xs
xsm
sm
md
lg

วันนี้เมื่อญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ช่วงนี้ที่เมืองไทยอากาศไม่ค่อยดีอาจทำให้ไม่สบายง่าย ดูแลสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างด้วยนะคะ

เมื่อนานมานี้ฉันไปเกียวโตมาค่ะ พูดถึงเกียวโตแล้วก็นึกได้ว่าเมื่อปีก่อนระหว่างที่ฉันกำลังรับประทานอาหารเช้าในโรงแรมที่พักในกรุงโตเกียว ก็มีสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นรุ่นพ่อแม่คู่หนึ่งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ หันมาทักทาย คุยกันก็ทราบว่าเขามาจากเกียวโต ฉันถามว่าเกียวโตเป็นอย่างไรบ้าง ฉันไม่ได้ไปหลายปีแล้ว เขาทำหน้าละเหี่ยตอบว่า “มีแต่คนต่างชาติเต็มเลย”

เดี๋ยวนี้ถ้าไปญี่ปุ่นจะเห็นได้เลยว่า(คง)ไม่มีที่ไหนที่รอดพ้นคนต่างชาติไปได้อีกแล้ว ขนาดฉันไปต่างจังหวัดในแถบที่ไม่ใช่ถิ่นท่องเที่ยวก็ยังเห็นคนต่างชาติทุกหนแห่ง ขึ้นรถไฟก็ได้ยินแต่ภาษาหลากหลาย เจอแต่ป้ายบอกทางที่มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาเกาหลี ไปร้านอาหารก็เจอเมนูอาหารที่มีหลายภาษาอยู่ในเล่มเดียว นับเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีตเมื่อไม่นานมานี้เอง

เดิมทีญี่ปุ่นมีความเข้มข้นของวัฒนธรรมในวิถีชีวิตอยู่มาก ทั้งชีวิตเจอแต่คนญี่ปุ่นด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ ทีถึงจะเจอคนต่างชาติสักครั้ง ไม่ต้องทำอะไรที่ต่างจากเดิมเพื่อรองรับคนชาติอื่น เช่น แผนที่รถไฟก็มีแต่ภาษาญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรที่ตนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้  ปัจจุบันนี้ราวกับว่าญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่รวมผู้คนหลากเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษาเข้าไว้ด้วยกันแทนที่เคยเป็นประเทศที่ครองโดยคนเพียงเผ่าพันธุ์เดียว ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วราวกับพายุพัดผ่านเช่นนี้กลบภาพลักษณ์เดิม ๆ ของญี่ปุ่นไปเสียสิ้นภายในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี

ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นเองก็รู้ตัวดีว่าไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัฒน์ได้และหาทางรับมือเพื่อให้อยู่กับกระแสโลกได้ บัดนี้อาจเรียกได้ว่าญี่ปุ่นถูกกลืนเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์แล้วโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จะพบว่าภายในรถไฟของญี่ปุ่นมักมีโฆษณาโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษอยู่เสมอ คนวัยทำงานพยายามศึกษาภาษาอังกฤษกันมากขึ้นผ่านทางหนังสือและซีดีที่วางขายกันราวกับดอกเห็ด เรียนในโรงเรียนภาษาเพิ่มเติม หรือจ้างคนต่างชาติมาสอนส่วนตัว เพราะแน่นอนว่าความรู้ภาษาอังกฤษทำให้ได้เปรียบกว่า สร้างโอกาส และส่งเสริมศักยภาพในงานที่ทำอยู่ให้มากขึ้นโดยเฉพาะในยุคนี้ที่บรรษัทข้ามชาติครองโลก ห่วงโซ่การผลิตกระจายไปทั่วโลก การเดินทางหรือย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ การส่งข้อมูลข้ามทวีปเป็นไปอย่างฉับไวภายในคลิกเดียวด้วยอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดจำต้องอาศัยภาษาอังกฤษเป็นอย่างน้อย แถมการรู้ภาษาต่างชาติก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ถึงค่านิยม วิธีคิด และวิธีใช้ชีวิตในแบบที่ต่างไปจากความรับรู้เดิมที่ถูกปิดกั้นไว้ด้วยขอบเขตของภาษาและวัฒนธรรม

