xs
xsm
sm
md
lg

"เที่ยวบ้าน" คนญี่ปุ่นครั้งแรก (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก https://100poets.wordpress.com
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ขอเล่าเรื่องไปพักอาศัยอยู่บ้านคนญี่ปุ่นต่อนะคะ หลังจากหลับสบายตลอดคืนแล้ว เมื่อตื่นขึ้นในตอนเช้า เราต้องพับฟูกที่นอนเก็บกลับเข้าไปในตู้ให้เรียบร้อย ฉันชอบนอนฟูกแบบนี้มาก รู้สึกว่าหลับสบายและหลับสนิทกว่านอนเตียง บางทีหัวถึงหมอนไม่ทันไรก็หลับไปแล้ว

ข้อดีอีกอย่างของการใช้ฟูกแบบนี้คือไม่เปลืองพื้นที่ พวกห้องตามแมนชั่นหลายแห่งซึ่งมีพื้นที่จำกัดมากมักใช้ฟูกแบบนี้เพื่อที่ยามพับเก็บจะได้เหลือพื้นที่ไว้นั่งทำอะไรต่อมิอะไรได้ แต่ข้อเสียคือต้องมาคอยพับเก็บกับเอาเข้าเอาออกนี่แหละ แถมฟูกพวกนี้ก็ขึ้นราได้ง่ายหากเจอความชื้นเข้าไป แม่บ้านญี่ปุ่นจึงมักขนมันออกมาตากแดดในวันที่อากาศดีทั้งฟูกทั้งผ้าห่มที่หนา ๆ พอง ๆ ฉันเคยเอาผ้าห่มนี้ไปตากแดดเหมือนกันแต่ทุลักทุเลมาก ทั้งใหญ่ทั้งหนัก แต่ผู้ผลิตสินค้าญี่ปุ่นก็ช่างเข้าใจวิถีชีวิตผู้คนดีถึงได้ผลิตที่หนีบยักษ์สำหรับใช้หนีบฟูกเวลาพาดตากกับราว ฉันก็เอาวางพาดราวระเบียงแมนชั่นแล้วเอาที่หนีบยักษ์หนีบเข้าสองข้าง แน่นสนิทจนไม่ต้องกลัวว่าจะร่วงหล่นลงไปข้างล่าง
ภาพจาก https://www.amazon.co.jp
ไม่ใช่แค่ฟูกเท่านั้น บางทีตู้เสื้อผ้าเองก็ขึ้นราเหมือนกัน ฉันเคยวางตู้เสื้อผ้าไว้ชิดกำแพงบังช่องระบายอากาศไว้ (เพราะห้องมีพื้นที่จำกัด ไม่มีที่อื่นให้วางแล้ว) วันหนึ่งเปิดตู้มาจะหยิบกระเป๋าสะพายใบเก่งก็ต้องผงะเมื่อเห็นกระเป๋าสีดำมีหย่อมขาว ๆ ฟู ๆ เกิดขึ้น แว่บแรกนึกว่าเรามีกระเป๋าแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่แล้วก็เริ่มรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ด้วยความเอะใจก็เลยสำรวจตู้เสื้อผ้าให้ทั่ว ๆ แล้วก็พบว่าด้านหลังตู้ขึ้นรา และรีบไปหาผ้าชุบน้ำยาซักผ้าขาวมาเช็ดออก

เรื่องความชื้นในญี่ปุ่นนี่ใช่ย่อยจริง ๆ นอกจากฟูกหรือตู้เสื้อผ้าแล้ว บางทีผนังห้องของบ้านคนญี่ปุ่นเองที่สร้างมาหลายสิบปีแล้วก็ยังมีจุดดำ ๆ กระจายเป็นหย่อม ๆ เลย น่าแปลกที่บ้านที่เมืองไทยซึ่งอากาศร้อนชื้นตลอดปีกลับไม่ค่อยเจอเรื่องแบบนี้

พอตื่นเช้าแล้ว ตามความเคยชินฉันจะแปรงฟันก่อนเป็นอันดับแรกตามสไตล์คนไทย เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้คนญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นตื่นเช้ามาจะยังไม่แปรงฟัน แต่รอแปรงหลังอาหารเช้าก่อนออกจากบ้าน แต่ฉันเกรงว่าถ้าตื่นนอนมาไม่แปรงฟัน เกิดอ้าปากคุยกับใครแล้วอาจทำอีกฝ่ายสลบได้ แถมคนญี่ปุ่นมักทักทายอรุณสวัสดิ์กันแม้กับคนในบ้านด้วย สำหรับฉันซึ่งเป็นแขกก็อยากให้ช่องปากสะอาดก่อนจะกล่าวทักทายเจ้าบ้านก็เลยตื่นมาแล้วแปรงเลย แต่พอใช้ชีวิตในญี่ปุ่นนาน ๆ ก็เปลี่ยนมาแปรงหลังอาหารเช้าเพราะชักกลัวว่าปากจะไม่สะอาดก่อนออกจากบ้านไปเจอผู้คน

