xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มหล่อมาดเท่ ฆาตกรปีศาจในสังคมญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ อาทิตย์ที่แล้วได้พูดถึงเพลง 世界に一つだけの花 Sekai ni hitotsu dake no hana ขับร้องโดยนักร้องวง SMAP แต่งเนื้อและทำนองโดย 槇原敬之 Noriyuki Makihara(マッキー Mackey) เพลงมีความหมายดีครับเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน เพลงบอกประมาณว่า "คุณไม่จำเป็นต้องเป็น Number one หรือที่ 1 หรอก เพราะที่จริงแล้วคนแต่ละคนต่างก็มีสิ่งที่ดีงามเฉพาะตน เหมือนดอกไม้นานาพันธุ์ แค่พยายามสร้างสรรค์ความดีงามของตนออกมา ก็พิเศษมากพอแล้ว เพราะคุณคือ Only one" นั่นเอง แต่ที่จริงผมก็ยังสงสัยอยู่นิดหน่อยว่าเป็นไปได้จริงๆ หรอกับความหมายของข้อความตามเนื้อเพลงเพราะคนร้องเอยคนแต่งเอยต่างก็เป็นอันดับหนึ่งทั้งนั้น

เพลงนี้ดังในยุคศตวรรษ ที่ 21 นี้ เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันมาก เพลงช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของสังคม เพราะถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สัก 50 ปีที่แล้ว สังคมญี่ปุ่นต่างจากปัจจุบันหลายอย่าง ทุกอย่างบูมมาก เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟู คนญี่ปุ่นทำงานกันอย่างดุเดือดบ้าคลั่งและรุนแรงมากคือเอาจริงเอาจัง ไม่หลับไม่นอน มีตัวอย่างรูปโฆษณาสมัยนั้นที่แสดงให้เห็นกลิ่นอายของยุคสมัยนั้นว่ามีความเอาจริงเอาจัง เป็นโฆษณาทีวีตัวแรกที่กล้าเปิดกระโปรงโชว์ให้เห็นกางเกงในของสาวน้อย "モーレツ(猛烈) =ดุเดือด รุนแรง" เป็นที่พูดกล่าวขานกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง อีกโฆษณาหนึ่งเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่มีข้อความสโลแกนแกนเชิญให้ดื่มเครื่องดื่มนี้เพราะคุณต้องอยู่ทำงานยาว 24 ชั่วโมงใช่ไหม ! 24時間戦えますか。เป็นต้น แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุค 2000 เมื่อคนรุ่นต่อๆ มาเริ่มเหนื่อยล้า เริ่มเครียดและกดดัน เศรษฐกิจไม่ดี สังคมพยายามหาทางออก หนึ่งในนั้นจึงมีเพลงที่แต่งออกมาในเนื้อหาแบบเพลง 世界に一つだけの花 Sekai ni hitotsu dake no hana คือพอฟังแล้วให้รู้สึกผ่อนคลาย คุณไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเป็นที่หนึ่งหรอก คุณมีดีของตัวเอง ฯ.. คนญี่ปุ่นยุคนี้จึงชื่นชอบเพลงนี้นี่เองครับ



การเป็นนัมเบอร์วัน หรือเป็นที่ 1 ว่ายากๆ นั้น แต่ถ้าพยายามเข้าจริงๆ ก็อาจจะมีทางเป็นไปได้อยู่ แต่การเป็นนัมเบอร์ 2 หรือที่ 2 นี่คิดว่ายากกว่ามั้ยเนี่ย ที่ญี่ปุ่นมีสำนวนเปรียบเปรยอยู่วลีหนึ่งกล่าวว่า "出る杭は打たれる Deru kui wa utareru" คือไม้หรือหลักที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน ย่อมต้องโดนตอก" เปรียบเปรยกับคนที่มีความเด่นหรือเป็นที่เตะตาไม่ว่าจะเรื่องกำลัง ความสามารถ หรือสติปัญญา ย่อมมีคนที่อิจฉาและจ้องจะเล่นงานมาก พูดง่ายๆ คือเด่นมากเกินไปก็ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ดังนั้นจึงมีคนหลายคนที่มักจะปฏิเสธการทำตัวเด่นสะดุดตาชาวโลกครับ จะหลบๆ ทำตัวให้กลมกลืนกันไปซะมากกว่า

