รายงานเกี่ยวกับการทำงานหนักจนตายของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบว่า งานด้านการขนส่งและไปรษณีย์มีอัตราผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและเทศกาล ที่ต้องทำงานต่อเนื่องจนร่างกายเกินจะรับไหว
“ทำงานหนักจนตาย” หรือ “คะโรชิ” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับวิถีการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่ถูกยกย่องว่ามีความทุ่มเทอย่างยิ่ง ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกกฎต่างๆ เพื่อหยุดยั้งปัญหานี้ แต่ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตหรือฆ่าตัวตายจากการทำงานจำนวนนับร้อยคนต่อปี
รายงานของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในปี 2017 ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2016 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ปี 2017 มีผู้เสียชีวิตและฆ่าตัวตายอันมีสาเหตุมาจากการทำงานทั้งสิ้น 191 ราย จำนวนนี้เป็นเพียงตัวเลขที่ได้รับการรับรองจากการตรวจสอบตามมาตรฐานแรงงาน ซึ่งหมายความว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตนี้จะเรียกร้องค่าชดเชยจากทางบริษัทต้นสังกัดได้
จำนวนผู้เสียชีวิตเพราะทำงานหนักในปีนี้เพิ่มขึ้น 2รายจากปีก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมขนส่งและไปรษณีย์มีผู้ที่ตายเพราะทำงาหนักมากที่สุดถึง 41 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ21.5 ส่วนในอุตสาหกรรมการผลิตมีผู้เสียชีวิต 35 คน และอุตสาหกรรมก่อสร้างมีผู้เสียชีวิต 23 คน โดยผู้ที่ตายเพราะทำงานหนักนี้ทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ผลการสำรวจจากคนขับรถเมล์, รถบรรทุกและแท็กซี่ จำนวน 40,000 คน พบว่า พวกเขาต้องทำงานต่อเนื่องตลอดวันตลอดคืนในช่วงวันหยุดเทศกาล โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม ที่ต้องขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจำนวนมาก เนื่องจาก “คนทำงานไม่พอ”
ในรายงานที่หนาถึง 380 หน้า ระบุว่า การตายเพราะการทำงานไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ยังรวมถึงพนักงานที่ถูกกดันอย่างมากจนเครียดและต้องฆ่าตัวตาย “คะโรชิ” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่ใช้แรงงาน แต่ยังรวมทั้งคนหนุ่มสาวที่ทำงานในบริษัทชื่อดังทั้ง “เด็นสุ”บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ และผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ NHK
ตัวแทนจากกลุ่มเหยื่อของการทำงานจนตาย ระบุว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องลดจำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม แต่รัฐบาลกลับเน้นเรื่องการปฏิรูปวิธีทำงาน และลื่อนการพิจารณาจำนวนชั่วโมงทำงานสูงสุดในภาคอุตสาหกรรมขนส่งออกไปอีก 5 ปี ซึ่งหลายความว่าใน 5 ปีนี้จะมีคนที่ตายจากการทำงานอีกมากมาย
วิธีการทำงานแบบญี่ปุ่นเคยสร้างเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์ แต่ทุกวันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกลับต้องพ่ายแพ้ในกับบริษัทจากจีนและเกาหลีใต้ โดยปัจจัยหนึ่งคือ การทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นและเต็มไปด้วยขั้นตอนอันซับซ้อนของญี่ปุ่น ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่บริษัทญี่ปุ่นจะไม่มีทางหวนคืนสู่ความรุ่งโรจน์ได้ หากทรัพยากรที่มีค่าที่สุด คือ พนักงาน ยังต้องสูญเสียชีวิตให้กับการทำงาน.