ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เมื่อไม่นานมานี้ผมกลับบ้านไม่ทันรถเมล์เที่ยวสุดท้าย (อีกแล้ว) จึงต้องนั่งแท็กซี่กลับ นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ไม่ทัน เคยเป็นแบบนั้นมาหลายที และนอกจากแท็กซี่ บางครั้งต้องนั่งรถไฟอ้อมไปอ้อมมากินเวลานานกว่าปกติ กว่าจะถึงบ้านก็หลังเที่ยงคืน สาเหตุไม่ใช่เพราะการไปสังสรรค์ดึกดื่นที่ไหน แต่เป็นเพราะทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกินห้าทุ่ม จนบางทีก็คิดว่า เอ...เราทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร พอเล่าให้คนไทยด้วยกันฟัง ส่วนใหญ่ตกใจเพราะมองว่าอาชีพอาจารย์น่าจะสบาย ๆ ได้กลับบ้านเร็วและมีเวลาว่างมากกว่าการทำงานบริษัท แต่ขอบอกเลยว่า ถ้าแบบนั้นคงผิดวิสัยอาจารย์ในญี่ปุ่น
เหตุที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า “การทำงานหนักจนตาย” กลายเป็นประเด็นต่อเนื่องในญี่ปุ่น และขณะนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือครูอาจารย์ในโรงเรียน ซึ่งมีผู้ที่ทำงานล้นเกินจนเดินข้ามเส้นแบ่งความเป็นความตายไปโดยไม่รู้ตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ระยะนี้จึงมีข่าวคราวตีแผ่สภาพการณ์พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยประกอบคำวิจารณ์ออกสื่ออยู่ตลอด อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจน่าเป็นห่วงน้อยกว่าเพราะยังพอมีช่องว่างให้จัดตารางเวลาการทำงานได้อิสระกว่าครูอาจารย์ระดับประถมและมัธยม แต่ในฐานะคนวงการศึกษาคนหนึ่ง เมื่อเกิดกระแสแบบนี้ขึ้น จึงอดคิดไม่ได้ว่าเราเองก็ไม่ควรชะล่าใจ อย่าได้ปล่อยให้ตัวเองถูกบรรยากาศการทำงานแบบญี่ปุ่นลากไปสู่การทำงานเกินพิกัดจะดีกว่า ทีนี้มาดูกันว่าครูโรงเรียนญี่ปุ่นมีงานล้นมือขนาดไหนถึงได้น่าเป็นห่วง
เมื่อพิจารณาภาพรวม จะพบว่าคนในสังคมอื่นมักมองว่าคนญี่ปุ่นขยัน ความขยันที่ว่านั้นหากวัดเป็นตัวเลข ต้องวัดด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงาน จำนวนชั่วโมงการทำงานของคนญี่ปุ่นแม้ไม่สูงที่สุดในโลกแต่ก็อยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศในยุโรป จากตัวเลขขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เมื่อปี 2558 คนญี่ปุ่นทำงานเฉลี่ย 1,719 ชั่วโมงต่อปี คนเยอรมัน 1,371 ชั่วโมง คนฝรั่งเศส 1,482 ชั่วโมง เป็นต้น จากสถิติชุดเดียวกัน แม้ของญี่ปุ่นจะต่ำว่าคนอเมริกันซึ่งทำงาน 1,790 ชั่วโมงต่อปี แต่ตัวเลขภายในประเทศของญี่ปุ่นกลับชี้ว่าคนญี่ปุ่นทำงานเกิน 2,000 ชั่วโมงและอยู่ในแนวโน้มนี้มาโดยตลอดไม่ต่ำกว่า 10 ปี และสามสาเหตุใหญ่ที่บีบให้ต้องทำงานล่วงเวลาคือ 1) บุคลากรไม่พอ (ปริมาณงานมาก), 2) มีงานที่ผุดขึ้นมาโดยไม่ได้คาดหมาย, 3) ช่วงที่มีงานกับช่วงว่างมีความแตกต่างกันมาก
ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินกว่าร่างกายจะรับได้อาจทำให้เจ้าของร่างถึงแก่ชีวิต การตายแบบนี้ เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “คะโรชิ” (過労死;karōshi) คำนี้เกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของทศวรรษ 1970 เพราะเริ่มมีข่าวการเสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไป ตั้งแต่นั้นมา คะโรชิก็ถูกตีแผ่มากขึ้น แต่ปัญหาก็ไม่หมดจากญี่ปุ่น และกลายเป็นว่าแม้แต่ตอนนี้ก็ยังมีกรณีคะโรชิปรากฏเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ จนคำว่า karoshi เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก และถูกบรรจุในพจนานุกรมภาษาอังกฤษบางสำนักแล้ว เมื่อมีข่าวคะโรชิออกมาอยู่เรื่อย คนญี่ปุ่นจึงพูดถึงบริษัทอันเป็นเหตุของความตายว่ามีลักษณะ “บุ-รัก-กุ” ตามสำเนียงญี่ปุ่น หรือ “แบล็ก” (black) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “สีดำ” ใช้สื่อถึงสภาพความโหดและกดดันของการทำงานในบริษัทนั้น จึงมีคำว่า “บริษัทสีดำ” หรือ “บริษัทมืด” เกิดขึ้น เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “บุรักกุ-คิเงียว” (ブラック企業; Burakku Kigyō)