ทำไมจึงต้องทำตัวให้กลมกลืน เพราะที่จริงญี่ปุ่นก็มีรากฐานมาจากการเป็นเมืองแบบเกษตรกรรม เช่นเดียวกับเมืองไทย แม้ว่าสมัยนี้เทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก แต่การทำนาทำไร่สมัยก่อนนั้นยังคงต้องอาศัยปัจจัยเอื้อหนุนด้านสภาพดินฟ้าอากาศอยู่มาก ที่เมืองไทยนั้นเพื่อนผมเล่าว่าถ้าสมมุติฤดูกาลนี้น้ำมาเยอะเกินไปจนทำให้พืชผลเสียหายมาก ชาวนาชาวไร่ก็อาจเสียใจและทำใจสักพักแต่ก็เริ่มต้นใหม่ต่อไป เพราะเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ อาหารมีมากพอไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องความอดอยาก ส่วนที่ญี่ปุ่นวัฒนธรรมจากอดีตกาล ต้องพึ่งพาธรรมชาติเช่นกัน กรณีเดียวกันถ้าพืชผลเสียหายจนของกินไม่เพียงพอเขาจะทำอย่างไร

สมมุติเหตุการณ์ให้มองเห็นภาพนะครับ

มีที่นาใหญ่แปลงหนึ่งที่คน 10 คนช่วยกันเก็บเกี่ยวพืชผล ใน 10 คนนั้นคนส่วนใหญ่ทำงานไปตามระบบ อาจจะมีคนหรือสองคนที่ขยันมากด้วยแรงฮึดว่าต้องทำให้มากขึ้นๆ คนที่ขยันว่าคนอื่นอาจจะทำผลงานได้มากกว่าคนอื่น แต่ขณะนั้นเองอาจจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่จุดที่พวกเขากำลังเก็บเกี่ยว หรือเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งทางธรรมชาติ จนเป็นผลทำให้พืชผลที่ทุกคนช่วยกันเก็บเกี่ยวมานั้นเสียหายทั้งหมด คนสมัยก่อนนั้นจะทำอย่างไร เมื่อสภาพทางธรรมชาติเล่นงาน มีคนรออุปโภคบริโภคอาหารจำนวนมากแต่อาหารไม่เพียงพอเสียแล้ว ภัยธรรมชาติได้ทำลายพืชผลนั้นไปหมดแล้ว เมื่อไม่มีอาหารเพื่อรับประทานอย่างเพียงพอตามจำนวนประชากรที่มี คนที่จะโดนฆ่าหรือกำจัดคือ คนที่ฮึดมากกว่าคนอื่นนั่นเอง เป็นเรื่องแปลกใช่ไหมครับ แต่นี่คือรากเหง้าของมนุษย์ศาสตร์อย่างหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นครับ พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ คนที่ทำอะไรแปลกไปจากกลุ่มจะเป็นคนที่ถูกกำจัดออกไปเป็นอันดับแรก ลักษณะเช่นนี้ยังคงมีดีเอ็นเอที่สืบต่อมาจนปัจจุบัน

ทำให้คนทั่วไปไม่อยากทำตัวแตกต่างและแปลกแยกออกไปจากสังคมนั่นเอง คือถ้าขยันก็ขยันให้เท่าๆ กัน อย่าโดดหรือต่ำกว่าเกณฑ์ไม่งั้นถูกเล่น!!

มีศัพท์สองคำนี้ที่อยากแนะนำให้รู้จักครับทั้งสองคำนี้มีคำว่า Matsuri ประกอบอยู่ด้วย
祭り: まつり Matsuri →งานเทศกาล งานเฉลิมฉลอง
政 : まつりごと Matsuri(goto) →การเมืองการปกครอง

ทั้งที่แปลว่าการเมืองการปกครองและงานเทศกาล แต่ต่างก็มีรากศัพท์จากคำว่า まつり Matsuri เพราะสมัยก่อนทั้งการเมืองและเทศกาลเป็นเรื่องเดียวกันจึงยังมีคำที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ การเมืองก็คือเทศกาล หรืออีกนัยนึงเทศกาลก็คือเรื่องการเมืองนั่นเอง