เรื่องแปรงฟันนี่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญไม่น้อย ในห้องน้ำที่ทำงานบางแห่งเมื่อเปิดเข้าไปจะเจอถ้วยพลาสติกใส่แปรงสีฟันและยาสีฟันเรียงรายกันอยู่หน้ากระจกอ่างล้างมือ และจะเห็นพนักงานพากันแปรงฟันอยู่หลังอาหารกลางวัน พูดถึงเรื่องแปรงฟันก็นึกได้ว่าเคยเห็น "วิธีจับแปรงสีฟัน" ที่ดูแปลกตาจากในโฆษณาที่ญี่ปุ่น คือดูคล้าย ๆ จับปากกา ตอนฉันไปหาหมอฟันที่ญี่ปุ่น หมอเห็นสภาพช่องปากแล้วก็รู้ว่าแปรงแรงไป หมอเลยสอนวิธีแปรงใหม่ให้โดยก่อนอื่นให้ถือแปรงอย่างในโฆษณาที่ฉันเห็น ซึ่งการถือแบบนี้ทำให้เราไม่กดน้ำหนักแรงเกินไป จากนั้นวางให้ขนแปรงสัมผัสฟันเบา ๆ แล้วขยับแปรงเพียงเล็กน้อยก็พอ ฉันลองไปทำดูเลยรู้ว่าวิธีนี้ก็ทำให้ฟันสะอาดได้โดยที่เหงือกไม่พังเร็วด้วย ก็เลยแปรงอย่างนี้เรื่อยมา
ภาพจาก http://www.obatadc.sakura.ne.jp
เมื่อไปที่ห้องครัวก็พบคุณลุงนั่งสูบบุหรี่อ่านหนังสือพิมพ์รอทุกคนมานั่งพร้อมหน้ากันที่โต๊ะอาหารแล้ว คุณป้าทำอาหารเช้าให้พวกเราคนละชุด ของใครของมัน ไม่มีอาหารให้ตักจากตรงกลาง มีข้าวสวยคนละหนึ่งถ้วย สลัดชามเล็ก ๆ กับข้าวหนึ่งหรือสองอย่างจำไม่ได้ถนัด ผักดองนิดหน่อย และซุปมิโสะ แม้จะจำรายละเอียดไม่ได้ชัด แต่เพียงแค่นึกถึงบรรยากาศในวันนั้นก็ทำให้ฉันหิวแล้ว ยิ่งอาหารของคุณป้าอร่อยไปหมดทุกอย่าง และสมัยนั้นซุปมิโสะเป็นสิ่งที่ฉันชอบที่สุดในบรรดาอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ก็เลยยิ่งรู้สึกคิดถึงขึ้นมาเป็นกอง

พอฉันโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มักกลับมาเยี่ยมคุณลุงคุณป้าอยู่เสมอ คราวหนึ่งคุณป้าไม่สบาย เข้าโรงพยาบาล คุณลุงจึงเป็นฝ่ายทำกับข้าวให้ฉันรับประทาน ตอนนั้นฉันยังทำอาหารไม่ค่อยเป็นก็เลยได้แต่ยืนให้กำลังใจ ฉันเห็นคุณลุงทำซุปอะไรอยู่ซึ่งดูเหมือนเป็นซุปมิโสะ และกำลังคีบเนื้อหมูสามชั้นแผ่นบางยาว ๆ ลงไปในหม้อด้วย ฉันตกใจว่าคุณลุงคงไม่ค่อยได้ทำกับข้าวถึงได้ใส่ “เบคอน” ลงไปในซุปมิโสะด้วย ฉันเล่าให้หลานคุณลุงฟังว่าคุณลุงเอาเบคอนใส่ลงไปในซุปมิโสะ เธอก็หัวเราะบอกว่า “นั่นไม่ใช่เบคอน มันเป็นหมูสามชั้นแล่บางเฉย ๆ ลุงเขาไม่ได้ทำซุปมิโสะแต่ทำ “ทน-จิ-หรุ” ต่างหาก” ทนจิรุ (บางคนก็เรียกว่า “บุตะจิหรุ”) ที่ว่านี้คือซุปมิโสะที่มีเครื่องหลัก ๆ ดังนี้คือ เนื้อหมูสามชั้นแล่บางหั่นชิ้น ไชเท้า แครอท มัน หัวหอม และโกะโบ (รากไม้ชนิดหนึ่ง) บางทีก็อาจจะไม่ได้ใส่ผักทุกชนิดตามนี้ หรืออาจใส่อย่างอื่นประกอบได้อีก สมัยนั้นฉันยังไม่รู้จัก เลยเข้าใจผิดว่าคุณลุงต้องการใส่เนื้อสัตว์ลงไปในซุปมิโสะเพื่อเพิ่มความอิ่มท้อง
ภาพจาก https://cookpad.com/pro/recipes
ผ่านไปหลายวัน นักศึกษาไทยและญี่ปุ่นก็ขยันขันแข็งทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น วันหนึ่งระหว่างที่พวกเราอยู่ข้างนอก คุณลุงก็แวะมาหาพร้อมยื่นถุงก็อปแก๊ปเล็ก ๆ ใบหนึ่งให้พวกเราบอกว่า “เอาไปดื่มไป คงเหนื่อยละซิ” ฉันเปิดออกมาดูเจอกระทิงแดงสามขวดก็ตกใจ เพราะตอนอยู่เมืองไทยฉันเห็นเครื่องดื่มชูกำลังในโฆษณาบ่อย ๆ พอถามผู้ใหญ่ว่ามันคืออะไรก็ได้รับคำตอบเพียงว่ามันไม่ใช่เครื่องดื่มสำหรับเด็ก แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น พอเห็นมันในร้านขายยาก็ไปหยิบดู ทำท่าจะซื้อไปลองชิมดูสักขวด ภรรยาเจ้าของร้านเดินมาหาด้วยสีหน้าตกใจ ถามว่า “หนูจะซื้อนี่เหรอ ใครฝากซื้อหรือเปล่า ของหนูเอง? ไม่ดีนะ เป็นผู้หญิง อย่าดื่มเลย” ฉันฟังแล้วก็ตกใจว่าเจ้าเครื่องดื่มนี่มันคืออะไรกันแน่ เป็นเครื่องดื่มต้องห้ามสำหรับผู้หญิงงั้นหรือ ก็เลยวางลงด้วยความกลัวเหมือนคนทำความผิดแล้วถูกจับได้ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่คิดจะไปยุ่งกับมันอีกเลย

คราวนี้พอได้รับกระทิงแดงจากคุณลุงและถูกคะยั้นคะยอให้ดื่ม ฉันก็ยิ่งไม่สบายใจ จะปฏิเสธก็กลัวจะเสียน้ำใจ ฉันเลยค่อย ๆ อธิบายให้คุณลุงซึ่ง “คงไม่รู้ว่ามันไม่ใช่เครื่องดื่มสำหรับผู้หญิง” ว่าในไทยผู้หญิงเขาไม่ดื่มกัน มันไม่ดี ซึ่งตอนนั้นฉันก็ยังไม่รู้อยู่ดีแหละว่าทำไมถึงไม่ดี คุณลุงก็งงว่าทำไมผู้หญิงห้ามดื่ม ส่วนเพื่อนฉันซึ่งเป็นหลานคุณลุงหยิบขวดมาเปิดฝายกขึ้นดื่มหน้าตาเฉย ฉันยืนมองตาโต เธอบอกฉันว่าดื่มได้ไม่เป็นไรหรอก ฉันก็รับมาถืออย่างไม่แน่ใจ เปิดฝา ดมกลิ่น ชิมดู เอ๊ะ! อร่อยแฮะ แต่ก็จำไม่ได้ว่าวันนั้นตกลงได้ดื่มทั้งขวดไหม

จากนั้นมาฉันก็ลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท จนมาวันหนึ่งฉันเห็นเครื่องดื่มชูกำลังขวดหนึ่งบนโต๊ะเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นสาวไทยหวาน ๆ ฉันเคยเห็นเครื่องดื่มยี่ห้อนั้นในโฆษณาบ่อย ๆ บางทีก็ตามตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ แต่ไม่รู้ว่ามันคือเครื่องดื่มอะไร ถามเพื่อนว่ามันเป็นเครื่องดื่มแบบไหน ดื่มเพื่ออะไร เธอตอบว่าดื่มตอนบางทีที่เหนื่อย ๆ แล้วจะกระปรี้กระเปร่าขึ้น ฉันเห็นสาวหวานยังดื่ม แล้วก็เห็นเครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อวางจำหน่ายโดยเล็งกลุ่มลูกค้าผู้หญิงด้วยซ้ำ ก็เลยซื้อมาลองดื่มดู

