xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 16 สำนักนางพญา (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทประพันธ์ของ คิคุฉิ คัน (ค.ศ.1888-1948)
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

"คุณนายไข่มุก เธอทั้งสวยและสูงศักดิ์ สวรรค์ให้เธอมามาก แต่ถึงเวลาเอาคืน....?"

5

“คุณอะสึมิ เราเพิ่งเริ่มดีเบตเรื่องสำคัญกันอยู่พอดีเลย หัวข้อเรื่องใครคือนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของสมัยเมจิ ให้เราฟังความคิดเห็นของคุณด้วยนะคะ”

คุณนายรุริโกะชวนชายหนุ่มผู้มาใหม่ให้เข้าร่วมวงด้วยเสียงหวานจับใจ อะไรกัน...อยู่ ๆ ก็จะให้มาคุยเรื่องวรรณกรรมกับคนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่ หน้าตาก็ไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างนี้ เห็นทีจะไม่มีทาง ชินอิชิโรคิดอยู่ในใจและยิ่งขุ่นเคืองขึ้นมาอีกเมื่อคำพูดของคุณนายที่ว่าเขาเป็นคนแรกที่เธอเปิดใจพูดด้วยกลับกลายเป็นเท็จย้อนมาทิ่มแทงใจเขาให้เจ็บแปลบอยู่อย่างนี้

“คุณนายขอรับ กระผมคิดว่าดปโปะอาจเป็นหน่ออักษรศิลป์ที่ดีซึ่งเป็นแนวหน้าในการบุกเบิกวงการวรรณศิลป์แต่ในส่วนตัวกระผมไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีความสมบูรณ์แบบหรอกนะขอรับ”

เมื่อเห็นว่าชินอิชิโรไม่ออกความเห็นว่ากระไรตามคำเชื้อเชิญของคุณนายโฉมงาม นายมิยะเกะนักศึกษาอักษรศาสตร์ก็เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงเอาจริงเอาจัง ดูเหมือนก่อนหน้าที่ชินอิชิโรจะเข้ามาขัดจังหวะ นวลนางเจ้าสำนักกับกลุ่มชายที่รายล้อมกำลังวิจารณ์คุนิคิดะ ดปโปะนักเขียนนวนิยายช่วงปลายสมัยเมจิกันอยู่อย่างเผ็ดร้อน

“ผลงานนวนิยายแบบของดปโปะ นักเขียนสายธรรมชาตินิยมของฝรั่งเขียนกันมากมายจนเกร่อ ผมไม่คิดว่านักประพันธ์ท่านนี้เป็นผู้นำของวงการวรรณศิลป์ของบ้านเราอย่างที่อย่างคุณมิยะเกะว่าหรอกครับ ในความหมายหนึ่งคิดว่าเขาเป็นแค่นักเขียนแบบนำเข้า ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่านั้น แน่นอนขอรับดปโปะนำเอาความสดใหม่เข้ามาสู่งวงการวรรณศิลป์ของญี่ปุ่นจริงอย่างที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ผมไม่อาจพูดได้ว่านักประพันธ์ผู้นี้มีความสร้างสรรค์ คือมีแต่นำเอาวรรณกรรมต่างชาติเข้ามาบ่มเพาะลงในพื้นที่วรรณศิลป์ของเราเท่านั้น เรื่องนี้คุณนายคิดอย่างไรครับ”

นายโอะยะมะสุภาพบุรุษในชุดสากลเป็นสง่าดูขึงขังไปทั้งตัวเอ่ยขึ้นอย่างมั่นใจเต็มที่ว่าความคิดเห็นของตนจะได้รับคำสรรเสริญและเห็นด้วยกับโฉมงามเจ้าสำนัก

“แต่ว่าดิฉันนิยมดปโปะมากนะคะ นักประพันธ์สมัยเมจิที่มองเข้าไปถึงแก่นแท้ของชีวิตอย่างดปโปะนั้น ดิฉันคิดว่ามีอยู่ไม่กี่คน คุณอะสึมิว่าไหมคะ”

