ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้จัก “เขาพระสุเมรุ” คำนี้ถือเป็นคำยากและเฉพาะทางมากในภาษาญี่ปุ่น เขียนด้วยตัวอักษรคันจิจะได้ว่า須弥山 อ่านว่า “ชุมิเซ็ง (Shumi-sen) คนที่อ่านคำนี้ออกมีไม่มากนัก แต่ถึงแม้ไม่รู้ก็ไม่ได้หมายความว่าคติไม่ปรากฏในญี่ปุ่น อันที่จริงเรื่องนี้แพร่หลายทั่วไปเพราะมาจากศาสนาพุทธ (และฮินดู) คนญี่ปุ่นซึ่งนับถือศาสนาพุทธและชินโต จึงรับคตินี้ของฝ่ายมหายานเข้ามาด้วย
ตามวัดต่างๆ ในญี่ปุ่น นอกจากพระพุทธรูปแล้ว มักมีประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเขาพระสุเมรุปรากฏอยู่ เพียงแต่ว่าความใกล้ชิดต่อศาสนาและการศึกษาเรื่องนี้ในระบบโรงเรียนของญี่ปุ่นมีไม่มากนัก คนทั่วไปจึงรู้จักศาสนาพุทธในเชิงพิธีกรรมมากกว่าด้านคติความเชื่อที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะในพิธีศพ ซึ่งคนญี่ปุ่นจัดพิธีแบบพุทธโดยการเผาศพ ส่วนในแง่อื่นที่เกี่ยวกับวัด หากคนญี่ปุ่นไปวัดและพบสิ่งใดอันมีที่มาจากคติเรื่องเขาพระสุเมรุ ส่วนใหญ่จึงได้แต่ดู ทว่ามองไม่เห็นอย่างลึกซึ้ง
คติทางพุทธศาสนาทั้งของเถรวาทและมหายานเชื่อว่าเขาพระสุเมรุเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล ในคัมภีร์ของแต่ละฝ่ายต่างก็กล่าวถึงเขาพระสุเมรุไว้ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปบ้าง ของมหายานในญี่ปุ่นซึ่งรับมาจากจีนผ่านทางคาบสมุทรเกาหลีนั้นกล่าวถึงเขาพระสุเมรุไว้ว่า
“พระพุทธเจ้าประทับอยู่หนใด? กล่าวกันว่าพระองค์ประทับอยู่ในห้วงอากาศเหนือเขาพระสุเมรุ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เขาพระสุเมรุอยู่ ณ แห่งใด? อรรถาธิบายเรื่องนี้เขียนอยู่ในพรหมชาลสูตรว่าด้วยปัทมครรภโลกธาตุ”
เมื่อขยายความตามพระสูตรจะได้ว่า เหนือยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไปคือแดนพุทธะ ส่วนพรหมชาลสูตร ซึ่งเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “บมโม-เกียว” (梵網経; Bonmō-kyō) คือ คัมภีร์ของมหายาน ชื่อพ้องกับของเถรวาท แต่เป็นคนละคัมภีร์และมีเนื้อหาแตกต่างกัน ในพระสูตรนี้มีเรื่องที่เล่าถึงปัทมครรภโลกธาตุ (蓮華蔵世界; Rengezōsekai)หมายถึง องค์ประกอบของโลกอันบรรจุในดอกบัว คำว่า “ปัทม-” หรือ “ปัทม์” หมายถึง ดอกบัวพันธุ์หนึ่ง หรือ “เร็งเงะ” (蓮華;renge) ในภาษาญี่ปุ่น
อรรถาธิบายส่วนนี้กล่าวไว้ว่า ในทะเลอันไพศาลมีดอกบัวขนาดใหญ่ดอกหนึ่งบานอยู่ ในดอกบัวนั้นเล่าก็มีทะเลอีก และในทะเลนั้นมีดอกบัวขนาดเล็กจำนวนเหลือคณานับ ในดอกบัวบานแต่ละดอกก็มีทะเลอีก และ ณ ใจกลางทะเลเหล่านี้คือที่ตั้งของเขาพระสุเมรุ ครั้นมองจากรอบนอกของดอกบัวขนาดเล็กทั้งหลาย จะเห็นเกาะขนาดใหญ่อันเป็นจตุทวีปแห่งพระสุเมรุตั้งอยู่สี่ทิศ โดยมีภูเขาโลหะล้อมรอบทะเล
