนคนไทยไปรับประทานกันเป็นกลุ่มใหญ่ หม้อไฟนั้นอร่อยมากเสียจนฉันนึกถึงมันอยู่บ่อย ๆ
วันหนึ่งในฤดูร้อนก็เลยชวนเพื่อนคนเกาหลีไป พอไปถึงร้านกลับไม่พบอาหารชนิดนี้แล้ว ตอนแรกนึกว่ามาผิดร้านหรือไม่ก็เราคงฝันไป ถามคนขายก็ทราบว่า “ขายเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น” ก็เลยต้องสั่งอย่างอื่นแทนด้วยความผิดหวัง วันนั้นถึงเพิ่งทราบว่าอาหารบางชนิดในญี่ปุ่นมีขายเฉพาะฤดูเท่านั้น
กำลังจะเขียนว่าไม่เหมือนเมืองไทยมีอาหารทุกชนิดตลอดทุกฤดูกาล ก็นึกได้ว่า “ข้าวแช่” เขานิยมรับประทานกันตอนฤดูร้อน ซึ่งสมัยที่ฉันยังเด็ก อากาศเป็นไปตามฤดูกาล ฤดูหนาวก็หนาวจริง แต่เดี๋ยวนี้คงมีขายตลอดปีเพราะเมืองไทยร้อนตลอดปีเสียแล้ว พูดถึงข้าวแช่แล้วก็คิดถึง อยากกลับไปรับประทาน...ข้าวสวยแช่น้ำอบกลิ่นดอกไม้หอม ๆ ลอยน้ำแข็ง ลูกกะปิ เนื้อฝอยผัดหวาน หัวหอมแดงทอด พริกหยวกยัดไส้ ไชโป้วหวานผัดไข่… แม้จะไม่ใช่อาหารที่อร่อยถึงอกถึงใจ แต่ฉันชอบตรงที่มันเป็นเสมือนอาหารเฉพาะฤดูกาล นั่งรับประทานเล่นแก้ร้อนได้อย่างมีสีสันด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันมีความพิเศษและน่ารอคอย
ญี่ปุ่นเองนั้นเดิมทีก็ขายอาหารบางชนิดเฉพาะในฤดูหนาวอย่างที่เล่ามา อาหารจำพวกนี้มักเป็นอาหารร้อนที่อยู่ในน้ำซุป อย่างเช่น โอเด็ง และหม้อไฟต่าง ๆ สมัยก่อนถ้าอยากรับประทานโอเด็งก็ต้องรอจนถึงช่วงที่อากาศหนาวเสียก่อนถึงจะมีวางขาย ซึ่งฉันมักซื้อตามร้านสะดวกซื้อเพราะถูกและอร่อยดี แต่เดี๋ยวนี้มีวางขายทุกวัน
หม้อไฟก็เริ่มมีหลายร้านที่ขายกันตลอดปีมากขึ้น ใช่ว่าเป็นเพราะอากาศในญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเป็นหนาวตลอดปีเหมือนเมืองไทยที่กลายมาเป็นร้อนตลอดปีเสียเมื่อไหร่ จะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นก็นึกถึงความอร่อยของมันตลอดปีอย่างเดียวกับที่ฉันนึกอยากรับประทานแม้จะไม่ใช่ฤดู คนญี่ปุ่นที่ช่างสนองความต้องการของลูกค้าถึงได้เอาใจด้วยการขายตลอดปีเสียเลยหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
แต่ด้วยความที่มันหารับประทานได้สะดวกโยธินตลอดปี ความรู้สึกตื่นเต้นในการเฝ้ารอให้ฤดูหนาวมาถึงอย่างใจจดใจจ่อก็พลอยมลายหายไปด้วย ไม่ทราบว่าควรดีใจหรือเสียใจดีที่มีของชอบให้รับประทานได้ตลอดปี แต่ในเมื่อความพิเศษของมันลดลงไป ฉันก็เลยไม่ได้คิดถึงมันเป็นพิเศษอย่างเมื่อก่อนแล้ว จะว่าไปแล้วมันก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกันนะคะ
เวลาไปรับประทานหม้อไฟตามร้าน เขาจะคิดราคาตามปริมาณว่าต่อกี่คน โดยไม่ให้สั่งต่ำกว่าปริมาณสำหรับสองคน สมมุติว่าไปกันสี่คนแต่ไม่ได้กะรับประทานหม้อไฟเป็นหลักก็อาจสั่งแค่ปริมาณสำหรับสองที่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นพวกร้านขายหม้อไฟบุฟเฟ่ต์จะคิดราคาตามหัว