คุณนายรุริโกะผินหน้างามสดใสมาทางชินอิชิโร เลือกถามเขาอย่างจงใจเป็นพิเศษกว่าชายคนอื่น ๆ หลายคนที่ล้อมรอบอยู่ จะนับเป็นโชคร้ายของชินอิชิโรก็ได้ที่เขาไม่ได้อ่านนิยายของดปโปะมากจนพอที่จะสรุปคำวิจารณ์ได้ สี่ห้าปีก่อนเคยอ่านเรื่อง “นักทฤษฎีชีวิต” และ “เนื้อวัวกับมันฝรั่ง” แต่ก็จำเนื้อเรื่องไม่ได้เลย เมื่อถูกถามจึงเครียดขึ้นมาทันทีเพราะนอกจากไม่อาจตอบได้ในทันทีแล้ว ยังต้องใช้สมองอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ฟังดูเข้าท่าออกมานำเสนอต่อกลุ่มคนที่คอยจับจ้องเขาอยู่

“อาจเป็นเช่นนั้นครับ แต่การจะวินิจฉัยว่าใครเป็นนักประพันธ์เอกในวงวรรณศิลป์สมัยเมจินั้นเป็นเรื่องยากมากครับเพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมเฉพาะบุคคลเป็นส่วนใหญ่ สำหรับผมเมื่อพูดถึงวรรณกรรมสมัยเมจิ จะนึกถึงโคโยเป็นคนแรกครับ”

“โอะซะกิ โคโย” นายโอะยะมะอุทานเจือสำเนียงที่เกือบเป็นหัวเราะ

“ “คนจิกิยะฉะ” เรื่องของคันอิชิปีศาจหน้าเงินคนนั้นน่ะหรือครับ เอามาอ่านตอนนี้จัดเป็นพวกนิยายน้ำเน่าได้เลย”

มิยะเกะนักศึกษาอักษรศาสตร์โพล่งออกมาพลางยิ้มเยาะ ๆ

คุณนายรุริโกะยิ้มเหมือนกับเห็นด้วยกับคำพูดของนักศึกษาหนุ่ม ทำให้ชินอิชิโรรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าแรงๆ ทันทีที่สะเออะแสดงความคิดเห็นที่ไม่เข้าท่าออกมา ยิ้มของทุกคนในที่นั้นที่ชายหนุ่มเห็นว่าเป็นเย้ยหยันความคิดของเขานั้นบาดใจจนเจ็บแปลบแทบจะทนไม่ได้ ทว่าความเจ็บปวดนั้นกลับทำให้ใจฮึดสู้ขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ชายหนุ่มปกป้องความคิดเห็นของตนอย่างเอาเป็นเอาตายขณะที่รู้สึกตัวดีว่าสีหน้าของตนเปลี่ยนไป

“คนจิกิยะฉะ เป็นนิยายน้ำเน่าหรือครับ”

ชินอิชิโรย้อนถามอย่างคาดคั้นด้วยท่าทีที่ไม่พรั่นพรึงทั้งๆ ที่ใจเต้นแรง เด็กหนุ่มนักศึกษาอักษรศาสตร์สอดขึ้นมาอย่างไม่เกรงใจ

“แน่นอนครับ อ่านแล้วจะคิดอย่างไรนั้นย่อมแล้วแต่ระดับรสนิยมของผู้อ่าน สำหรับผมนิยายเรื่องนี้น้ำเน่าของแท้ครับ”

“ที่คุณคิดอย่างนั้นก็เพราะไม่ได้นึงถึงบทประพันธ์ในความเกี่ยวข้องกับยุคสมัย” ชินอิชิโรขัดขึ้นทันควัน

“ก็ไม่แปลกอะไรหรอกครับถ้าคุณจะเอามาตรฐานของสังคมปัจจุบันมาเป็นเกณฑ์ วินิจฉัยว่า “คนจิกิยะฉะ”เรื่องของคนที่กลายเป็นปีศาจหิวเงินไปเพราะอกหักจากการที่หญิงคนรักเลือกไปแต่งงานกับเศรษฐี แล้วบอกว่าเป็นนิยายน้ำเน่า แต่คุณคงลืมคิดไปว่านิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 1902 และเวลาผ่านไปแล้วถึง 20 กว่าปี เมื่อเป็นเช่นนี้นวนิยายที่คุณยกย่องว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์ในปัจจุบัน พอเวลาผ่านไป 20 ปี ทั้งหมดก็จะกลายเป็นนิยายน้ำเน่า จริงไหมครับ...การดีเบทเกี่ยวกับผลงานในอดีตเราต้องคำนึงถึงยุคสมัยที่นักประพันธ์สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย ไม่เช่นนั้นถกเถียงกันไปก็ไม่ประเทืองปัญญาอะไรขึ้นมา คนจิกิยะฉะอาจเป็นนิยายน้ำเน่าถ้าอ่านกันตอนนี้ แต่เป็นผลงานที่โดดเด่นและมีคุณค่าอย่างสูงทางวรรณศิลป์ในสมัยเมจิครับ”

