เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นแล้ว ทั้งร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์ และตลาดบ้านเรามีอาหารและขนมเจออกมาให้เลือกซื้อละลานตาเต็มไปหมด อยู่ไทยกินมังสวิรัติไม่ยากเลย แต่ถ้าอยู่ญี่ปุ่นล่ะจะเป็นไปได้หรือเปล่า?
ต้องยอมรับว่าการหาอาหารมังสวิรัติที่ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีปลาเป็นส่วนประกอบหลัก และทุกวันนี้ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลด้านอาหารจากโลกตะวันตกมากขึ้น ทำให้ยิ่งมีเมนูเน้นเนื้อนมไข่เพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ แต่ถึงจะยากก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้นะ สำหรับเพื่อน ๆ ที่กินเจ มังสวิรัติ หรือว่าเป็นวีแกน วันนี้เรามีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเอาตัวรอดที่ญี่ปุ่นมาฝาก จะได้ลดความกังวลเรื่องการหาของกินในแดนปลาดิบลงเนอะ
คำแนะนำ 8 ข้อสำหรับคนกินเจ/มังสวิรัติ/วีแกนที่ญี่ปุ่น
1. ราเมงส่วนใหญ่ใช้น้ำซุปที่ต้มด้วยกระดูก ถ้าอยากกินราเมงจริง ๆ แนะนำว่าให้หาข้อมูลไว้ล่วงหน้าว่าร้านร้านไหนมีเมนูที่ใช้น้ำซุปโชยุหรืออื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับมังสวิรัติบ้าง
2. ดาชิ (น้ำซุปปลา) และปลาโอแห้งฝอย เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารญี่ปุ่นหลายอย่าง แต่จะไม่ระบุไว้ในเมนู ทำให้เราไม่รู้เลยว่าอาหารที่สั่งมีสองอย่างนี้เป็นส่วนประกอบหรือเปล่า ถ้าเพื่อน ๆ พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ควรเตรียมค้นศัพท์และประโยคไว้ใช้สื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจว่าเรากินอะไรไม่ได้บ้าง (ดูได้ด้านล่าง)
3. อย่าลืมบอกพนักงานให้ชัดเจนว่า “ไม่เอาปลา” เพราะที่ญี่ปุ่นหลายคนมักเข้าใจว่ามังสวิรัติทานปลาได้ และสำหรับคนกินเจหรือวีแกนอย่าลืมบอกว่าไม่เอาไข่ด้วยนะโดยเฉพาะเวลาที่สั่งราเมง แต่ขอให้จำไว้อย่างว่าส่วนใหญ่ร้านอาหารที่ญี่ปุ่นเค้าจะไม่ค่อยยอมหยวน ๆ ให้เหมือนของไทย เช่นถ้าเราขอให้เอาเบคอนออกที่อยู่ในโอโคโนมิยากิออก เค้าจะไม่ค่อยยอมเอาออกให้เพราะมันเป็นวัตถุดิบที่กำหนดเอาไว้แล้วว่าต้องมีในเมนูนั้น ถ้าเจอแบบนี้ให้เลี่ยงสั่งเมนูอื่นแทนจะดีกว่า
4. ร้านซูชิอาจจะดูเป็นร้านต้องห้ามสำหรับคนเป็นมังสวิรัติและวีแกน แต่จริง ๆ แล้วร้านซูชินี่แหละคือทางรอดของเรา เพราะถึงจะมีเมนูปลามากมาย แต่ก็มีเมนูไร้เนื้อสัตว์อย่างอินาริ (เต้าหู้ทอดห่อข้าว), ซูชิแตงกวา, ซูชินัตโตะ, ซูชิมะเขือม่วง และอื่น ๆ ให้เลือกสั่งด้วย
5. ร้านกินดื่มสไตล์อิซากายะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีเมนูมังสวิรัติและวีแกนเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วแระ, เต้าหู้, เมนูข้าวบางอย่าง รวมถึงสลัด (แต่อาจจะต้องระวังเรื่องซอสนิดนึง)
6. ญี่ปุ่นดินแดนแห่งเต้าหู้กลายเป็นข้อดีสำหรับคนกินเจและวีแกน เพราะหาซื้อนมถั่วเหลืองได้ง่ายยิ่งกว่านมวัว หิวเมื่อไหร่ก็แวะร้านสะดวกซื้อได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงเลย
7. ก่อนออกเดินทางลองเช็คเว็บไซต์ Happy Cow (หรือโหลดแอพ) เพื่อวางแผนเลือกร้านอาหารมังสวิรัติไว้ล่วงหน้า และสำหรับเพื่อน ๆ นักดื่มก็สามารถเช็คเครื่องดื่มแอลกอฮอลมังสวิรัติได้ที่ barnivore
8. ของกินแบบ On-the-go ค่อนข้างหายากและผลไม้ที่ญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่ แนะนำว่าให้แวะเข้าไปตุนของกินจำพวกผลไม้, ขนมปัง และเนยถั่วในซุปเปอร์มาร์เก็ต พอเสบียงพร้อมแล้วก็ออกเที่ยวได้เลย!
ก่อนจบเรามีประโยคเอาตัวรอดมาฝากด้วย แล้วเดี๋ยวคราวหน้าจะมาแนะนำร้านอาหารมังสวิรัติที่ญี่ปุ่น รอติดตามกันด้วยล่ะ
ประโยคเอาตัวรอด รู้ไว้ไม่อดตายแน่นอน!
ฉันเป็นมังสวิรัติ | “วาตาชิ วะ เบจิทาริอัน เดส” (คำว่าวีแกน ビーガン / ヴィーガン ยังไม่ค่อยแพร่หลายที่ญี่ปุ่น)
わたしはベジテリアンです。
ฉันไม่กินไข่และชีส | “ทามาโกะ โต๊ะ ชีสุ งะ ทาเบราเรมาเซง”
卵とチーズが食べられません。
อาหารนี้มีเนื้อหรือเปล่า? | “โคโนะ เรียวริ วะ นิคุ งะ ไฮเตะ อิมัสก๊ะ?”
この料理は肉が入っていますか?
ฉันไม่กินเนื้อ (วัว,หมู,ไก่) และเนื้อปลา | “นิคุ โต๊ะ ซากานะ วะ ทาเบราเรมาเซง”
肉と魚は食べられません。
ฉันไม่กินดาชิและปลาโอแห้งฝอย | “ดาชิ โต๊ะ คัทสึโอบุชิ วะ ทาเบราเรมาเซง”
出汁と鰹節は食べられません。
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org