สังเกตว่าคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีความสนใจในต่างประเทศจะเป็นฝ่ายไขว่คว้าหาความรู้ทางภาษานั้น ๆ เอง หรือไม่ก็สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการเดินเข้าหากลุ่มที่มีคนต่างชาติมาทำกิจกรรมร่วมกัน คนแบบนี้เท่าที่เคยพบจะมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ มีทัศนคติที่เปิดกว้าง มีความคิดเสรีกว่า และนิสัยไม่ค่อยเหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไปนัก บางคนก็มีความไม่พอใจสังคมญี่ปุ่นอยู่ด้วยเป็นบางส่วน

เคยมีคนไทยหยอกล้อคนญี่ปุ่น(ด้วยความรัก)ที่พูดไทยได้และรู้จักเมืองไทยดีว่าเป็นมนุษย์แปลก ไม่เหมือนคนญี่ปุ่นคนอื่น ซึ่งก็น่าจะแปลกจริงเพราะคนญี่ปุ่นหลายคนที่ฉันรู้จักซึ่งพูดไทยได้และรู้จักเมืองไทยดี ชอบรับประทานทุเรียนกันอย่างมาก (?) ในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ยอมแม้แต่จะลิ้มลองเพียงเพราะได้ยินกิตติศัพท์ของกลิ่นอันชวนขยาด เพื่อนสนิทฉันก็เป็นหนึ่งในคนที่กลัวทุเรียนโดยที่ยังไม่ได้ลอง ฉันเลยส่งทุเรียนทอดซึ่งไม่มีกลิ่นเหมือนทุเรียนสดไปให้ ปรากฏว่าในบรรดาอาหารแห้งและขนมของไทยที่ส่งไปให้นั้นไม่มีอันไหนติดใจกันทั้งบ้านเหมือนทุเรียนทอดเลย หวังว่าภาพลักษณ์ของทุเรียนบ้านเราจะดีขึ้นบ้างในสายตาคนญี่ปุ่น (ฮา)

อ้าว ออกอ่าวไปเสียแล้ว ขอกลับเข้าเรื่องนะคะ กลับมองดูวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นหลังการหลั่งไหลเข้ามาของคนต่างชาติกันต่อ อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่าเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาฉันไปเที่ยวเกียวโตมา อากาศร้อนมากเสียจนน่าตกใจ มารู้ภายหลังว่าเกียวโตขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความร้อนของฤดูร้อนดีนักเชียวก็เลยต้องรับชะตากรรม ได้แต่ทาครีมกันแดด, กางร่มเอาสถานเดียว

สถานีเกียวโตเปลี่ยนไปมากจนจำไม่ได้ เดี๋ยวนี้กว้างขวางใหญ่โตมีอาคารเชื่อมต่อกันทั่วสารทิศจนดูสับสนหาทางไปต่อไม่ถูก และแน่นอนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็มากมายเหลือคณา เพราะแต่เดิมเกียวโตก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต่างชาตินิยมอยู่แล้วด้วย

ตามถนนหนทางโดยเฉพาะจุดที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว จะพบเห็นร้านให้เช่าชุดยุคาตะเต็มไปหมด เขียนป้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า “Kimono Rental” รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันอย่างเอิกเกริก เดิมทีการสวมชุดยุคาตะหรือกิโมโนเดินชมเกียวโตก็มีอยู่บ้าง แต่ร้านใหม่ ๆ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ใกล้ ๆ สถานที่ท่องเที่ยวดัง ๆ เป็นการเฉพาะแบบนี้เพิ่งจะเคยเห็น

