xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับความ "เจ้าระเบียบ" ขนานแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวญี่ปุ่นเข้าแถวรับสิ่งของช่วยเหลือในเหตุแผ่นดินไหว
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ไม่ต้องบอกก็คงเป็นที่ทราบดีว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีระเบียบแบบแผนขนาดไหน ไม่ใช่เพียงแค่ในบางมุม แต่เรียกได้ว่ามีระเบียบตั้งแต่อยู่ที่บ้าน ไปจนถึงที่โรงเรียน ที่ทำงาน และในสังคมอื่นทั่วไปเลยทีเดียว

คนญี่ปุ่นจะสอนเรื่องระเบียบและมารยาทของการอยู่ร่วมกับคนอื่นกันตั้งแต่เด็ก ทั้งการรู้จักกล่าวคำทักทาย กล่าวขอบคุณและขอโทษ การล้างมือให้สะอาดและกลั้วคอเมื่อเข้าบ้าน ไม่ไปยืนเกะกะขวางทางคนอื่นในที่สาธารณะ ไม่วิ่งเล่นตามทางเดิน หรือส่งเสียงดังเอะอะหนวกหูคนอื่น เวลาขึ้นรถเมล์ก็ไม่ไปนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ คนท้อง คนบาดเจ็บหรือพิการแม้ว่าที่นั่งเหล่านี้จะว่างก็ตาม เพื่อที่ว่าเวลามีคนที่จำเป็นต้องนั่งขึ้นรถมาแล้วก็จะได้นั่งได้เลย

ยามไปบ้านคนญี่ปุ่นจะเห็นความเป็นระเบียบอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกันหมดคือ รองเท้าที่วางตรงโถงระหว่างประตูกับยกพื้นของตัวบ้านจะหันหัวรองเท้าออกไปทางประตู เพื่อที่ว่าเวลาจะออกจากบ้านจะได้ใส่รองเท้าเดินออกไปได้สะดวก ดังนั้นเวลาไปบ้านคนญี่ปุ่นเราก็ถอดรองเท้าตามปกติ แล้วค่อยหันกลับไปจัดรองเท้าให้หันหัวออกไปทางประตู ไม่หันหลังใส่เจ้าบ้านก่อนถอดรองเท้าแล้วเดินถอยหลังขึ้นบ้าน เพราะเป็นการไม่สุภาพ ถ้าหากเราซึ่งเป็นแขกมาเยี่ยมบ้านคนญี่ปุ่นเกิดลืมหรือไม่ทราบเรื่องหันรองเท้า พอจะกลับแล้วเดินมาจะใส่รองเท้า ก็จะเห็นว่ารองเท้าถูกจัดวางใหม่ให้สามารถหย่อนเท้าใส่ได้เลยโดยไม่ต้องกลับหลังหันใส่รองเท้า แล้วกลับหลังหันไปเปิดประตูออกจากบ้านอีกรอบ เวลาไปร้านอาหารบางแห่งหรือพักตามเรียวคัง (ที่พักแบบญี่ปุ่น) ก็จะเห็นบ่อย ๆ ว่ารองเท้าแตะที่เขาวางไว้ให้จะหันหัวออกไปทางประตูเสมอ
ภาพจาก http://mamanote.jp
หรือเวลาขึ้นลงบันไดเลื่อน คนโตเกียวจะยืนชิดซ้าย และเดินฝั่งขวา ส่วนจังหวัดในแถบตะวันตกอย่างเช่นโอซากา เกียวโตจะสลับข้างกัน น้อยครั้งมากที่จะเห็นคนยืนขวางทางในฝั่งสำหรับเดิน ซึ่งเดาได้ว่าอาจมาจากแถบอื่นของญี่ปุ่นที่ยืนสลับข้างกันแล้วเผลอลืม หรือไม่ก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ส่วนที่นิวยอร์กคนจะยืนชิดขวาและเดินฝั่งซ้ายกันเป็นธรรมเนียม แต่บางครั้งก็จะเห็นคนที่ยืนขวางอยู่ฝั่งซ้ายบ้างเหมือนกัน ถ้ามีคนที่เดินตามหลังมากำลังรีบก็จะขอให้หลีกทางให้