ยกตัวอย่างเรื่องมิติทางสังคมของญี่ปุ่นอีกเรื่องครับ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 มีหน่วยพิเศษอาสานำน้ำไปดับไฟที่บ่อนิวเคลียร์ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าบริเวณนั้นเป็นเขตอันตรายมากห้ามเข้าใกล้และห้ามอยู่ใกล้เป็นเวลานานๆ ทีมที่เข้าไปปฏิบัติงานอุตส่าห์อาสาเสี่ยงชีวิตเข้าช่วย ซึ่งที่จริงแล้วทีมของหน่วยงานนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเลยจะไม่ไปก็ได้ แต่หัวหน้าของหน่วยงานสั่งมาก็ต้องไปทำตามหน้าที่ที่หัวหน้าบัญชาการมา ทีนี้ระหว่างปฏิบัติงานเสี่ยงภัยครั้งนี้มีคนของทีมรัฐบาลคนหนึ่งพูดออกมาว่า ให้ทำจนงานสำเร็จแม้จะจบชีวิตก็ต้องทำ!! คือเป็นคำพูดที่แย่มากในสายตาของทีมที่อาสาไปปฏิบัติการณ์ เพราะรัฐบาลไม่ใช่หัวหน้าโดยตรงของทีมนี้ ที่จริงไม่มีสิทธิ์มาพูดสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น แถมคำพูดที่พูดออกมานั้นช่างแย่มากมาย

จึงมีคนวิพากษ์วิจารณ์คำพูดนี้ของคนในรัฐบาลสมัยนั้นว่าแค่ต้องการให้คนที่ไปปฏิบัติงานวันนั้นตายไปเสีย (เหมือนกับเรื่องที่นาตรงที่คนที่โดดเด่น กล้าหาญคือคนที่ถูกกำจัด) และถ้ามีคนที่ทำงานเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจะได้เรียกความสงสารจากคนทั่วไป แล้วทำให้แรงใจของคนรวมกันมากขึ้น เป็นอีกสิ่งที่มีคนกล่าวว่ารัฐบาลอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่จากเหตุการณ์จากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนั้นทำให้ประชาชนเห็นหลายๆ อย่างในการทำงานของรัฐบาลชุดนั้น ดังนั้นต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา พรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลในช่วงนั้นจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมนักนั่นเองครับ

สังคมญี่ปุ่นที่ทุกคนอาจจะมองว่ามีความขยัน มีความเอาจริงเอาจังก็ถูกตามนั้น แต่ระดับการ เอาการเอางานจะอยู่ในระดับเท่าๆ กันไป เกาะกลุ่มกันไป ไม่โดดเด่นมากเพราะอย่างที่บอกว่าคนที่โดดเด่นจะถูกเลือกให้ออกจากกลุ่มก่อนเลยนะสืบเนื่องมายาวนานแล้วล่ะ

เกริ่นให้เห็นภาพสังคมญี่ปุ่นไปแล้ว เข้าเรื่องที่อยากพูด อีกอิมเมจที่สามารถสื่อให้เห็นถึงวิถีความเป็นญี่ปุ่นคือ ชีวิตการเป็นพนักงานกินเงินเดือนครับ ที่เรียกว่า Salaryman หรือข้าราชการ ครับ เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสถียรเรื่องวิถีการใช้ชีวิต อย่างปกติทั่วไป อิมเมจของคนญี่ปุ่นแบบที่บอกนี้ถูกถ่ายทอดสื่อออกมาในภาพลักษณ์ของเจ้าของคาเรคเตอร์การ์ตูนที่ชื่อว่า Kira Yoshikage คิระ โยชิคาเงะ 吉良吉影 เป็นตัวการ์ตูนหนึ่งในเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ジョジョの奇妙な冒険 JoJo's Bizarre Adventure ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เขียนมายาวนานมากกว่า 20 ปีได้แล้วมั้งครับเนี่ย และมีเสน่ห์ในตัวเองมาก เรื่องนี้ตัวละครแก่ไปตามกาลและสืบทอดรุ่นต่อรุ่นมาเรื่อยๆ ไม่เหมือนกับการ์ตูนบางซีรีย์ ที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า サザエさん形式 Sazae-san style ที่ตัวละครตัวเดิมกาลเดิม เหมือนกับมีความอมตะไม่แก่ไปตามกาล ลักษณะการ์ตูนที่เขียนมายาวนานแบบนี้มีหลายเรื่องเหมือนกันครับ