เกาะทางทิศตะวันออก ได้แก่ “โทโชชิง-ชู” เกาะทางทิศตะวันตก ได้แก่ “ไซโงะเกะ-ชู” เกาะทางทิศเหนือ ได้แก่ “ฮกกุรุ-ชู” และเกาะทางทิศใต้ ได้แก่ “นันเซ็มบุ-ชู” รอบ ๆ เกาะแต่ละเกาะก็มีเกาะเล็ก ๆ อีกห้าร้อยเกาะ พวกเราทั้งหลายอันได้แก่มนุษย์และสัตว์ อยู่ที่เกาะใต้ซึ่งมีชื่อว่านันเซ็มบุ-ชู
กึ่งกลางจตุทวีปแห่งพระสุเมรุมีภูเขาทองเจ็ดชั้น ระหว่างภูเขาแต่ละชั้นอวลไปด้วยกลิ่นหอม ที่ใจกลางภูเขาทองมีเกาะใหญ่หนึ่งเกาะ นั่นคือเขาพระสุเมรุ เหนือขึ้นไปกลางหาว ตรงนั้นมีเหล่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ และเพื่อมิให้ปีศาจร้ายทั้งหลายปีนขึ้นไปตรงนั้นได้ จึงมี (เทพ) ธรรมบาลและอมนุษย์ปกปักรักษาอยู่ตลอดตั้งแต่ฐานของเขาพระสุเมรุขึ้นไปจนถึงยอด
แรกสุดคือพญานาคสองตัวขดพันกันอยู่ที่ฐาน จากตรงนั้นขึ้นไปถึงยอดมีหอห้าชั้น ตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นสามมียักษ์รักษา ชั้นสี่มีท้าวจตุโลกบาล และชั้นบนสุดคือสวรรค์ชั้นโทริเต็งอันมีเทพสามสิบสามพระองค์ประทับ รวมทั้งเทพบนเต็งและเทพไทชะกุ คอยรักษาพุทธสีมาอย่างเคร่งครัด เช่น ยักษ์จะคอยขับไล่ปีศาจร้ายที่พยายามปีนป่ายขึ้นไปจากเชิงเขาโดยทำหน้าตาน่ากลัวใส่ และท้าวจตุโลกบาลจะคุ้มกันประจำทิศทั้งสี่
จากคติมหายานของญี่ปุ่น เมื่อเทียบชื่อเป็นภาษาไทยจะได้ว่า คำว่า “เกาะ” นั้นหมายถึง “ทวีป” ดังที่คนไทยคุ้นเคยกันอยู่โดยแปลงเป็นทวีปต่างๆ ในภาษาไทยได้ดังนี้
ตะวันออก - ปุพพวิเทหทวีป- โทโชชิง-ชู (東勝身洲; Tōshōshin-shū)
ตะวันตก - อมรโคยานทวีป- ไซโงะเกะ-ชู (西牛貨洲; Saigoke--shū)
เหนือ - อุตรกุรุทวีป- ฮกกุรุ-ชู (北倶盧洲; Hokkuru-shū)
ใต้ - ชมพูทวีป- นันเซ็มบุ-ชู (南贍部洲; Nansenbu-shū) อันเป็นที่อยู่ของมนุษย์
และสัตว์โลก
นอกจากนี้ก็ปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับเทพที่เราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อย ๆ ด้วย กล่าวคือ ในสวรรค์ชั้นโทริเต็ง (忉利天; Tōri-ten) หรือดาวดึงส์ ซึ่งถือว่าเป็นรอยต่อกับโลกมนุษย์และอยู่ที่ยอดเขาพระสุเมรุนั้น มีเทพปกปักรักษาอยู่ องค์ที่รู้จักกันกว้างขวางหน่อย ได้แก่ บนเต็ง (梵天; Bon-ten) หรือ “พระพรหม” กับไทชะกุเต็ง (帝釈天; Taishaku-ten) หรือท้าวสักกะ หรือพระอินทร์นั่นเอง
ถัดจากยอดหรือสวรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาคือที่ประทับของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เรียกว่า “ชิเต็นโน” (四天王; Shitennō) ซึ่งก็คือสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิไดโอชุเต็ง” (四大王衆天; Shidaiōshu-ten) อันหมายถึงวิมานอันเป็นที่สถิตของมหาเทพทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้ดูแลแต่ละทิศดังนี้
ตามคติของไทยเชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ เมื่อสวรรคตจึงมีการสร้างพระเมรุมาศในฐานะเขาพระสุเมรุจำลองเพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยมีประติมากรรมที่สร้างตามความเชื่อเกี่ยวกับทวยเทพและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ สำหรับสำหรับญี่ปุ่นนั้น แม้ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธอยู่ไม่น้อย แต่แนวคิดเรื่องเขาพระสุเมรุกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมิได้เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดดังของไทย แต่ลักษณะที่ถือว่าเทียบเคียงกันได้อย่างหนึ่งในเชิงพุทธคือ ตามความรู้สึกของคนญี่ปุ่น เมื่อวิญญาณออกจากร่างแล้ว ที่สิงสถิตของวิญญาณมักจะเป็นภูเขา และเมื่อถึงฤดูกาลกราบไหว้บรรพบุรุษประมาณเดือนสิงหาคม วิญญาณก็จะลงจากเขามาหาลูกหลาน
คติเรื่องเขาพระสุเมรุกับเทพผู้รักษาพบเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมตามวัดของญี่ปุ่น ประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลอันเลื่องชื่ออยู่ที่วัดโทไดจิในจังหวัดนะระ เป็นรูปปั้นดินเหนียวทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.1298 ความสูงประมาณ 160 เซนติเมตรเศษทุกองค์ สิ่งที่ได้รับการชื่นชมมากคือพระเนตรของเทพทั้งสี่ซึ่งทำจากหินออบซิเดียนที่ได้มาจากการะเบิดของภูเขาไฟ ว่ากันว่าแววพระเนตรทรงพลังดุจมีมนต์ขลังสมกับเป็นเทพที่ปกปักรักษาเขาพระสุเมรุและคอยดูแลความเรียบร้อยในสี่ทิศ
นอกจากประติมากรรมที่จำลององค์เทพขึ้นโดยตรงแล้ว คตินี้ก็ปรากฏในเชิงสุนทรียภาพของการจัดสวนด้วย หากใครมีโอกาสได้ชมสวนญี่ปุ่นซึ่งมักใช้หินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ลองสังเกตให้ดีๆ ถ้าสวนไหนมีหินตั้งโดดเดี่ยวเป็นจุดเด่นและจัดส่วนประกอบถัดจากหินก้อนนั้นออกมาเป็นชั้นๆ ย่อมอนุมานได้ว่านั่นคือการจัดโดยอิงเขาพระสุเมรุ ด้วยการใช้หินเป็นสัญลักษณ์แทนแกนจักรวาลอันหมายถึง “ชุมิเซ็ง” ซึ่งคนญี่ปุ่นเองก็มักดูสวนและเห็นแค่ความสวยงามกับความเรียบง่าย แต่ไม่รู้ถึงคติเบื้องหลังของภูมิทัศน์ที่ปรากฏ
ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธกับชินโต แต่ในทางปฏิบัติเอนเอียงไปทางชินโตมากกว่า รวมถึงสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นด้วย เรื่องเขาพระสุเมรุจึงเป็นสิ่งที่เกินความรับรู้ปกติของคนญี่ปุ่น และด้วยเหตุนี้ ก่อนจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเจ้าชายอะกิชิโนะแห่งญี่ปุ่นและพระชายาจะเสด็จเข้าร่วมพิธี เมื่อสบโอกาสผมจึงได้เลือกเรื่องนี้ไปถ่ายทอดให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นผู้ตามเสด็จและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบล่วงหน้าโดยสังเขปว่าเหตุใดพระเมรุมาศจึงสร้างเช่นนี้และมีคติอันใดแฝงอยู่บ้าง
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com