อันที่จริงแล้วหม้อไฟนี่สามารถทำเองที่บ้านได้และทำไม่ยากด้วย ต้นทุนก็ไม่มาก คนญี่ปุ่นมักทำรับประทานกันหลาย ๆ คนเพราะนอกจากจะไม่แพงแล้วยังไม่ยุ่งยากเหมือนเตรียมอาหารประเภทอื่น ๆ เพียงแค่มีผัก เนื้อสัตว์ เต้าหู้ น้ำปรุงรสที่ผสมเองได้ง่าย ใส่ทุกอย่างลงไปในหม้อ รอเดือดก็รับประทานได้แล้ว เวลาชวนกันไปบ้านเพื่อนหลาย ๆ คนก็มักทำหม้อไฟนี่แหละ นั่งล้อมวงกันรับประทานไปคุยไป ทั้งสนุกทั้งอร่อย
หม้อไฟญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เหมือนสุกี้บ้านเราตรงที่ไม่ได้รอให้น้ำเดือดแล้วค่อยใส่อาหารที่จะรับประทานไปต้มให้สุกแล้วใส่ชามของตัวเอง แต่จะใส่เครื่องลงไปจัดในหม้อให้แน่นก่อนแล้วตามด้วยน้ำซุปประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงอาหารหรือน้อยกว่านั้น เพราะเดี๋ยวพอผักสุกเนื้อหดก็มีน้ำซุปเพิ่มขึ้นมาเอง
นอกจากนี้หม้อไฟญี่ปุ่นยังมีหลายชนิด ที่ฉันรับประทานบ่อยก็มี “จังโกะนาเบะ” “มตสึนาเบะ” “มิซุตากิ” รวมทั้ง “สุกิยากิ” และ “ชาบุชาบุ” ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีรวมอยู่ด้วย ซึ่งสองอย่างหลังนี้จะขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ หม้อไฟแต่ละชนิดอาจมีเครื่องหรือเครื่องปรุงแตกต่างแยกย่อยกันออกไปตามภูมิภาค หรือกระทั่งแตกต่างกันไปตามใจผู้ทำก็ได้เหมือนกัน ฉันจะขอเล่าเฉพาะที่เคยรับประทานมาก็แล้วกันนะคะ
1. จังโกะนาเบะ
จังโกะนาเบะเป็นอาหารที่พอเอ่ยชื่อแล้วจะเห็นภาพนักซูโม่ติดมาด้วย เพราะเดิมทีเป็นอาหารที่นักซูโม่รับประทานเพื่อเพิ่มน้ำหนักโดยมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนและมีโปรตีนสูง ปัจจุบันเป็นที่รับประทานกันแพร่หลายนอกแวดวงนักซูโม่ด้วย ฉันรับประทานจังโกะนาเบะเป็นครั้งแรกที่บ้านเพื่อนชาวญี่ปุ่นซึ่งวันนั้นเพื่อน ๆ ที่รู้จักกันมาสิบกว่าปีและไม่ได้เจอกันมานานมาร่วมวงกันหลายคน สนุกมาก โดยปกติแล้วจังโกะนาเบะจะใช้น้ำซุปไก่เป็นหลัก ผสมเหล้าสาเกสำหรับทำอาหาร และมิริน มีเครื่องได้แก่ เนื้อไก่ ผักกาดขาว ต้นหอมยักษ์ซึ่งใช้แต่ส่วนขาว ๆ เห็ดญี่ปุ่น และเต้าหู้ ฉันไม่ทราบว่าเพื่อนใช้น้ำซุปไก่หรือว่าใช้น้ำเปล่าปรุงรสเอา เพราะต่อให้ไม่ต้องใช้น้ำซุปไก่ก็ได้น้ำซุปที่อร่อยอยู่ดีเพราะมีทั้งเนื้อไก่และผักเยอะแยะ
ดูเหมือนจังโกะนาเบะจะเลือกรับประทานแบบรสเกลือ รสโชยุ หรือรสมิโสะก็ได้ ฉันเดาว่าทีแรกเพื่อนน่าจะทำรสโชยุ จำได้ว่าพอเรารับประทานไปได้สักพัก เพื่อนก็ไปหยิบเอามิโสะออกมา ซึ่งมิโสะนี้ครอบครัวของเพื่อนอีกคนทำแล้วส่งมาให้เธออีกที ไม่มีขาย ฉันคิดว่าถ้าเป็นของที่ทำเองแล้วส่งมาให้นี่ แสดงว่าคนทำจะต้องมั่นใจในฝีมือว่าอร่อยแน่ แล้วก็อร่อยมากจริง ๆ เพื่อนตักมิโสะใส่ทัพพีซึ่งตักน้ำแกงขึ้นมาส่วนหนึ่งแล้วคนให้มิโสะละลายในทัพพีก่อนเทลงในหม้ออีกที แล้วเราก็ได้จังโกะนาเบะรสมิโสะ ก่อนจะรับประทานก็เอางามาบดให้ละเอียดด้วยชามเล็ก ๆ สำหรับบดงาโดยเฉพาะแล้วเทลงบนชาม ได้ซุปมิโสะไก่ร้อน ๆ หอมกลิ่นงาบดใหม่ ๆ อร่อยเหาะไปเลย พอรับประทานเครื่องจนหมดแล้วเหลือแต่น้ำซุปก้นหม้อ เพื่อนก็เอาข้าวสวยร้อน ๆ ใส่ลงไป รับประทานเป็นข้าวต้มปิดท้ายไม่ให้เหลือทิ้ง รวมทั้งได้อิ่มอร่อยสบายท้องด้วย
