คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ครั้งแรกที่ฉันเข้าไปในบ้านคนญี่ปุ่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจไปหมด สิ่งที่เคยเพียงได้เห็นจากละคร ภาพยนตร์ หรือการ์ตูน หรือเคยได้เพียงแค่อ่านและนึกภาพตามได้ปรากฏแก่สายตาและทุกประสาทสัมผัสรับรู้ ความรู้สึกคล้ายกับอยากเจอคนดังที่โปรดปรานมานานและในที่สุดก็มีโอกาสได้พบเสียที
ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ชั้นปีที่หนึ่งและทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นร่วมกับเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ ก็เลยได้ไปที่ญี่ปุ่นประมาณสิบวันเพื่อทัศนศึกษาและทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น และได้พักอาศัยในบ้านของเพื่อนนักศึกษาชาวญี่ปุ่นด้วย
บ้านที่ฉันและรุ่นพี่คนไทยอีกคนได้ไปพักอยู่บนยอดเนินชัน ถ้าเดินจากป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟใกล้ ๆ ก็นับว่าไกลอยู่ และมีแต่เดินขึ้นเนินไปเรื่อย ๆ จนหอบแฮ่ก ๆ แถมหน้าบ้านซึ่งอยู่บนเนินชันก็มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถกลับรถได้ ถ้าเวลานั่งรถไปก็ต้องถอยรถขึ้นเนินและถอยเข้าบ้าน ไม่อย่างนั้นถ้าหันหัวรถเข้าบ้าน ตอนออกจากบ้านจะน่ากลัวมากเพราะต้องถอยรถลงจากเนินชัน
เมื่อก้าวเข้าบ้านจะได้กลิ่นภายในตัวบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ เวลามาเยี่ยมบ้านนี้ในภายหลังเมื่อใดก็จะได้กลิ่นอันคุ้นเคยที่ดึงเอาความทรงจำครั้งเก่า ๆ กลับคืนมา เราต้องถอดรองเท้าที่โถงระหว่างประตูกับยกพื้นขึ้นบ้าน หันหัวรองเท้ากลับไปทางประตู แล้วสวมรองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้านแทน
บ้านของคนญี่ปุ่นทั่วไปจะไม่ค่อยกว้าง แต่สามารถจัดเป็นห้องหับต่าง ๆ ได้มากมายสำหรับใช้สอยตามความต้องการต่าง ๆ กันไป และขนาดของห้องก็พอดีกับความต้องการใช้สอยอย่าง “พอเพียง” ไม่กว้างหรือแคบเกินไป ที่แปลกตาคือบางบ้านจะมีห้องสุขาอยู่หน้าบ้าน เรียกได้ว่าเปิดประตูบ้านเข้ามาปุ๊บก็เจอห้องสุขาปั๊บ ชวนสะกิดใจให้นึกถึงสำนวนไทย “...เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” ซึ่งสะท้อนว่าถ้าเป็นคนไทยคงไม่เอาห้องสุขามาไว้ด้านหน้าบ้านแบบนี้เป็นแน่
เราได้พักในห้องที่ใช้เป็นห้องนั่งเล่นและห้องรับแขกซึ่งเป็นห้องเสื่อญี่ปุ่นขนาด 8 เสื่อ กลางห้องมีโต๊ะเตี้ย ๆ มีผ้าคลุมยาวถึงพื้นที่เรียกว่า “โคทัตสึ” หรือโต๊ะอุ่นขาเวลานั่งกับพื้นในหน้าหนาว ซึ่งคนญี่ปุ่นจะนั่งอยู่กับโต๊ะนี้ดูโทรทัศน์บ้าง ใช้เป็นที่รับประทานของว่างบ้าง หรือนั่งทำอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อย พอนั่งแล้วลุกยากเพราะมันอุ่นสบายจนบางทีก็พากันงีบหลับไป
