คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ที่ผ่านมาฉันมักจะเล่าถึงความช่างคิด ช่างใส่ใจ และความละเอียดอ่อนอันน่าทึ่ง น่าสนใจของคนญี่ปุ่น คราวนี้ฉันขอกล่าวถึงเรื่องนี้ในมุมกลับกัน ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ความวุ่นวาย และความเครียดแก่คนญี่ปุ่นในแต่ละวันบ้างนะคะ
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่อง 気を遣う/ 気を使う(คิ-โอ๊ะ-สึ-กา-อุ) อย่างมาก คำนี้ใช้คันจิได้สองแบบซึ่งความหมายต่างกัน คำแรกหมายถึงการใส่ใจ การคำนึงถึงผู้อื่น คำที่สองหมายถึงการระวังเรื่องสีหน้าท่าทางหรือความรู้สึกของผู้อื่น
อย่างที่เคยเล่าไว้ว่าคนญี่ปุ่นมักใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น ทำให้คนอื่นรู้สึกดี รวมทั้งคอยระวังไม่ให้การกระทำของตนไปรบกวนหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ซึ่งขึ้นชื่อว่าคนญี่ปุ่นเสียอย่างแล้วจะทำอะไรทีก็ทำอย่างเต็มที่ เรื่องความใส่ใจก็เป็นความใส่ใจแบบละเอียดยิบเลยทีเดียว
อันที่จริงเรื่องแบบนี้ฟังเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ เพราะทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกดี ๆ แก่กัน แต่ในหลายครั้งมันกลับสร้างภาระทางใจให้แก่คนที่ใส่ใจและคิดถึงคนอื่นไปแทน เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ควรจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุดต่ออีกฝ่าย หรือในบางคราวก็พยายามจะทำให้ถูกธรรมเนียม แต่พอทำแล้วกลับสร้างความลำบากใจให้อีกฝ่ายก็มี
ยกตัวอย่างเช่นในช่วงฤดูร้อนและปลายปี คนญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมส่งของขวัญไปให้ญาติผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ หรือคนที่สนิทชิดเชื้อกัน ของขวัญเหล่านี้มักเป็นผลไม้อย่างดี เนื้อสัตว์แช่แข็งอย่างดี ใบชาอย่างดี หรือขนมนมเนย เป็นต้น สินค้าพวกนี้มีจำหน่ายเป็นแพ็คมาให้เลือก วางขายตามห้างบ้าง ซูเปอร์มาร์เก็ตบ้าง หรือไม่ก็ทางออนไลน์ ตามมารยาทแล้วเมื่อได้รับของขวัญก็ต้องส่งของขวัญกลับไปยังผู้ให้ด้วย แต่หลายคนก็มองว่าการส่งของขวัญกันไปกันมาทุกปีในช่วงฤดูกาลส่งของขวัญเป็นเรื่องวุ่นวายน่ารำคาญ บางครั้งการไม่ส่งอะไรไปให้เสียเลยจึงอาจเป็นเรื่องดีกว่าเพราะไม่ไปรบกวนอีกฝ่ายให้ต้องเดือดร้อนหาของขวัญส่งกลับมาให้ผู้ให้อีก
ตัวอย่างหนึ่งซึ่งจะเห็นเรื่องของการใส่ใจอย่างละเอียดยิบปรากฏในหลายขั้นตอน คือ งานแต่งงานแบบทางการ โดยมากคนญี่ปุ่นมักเชิญเพียงญาติใกล้ชิด เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงานใกล้ชิด และเจ้านายรวมแล้วเฉลี่ยประมาณ 50-70 คน แน่นอนว่าก็อาจจะมีเพื่อนที่สนิทไม่น้อยเหมือนกันแต่ไม่สามารถเชิญมาได้เพราะต้องจำกัดจำนวนคน ถ้าคนไหนไม่ได้รับเชิญก็อาจเสียใจ หรือบางทีอยากเชิญแต่ก็เกรงใจเพราะคนที่ได้รับเชิญมาก็ต้องให้ซองซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง หรืออาจต้องเดินทางมาไกลมาก มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงเป็นต้น ส่วนของชำร่วยก็ต้องเลือกให้แต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความอาวุโส แล้วแต่ความสัมพันธ์กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วแต่เป็นเพศหญิงเพศชาย และอื่น ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “หลากเรื่องน่าตกใจ!!กับงานแต่งงานคนญี่ปุ่น”)
แม้กระทั่งการส่ง ส.ค.ส. ให้กันในวันปีใหม่นั้น หากเราทราบว่าในปีที่ผ่านมาผู้ที่เราจะส่ง ส.ค.ส. ให้สูญเสียญาติไป ก็ต้องงดเว้นไม่ส่ง ส.ค.ส. ให้เพราะถือว่าผู้รับยังไม่อยู่ในห้วงเวลาที่จะรื่นเริง การมีธรรมเนียมเช่นนี้เองทำให้คนญี่ปุ่นที่มีญาติเสียชีวิตในปีนั้น ๆ ส่งไปรษณียบัตรเพื่อแจ้งข่าวดังกล่าวแก่ผู้ที่มักส่ง ส.ค.ส. มาให้ตน ซึ่งจะทำให้ผู้รับทราบว่าปีที่จะถึงนี้ไม่ต้องส่ง ส.ค.ส. ไปให้
พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงเพื่อนรักชาวญี่ปุ่นของฉันที่เสียชีวิตกระทันหันไปเมื่อต้นปี ด้วยความตกใจว่าเธอยังดูแข็งแรงและอายุน้อย ฉันจึงถามเพื่อนที่เป็นคนแจ้งข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ ซึ่งถ้าหากเรื่องนี้เกิดที่เมืองไทยก็คงไม่แปลกที่จะมีการถามเช่นนี้ และทุกคนก็คงจะได้รับทราบสาเหตุ แต่ในกรณีนี้น่าแปลกที่เพื่อนรักเสียไปทั้งคน ทั้งเพื่อนคนที่แจ้งข่าวและเพื่อนสนิททั้งกลุ่มใหญ่เป็นสิบ ๆ คนกลับไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเธอเสียชีวิตด้วยสาเหตุอันใด ไม่มีใครกล้าถามสามีของเพื่อนด้วยเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สมควรถาม และครอบครัวผู้เสียชีวิตอาจจะไม่ต้องการเล่า แม้จะเดากันไปต่าง ๆ นานาในใจแต่ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้นัก เพียงรับรู้และจัดงานรวมตัวเพื่อรำลึกถึงเธอ ตัวฉันเองรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนสนิทตัวเอง จะถามก็ไม่ได้ จึงยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจมาถึงวันนี้
ฉันรู้สึกว่าความใส่ใจและคำนึงถึงผู้อื่น รวมทั้งการคอยระวังเรื่องความรู้สึกคนอื่นของคนญี่ปุ่นอาจเป็นการสร้างกำแพงในความสัมพันธ์ได้ด้วย การเกรงใจกันไปกันมาว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรก็ทำให้คนญี่ปุ่นไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ คนญี่ปุ่นมักไม่เล่าเรื่องของตัวเอง ไม่ค่อยแสดงออกให้เห็นว่าตัวเองรู้สึกหรือคิดอย่างไร เพราะรู้สึกเหมือนเอาตัวเองเป็นที่ตั้งซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนต่างชาติหลายคนรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเข้าถึงยาก แถมคนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะไปถามเรื่องคนอื่นด้วยเพราะเกรงว่าอาจเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว บางทีในครอบครัวเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่ถามเรื่องส่วนตัวของลูกหรือพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง และหลายครั้งก็อาศัยการสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด บางครอบครัวพ่อแม่เลิกกัน พ่อแม่ก็ไม่ได้เปิดปากเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนลูกก็ไม่ถามว่าทำไม ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทยคงเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่พูดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างใกล้ชิดเช่นนี้
เรื่องความใส่ใจและคิดว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไรยังเห็นได้ชัดอย่างยิ่งในที่ทำงาน เพื่อนผู้อ่านอาจเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่าคนญี่ปุ่นนั้น แม้จะถึงเวลาเลิกงานหรืองานของตัวเองเสร็จแล้วก็ตาม หากเจ้านายยังไม่กลับ ตัวเองก็มักไม่กล้ากลับเพราะเกรงใจเจ้านายที่ยังทำงานอยู่ แต่ถ้าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ยังอยู่ก็ไม่กล้ากลับอยู่ดีเพราะกลัวโดนมองว่าตนไม่ขยันทำงานเพื่อองค์กร ในทางกลับกันถ้าเป็นในสหรัฐฯ จะมองว่าการอยู่ล่วงเวลาหมายถึงการทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่สามารถทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนดได้
ในบางคราวหากเจ้านายชวนไปดื่มหลังเลิกงานก็ไม่ค่อยมีใครกล้าปฏิเสธ บางทีก็ดื่มเสียดึกดื่น เมาแอ๋ ส่งเสียงดังโหวกเหวกหรืออาเจียนข้างถนน พลอยเดือดร้อนลูกน้องที่ตามไปด้วยต้องพยุงส่งกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นหลายคนมองว่าการไปดื่มด้วยกันเป็นโอกาสที่จะสามารถพูดและระบายความอัดอั้นตั้นใจในเรื่องงาน และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องได้ แต่ในขณะเดียวกันแม่บ้านชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ชอบใจนักที่สามีทำงานล่วงเวลาหรือไปดื่มกับที่บริษัท เพราะอยากใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวมากกว่านี้