อีกอย่างที่น่าทึ่งคือการต่อคิวเข้าแถวอย่างอดทนและเป็นระเบียบทั้งยามรอขึ้นรถไฟ แท็กซี่ หรือซื้อของ หลายท่านคงเคยเห็นที่พื้นชานชาลาสำหรับรอรอไฟหลาย ๆ แห่งในญี่ปุ่นจะมีการตีเส้นแถวไว้หลายแถวสำหรับรอขึ้นรถไฟอย่างเป็นระเบียบ บางทีอาจมีแถวสำหรับรอขึ้นขบวนถัดไป หรือแถวสำหรับรอขึ้นรถไฟสายอื่นที่วิ่งชานชาลาเดียวกันด้วย โดยจะตีเส้นด้วยเทปคนละสี และมีเขียนระบุไว้ที่พื้น

คนญี่ปุ่นก็จะไปยืนเรียงกันตามนั้นอย่างเป็นระเบียบ ชานชาลาบางแห่งเขาให้รอได้ถึง 2-3 แถวเพื่อไม่ให้มีหางแถวเดียวยาวเหยียดจนไปเกะกะขวางทางคนอื่นที่สัญจรไปมาในชานชาลา แต่บางทีพอมีคนต่อแถวแรกราว 3-4 คนหรือมากกว่านั้นโดยที่แถวที่สองว่างโล่งไม่มีใครยืนเลย คนญี่ปุ่นก็จะไม่กล้าไปรอที่หัวแถวที่สองเพราะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมต่อคนที่ยืนรออยู่ก่อนในแถวแรก หรือบางทีก็เพราะกลัวโดนมอง กลัวโดนด่า หรือไม่แน่ใจว่าควรให้น้ำหนักเรื่องไหนมากกว่าระหว่างทำถูกระเบียบ (คือไปต่อแถวที่สอง) กับมารยาท (ไปต่อหางแถวแรก)
ภาพจาก http://toyokeizai.net
ถ้าเป็นแถวรอจ่ายเงินในร้านขายของ บางทีคนที่รอคิวต่อจากคนที่กำลังจ่ายเงินอาจอยู่ในแถวซึ่งห่างออกไป หากไม่ทันดูว่ามีแถวรออยู่ เผลอไปยืนต่อจากคนที่จ่ายเงินอยู่ พนักงานก็จะมองหน้าเรานิ่ง ๆ แล้วพูดอย่างสุภาพว่ากรุณาไปยืนต่อแถวตรงโน้น ฉันอยากให้ที่พนักงานที่เมืองไทยเป็นแบบนี้บ้าง แต่บางทีนอกจากจะไม่มีแถวแล้ว พนักงานก็ไม่ได้สนใจว่าใครมาก่อนมาหลัง กลายเป็นว่าแล้วแต่ใครเร็วใครได้ มันทั้งไม่น่าดูและไม่ยุติธรรมเลย

ส่วนที่นิวยอร์ก ถ้าเป็นการรอขึ้นรถไฟมักมีการแซงคิวเป็นประจำ อาจเพราะไม่มีการระบุด้วยว่าประตูจะเปิดตรงไหน แล้วแต่จะจำกันเอาเอง แต่ถ้าเป็นในร้านก็จะต่อแถวเข้าคิวกันอย่างเป็นระเบียบ เคยเห็นคนไปแซงคิวเหมือนกัน แล้วเขาก็โดนคนอื่นในร้านเตือนว่า “มีเลดี้ยืนต่อแถวอยู่ก่อนคุณสองคนแน่ะ” เขาก็ไม่สนใจ ส่วนคนอื่นในแถวก็ต่อว่าว่า “คุณนี่หยาบคายมากนะ” เขาก็แค่หันมายิ้ม ส่วนพนักงานก็เนือย ๆ ไม่สนใจ ซึ่งอันนี้ก็คงแล้วแต่คน เพราะพนักงานบางคนก็อาจจะเตือนเหมือนกัน ส่วนเวลาจะต่อแถวแล้วไม่แน่ใจว่าแถวอยู่ตรงไหน หรือว่าคนที่อยู่ข้างหน้าเราเขาอยู่ในแถวหรือไม่ คนมักจะถามว่าคุณต่อแถวอยู่หรือเปล่า ฉันว่าวิธีนี้ก็ดีนะคะเวลาที่เราไม่แน่ใจว่าหางแถวอยู่ไหนแน่ ดีกว่าไปยืนมั่วแล้วเผลอไปแซงคิวคนอื่นเข้า