เพื่อนญี่ปุ่นที่ให้เราพักด้วยเป็นเพื่อนรุ่นพี่สาวสวยมาดเท่ (คนที่ซดบะหมี่ซ่วบๆ ที่ฉันเคยเล่าให้ฟังเมื่อก่อนนี้ไงคะ) อาศัยอยู่กับคุณลุงคุณป้าที่เกษียณแล้ว ทั้งสองท่านเป็นคนใจดี เมตตา และน่ารักมาก ๆ ฉันจำได้ว่าคุณป้าแอบเรียนภาษาอังกฤษนิด ๆ หน่อย ๆ เพราะกลัวจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ คำแรกที่ได้ยินคุณป้าพูดคือ “Coffee or tea?” ที่คุณป้าพยายามพูดเต็มที่ตอนท่านยกเครื่องดื่มเข้ามาเสิร์ฟให้ ส่วนคุณลุงนั้นก็อารมณ์ดี ช่างเล่าโน่นเล่านี่ไม่หยุด เพียงแค่วันแรกทุกคนก็เข้ากันได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อถึงเวลาอาหาร ทุกคนก็ไปนั่งประจำที่กันที่โต๊ะอาหารในห้องครัว ห้องครัวนี้อยู่ติดกับชานเล็ก ๆ ยื่นออกไปที่สวน แม้จะมีพื้นที่เพียงไม่เกิน 9 ตารางเมตร แต่ก็มีทั้งโต๊ะอาหารสำหรับนั่งได้หกคน โซฟาสำหรับนั่งดูโทรทัศน์ เครื่องทำความร้อนขนาดเล็กแบบตั้งไว้ที่พื้นวางอยู่ข้าง ๆ ราวตากผ้านิด ๆ หน่อย ๆ ที่ตู้เย็นมีกระดาษอะไรเต็มไปหมดยึดไว้ด้วยแม่เหล็ก ทั้งปฏิทิน กระดาษโน้ต ใบระบุวันทิ้งขยะแต่ละประเภท และอื่น ๆ อีกมากมาย ดูโดยรวมแล้วรู้สึกว่าข้าวของเยอะมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เล็ก ๆ แต่ทุกอย่างก็จัดอย่างเป็นระเบียบดูไม่ขัดตา
คุณป้าทำอาหารได้อร่อยเป็นที่สุดจนนึกอยากให้ท่านสอนทำกับข้าวให้ วันหนึ่งท่านถามว่าอยากรับประทานอะไรเป็นอาหารค่ำ ฉันตอบ “สุกิยากิ!” เพราะเคยเห็นแต่ในหนังสือการ์ตูนที่ทุกคนในบ้านนั่งล้อมลงกันรับประทานอาหารจากหม้อ ดูแล้วน่าสนุกดี จริง ๆ แล้วอาหารที่ทุกคนตักจากหม้อก็ไม่ได้มีแค่สุกิยากิหรือชาบุชาบุที่คนไทยรู้จักดี แต่ยังมีอย่างอื่นอีกหลายชนิด ดูเหมือนฉันจะเลือกหนึ่งในของแพงที่สุดเข้าให้เสียแล้วเพราะเนื้อทำสุกิยากิมีราคาแพงอยู่ คุณลุงคุณป้าไม่ว่าอะไร ท่านก็ทำให้รับประทาน
เสียดายว่าในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องมือถือหรือกล้องดิจิตอล มีแต่กล้องใส่ฟิล์ม จึงไม่ได้ติดนิสัยว่าเห็นอะไรแปลกแล้วต้องยกกล้องหรือมือถือขึ้นมาถ่ายรูปเหมือนในสมัยนี้ ไม่อย่างนั้นคงได้เอารูปมาฝากว่าบรรยากาศรับประทานสุกิยากิในบ้านเป็นอย่างไร
คุณป้าตอกไข่ดิบใส่ชามเล็ก ๆ เหมือนชามข้าวต้มให้คนละใบ ฉันถามว่าไข่นี่เอาไว้ทำอะไร หลงคิดว่าคงให้ช่วยกันตีไข่แล้วราดเป็นวงในหม้อตอนเดือดกระมัง คุณลุงบอก “ตีไข่เสร็จแล้วเอาของที่คีบจากในหม้อจุ่มลงไปในไข่แล้วกินได้เลย” ฉันมองหน้าคุณลุงแบบไม่ค่อยเชื่อ พอเห็นคุณลุงรับประทานให้ดูฉันก็ตะลึง เกิดมาไม่เคยรับประทานไข่ดิบมาก่อนในชีวิต