สาเหตุทางกายภาพหลัก ๆ ที่ทำให้เสียชีวิตเพราะการทำงาน คือ กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดชนิดเฉียบพลัน หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ดังเช่นกรณีที่เพิ่งถูกประกาศว่าเป็นคะโรชิเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักข่าวหญิงของ NHK วัย 31 ปีผู้ทำงานล่วงเวลาถึง 159 ชั่วโมงใน 1 เดือน และเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ การฆ่าตัวตายเพราะสภาพการทำงานบีบคั้น ซึ่งก็ถือเป็นคะโรชิด้วยเช่นกัน ดังเช่นพนักงานหญิงของบริษัทเดนท์สุทำงานล่วงเวลา 105 ชั่วโมงใน 1 เดือน และฆ่าตัวตายเมื่อวันคริสต์มาสปี 2558 จนผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องลาออกหลังจากนั้น
แต่เมื่อสำรวจดูทั่วญี่ปุนก็น่าตกใจที่ว่า ครูบาอาจารย์ในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีชีวิตเสี่ยงต่อคะโรชิด้วย นิตยสารรายสัปดาห์ Tōyō Keizai (東洋経済) ฉบับวันที่ 16 กันยายนปีนี้ นำเสนอการวิเคราะห์โดยอ้างอิงข้อมูลของทางการญี่ปุ่นเป็นสถิติว่า ในครูมัธยมต้น 1.7 คนมี 1 คนที่ล้ำเส้นคะโรชิเข้าไปแล้ว และในครูประถม 3 คน มี 1 คนที่ล้ำเส้นคะโรชิ คำว่า “เส้นคะโรชิ” หมายถึง เกณฑ์จำกัดจำนวนชั่วโมงการทำงาน เป็นคำประสมระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับอังกฤษ เรียกว่า “คะโรชิไลน์” (過労死ライン; Karōshi Line) หมายถึง เกณฑ์การทำงานล่วงเวลาเดือนละไม่เกิน 80 ชั่วโมง
ในมุมหนึ่ง หากไม่นับการสอบแข่งขันเพื่อสอบเข้าสถาบันดี ๆ หลายคนมองว่าการศึกษาของญี่ปุ่นผลิตทรัพยากรมนุษย์ออกมาได้มีคุณภาพสูง ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะได้พบเจอคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่แม้ไม่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่มีความรู้และการพูดจาเป็นระบบทัดเทียมคนจบปริญญาตรี มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต และใฝ่เรียนรู้ นั่นหมายความว่า การเรียนและการขัดเกลาในระดับประถมกับมัธยมได้วางรากฐานการเป็นคนที่มีคุณภาพให้แก่คนคนนั้นแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีมาก
แต่ในทางกลับกัน เมื่อมองว่า แล้วใครล่ะ? คือผู้ทำหน้าที่ให้การศึกษาถึงขนาดนั้น รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เด็กมีคุณสมบัติพื้นฐานที่พร้อมจะออกสู่สังคม คำตอบก็คือครูนั่นเอง ตรงนี้นี่เองที่กลายเป็นจุดที่ญี่ปุ่นต้องคิดว่า เราใช้ครูให้ทำงานหนักเกินไปไหม? และจุดสมดุลอยู่ที่ไหน เพราะในขณะที่บรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาได้ แต่สวัสดิภาพชีวิตบุคลากรกลับเสื่อมลง ครูในโรงเรียนญี่ปุ่นมีภาะหน้าที่เป็นอย่างไร ลองมาดูกัน
หน้าที่หลักของการเป็นครูคือการสอน การเรียนในระดับประถมของญี่ปุ่นคาบละ 45 นาที ส่วนมัธยมต้นคาบละ 50 นาที แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่ครูญี่ปุ่นทำนั้น ประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานทั้งหมดไม่ใช่การสอนหรือการเตรียมสอน แต่เป็นงานอื่น ๆ อันได้แก่ แนะแนวนักเรียน, งานกิจกรรมของโรงเรียน, ภารกิจยามเช้า, เป็นที่ปรึกษาชมรม, ประชุม, การบริหารจัดการชั้นปี, ประเมินผลนักเรียน, งานธุรการด้านเอกสารและรายงาน, การบริหารการศึกษาของโรงเรียน, ประสานงานกับผู้ปกครอง, และอื่น ๆ