เพื่อนผู้อ่านที่รักคงเคยสังเกตว่าพวกขนมของฝากที่ซื้อจากญี่ปุ่นมักห่อกระดาษไว้อย่างดี หรือเวลาไปเลือกซื้อของจากซุ้มขนมหลากยี่ห้อตามห้างสรรพสินค้าหรือจากร้านขนมญี่ปุ่น พอเลือกเสร็จเขาจะจัดใส่กล่องแล้วห่อกระดาษให้เรียบร้อยสวยงาม บางทีฉันซื้อไปรับประทานเอง ไม่ได้เอาไปฝากใคร ก็จะบอกเขาว่าไม่ต้องห่อเพราะเสียดายกระดาษที่จะถูกทิ้งโดยไม่จำเป็น
ภาพจาก https://tripnote.jp
ฉันเคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้าญี่ปุ่นมีการรณรงค์งดการห่อกระดาษพวกนี้ รวมถึงเลิกใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง หรือลดการห่อแพ็คเกจของแบบแยกชิ้น ก็คงจะเป็นการลดขยะและลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรไปได้มาก แต่เรื่องการห่อกระดาษ/แพ็คเกจคงยากเพราะเดี๋ยวจะมีประเด็นเรื่องขาดความเป็น “โอโมเทะนาชิ” (การต้อนรับลูกค้าด้วยใจ) หรือเสียวัฒนธรรม แต่อย่างน้อยญี่ปุ่นก็ยังมีการรีไซเคิลขยะอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากร และใช้ทรัพยากรซ้ำ เช่น ไม่ใช้ถุงพลาสติกในการซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือรณรงค์ให้เอากระติกหรือแก้วของตัวเองมาซื้อกาแฟแล้วลดค่ากาแฟให้ ก็ยังเรียกได้ว่าใส่ใจเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจริงจัง

พอมาดูเมืองไทยกับอเมริกาแล้วก็ต้องยอมรับว่าใช้ทรัพยากรกันสิ้นเปลืองมาก ทั้งโฟม จานกระดาษ ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก หลอด ฯลฯ เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่าโฟมย่อยสลายยากแต่ก็ยังใช้กันอย่างเอิกเกริก ที่สำคัญมันนำมารีไซเคิลใหม่ไม่ได้ และการเผาทำลายโฟมหรือพลาสติกแบบที่รีไซเคิลไม่ได้ก็ทำให้เกิดสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย ฟังดูอาจเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เห็นภาพ และใคร ๆ เขาก็ทำกัน แต่การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองและใช้ทรัพยากรที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดอะไรมากนี้เองเป็นตัวย้อนกลับมาทำลายชีวิตคนและสัตว์ผ่านภัยธรรมชาติอย่างที่เราเจอกันบ่อย ๆ ทั่วโลกทุกวันนี้ ฉันว่าถ้าเราพยายามใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ลดการใช้ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากเท่าไหร่ เราก็มีส่วนแห่งการทำลายน้อยลง และช่วยเกื้อกูลสังคมได้มากขึ้น

กลับมาเรื่องห่อของกันต่อ ที่ฉันเอ่ยถึงเรื่องห่อของก็เพราะว่ามีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนของคนญี่ปุ่น คืออย่างนี้ค่ะ ผู้ใหญ่ชาวไทยท่านหนึ่งที่ฉันเคารพนับถือเล่าให้ฟังว่าท่านไปซื้อของจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ด้วยความที่รีบก็เลยบอกคนขายว่าไม่ต้องห่อนะ ปรากฏว่าท่านรออยู่พักหนึ่งแล้วยังไม่ได้ของก็เกิดความสงสัย จึงไปถามคนขาย คนขายก็ถามด้วยความสับสนว่า “ทำไมถึงไม่ห่อล่ะ?” คงเพราะปกติต้องทำอย่างนั้นตามระเบียบและหน้าที่ที่ต้องทำ พอถูกบอกให้ทำอย่างอื่นที่ต่างจากที่เคยทำมาก็คงเกรงว่าจะไม่ถูกต้อง เลยทำตัวไม่ถูก แทนที่ผู้ใหญ่ท่านนี้จะได้ของเร็วเพราะไม่ต้องห่อ ก็กลายเป็นว่าต้องรอนานกว่าเดิม เหตุการณ์นี้ผู้ใหญ่ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ได้เรียนรู้ จึงเอามาเล่าให้ฟังอย่างสนใจ และสรุปว่า “คุณอย่าได้ไปเปลี่ยน ไปแหกกฎคนญี่ปุ่นทีเดียว จะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก”