ยังไม่ทันจะใส่ปากก็นึกถึงกลิ่นดิบ ๆ คาว ๆ โชยมาทำท่าจะแหวะเสียแล้ว รุ่นพี่มองหน้าเป็นเชิงปรามว่ารับประทานเข้าไปเสียดี ๆ อยากเรียกร้องจะเอาสุกิยากิเองทำไม ฉันเลยสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ก็ยังคีบอาหารจุ่มไข่ดิบไปทำหน้าสยองไป พอลองรับประทานสักคำสองคำแล้วก็รู้ว่าไม่เหม็นคาวอย่างที่คิด ก็ชักจะรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยติดใจ
พอเสร็จจากอาหารมื้อหลัก คุณป้ากำลังจะปอกแอปเปิลให้ ฉันจึงอาสาช่วยปอก ระหว่างที่ปอกอยู่เพลิน ๆ นั่นเองก็รู้สึกว่าทุกสายตามองมาที่ฉันเงียบ ๆ ฉันเงยหน้าขึ้นดูด้วยความสงสัย คุณลุงบอก “ปอกผลไม้ไม่เหมือนเรา” ฉันงง “อ้าวแล้วต้องปอกยังไงคะ” คือคนไทยเราจะปอกโดยหันมีดออกนอกตัวไปเรื่อย ๆ แต่คนญี่ปุ่นจะปอกโดยหันมีดเข้าหาตัวกลับด้านกัน รุ่นพี่บอกฉันว่าคนฝรั่งก็ปอกแบบคนญี่ปุ่นเหมือนกัน เห็นมีแต่คนไทยที่ปอกออกนอกตัว ฉันตกใจมากที่ได้รู้เรื่องนี้ เคยคิดว่าเป็นเรื่อง “คอมม่อนเซ้นส์” ที่ต้องหันคมมีดออกนอกตัว เพราะถ้าหันเข้าหาตัวออกจะดูอันตราย ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่ากระทั่งวิธีการปอกผลไม้ของแต่ละประเทศก็มีความต่างกันด้วย แสดงว่า “คอมม่อนเซ้นส์” ของคนแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
พอรับประทานอาหารเสร็จ ฉันกับรุ่นพี่เข้าไปช่วยล้างจาน เห็นมีถุงมือยางสีชมพูยาวเกือบศอกคู่หนึ่งวางพาดอยู่ ถามคุณป้าว่าเอาไว้ทำอะไร ท่านว่าเอาไว้ใส่เวลาล้างจานจะได้ไม่ต้องสัมผัสถูกน้ำ ภายหลังฉันเองก็มักใช้ถุงมือยางในการล้างจานเช่นกันโดยเฉพาะในฤดูหนาว ไม่อย่างนั้นมือจะแห้งแตกเจ็บไปหมด
คุณลุงพาไปดูห้องอาบน้ำเพื่อสอนวิธีใช้ ด้านหน้าห้องอาบน้ำจะเป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าซึ่งมักมี “โนะเร็น” หรือผ้าที่ผ่ากึ่งกลางแบ่งเป็นสองแฉกใช้แทนผ้าม่านกั้นอยู่ที่วงกบประตู (แต่ไม่มีประตู) เห็นแล้วก็กังวลว่าเปลี่ยนเสื้ออยู่ดี ๆ คนเดินเข้ามาจะทำอย่างไร แต่คิดว่าคนญี่ปุ่นเขาอยู่กันอย่างนี้ได้ก็แสดงว่าคงไม่มีปัญหา ก็ทำตามเขาไป ในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้านี้มักมีเครื่องซักผ้า และอ่างล้างหน้าแปรงฟัน และชั้นวางของซึ่งมักวางผ้าขนหนูที่ซักและพับวางไว้เรียบร้อยแล้ว หรือน้ำยาซักผ้าหรือผงซักฟอก เป็นต้น
