xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ สถานะของ “จักรพรรดิญี่ปุ่น” หลังสละราชสมบัติ กับหลากประเด็นที่ต้องคิด

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกำลังเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขณะที่วันสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันใกล้เข้ามาทุกที แต่นอกจาก “กฎหมายกรณีพิเศษกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิ” (天皇の退位等に関する皇室典範特例法; Tennō tai-i tō ni kan suru kōshitsu tenpan toku rei hō) ที่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนแล้ว ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับหมายกำหนดการที่แน่ชัด และขณะที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ใกล้เข้ามาในเดือนธันวาคมด้วย ระยะนี้ข่าวพระราชสำนักว่าด้วย “โจโก” หรือ “พระเจ้าหลวง” กับการสละราชสมบัติจึงกลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง

คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับสถาบันจักรพรรดิมานาน จุดนี้ไม่ต่างจากของไทยซึ่งมีระบอบกษัตริย์ และด้วยความศรัทธาที่คนญี่ปุ่นยังคงมีต่อสถาบันเก่าแก่ของตน (แม้พระราชสถานะของจักรพรรดิเปลี่ยนไปมากหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม) เมื่อจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่เคยมีมานานแล้ว จึงเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ The Japan News ในเครือโยะมิอุริชิมบุงก็ลงบทความเชิงวิเคราะห์ต่อเนื่อง ในที่นี้จึงขอนำข้อมูลมาประมวลประกอบคำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้คนไทยซึ่งคุ้นเคยกับระบอบกษัตริย์ได้เห็นมิติทางสังคมกับความคิดบางแง่มุมของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ก่อนอื่น เมื่อว่ากันด้วยพระนามของจักรพรรดิหลังจากสละราชสมบัติ ญี่ปุ่นใช้คำว่า “โจโก” (上皇;jōkō) ซึ่งมาจากคำเต็ม “ไดโจ-เท็นโน” (太上天皇 ; daijō Tennō) แปลว่า “จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “มหาจักรพรรดิ” แปลเป็นไทยได้ว่า “พระเจ้าหลวง” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินที่สละราชสมบัติให้แก่รัชทายาท ซึ่งตอนนี้คนญี่ปุ่นเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นแล้ว และต่อไปจะคุ้นเคยยิ่งขึ้น (และมีคำว่า “โจโกโง” [上皇后;jōkōgō] หรือ “พระพันปี” เป็นคำเรียกพระราชชนนีของจักรพรรดิ) นอกจากนี้ก็มีคำเฉลิมพระอิสริยยศอีกคำสำหรับจักรพรรดิที่ทรงสละราชสมบัติเพื่อทรงผนวช พระเจ้าหลวงลักษณะนี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ไดโจ-โฮโอ” (太上法皇; daijō hōō) ซึ่งอาจแปลว่า “พระมหาธรรมราชา” และมีอยู่หลายพระองค์ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

มาถึงประเด็นด้านการดำเนินขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การสละราชสมบัติซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องนี้มีทั้งปัจจัยทางประวัติศาสตร์ กฎหมาย และความเหมาะสมทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องค่อย ๆ มองอย่างรอบด้าน ในเบื้องต้นเมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ จะพบว่าญี่ปุ่นเคยมีจักรพรรดิผู้ทรงสละราชสมบัติอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน จากปี พ.ศ. 1188 – 2360 มี 58 พระองค์ แต่ครั้งสุดท้ายที่มีนั้นก็ห่างจากตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 200 ปี และถึงแม้จะเป็นครั้งที่ 59 ในประวัติศาสตร์ แต่ก็จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ญี่ปุ่นมีรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ

สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน (ซึ่งมีพระนามว่า “อะกิฮิโตะ” แต่ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นจะไม่เอ่ยพระนาม และสื่อมวลชนจะเอ่ยแค่ว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิ”) ในทางกฎหมาย ตอนนี้ถือว่ามีช่องทางให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีคนยกประเด็นขึ้นมาว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงได้รับพระราชสถานะ “จากความเต็มใจของประชาชน” ในทางกลับกัน หากพระองค์แสดงพระราชประสงค์ว่าจะสละราชสมบัติด้วยพระองค์เอง ถามว่านั่นจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพิธีที่จะจัดขึ้นนั้นจะเป็นรัฐพิธีหรือไม่ หากใช่ จะต้องมีการหารือและผ่านการพิจารณาของรัฐบาลด้วย สิ่งเหล่านี้ยังมีการอภิปรายกันอยู่

ถัดจากประเด็นหมายกำหนดการแล้ว กำลังมีการหารือกันว่า บทบาทของพระเจ้าหลวงพระองค์ใหม่ควรเป็นอย่างไร จุดนี้หากมองจากมุมของไทยก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นแตกต่างจากของไทยมากในทางปฏิบัติ กล่าวคือ สมเด็จพระจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ทรงถูกจำกัดเสรีภาพในการตัดสินพระทัยโดยกฎหมายไว้มาก แม้กระทั่งหลังจากสละราชสมบัติแล้วก็ยังต้องรอคำหารือของรัฐบาลว่าพระองค์จะทรงวางพระองค์ในลักษณะใด

เท่าที่หารือกันอยู่ตอนนี้ มีแนวโน้มว่า เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นพระเจ้าหลวง พระราชกรณียกิจย่อมลดลงมาก แต่ก็มิได้หมายความว่าจะหมดสิ้นไป และรัฐบาลกับสำนักพระราชวังยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับขอบเขตนั้น ตอนนี้มีสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการลดพระราชภารกิจอย่างเป็นทางการและพระราชกรณียกิจ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด เพราะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้กำหนดกระจ่างชัดลงไปว่าพระราชภารกิจอย่างเป็นทางการและพระราชกรณียกิจนั้นหมายถึงอะไร เช่น การเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ประสบภัย เข้าข่ายนั้นหรือไม่?

จากสภาพปัจจุบัน ทำให้รู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นมักมีข้อติดขัดแทบจะทุกขั้นตอน แน่นอนว่านั่นคือผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น คำว่า “สัญลักษณ์” นี้หมายถึงสัญลักษณ์จริง ๆ เป็นแค่ขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนเท่านั้น มิได้มีบทบาทด้านการบริหารประเทศ (นอกจากลงพระปรมาภิไธย)

แม้พระองค์จะทรงแสดงพระราชประสงค์ได้ในระดับหนึ่ง แต่พระราชภารกิจโดยรวมล้วนเป็นไปตามข้อสรุปของทางรัฐบาล เมื่อพระองค์ทรงกลายเป็นพระเจ้าหลวงแล้ว ก็จะทรงอยู่ภายใต้กฎระเบียบบางประการอยู่นั่นเอง ในมุมหนึ่งนึก ๆ ไปก็อดคิดไม่ได้ว่า สมกับเป็นคนญี่ปุ่นในแง่ที่ว่าช่างหาระเบียบแบบแผนมากำกับได้หมดทุกเรื่อง บางทีคนนอกฟังแล้วก็รู้สึกอึดอัดแทน อย่างไรก็ตาม กรอบทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน เราคงต้องมองด้วยความเป็นกลางและเอาใจช่วยให้การผลัดแผ่นดินของญี่ปุ่นราบรื่นต่อไป

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

กำลังโหลดความคิดเห็น