คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ญี่ปุ่นเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงแล้วนะคะ ฤดูนี้เป็นฤดูที่ถ้าฝนไม่ตกก็มักจะฟ้าครึ้ม แต่อย่างน้อยธรรมชาติก็ให้ความงดงามของฤดูกาลไว้ให้มนุษย์จอมขี้เบื่ออย่างเรา ๆ แก้เซ็งไปได้ไม่น้อย พอเราใช้ชีวิตที่สอดคล้องกันกับธรรมชาติ มันก็มีเรื่องสนุกให้ทำสมกับที่ช่วงฤดูกาลนั้น ๆ จะมีให้ ถือเป็นอะไรที่น่ารอคอยของปีได้เหมือนกัน
ตอนต้นฤดูใบไม้ร่วงที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนได้ไม่นานนั้น เวลาฉันขี่จักรยานออกไปข้างนอก มักได้กลิ่นหอมหวานจากดอกของต้นคิมโมะขุเซ ต้นไม้ชนิดนี้ออกดอกเล็ก ๆ เป็นช่อสีส้มคล้ายสีฟักทองสุกแบบที่ทำให้นึกถึงเทศกาลฮัลโลวีน ออกดอกส่งกลิ่นหวานอ่อนโยนอยู่ประมาณไม่เกินสัปดาห์ เวลาได้กลิ่นของมันฉันจะรู้สึกมีความสุขมาก ๆ จนเผลอยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว พร้อม ๆ กับที่ได้รู้ว่าฤดูใบไม้ร่วงมาเยือนแล้ว (ยิ้ม)
พูดถึงฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความงามของใบไม้เปลี่ยนสีที่คนญี่ปุ่นมีคำเรียกเฉพาะว่า “โคโย” อากาศที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นทำให้ใบไม้เปลี่ยนสีไม่พร้อมกัน แต่ละปีเขาก็จะมีการพยากรณ์ว่าใบไม้จะเปลี่ยนสีในช่วงใดแถบใดของประเทศบ้าง เราก็สามารถเลือกไปดูใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงนั้น ๆ ได้ ฉันเคยได้ยินว่าแม้ในที่แห่งเดียวกัน ต้นไม้ชนิดเดียวกัน ใบไม้เปลี่ยนสีก็อาจมีบรรยากาศและความงามที่แตกต่างกันไปได้ตามความต่างของแสงอาทิตย์และอุณหภูมิ
ญี่ปุ่นมีต้นไม้ที่เปลี่ยนสีเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงเยอะ แม้ในกรุงโตเกียวเองถ้าไปถูกที่ก็จะได้เจอทิวทัศน์และความงามของธรรมชาติรอบตัวได้ไม่ยาก บางทีก็ในมหาวิทยาลัยหรือสวนที่ต้องเสียค่าเข้าชม ซึ่งจะมีต้นไม้หลากชนิดหลากสี ดูแล้วมีความสุขเหมือนได้หลีกหนีความวุ่นวายมาอยู่ในอีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว ฉันเคยไปเดินเล่นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยต้นแปะก๊วยในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ถนนหนทางเต็มไปด้วยใบแปะก๊วยสีเหลืองกองสุมกันหนา ๆ ทุกหนแห่งจนอดไม่ได้ที่จะลองไปเตะเล่นดูสักกอง ทิวทัศน์รอบข้างนั้นสวยราวกับภาพวาดจนอยากจะเอาเปลญวนมาแขวนแล้วนอนดู มีหลายคนออกมานั่งวาดภาพกันด้วย แต่กลับไม่ค่อยเห็นคนเอาเสื่อมาปูนั่งแล้วนั่งจิบชารับประทานข้าวกล่องชมวิวกันบ้าง คงเป็นเพราะหนาวเกินไปกระมัง
ฤดูใบไม้ร่วงจะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย พออากาศเปลี่ยนจากร้อนมาเป็นหนาว ภาพอาหารอันโอชะหลากชนิดก็เริ่มลอยผ่านเข้ามาในสมอง คนญี่ปุ่นมักบอกว่าฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูแห่งความอยากอาหาร จะด้วยว่าเพราะผ่านความร้อนระอุของฤดูร้อนมา หรือว่าเข้าใกล้เข้าฤดูหนาวที่อาหารการกินจะขาดแคลน ธรรมชาติก็เลยกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารเพื่อให้ร่างกายสะสมอาหารไว้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เวลาเห็นของกินอะไรต่อมิอะไรก็เลยรู้สึกน่าอร่อยไปเสียหมด
อาหารการกินประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นที่เห็นบ่อยก็ได้แก่ เกาลัด มันเผา แปะก๊วย เห็ดมัตสึตาเกะ เป็นต้น เกาลัดนี่ไม่ค่อยเห็นเขาเอาไปคั่วเมล็ดกาแฟขายกันเว้นแต่จะไปตามไชน่าทาวน์ คนญี่ปุ่นมักเอาไปต้มรับประทาน หรือไม่ก็นึ่งกับข้าวสวย หรือทำขนมได้หลายอย่าง
สำหรับมันเผานี่เป็นอะไรที่ฉันใฝ่ฝันอยากลองรับประทานมาตั้งแต่เล็กแล้ว คือสมัยเด็ก ๆ เคยดูการ์ตูนทีวีของญี่ปุ่นซึ่งถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรื่องอิคคิวซัง ตัวละครพากันกวาดใบไม้แห้งมากองสุมกัน จากนั้นจึงเอาหัวมันหวานใส่ลงไปข้างใต้แล้วเผากองใบไม้ เสร็จแล้วก็จะได้มันเผามารับประทาน เป็นภาพที่ติดตาจนทำให้ฉันตื่นเต้นอยากลองทำแบบนั้นดูบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีโอกาสเสียที ถ้าอยากรับประทานมันเผาก็มักจะพึ่งรถขายมันเผาที่ขับช้า ๆ เร่ขายตามถนน รถพวกนี้จะเปิดเทป/ซีดีที่มีเสียงผู้ชายพูดลากเสียงยานคางซ้ำ ๆ วนไปวนมาหลายหนเหมือนเพลงว่า “หยะกิ๊อิโม--” (ลากเสียงโมยาว ๆ) แปลว่า “มันเผา” ฉันชอบได้ยินเป็น “อยากกินอิโม--” ซึ่งแปลว่า “อยากกินมัน(จังเลย)” อยู่เรื่อย ได้ยินทีไรเหมือนโดนร่ายมนตร์ใส่จนต้องกระโจนออกไปซื้อทุกที
มันเผาพวกนี้เขาขายตามราคาน้ำหนัก ขีดหนึ่งราคาประมาณ 100-200 เยน หรือไม่ก็อาจขายราคาตามขนาดเล็กกลางใหญ่ ถ้าเป็นร้านที่เขาขายมันหวานแบบพันธุ์ดี ๆ เนื้อสีส้มสวยงาม หวานนุ่มอร่อยก็จะแพงมาก แต่ชนิดนี้ยังไม่เคยเจอเร่ขายบนรถ อาจเพราะราคาสูงเดี๋ยวคนไม่ซื้อก็เป็นได้ แต่แม้จะเรียกว่า “มันเผา” แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาย่างบนเตาถ่านแบบกล้วยปิ้งบ้านเรา แต่ใส่อยู่ในถังอลูมิเนียมใบใหญ่ ๆ ซึ่งในถังอาจมีก้อนหินวางไว้เยอะ ๆ ด้วย แล้วมีไฟเผาอยู่ใต้ถังอีกที เปลือกมันที่สุกแล้วก็เลยไม่ได้ไหม้เป็นรอยดำ ๆ แบบที่โดนปิ้งกับไฟโดยตรง เพียงแต่ดูแห้ง ๆ
ส่วนต้นแปะก๊วยซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชูโรงความงามของฤดูใบไม้ร่วงนั้นมีผลสีส้มอ่อน ๆ ลูกกลมสวยงาม ออกทีเป็นรวง เวลาผลมันตกลงมาใต้ต้นและปริแตกออกจะส่งกลิ่นเหม็นหึ่งไปทั่วบริเวณ ที่ทำงานฉันก็มีอยู่ต้นหนึ่งเหมือนกัน พอถึงช่วงที่บริเวณนั้นส่งกลิ่น ก็จะรู้ว่าได้เวลาที่เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น “ขาประจำ” ซึ่งไม่ระย่อต่อกลิ่นมาเก็บเม็ดแปะก๊วยพวกนี้กลับไปที่บ้าน ส่วนฉันพอได้กลิ่นก็พาลจะ “อ้วกแตก” ตามกลิ่นผลแปะก๊วยไปด้วย เลยไม่เคยได้ไปลองเก็บดูกับเขาเสียที ว่าแต่ว่าฉันเคยชินกับการเห็นเนื้อของเม็ดแปะก๊วยเป็นสีเหลือง พอไปเจอเมนู “แปะก๊วยทอดเกลือ” ในร้านกับแกล้มที่ญี่ปุ่นนี่ตื่นเต้นมาก มันจะเป็นเม็ดแปะก๊วยสดสีเขียวอ่อนอมเหลือง เนื้อหนึบ ๆ อร่อยดี