พอเริ่มได้ชินอิชิโรก็พูดคล่องจนตนเองอดตื่นเต้นกับการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุมีผลของตนเองไม่ได้

“การวิจารย์วรรณกรรมในอดีต เราจะต้องมองในแง่ของประวัติศาสตร์วรรณคดีด้วยครับ”

ชายหนุ่มจบคำพูดของเขาด้วยคำพูดที่หนักแน่น

“ดิฉันก็ว่าจริงอย่างที่คุณพูด”

คุณนายรุริโกะพูดด้วยเสียงเอาการเอางาน มองมาที่ผู้พูดด้วยสายตาที่แสดงความทึ่งในความคิดเห็นที่ฟังแล้วไม่ได้เป็นของนักวิจารณ์วรรณกรรมสมัครเล่น ชินอิชิโรรู้สึกได้ในทันทีและมีกำลังใจขึ้นเป็นทวีคูณ
ภาพจากฉากมีชื่อเสียงของนิยายเรื่อง“คนจิกิยะฉะ” บทประพันธ์ของโอะซะกิ โคโย (1868-1903)
6

พอเห็นคุณนายรุริโกะเห็นด้วยกับความคิดเห็นของชายหนุ่มผู้มาใหม่ที่ดูเป็นพนักงานบริษัทผู้ไม่ประสีประสาอะไรกับวรรณกรรม ทั้งนายมิยะเกะนักศึกษาหนุ่มกับนายโอะยะมะนักการทูตก็ฮึดสู้ขึ้นมา

โดยเฉพาะนายมิยะเกะโต้เถียงอย่างเอาจริงเอาจังจนหน้าคล้ำแดดที่ทำให้ดูเป็นเด็กหนุ่มแข็งแรงแดงระเรื่อด้วยความตื่นเต้น

“ยุคสมัยผ่านไปไม่ว่าผลงานนวนิยายที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ชิ้นไหนจะกลายเป็นนิยายน้ำเน่าไปหมด เรื่องบ้าบออย่างนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร นวนิยายที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรก็จะคงคุณค่าอยู่อย่างนั้น อย่างเช่นผลงานของไซคะกุ นั่นถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการวรรณกรรมเลยทีเดียว แต่อย่างโอะซะกิ โคโยนั่นน้ำเน่าตั้งแต่ต้นจนจบจะหาสาระประโยชน์อะไรก็ทั้งยาก เพราะความคิดและมุมมองโลกของนักประพันธ์เองไม่ได้หลุดออกมาจากกรอบของสามัญสำนึกเลยแม้แต่ก้าวเดียว ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องพื้น ๆ ที่เราเห็นกันจำเจทุกวี่ทุกวัน อย่างเรื่อง “เมียทั้งสาม” ถึงจะเขียนให้เห็นว่าผู้หญิงทั้งสามคนมีนิสัยแตกต่างกันชัดเจนยังไง แต่ทั้งหมดก็เป็นสิ่งปกติธรรมดาไม่มีอะไรเป็นจุดสำคัญให้ผู้อ่านต้องขบคิดเป็นการประเทืองปัญญา ก็ได้ครับถ้าจะจัดให้โคโยเป็นนักประพันธ์ที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมสมัยเมจิ แต่ถ้าจะยกย่องโคโยให้เป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสำหรับนวนิยายแนวนี้ละก็ ผมอยากเสนอโระฮัน ริวโร หรือไม่ก็มิซะ ครับ”

พอนายมิยะเกะสาธยายจบนายโอะยะมะก็สอดขึ้นว่า

“ประการแรก การที่ผู้อ่านระดับชาวบ้านติดนิยายอย่าง “คนจิกิยะฉะ” กันขนาดนั้นเป็นข้อพิสูจน์ของความเป็นน้ำเน่าได้อย่างดีทีเดียว นิยายฮิตติดตลาดที่มีคนอ่านเป็นพันเป็นหมื่นอย่างนี้พูดได้คำเดียวว่าต้องไม่มีสาระประโยชน์แน่”