จากตัวอย่างข้างต้นคงเดาได้ไม่ยากว่าญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญกับเรื่องงานมาเป็นอันดับหนึ่ง และเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องรอง ถ้ามองจากวัฒนธรรมอื่นอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะนัก มนุษย์เราทำงานทั้งวันก็เหนื่อยแล้ว หมดเวลางานก็น่าจะมีสิทธิ์ที่ตนจะให้เวลาแก่เรื่องอื่น ๆ บ้าง ชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่งาน แต่มีครอบครัว เพื่อนฝูง และเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นที่สมควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ต่อให้เรื่องงานดี แต่ถ้าครอบครัวขาดความอบอุ่น ชีวิตก็ไม่มีความสุขอยู่ดี พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มักครองอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ซึ่งนโยบายรัฐเอื้อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสมดุล ให้ความสำคัญกับการให้เวลาแก่ครอบครัว และมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง
แม้ฉันจะขอร้องสามีไว้แต่เนิ่น ๆ ก่อนแต่งงานกันว่าควรให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องงานรองลงมา แต่ฉันก็รู้ว่าพูดไปก็เท่านั้นเพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมภักดีต่อองค์กร อยู่ที่เดิมกันนาน ๆ ไม่ค่อยย้ายงานเท่าไหร่นัก ถ้าอยากอยู่รอดปลอดภัยหรือได้รับการยอมรับก็ต้องแสดงให้เห็นถึงความภักดีต่อองค์กร แต่ฉันก็ไม่ยอมลดละความพยายาม บอกสามีว่าถ้าทำงานของตัวเองเสร็จแล้วก็หาทางกลับบ้านเสีย และอย่าไปดื่มบ่อย เขาก็รับคำ ฉันถามว่าถ้าโดนนายชวนไปอยู่ดีจะทำอย่างไรละ เขาจึงชูนิ้วชี้ในมือทั้งสองข้างขึ้นมาวางข้างขมับพูดว่า “ภรรยาผมเป็นแบบนี้ครับ” (แปลว่าภรรยาผมดุอย่างกับยักษ์) เผื่อนายจะเข้าใจและปล่อยตัวกลับบ้าน ฉันฟังแล้วก็หัวเราะ นี่ถ้าเป็นในเมืองไทย ภรรยาคงไม่ได้ถูกเปรียบเปรยเป็นยักษ์ แต่อาจกลายเป็นนางผีเสื้อสมุทรแทน
เมื่อไม่นานมานี้ฉันอยู่บนรถไฟ เห็นป้ายโฆษณาของบริษัทรถไฟมีรูปคนตรวจสอบผ้าสำหรับวางบริเวณศีรษะของที่นั่งบนรถไฟ (แบบเดียวกับที่นั่งโดยสารบนเครื่องบิน) โฆษณาระบุว่าเขาใส่ใจถึงขนาดตรวจสอบผ้าทุกผืนให้แน่ใจว่าไม่มีรอยยับ ไม่มีสิ่งสกปรกใด ๆ ติดอยู่เลย
ฉันเห็นแล้วก็ถอนหายใจ การใส่ใจในคุณภาพสินค้าบริการของตนเป็นเรื่องดี แต่การคิดถึงความละเอียดระดับนี้ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนญี่ปุ่นคิดอะไรทำอะไรแต่ละอย่างนั้นประกอบไปด้วยหลายขั้นตอนยิบย่อยมาก ๆ จนกระทั่งมันย้อนกลับมาทำให้คนญี่ปุ่นเครียดเอง เล่าเรื่องป้ายโฆษณานี้ให้สามีฟัง สามีก็ทำหน้าเหนื่อยแทนแล้วเปรยว่า “คนญี่ปุ่นใส่ใจกับรายละเอียดมากเกินไป กระทั่งกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญนักก็ได้”
คนญี่ปุ่นมากมายที่มาพำนักอาศัยในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กฎเกณฑ์ทางสังคมไม่ได้มีข้อจำกัดอันสลับซับซ้อนแบบเดียวกับญี่ปุ่นนั้น เมื่อต้องกลับญี่ปุ่นหรือนึกถึงการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นแล้วก็มักโอดครวญที่จะต้องกลับไปอยู่ในสังคมที่แต่ละคนจะคาดหวังและถูกคาดหวังให้ใส่ใจหรือคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นอย่างละเอียดยิบไปในทุกจังหวะของชีวิตจนรู้สึกเหนื่อย เกร็ง และอึดอัดไปหมด แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของมารยาท ขนบธรรมเนียม และค่านิยม
อาจสรุปได้ว่าทุกการกระทำของคนญี่ปุ่นมักผ่านขั้นตอนของการกรองด้วยความคิดเรื่องความใส่ใจ ความคำนึงถึงผู้อื่น และการระวังเรื่องความรู้สึกของผู้อื่นก็ไม่น่าจะผิดนัก แม้ค่านิยมเช่นนี้จะเป็นที่เชิดชูและยอมรับในสังคมว่าสมเป็นคนญี่ปุ่น รวมทั้งสร้างความสงบสุขของสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็แลกมาด้วยเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเอง และบีบรัดตนให้อยู่ในกรอบที่ตัวเองและผู้อื่นต่างพากันสร้างให้ด้วยเช่นกัน.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.