อย่างที่ทราบว่าที่ญี่ปุ่นปริมาณงานเยอะและเหนื่อยมาก บางทีก็พักผ่อนไม่พอ ไหน ๆ ในญี่ปุ่นก็ไม่ได้จำกัดว่าผู้หญิงไม่ควรดื่ม ฉันเลยดื่มเป็นบางคราว แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันทำให้กระปรี้กระเปร่ามีแรงทำงานจริงไหม ดื่มเพราะมันอร่อยดีเสียมากกว่า วันหนึ่งมีผู้ใหญ่คนไทยมาเห็นเครื่องดื่มนี่วางอยู่บนโต๊ะฉันเข้าก็ตกใจ ถามด้วยเสียงอันดังว่“นี่คุณดื่มไอ้ของพวกนี้ด้วยหรือ” ฉันเลยสะดุ้ง ตายละ สงสัยผู้หญิงไทยไม่ควรดื่มจริง ๆ ด้วย แต่ก็ตอบไปตามจริงว่าดื่มเพราะมันอร่อยดี ไม่ได้ดื่มบ่อย ส่วนเวลาที่เราต้องไปทำงานต่างจังหวัดกันหลาย ๆ วันซึ่งจะได้นอนไม่พอแน่นอน เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นผู้ชายจะบอกไว้เลยว่าให้ซื้อเตรียมไว้

ขอย้อนกลับไปยังเรื่องกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสมัยเป็นนักศึกษาต่อ ไม่ทราบว่าในเมืองไทยสมัยนี้เพื่อนผู้หญิงด้วยกันยังเดินจูงมือกันอยู่ไหมนะคะ ฉันซึ่งเคยชินกับการเดินจูงมือน้องหรือเพื่อนผู้หญิงเวลาอยู่เมืองไทยนั้น พอไปทำกิจกรรมกับเพื่อนนักศึกษาชาวญี่ปุ่นก็ทำท่าจะไปจูงมือเพื่อนคนที่เป็นหลานคุณลุงโดยไม่คิดอะไร เพื่อนชะงัก ถามว่าทำอะไร ฉันก็งง ตอบว่า “จูงมือน่ะสิ จะข้ามถนน” เพื่อนถามด้วยความไม่ไว้ใจว่า “ที่เมืองไทย เพื่อนผู้หญิงเดินจูงมือกันเป็นเรื่องปกติหรือ”  ฉันก็งงอีก ตอบว่าใช่ ทำไมหรือ เพื่อนตอบว่า “ที่ญี่ปุ่นถ้าผู้หญิงด้วยกันเดินจูงมือกันแสดงว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน” ฉันได้ยินก็แปลกใจ เพื่อนขี้สงสัยถามต่อว่า “แล้วที่เมืองไทย เพื่อนผู้ชายเดินจูงมือกันหรือเปล่า” ฉันหัวเราะตอบว่า “เปล่า” พอเพื่อน “สอบปากคำ” จนเป็นที่พอใจว่าไม่มีเรื่องลับลมคมในอะไรให้เธอต้องกังวลแล้ว เธอจึงเป็นฝ่ายยื่นมือมาจูงฉันข้ามถนนแทน

นับตั้งแต่วันที่ได้ไปพักบ้านคนญี่ปุ่นในครั้งนั้นเป็นต้นมา ครอบครัวนี้ก็ได้ให้ความรักความสนิทสนมแก่ฉันเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ที่ฉันไปญี่ปุ่นบ่อย ๆ ก็เพราะคิดถึงคุณลุงคุณป้าและหลานคุณลุงที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิท แม้จะไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน อีกทั้งต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรม แต่คนเราก็ผูกพันกันได้ด้วยใจ

ฉันรู้สึกอยู่เสมอว่าความต่างของมนุษย์ไม่ว่าจะเรื่องชนชาติ วิถีชีวิต รูปร่างหน้าตา หรือกระทั่งฐานะ ยศฐาบรรดาศักดิ์ต่างก็เป็นเพียงแค่ “เปลือก” เท่านั้น การได้พบได้รู้จักกับคนหลากหลายมาตลอดไม่ว่าจะในการเรียน การงาน หรือชีวิตส่วนตัวทำให้ฉันเห็นว่ามนุษย์เรามีความเหมือนมากกว่าความต่างเสียอีก จะดีใจหรือเสียใจ จะสุขหรือทุกข์ก็ด้วยเรื่องคล้ายกัน เมื่อไหร่ที่เรามองผ่าน “เปลือก” ที่ลวงตา และพร้อมจะมองใครสักคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรจากเรา เราจะพบว่ามิตรภาพและความจริงใจหาได้ง่ายนิดเดียว...ที่ใจเรานี้เองเป็นที่แรก

...แล้วประตูแห่งมิตรภาพและความจริงใจของอีกฝ่ายก็จะเปิดตามมาเอง.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น