ชินอิชิโรนิ่งฟังการโจมตีอย่างท้าทายของชายทั้งสองด้วยอารมณ์ขุ่นมัว ชายตาไปทางคุณนายโฉมงามก็เห็นเธอนั่งอมยิ้มมองมาทางเขาคล้ายกับจะบอกว่า...สู้เขา อย่ายอมแพ้

“รู้สึกว่าจะไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ”

ชินอิชิโรสวนคำขณะจ้องหน้านายโอะงะวะที่ฉายแววทะนงตนในความเป็นคนชั้นสูง

“ที่คุณพูดฟังดูเป็นการดีเบทที่เหมือนเอาสีข้างเข้าถู ประเด็นที่ว่าผลงานที่มีคนอ่านอย่างกว้างขวางเป็นข้อพิสูจน์ความเป็นนิยายน้ำเน่านั้น ผมเห็นว่าเป็นการเถียงแบบข้าง ๆ คู ๆ เพราะถ้าคุณหมายความเช่นนั้นจริง ๆ ก็เท่ากับว่าคุณเห็นว่าบทละครของเช็กสเปียเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า...อย่างนั้นหรือครับ บทกวีของโฮเมอร์ เทพนิยายของดังเต้ ก็ใช่ถ้ามองในแง่ที่ว่ามีคนอ่านกันในวงกว้างมาก ผมไม่คิดเช่นนั้นครับ ผมคิดต่างกับคุณทั้งสองอย่างสุดขั้วเลยทีเดียว เพราะคิดผลงานที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์นั้นยิ่งกาลเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีคนอ่านกันมากขึ้นจนแพร่หลายกลายเป็นวรรณกรรมมวลชนหรืออย่างที่พวกคุณอาจเรียกว่าตลาดหรือน้ำเน่า ดูอย่างบทประพันธ์ของตอลส์ตอยซิครับ ตอนนี้กลายเป็นวรรณกรรมมวลชนทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ แล้วหรือมิใช่ ในทางกลับกัน ผมคิดว่าผลงานที่ไม่ได้รับความนิยมระดับหรืออาจเรียกว่าตายไปไม่มีใครพูดถึงแล้วนั้น จะต้องมีข้อบกพร่องอะไรสักอย่างแน่นอน หันมาดูทางญี่ปุ่นบ้าง นักประพันธ์บรมครูไม่ว่าจะบะคินหรือไซคะกุ ถ้าผลงานของท่านไม่ได้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในยุคสมัยของท่านแล้วก็คงจะไม่มีใครสืบทอดกันมาหลายรุ่นหลายวัยจนถึงทุกวันนี้ “คนจิกิยะฉะ” ก็เช่นกัน เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าไม่ใช่นวนิยายที่มีคุณท่าทางวรรณศิลป์ ผมคิดว่างานประพันธ์ที่มีความดีเด่นเป็นเลิศนั้น จะกลายเป็นวรรณกรรมมวลชนที่มีผู้นิยมอ่านกันในทุกระดับสังคมมากขึ้นตามลำดับตามพัฒนาการด้านความรู้ของสามัญชนหรือที่คุณอาจเรียกว่าชาวบ้าน วิธีคิดและมุมมองของโคโยอาจธรรมดาสามัญ แต่รสชาติและการนำเสนอที่มีเสน่ห์จูงใจให้ติดตามอ่านตั้งแต่ต้นจนจบนั้น เราจะปฏิเสธได้หรือว่านั่นไม่ใช่คุณค่าทางวรรณศิลป์ สำหรับคนจิกิยะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นขนาดความยาวของเนื้อเรื่องก็ดี ฝีมือในการเขียนบรรยายให้เห็นภาพเหตุการณ์แต่ละช่วงตอนอย่างชัดเจนก็ดี ล้วนเสริมส่งให้โอะซะกิ โคโยเป็นนักประพันธ์เอกที่ไม่เป็นรองใครในสมัยเมจิ แค่อ่านสำนวนที่สละสลวยราวกับเรียงร้อยด้วยกลีบดอกต้นตะบองเพชรอันสดสวยเข้มคมเพียงไม่กี่หน้าก็เพียงพอที่จะทำให้เราสรุปได้แล้วว่าโคโยผู้นี้ดีเด่นเป็นยอดแห่งวงการวรรณกรรมยุคเมจิครับ”