เท่าที่ผ่านมา งานเหล่านี้รวม ๆ แล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ชั่วโมงการทำงานของครูต่อสัปดาห์ยาวนานขึ้น 4-5 ชั่วโมงด้วย ดังสถิติบางส่วนของการทำงานในวันธรรมดาจากปี 2549 ถึง 2559
งานอย่างหนึ่งที่ครูบ่นกันมากคือ การเป็นที่ปรึกษาให้แก่ชมรม โดยเฉพาะชมรมกีฬา ครูจำนวนมากไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในกีฬาประเภทนั้น แต่เมื่อสอบบรรจุแล้ว ก็จำต้องเป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กด้วย เพราะเป็นหน้าที่ เสาร์อาทิตย์เมื่อเด็กซ้อมหรือแข่งกีฬา ส่วนใหญ่ก็ต้องไปคอยดูแล เวลาส่วนตัวแทบไม่เหลือ นอกจากนี้ งานยิบย่อยประเภทการทำรายงานและการบันทึกรายละเอียดแทบจะทุกขั้นตอนก็ทำให้ครูไม่สามารถกลับบ้านเร็วได้
ครูประถมที่ล้ำเส้นคะโรชิไปแล้วมีถึง 33.5% ส่วนครูมัธยมต้น 57.6% ในความเป็นจริง สาเหตุการเสียชีวิตนั้นบางครั้งระบุได้ยากว่ามาจากการทำงานหรือสาเหตุอื่นกันแน่ อย่างไรก็ตาม กรณีครูเสียชีวิตเพราะคะโรชิได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ทีแรกไม่อาจระบุได้ว่าเป็นคะโรชิ แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการรับยอมและได้รับค่าชดใช้
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่โอซะกะ ครูชายวัย 26 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตที่บ้าน โดยมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ครูคนนี้เริ่มทำงานที่โรงเรียนนี้เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน ต้องเป็นครูประจำชั้นตั้งแต่ปีแรก อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้ออกจดหมายเหตุแจ้งข่าวสารแก่ชั้นปีอย่างเอาจริงเอาจังมาตลอด และต้องเป็นที่ปรึกษาชมรมวอลเลย์บอลทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ในช่วง 6 เดือนก่อนเสียชีวิต ทำงานล่วงเวลารวมแล้วเดือนละ 60-70 ชั่วโมง ทีแรกถูกประเมินว่าไม่ถึงเกณฑ์ที่จะชี้ชัดว่าเป็นคะโรชิ ทว่าเมื่อพิจารณาการนำงานกลับไปทำที่บ้าน เช่น ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ รวม ๆ แล้วคงเกิน 80 ชั่วโมง จึงเพิ่งถูกพิจารณาว่าเสียชีวิตเพราะการทำงานหนัก
ไม่น่าเชื่อว่าคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีจะเสียชีวิตเพราะโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ ประกอบกับสถิติหลายส่วน จึงกลายเป็นว่าโรงเรียนก็คือ ‘องค์กรมืด’ ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ที่ว่างานครูไม่ใช่งานแบกหาม แต่ในความเป็นจริง ๆ คำว่างานหนักก็ไม่ได้หมายถึงภาระทางกายที่มองเห็นจากภายนอกเสมอไป อาจหมายถึงภาระที่เกิดกับสมองด้วย และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานย่อมทำให้สมองกับร่างกายเสียสมดุลโดยที่เราไม่รู้ตัว
เมื่อคะโรชิลุกลามไปถึงวงการศึกษาแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตระหนักมากขึ้นและเริ่มรณรงค์ให้ลดชั่วโมงการทำงาน หลาย ๆ องค์กรก็เริ่มแล้วเช่นกัน และสำหรับวงการครู จากนี้ไปคงจะต้องพิจารณาให้มากขึ้นอีก เพราะด้านหนึ่งคือการการรักษามาตรฐานของการศึกษา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องเห็นใจผู้สอน ว่าแล้วผมก็เหลือบไปมองนาฬิกา ตอนนี้สองทุ่มกว่า ไม่ใช่ห้าทุ่มเหมือนวันก่อน แต่ก็คิดว่าสมควรแก่เวลา น่าจะหยุดตรงนี้ดีกว่าปล่อยให้มีคะโรชิมาดักรออยู่ข้างหน้า
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com