xs
xsm
sm
md
lg

“ศึก 3 ก๊ก” ชิงชัยเลือกตั้งญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเลือกตั้งญี่ปุ่นในวันที่ 22 ตุลาคมจะเป็นการชิงชัยระหว่างขั้วพรรคการเมือง 3 ขั้ว โดยมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งมากกว่า 1,000 คน และเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดและเต็มไปด้วยกลเกมทางการเมืองที่สุดครั้งหนึ่ง

การรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นได้จับขั้วกันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ พรรคที่จับขั้วกันนี้จะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทับซ้อนกันในเขตเดียวกัน เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงกลายเป็น “เบี้ยหัวแตก” ซึ่งหมายความว่า การชิงชัยในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างผู้สมัครจาก 3ขั้วพรรคการเมือง ได้แก่

ขั้วแรกคือ คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP แกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นกับพรรคโคเมโตซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นำทัพโดยนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรี

ขั้วที่ 2 คือ พรรคความหวัง ซึ่งก่อตั้งโดยนางยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการหญิงแห่งกรุงโตเกียว ที่แตกหักกับพรรค LDP ออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวในฐานะอิสระ และชนะเลือกตั้งพร้อมทั้งยังนำพาสมาชิกพรรคเข้ายึดที่นั่งในสภาท้องถิ่นกรุงโตเกียวมากกว่าครึ่งหนึ่ง

พรรคความหวังยังได้ฐานสนับสนุนจากพรรคประชาธิปไตย แกนนำฝ่ายค้านของญี่ปุ่น ที่ประกาศ “สลายพรรค” ให้ สส.ทั้งหมดลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคความหวัง ส่งให้นางโคะอิเกะกลายเป็นคู่แข่งตัวต่อตัวกับนายอะเบะ
พรรคความหวัง ได้จับมือกับพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานสนับสนุนหลักที่นครโอซากา ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเมืองท่าอันดับ 2 ของญี่ปุ่น

และขั้วที่ 3 ประกอบด้วยพรรคฝ่ายค้านเดิม คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น, พรรคสังคมประชาธิปไตย และสมาชิกจำนวนหนึ่งของพรรคประชาธิปไตย ที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างจนไม่สามารถร่วมงานกับพรรคของนางโคอิเกะได้ และได้จัดตั้งพรรคใหม่ใช้ชื่อว่า พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งในญี่ปุนแบ่งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 289 คน และแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อจำนวน 176 คน โดยคาดว่าจะมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 1,000 คน

ประเด็นหลักในการเลือกตั้ง: แก้รัฐธรรมนูญ, ปรับสถานะกองทัพ, ขึ้นภาษี

นายชินโซ อะเบะ แกนนำพรรคLDP ประกาศชัดเจนว่า ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการขอฉันทามติเพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองสถานะของกองกำลังป้องกันตนเอง นอกจากนี้พรรค LDP ยังจะเดินหน้าขึ้นภาษีผู้บริโภคจากปัจจุบันร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือนตุลาคม 2019 เพื่อลดภาระของรัฐบาลที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 2 เท่าตัวของ GDP ของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม พรรคโคเมโตที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่รณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทางพรรคเชื่อว่ายังไม่มีการอภิปรายเรื่องนี้อย่างเพียงพอในรัฐสภา

ทางด้านขั้วพรรคความหวังที่เป็นพรรคการเมืองใหม่ของนางยุริโกะ โคะอิเกะ และพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น ที่เป็นคู่แข่งหลักของรัฐบาล แต่กลับมีจุดยืนที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ระบุว่าจะให้ความสำคัญเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น ในการแก้ไขมาตรา 9 ที่ละสิทธิ์ในการทำสงครามและห้ามญี่ปุ่นมีกำลังเพื่อการสู้รบ

ส่วนขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นคัดค้านการแก้ไขมาตรา 9 อย่างชัดเจน ส่วนพรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ทางพรรคต้องการให้รัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คัดค้านการกล่าวถึงสถานะของกองกำลังป้องกันตนเองในรัฐธรรมนูญ

พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันครองจำนวนที่นั่ง 2 ใน 3 ในวุฒิสภาซึ่งเพียงพอที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะถือเป็นการ “จุดชนวน” ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นหรือไม่?

สำหรับประชาชนญี่ปุ่นแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยยะสำคัญทั้งในแง่ความมั่นคงของประเทศ และปากท้องของชาวบ้าน แต่จุดยืนของพรรคการเมืองส่วนใหญ่กลับ “เลือนลาง” อย่างยิ่ง นักการเมืองทุกพรรคต่างรู้ว่า ญี่ปุ่นมี “กองทัพ” เพียงแต่ใช้ชื่อว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” และรู้ว่าหากไม่ขึ้นภาษีจะยากที่จะหารายได้มาโอบอุ้มระบบสวัสดิการสังคม แต่ทุกพรรคกลับ “ตีฝีปาก” โดยไม่มีความชัดเจนว่าจะทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งได้อย่างไร....ความไม่ชัดเจนเช่นนี้เป็นลักษณะหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น แต่ก็ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้เลยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น