ในห้องอาบน้ำมีม้านั่งพลาสติกเล็ก ๆ ตัวหนึ่งวางอยู่ที่พื้นด้านหน้ากระจกที่มีความสูงในระดับสายตาเมื่อนั่งลง ที่กระจกมีพลาสติกแผ่นยาวติดไว้สำหรับวางแชมพูและสบู่ ส่วนฝักบัวซึ่งแขวนอยู่ด้านข้างกระจกก็มีความสูงพอดีสำหรับหยิบได้เมื่อนั่งลงที่ม้านั่งอีกเช่นกัน คนญี่ปุ่นมักนั่งอาบน้ำ พอชำระร่างกายเสร็จถึงจะไปแช่ตัวในอ่างน้ำร้อน สมัยนั้นยังไม่มีอ่างแบบที่อุ่นให้ร้อนได้ใหม่ จึงต้องรีบอาบต่อ ๆ กัน ส่วนใหญ่จะให้แขกเป็นคนแช่ก่อน (คงเพราะว่าเป็นช่วงที่น้ำยังร้อนและน่าแช่ที่สุด) เสร็จแล้วก็ปิดฝาไว้ไม่ให้ความร้อนหนีไว แล้วก็ผลัดกันแช่ต่อกันทั้งบ้าน ยังไม่เคยเจอบ้านไหนเป็นแบบยืนอาบฝักบัวเสียที เว้นแต่จะเป็นห้องน้ำแบบ “unit bath” ลักษณะเดียวกับในโรงแรมธุรกิจ ซึ่งมีโถสุขา อ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำที่มีฝักบัวที่ปรับความสูงได้ว่าจะยืนหรือนั่งอาบ
คุณลุงแกะผ้าที่ทำจากพลาสติกบางเส้นยาว ๆ มีรูพรุนทั่วออกจากซองใส และเกี่ยวไว้กับแถบตะขอที่ติดอยู่บนผนังฝั่งหนึ่งของห้องน้ำ และบอกฉันกับรุ่นพี่ว่าให้คนละผืน คุณลุงไม่ได้อธิบายเรื่องผ้านี้ คงนึกว่าพวกฉันรู้อยู่แล้วว่ามันคืออะไร แต่ฉันไม่เคยเห็นและไม่ทราบ คุณลุงจึงเฉลยว่าเอาไว้ขัดตัวเวลาอาบน้ำ ใช้สองมือจับปลายคนละข้างแล้ววางพาดหลังถูไปมา ฉันก็เลยเพิ่งทราบว่าคนญี่ปุ่นเขานิยมขัดตัวกันระหว่างอาบน้ำด้วย ไม่ใช่แค่ฟอกสบู่แล้วเอาน้ำราดออกเหมือนบ้านเรา แรก ๆ ใช้ไม่เป็นก็ไม่ถนัด รู้สึกงง ๆ แปลก ๆ แต่พอใช้เป็นแล้วก็จะติด วันไหนไม่ใช้แล้วรู้สึกเหมือนไม่ได้ขัดขี้ไคลชอบกล เวลาไม่มีผ้าพลาสติกแบบนี้คนญี่ปุ่นก็จะใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กบาง ๆ ยาว ๆ มาขัดตัวแทน
วันนั้นฉันแค่อาบน้ำแต่ไม่ได้แช่น้ำร้อน เพราะตอนลองเอาเท้าหย่อนลงไปก็ต้องสะดุ้งกับความร้อนจัดที่ชวนให้จินตนาการว่าตัวเองจะกลายเป็นกุ้งลวก กว่าฉันจะรู้จักการแช่น้ำร้อนว่าต้องแช่ร้อน ๆ แบบนี้ก็กินเวลาอยู่พอสมควร
คนญี่ปุ่นส่วนมากอาบน้ำกันวันละหน แต่แปลกที่ไม่ยักตัวเหม็น บางคนนิยมอาบตอนเย็น บางคนนิยมอาบตอนเช้า แต่ดูเหมือนจะอาบกันตอนเย็นมากกว่า
พอจะเข้านอน เพื่อนคนญี่ปุ่นก็จัดที่นอนไว้ให้ในห้องนั่งเล่นแล้ว เป็นฟูกที่นอนแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ฟุตง” ฟูกนี้ปกติจะเก็บไว้ในตู้เก็บของที่มีบานเลื่อนทำจากไม้บาง ๆ เบา ๆ สองบาน ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงที่นอนของโดราเอม่อนก็อาจจะเห็นภาพได้ไม่ยาก หมอนมีขนาดเล็ก ค่อนข้างแข็ง ข้างในเหมือนบรรจุเมล็ดถั่วเอาไว้ แปลก ๆ แต่ก็หนุนสบายดี
โคมไฟในห้องแบบนี้จะอยู่กลางเพดานของห้อง มักเปิดปิดด้วยเชือกที่ห้อยจากโคม ดึงหนึ่งทีก็สว่างเต็มดวง อีกทีหนึ่งสว่างครึ่งดวง อีกทีหนึ่งกลายเป็นไฟสีส้มดูสลัว ๆ ชวนให้จินตนาการถึงหนังผี แม้จะไม่ได้โปรดปรานความมืดแต่ก็ยังดีกว่ามองดูไฟส้ม ๆ แล้วคิดมาก เลยดึงเชือกอีกรอบเพื่อปิดไฟสนิทและเข้าสู่เวลานอนอันแสนสุข.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.