ฟังแล้วก็นึกถึงร้านราเม็งที่ไม่ยักเคยได้ยินลูกค้าคนไหนบอกว่าไม่ใส่ถั่วงอก ไม่ใส่ผัก ไม่เอาโน่น ไม่เอานี่ ในชามเขาใส่อะไรมาให้ก็รับประทานไปอย่างนั้น เว้นแต่เขาจะมีให้เลือกได้ว่าจะเอาเส้นน้อย เส้นมาก หรือมีเครื่องให้ใส่เพิ่มซึ่งจะมีราคาระบุไว้ต่างหากก็อีกเรื่องหนึ่ง หันมานึกถึงร้านก๋วยเตี๋ยวที่เมืองไทยที่มีการปรับได้ตามใจชอบแล้วก็ชักสงสารคนขายว่าต้องจำรายละเอียดเยอะมาก ถ้าทำมาผิดก็น่าเห็นใจ เพื่อนสนิทฉันเคยสั่งว่า “ไม่ใส่ถั่วงอก ไม่ใส่ลูกชิ้นปลา หื่อก้วย ลูกชิ้นกุ้ง ฯลฯ” จนแทบจะหมดเครื่องทุกอย่างแล้ว พอเธอพูดจบฉันเลยหยอกเล่นด้วยการสำทับต่อว่า “ไม่ใส่เส้น” (ประมาณว่าเหลือแต่น้ำแกงกับหมูสับและผักชี)

เท่าที่ฉันได้เคยสัมผัสมาจากการทำงาน รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นจะมีแผนรับมือที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าในสถานการณ์อย่างนี้ต้องพูดอย่างไร ทำอย่างไร ที่ทำงานหลายแห่งจะจัดทำเป็นคู่มือไว้ให้เลยทีเดียว ซึ่งถ้ามองในแง่หนึ่งมันก็ดีตรงที่มีมาตรฐานเดียวกันชัดเจน และทุกคนทราบตรงกัน

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเรื่องใดไม่ได้มีระบุไว้ก่อนก็อาจเป็นปัญหาเพราะไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรถึงจะเหมาะ แต่ฉันเชื่อว่าคนญี่ปุ่นน่าจะมีการคุยเรื่องนี้ในภายหลังเพื่อหาข้อสรุปเป็นมาตรฐานที่จะใช้ต่อไปหากมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นอีก เพราะเขามีการประชุมเพื่อประเมินงานที่ผ่านมาว่ามีจุดไหนที่ดีและจุดไหนที่เป็นปัญหา และจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร

ถ้าเป็นคนไทยอาจจะใช้วิธี “แล้วแต่สถานการณ์” ซึ่งแต่ละคนจะงัดวิธีของตัวเองออกมา ทำให้ไม่มีมาตรฐานที่ทุกคนจะยึดเป็นหลักร่วมกันได้ จบงานหนึ่ง ๆ ก็ถือว่าสิ้นสุดกันไป น้อยครั้งที่จะมีการประเมินเพื่อวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และหาหนทางแก้ไขจนกระทั่งได้มาซึ่งวิธีการและผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
ภาพจาก https://www.pinterest.jp
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ไปหมด บางครั้งก็อาจเจอวัยรุ่นทำตัวกร่าง คนสูบบุหรี่โยนขี้บุหรี่ทิ้งข้างทางจนเขาต้องรณรงค์ห้าม หรือกลุ่มคนที่ส่งเสียงดังในร้านเหล้าและพอออกจากร้านแล้วก็ยังเสียงดัง เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องปกติเพราะในสังคมไหน ๆ ก็มีคนหลากประเภท เพียงแต่ที่ญี่ปุ่นอาจจะไม่ค่อยมีคนที่ทำตัวนอกระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์ให้เห็นหนาตากันสักเท่าไหร่นัก

ในขณะที่ชาวต่างชาติมักชื่นชมญี่ปุ่นในความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างยากที่จะหาที่ไหนเหมือน แต่ชาวญี่ปุ่นหลายคนเองอาจจะไม่ได้ชื่นชมไปด้วย เพราะรู้สึกว่าประเทศตนเป็นเจ้าแห่งการสร้างกฎระเบียบอันจู้จี้จุกจิกน่ารำคาญไปหมดในทุกขั้นตอนของชีวิต.


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.

กำลังโหลดความคิดเห็น