ขอเรียกย่อๆ ว่าเรื่อง Jojo นะครับ Jojo เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แนว Action/Fantasy anime เขียนโดย 荒木飛呂彦 Hirohiko Araki ลงตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ มีหลายภาคแล้วครับ การ์ตูนที่ถูกเขียนลงในนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นเนี่ย ถ้าไม่เยี่ยมจริงคงจะขายต่อไม่ออก และอาจจะถูกเบรคงานง่ายๆ เลย เพราะอาชีพนี้แข่งขันกันสูงมาก นักเขียนจึงต้องมีไอเดียที่เลิศเลอแปลกใหม่ออกมาตลอด ทำให้นักเขียนหลายคนเครียดและเป็นโรคจิตไปเลยก็มี เรื่อง Jojo นี่ยากกว่าเรื่องที่จบเป็นตอนๆ เพราะเรื่องนี้มีความยาวนานแบบต่อเนื่องกันเรื่อยมาถ้าเขียนไม่ดีนี่จบเลย เรื่องไม่ต่อเนื่องขึ้นมาก็จบอีก

เนื้อหาหลักทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวของการผจญภัยของบุคคลที่มีสายเลือดของตระกูล Jo (ex.Jonathan Joestar,Joseph Joestar,Jōtaro,Jōsuke) เนื้อหาอาจจะแบ่งออกได้เป็นสองช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงแรกใช้ความสามารถของ "พลังคลื่นมนตรา" เขาบอกว่า มีลักษณะคล้ายกับลมปราณภายใน โดยการควบคุมการไหลเวียนของเลือดและการควบคุมลมหายใจ มาเป็นพลังต่อสู้กับตัวร้ายและช่วงที่ 2 (ภาคที่ 3 เป็นต้นมา) จะใช้ความสามารถที่เรียกว่า "สแตนด์" (Stand) เขาบอกว่าเป็นพลังจิตครับ คือผู้ที่ใช้สแตนด์สร้างให้มีตัวตนขึ้น และมีความสามารถแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น หยุดเวลา รักษาบาดแผล ฯลฯ เพื่อต่อสู้กันนั่นเอง


ส่วน Kira Yoshikage คิระ โยชิคาเงะ 吉良吉影 นั้นเป็นตัวละครเด่นเชียวครับ น่าจะมีหลายคนชื่นชอบ เพราะถูกเขียนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เด่นกว่าตัวเอกสะอีก มีเสน่ห์ที่เหมือนคนจริงในสังคม ดังขนาดที่มีแบรนด์สินค้าดังหลายแบรนด์ที่เลือกเอาคิระไปทำเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นลิมิเตดฯ หรือแม้แต่ถุงแซนวิสที่คิระชอบทานในการ์ตูนยังดังมาก เขามีความซับซ้อนทางจิตใจที่น่าสนใจมากๆ มีคาแรคเตอร์แบบคนธรรมดาๆ กิน นอน ทำงานก็เป็นพนักงานห้างธรรมดาๆ อายุ 33 ปีโสด ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน เป็นตัวละครที่มีนิสัยที่ไม่ชอบทำตัวโดดเด่น ทำตัวเรียบๆ ง่ายๆ ให้กลมกลืนไปกับคนรอบข้าง การแต่งตัวก็แบบพนักงานออฟฟิศทั่วๆ ไป ใส่เสื้อเชิ๊ตธรรมดา กางเกงขายาวทั่วไป แสวงหาแนวทางการเป็นมนุษย์ที่อยากอยู่อย่างสงบสุข มีจิตใจที่สงบสุข ไม่สนใจการแพ้ชนะไม่สร้างศัตรู ดูธรรมดาๆ นะครับ สะท้อนภาพลักษณ์คนจริงๆ ในสังคมญี่ปุ่นได้มากทีเดียว แต่ในเรื่องเขาเป็นฆาตกรปีศาจฆ่าสาวๆ แล้วตัดเอามือไปเล่น แต่อยากอยู่อย่างสงบนะครับ ฮ่าๆ ปีศาจในเงามืดคนนั่นเอง

คาแรคเตอร์แบบคนธรรมดาๆ พนักงานบริษัท ทำตัวกลมกลืนเช่นนี้เอง ที่บอกว่าสะท้อนมุมมองมนุษยนิยมแบบญี่ปุ่นเอาไว้



ถ้าท่านใดเคยอ่านเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ジョジョの奇妙な冒険 JoJo's Bizarre Adventure ลองมาคุยกันนะครับ เพราะที่จริงแล้วผมก็ไม่ใช่นักอ่านการ์ตูนเรื่องนี้นัก เรื่องมันยาวมาก บางคนยังอ่านไม่ครบทุกตอนด้วยนะเนี่ย แต่คนญี่ปุ่นก็ชอบนะครับ เพราะนอกจากแฟนตาซีและผจญภัยแล้ว ยังสะท้อนมุมมองของสังคมหลายแง่มุมเลย ไว้คราวหน้ามาคุยกันต่อดีกว่าครับ วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น