ฉันติดใจหม้อไฟชนิดนี้มากเลยมักทำเองบ่อย ๆ อยู่ช่วงหนึ่ง เคยเอาไปทำที่บ้านที่เมืองไทยด้วย แม่เห็นว่าเข้าท่าก็เลยลองทำเองเลี้ยงเพื่อน ๆ เวลามาบ้าน แต่พอเอามาทำที่เมืองไทยแล้วกลับรู้สึกว่าความอร่อยมันต่างกันทั้ง ๆ ที่ก็ใช้สูตรเดียวกัน เดาว่าคงเป็นเพราะคุณภาพของอาหารในญี่ปุ่นนั้นดีจริง ๆ โดยเฉพาะพวกผักสด
2. มตสึนาเบะ
นี่เป็นหม้อไฟสุดโปรดของฉันเลยค่ะ และมักมีขายตามร้านขายอาหารแกล้มเหล้าด้วย ประกอบด้วยไส้วัวส่วนที่มีไขมันหนาแน่นที่สุด กะหล่ำปลี กระเทียม กุยช่าย และพริกแห้งแว่น ฉันมักปรุงด้วยผงซุปกลิ่นปลาโอ มิริน เหล้าสาเกปรุงอาหาร และโชยุ ตามร้านก็อาจจะปรุงด้วยวิธีอื่น ๆ หรือดัดแปลงสูตรให้น่าสนใจ เคยไปร้านที่ใส่งาดำเพียบ รสชาติดีทีเดียว
บางคนเขาก็ว่าหม้อไฟชนิดนี้คอลลาเจนเยอะ รับประทานแล้วผิวสวย ที่ว่าคอลลาเจนเยอะนี่ก็คงเพราะเจ้าไส้วัวขาว ๆ อ้วน ๆ นั่นเอง แต่ฉันว่าก่อนคอลลาเจนจะมาปรากฏที่ใบหน้า เราคงจะได้ไขมันก้อนหนามาประดับหน้าท้องเสียก่อนเป็นแน่
มตสึนาเบะนี่เองคือหม้อไฟที่ฉันตามหาในฤดูร้อนแล้วไม่พบ แม้เดี๋ยวนี้มีขายตลอดปีแต่ก็ไม่ง้อแล้วเพราะทำเองเป็น ใส่เครื่องและปริมาณได้อย่างหนำใจสบายอุรา
3. มิซุตากิ
ฉันรู้จักหม้อไฟชนิดนี้ตอนเพื่อนชาวญี่ปุ่นชวนฉันกับสามีไปบ้าน หม้อไฟชนิดนี้ทำง่ายมากเพราะไม่ต้องปรุงอะไรให้มากความ เพียงใส่สาหร่ายคมบุแผ่นใหญ่ ๆ ลงไปในน้ำเย็นแล้วตั้งไฟ พอเดือดแล้วอยากรับประทานอะไรก็คีบใส่ลงในหม้อ รอให้เดือดแล้วตักใส่ชามตัวเอง เวลาจะรับประทานก็จิ้มพอนซุที่ใส่ไชเท้าสดขูดเป็นฝอยละเอียด แล้วรับประทานได้เลย เครื่องมักประกอบด้วยเนื้อไก่สับปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ผักกาดขาว ต้นหอมยักษ์เฉพาะส่วนที่เป็นสีขาว เห็ดญี่ปุ่น และเต้าหู้ เป็นต้น จะว่าไปก็น่าจะคล้ายกับสุกี้บ้านเรากับชาบุชาบุ แต่เครื่องไม่เหมือนกัน น้ำจิ้มไม่เหมือนกัน
ส่วน ฮาคาตะมิซุตากิ ซึ่งเป็นมิซุตากิของจังหวัดฟุกุโอกะนั้นจะใช้น้ำซุปไก่ที่ได้จากการต้มปีกไก่ ส่วนเครื่องจะใช้เนื้อน่องติดกระดูกสับมาเป็นแว่น ๆ เพิ่มรสชาติให้น้ำซุป เนื้อไก่สับปั้นก้อนกลม และใส่กะหล่ำปลีแทนผักกาดขาวให้ได้รสหวาน ส่วนเครื่องอื่น ๆ คล้ายกับหม้อไฟทั่วไป เวลารับประทานก็จิ้มพอนซุหรือยุซุโขะโช (พริกเขียว ยุซุ (พืชตระกูลมะนาว) และเกลือ บดรวมกัน) อร่อยกว่ามิซุตากิแบบแรกมาก ในกรุงโตเกียวก็มีร้านที่ขายหม้อไฟชนิดนี้โดยเฉพาะเหมือนกัน ลองหารับประทานดูนะคะ
แม้หม้อไฟจะมีขายตลอดปีมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังเป็นอาหารที่คนส่วนมากนึกถึงในฤดูหนาวที่อยากรับประทานอาหารร้อน ๆ อยู่ดี เป็นอาหารที่นอกจากจะให้ความอบอุ่นกายแล้วยังอบอุ่นใจกับการได้นั่งล้อมวงกันรับประทานอาหารร่วมกันในยามอากาศหนาวอีกด้วย.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.