สำหรับเห็ดมัตสึตาเกะของแพงหูฉี่นั้น ถ้าอยากรับประทานในแบบที่ไม่ถลุงกระเป๋าทีเดียวขาดวิ่นก็อาจรับประทานเป็นเห็ดมัตสึตาเกะที่นึ่งกับข้าวปรุงรสซึ่งมีเห็ดอยู่เบาบางมาก ถ้าสั่งในร้านอาหารเขาจะเสิร์ฟมาเป็นหม้อเล็ก ๆ สำหรับพอดีหนึ่งคนรับประทาน คนญี่ปุ่นเขาว่าเห็ดมัตสึตาเกะหอมอร่อย ตัวฉันเองไม่เคยรับประทานแบบเต็มคำก็เลยไม่ทราบว่ามันกลิ่นหอมอย่างไร เคยแต่ดูรายการโทรทัศน์ที่มีคนญี่ปุ่นไปเดินหาเห็ดมัตสึตาเกะตามป่าในประเทศตะวันตกแห่งหนึ่งที่มีเห็ดมัตสึตาเกะขึ้นตามธรรมชาติ แต่คนท้องถิ่นเขาดูเหมือนจะไม่ได้นิยมรับประทานหรือเห็นเห็ดชนิดนี้เป็นของวิเศษแต่อย่างใด พอคนญี่ปุ่นนั้นเจอเห็ดมัตสึตาเกะดอกใหญ่ ๆ หลายดอกก็ดีอกดีใจ เอากลับไปทำสุก แล้วก็นั่งรับประทานอย่างมีความสุข เอ่ยปากชมว่ามันช่างหอมอร่อยเหาะเหลือเกิน พอหันไปขอความเห็นคนฝรั่งที่นั่งรับประทานอยู่ด้วยว่าอร่อยใช่ไหม คนถูกถามก็ทำหน้างงบอกไม่ถูกเพราะไม่ได้รู้สึกถึงความพิเศษในรสชาติของเห็ดมัตสึตาเกะที่ว่านี้แบบเดียวกันกับคนญี่ปุ่น
อาจจะเป็นไปได้ว่าปกติคนฝรั่งไม่ค่อยได้รับประทานอาหารที่รสชาติและกลิ่นยังมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากเท่ากับคนญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็ดูจะให้ความสำคัญกับการเสพอาหารด้วยผัสสะอย่างอื่นไปด้วยพร้อม ๆ กันนอกจากลิ้นที่รับรสชาติของอาหาร เช่น ทางตาที่มองเห็นความงามของการจัดวางอาหาร และทางจมูกที่รับกลิ่น เป็นต้น
คุณป้าของ(เพื่อน)ฉันก็เคยไปเด็ดกิ่งอ่อนของต้นอะไรสักอย่างในสวนมาวางไว้บนเส้นหมี่โซเม็งที่เรากำลังจะรับประทานเป็นบะหมี่เย็น ฉันถามว่ากิ่งนี่เอาไว้ทำอะไรหรือ คุณป้าบอกว่าวางไว้จะได้สวย ๆ หอม ๆ อย่างไรละ ฉันหยิบขึ้นมาดม กลิ่นนั้นหอมจริงแต่จางเสียจนแทบไม่ได้กลิ่นถ้าไม่หยิบขึ้นมาดม แต่ฉันก็ทึ่งที่คนญี่ปุ่นเขาไม่พลาดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ละเอียดอ่อนอย่างนี้ ยิ่งถ้าไปเที่ยวในต่างจังหวัดและพักในเรียวคังซึ่งเป็นโรงแรมแบบญี่ปุ่น หากเขาเสิร์ฟอาหารในห้องพักเรา จะสังเกตเห็นชัดว่าอาหารแต่ละชนิดที่ถูกจัดวางอย่างประณีตบรรจงสะท้อนให้เห็นถึงภาพของฤดูกาลนั้น ๆ ทั้งชนิดอาหารที่มีเฉพาะฤดูกาลเอย สีสันเอย ใบหรือดอกไม้ในช่วงนั้นเอย เป็นต้น นับเป็นความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สร้างความแตกต่างอันน่าประทับใจได้มาก
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็มักจัดทัวร์กันตามฤดูกาลด้วย ฤดูไหนมีอะไรสวยที่จังหวัดไหนหรือภูมิภาคไหนก็จะมีทัวร์ไปในแหล่งนั้น แถมเขาก็เข้าใจหาสิ่งที่มีเฉพาะฤดูกาลมาสร้างเป็นกิจกรรมเพื่อขายทัวร์ได้อีก อย่างเช่น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้บางประเภท เขาก็จัดทัวร์เก็บผลไม้ชนิดนั้น ๆ ถ้าในฤดูใบไม้ร่วงนี่ก็จะมีทัวร์เก็บเกาลัด ทัวร์เก็บองุ่น เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพรวมของความสุขในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น บางทีความสุขก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปวิ่งไล่หาจากที่นั่นที่นี่ ถ้ามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่รอบตัว เราอาจจะพบว่าสิ่งดี ๆ มีอยู่มากมาย และความสุขก็อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดก็ได้นะคะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.