แต่สิ่งที่ดีของญี่ปุ่นคือแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะขึ้นมาก เขาก็ไม่ได้ถึงกับปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์หรือดัดแปลงทัศนียภาพของเมืองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนต่างชาติโดยเฉพาะ หรือยอมสลัดความเป็นญี่ปุ่นของเขาทิ้งเพื่อเอาใจต่างชาติ ไม่ได้เปลี่ยนจากอาหารญี่ปุ่นมาขายอาหารฝรั่งหรืออาหารจีนแทนเพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว ร้านขายอาหารญี่ปุ่นก็ยังขายอาหารญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าเพิ่มเมนูอาหารชาติอื่น ๆ เข้ามาปะปนจนดูอีเหละเขะขละ อย่างมากก็มีเมนูอาหารเป็นภาษาอังกฤษ มีป้ายติดหน้าร้านเป็นภาษาอังกฤษ มีร้านให้เช่าชุดยุคาตะหลายร้านมากกว่าเมื่อก่อน เรียกได้ว่าเขาก็ยังค่อนข้างที่จะรักษาวิถีชีวิตแบบเดิมไว้เพียงแต่เอื้อเฟื้อให้คนต่างชาติสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

การเดินทางในเกียวโตหลายแห่งรวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวดัง ๆ ต้องอาศัยรถเมล์ จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากแห่กันมาอออยู่ตามป้ายรถเมล์เพื่อรอรถ ทั้งกีดขวางทางเดินและยืนกันไม่เป็นที่เป็นทางจนไม่รู้ว่าหัวแถวหางแถวอยู่ตรงไหน พอรถเมล์มาคันหนึ่งก็แย่งกันขึ้น และขึ้นได้ไม่หมดก็ต้องรอคันอื่น ๆ ต่อไปอีก ดูโกลาหลและน่าเห็นใจคนในพื้นที่หากเขาจะไม่พอใจ เพราะปกติเขาจะเข้าแถวกันขึ้นรถเมล์ และคนชราที่ใช้รถเมล์ในการเดินทางก็เยอะ ตอนนี้มีข่าวว่าเกียวโตจะเก็บภาษีโรงแรมให้มากขึ้นเพื่อหวังลดจำนวนนักท่องเที่ยว ก็น่าจะแสดงว่านักท่องเที่ยวเยอะมากเกินไปจริง ๆ

ตอนไปเช็คอินที่โรงแรมในเกียวโต พนักงานต้อนรับอธิบายยาวเหยียดเกี่ยวกับบริการของโรงแรมซึ่งรวมอยู่ในค่าห้องแล้ว เธอบอกเราว่าห้องอาบน้ำและบ่อแช่น้ำร้อนรวมอยู่ชั้นบน ก่อนจะทำหน้าแหยเสมือนจะขอโทษขอโพยและบอกว่าตอนนี้มีกลุ่มชาวอังกฤษกลุ่มใหญ่มาด้วย ก็ไม่แน่ใจว่าเขาทำหน้าแบบนั้นเพราะเกรงว่าการมีแขกต่างชาติกลุ่มใหญ่มาพักอาจทำให้แขกญี่ปุ่นบางคนไม่ชอบใจ หรืออาจเพราะชาวต่างชาติบางคนไม่ทราบธรรมเนียมและมารยาทในการแช่น้ำร้อน หรือว่าเพราะว่าแขกกลุ่มใหญ่อาจทำให้แขกคนอื่น ๆ ไม่สะดวกก็ไม่ทราบ แต่เวลาไปพักโรงแรมที่มีแขกกลุ่มใหญ่ชาวญี่ปุ่นด้วยกันมาพักก็ไม่เคยเห็นพนักงานจะบอกอะไรหรือทำหน้าแหยเหมือนรู้สึกผิดแบบนั้นเลย

เดี๋ยวนี้พนักงานโรงแรมดูเหมือนจะพูดภาษาอังกฤษกันได้เป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว เคยได้ยินพนักงานโรงแรมคนหนึ่งพูดทางโทรศัพท์กับลูกค้าต่างชาติ ดูเหมือนลูกค้าจะพยายามพูดภาษาญี่ปุ่นแล้วคงสื่อสารกันอย่างไรไม่ถูก จนพนักงานถึงกับบอกเป็นภาษาอังกฤษว่า “คุณพูดภาษาอังกฤษก็ได้ ผมพูดเป็น” ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่อย่างไรคนเป็นลูกค้าก็ต้องพยายามพูดภาษาญี่ปุ่นจนพนักงานโรงแรมเข้าใจ เพราะหาคนพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก

แต่เวลาคนญี่ปุ่นที่ทำงานบริการพูดภาษาอังกฤษนี่ หลาย ๆ ครั้งจะเห็นอาการ “หลุด” อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นวันหนึ่งฉันไปต่อคิวซื้อขนมอยู่ เห็นพนักงานสาวขายของด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดด้วยอาการดัดเสียงให้ฟังดูไพเราะ มีรูปแบบของประโยคที่ใช้สื่อสารซ้ำ ๆ กันไม่กี่ประโยค เช่น “รับอะไรดีคะ” “รสXXสองชิ้นนะคะ” “เอาเท่านี้นะคะ” “ไม่ทราบว่าใช้เวลาเท่าไหร่กว่าจะถึงบ้านคะ” (ถ้าถามอย่างนี้แสดงว่าเป็นขนมที่ต้องแช่เย็น ถ้านานเกินชั่วโมงเขาจะให้น้ำแข็งแห้งมาด้วย) “ทั้งหมด XX เยนค่ะ” “เงินทอน XX เยน ช่วยนับดูด้วยนะคะ” “ขอบคุณมากค่ะ”

ทุกอย่างดูคงเส้นคงวาตามปกติของงานบริการของญี่ปุ่นในยามพูดกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นทั่วไป ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ จนกระทั่งพอมาถึงลูกค้าชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษ พนักงานจึงเริ่ม “หลุด” จากโหมดหุ่นยนต์สาวน้อยแสนหวานและพูดจาไพเราะเพราะพริ้งแบบเดิมที่วนไปมาซ้ำ ๆ สีหน้าเธอดูจริงจังขึ้นโดยพลัน เพราะคราวนี้เธอต้องเปลี่ยนมาเน้นที่การสื่อสารให้เข้าใจมากกว่าการให้บริการลูกค้าอย่างอบอุ่น ความไพเราะและสุภาพที่มาพร้อมภาษาญี่ปุ่นจึงมลายหายไป ถูกแทนที่ด้วยภาษาอังกฤษห้วน ๆ และเสียงมนุษย์ปกติแทน เช่น “นี่? ห้า(ชิ้น)?” “นี่? สอง(ชิ้น)?” “XXเยน”  “แต๊งกิ้ว”

เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงคำพูดที่ญี่ปุ่นใช้โฆษณาระหว่างการเลือกเฟ้นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 ซึ่งเน้นว่าญี่ปุ่นมี “โอะโมะเทะนาฉิ” (การให้บริการอย่างอบอุ่น) ฉันว่าเอาเข้าจริงมันก็อาจเลือนหายไปบางส่วนได้เหมือนกันเพราะบริการอย่างอบอุ่นของญี่ปุ่นและมีความเป็นญี่ปุ่นแท้ ๆ หลายอย่างต้องอาศัยภาษาญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งไม่สามารถอิงภาษาอื่นมาใช้แทนได้ง่ายนัก จะด้วยว่าวัฒนธรรมอื่นไม่มีระบบความคิดแบบเดียวกันจึงไม่มีคำที่สื่อสารได้ตรงกันก็อาจมีส่วน หรือต่อให้มีคำขอบคุณในภาษาอื่น ๆ ทั่วโลกก็ตาม จะให้คนญี่ปุ่นโค้งอย่างนอบน้อมและพูดว่า “แต๊งกิ้ว” ก็ดูกระไรอยู่ มันเหมือนอะไรสักอย่างหล่นหายไประหว่างทาง

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็มีความสามัคคีกันในการยอมรับ เตรียมพร้อม และรองรับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกโดยเฉพาะการหลั่งไหลของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว ได้แต่หวังว่าญี่ปุ่นจะไม่สูญเสียความเป็นตัวเองไปตามกาลเวลา และยืนหยัดรักษาความเป็นญี่ปุ่นไว้ได้นาน ๆ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า อย่าลืมดูแลสุขภาพกันนะคะ สวัสดีค่ะ.


"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น