ชินอิชิโรอภิปรายยืดยาว ยิ่งพูดก็ยิ่งรู้สึกว่าดวงไฟแห่งวรรณกรรมในกายตัวลุกโชน ชายหนุ่มเรียนคณะนิติศาสตร์ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็จริง แต่ถ้าบิดาไม่คัดค้านเขาก็คงเข้าคณะอักษรศาสตร์เพราะตั้งเข็มเอาไว้ตั้งแต่ตอนสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายแล้ว

นายโอะยะมะ นักการทูตผู้หยิ่งในศักดิ์ศรีความเป็นคนชั้นสูงแต่มีความรู้ทางวรรณคดีแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เงียบไปเมื่อฟังคำอภิปรายของชินอิชิโร หน้าแดงเรื่อน้อย ๆ ด้วยความขัดใจที่จนถ้อยคำจะนำมาโต้เถียงแม้จะอดทึ่งในความรู้ลึกของผู้พูดไม่ได้

ส่วนนายมิยะเกะดูเหมือนจะพูดอะไรไม่ออกไปอีกคน มุมปากกระตุกมิบ ๆ ด้วยความอยากเถียงแต่คิดหาคำพูดไม่ทัน

“คุณอิซุมิเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่เก่งอย่างน่าทึ่งมาก ดิฉันนับถือจริง ๆ”

คุณนายรุริโกะกล่าวชมด้วยถ้อยคำที่ดูเหมือนจากใจจริงพร้อมกับส่งยิ้มหวานมาให้

ชินอิชิโรรู้สึกอารมณ์เพริดแพร้ว จิตใจสว่างไสวราวกับอัศวินผู้พิชิตชัยชนะและได้รับมงกุฎช่อมะกอกอันเป็นบำเหน็จรางวัลจากจักรพรรดินี

“แต่...” ขณะที่นายมิยะเกะนักศึกษาหนุ่มพยายามหาถ้อยคำโต้เถียงมาจนได้และกำลังจะเริ่มพูดนั้นเอง ก็มีเสียงเคาะประตูดังขึ้น
รูปปั้น “คันอิจิ” กับ “โอมิยะ” คู่รักอมตะจากเรื่อง “คนจิกิยะฉะ” ที่อะตะมิ
7

“เอ๊ะ ใครกัน” คุณนายอุทาน

“ผมเองครับ”

เสียงตอบของคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของบานประตู มีกังวานเสนาะหู

“อ๋อ คุณอะกิยะมะนั่นเอง มาพอดีเลย ดีจริง”

คุณนายโฉมงามพูดพลางกระวีกระวาดลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินไปที่ประตู ชินอิชิโรขมวดคิ้วนิดหนึ่งเพราะตอนที่เขาเข้ามาในห้องเธอแค่ขยับตัวลุกขึ้นต้อนรับเท่านั้น

คุณนายถึงกับเปิดประตูให้ด้วยมือเลยทีเดียว ชายหนุ่มที่ขานขับว่า “ผมเอง” ก้มศีรษะน้อย ๆ ด้วยท่วงทีที่น่าดูก่อนก้าวเข้ามาในห้อง พอเห็นหน้าชัด ๆ ชินอิชิโรก็จำได้ว่าเป็นคนที่เขาเคยพบมาก่อนที่ไหนสักแห่งแต่ก็นึกไม่ออกว่าที่ไหน มองแวบเดียวก็เข้าใจได้ทันทีว่าต้องเป็นนักประพันธ์หรือไม่ก็ศิลปิน ใบหน้าขาวเนียนที่ค่อนข้างยาว และผมที่ปล่อยยาวยุ่งเป็นกะเซิงเหมือนแผงของราชสีห์ไม่เข้ากันเลยกับชุดกิโมโนและเสื้อคลุมที่ดูดีมีรสนิยมและงามสง่าทันสมัยนิยม

คุณนายรุริโกะยืนสนทนากับชายหนุ่มผู้มาใหม่อยู่ตรงหน้าประตูนั้นเอง

“เราไม่ได้พบกันนานมากเลยนะครับ”

“จริงค่ะ ไม่ได้พบกันนานเลย อ่านพบในหนังสือพิมพ์ว่าคุณไปฮาโกเน่ ไม่ได้ไปหรอกหรือคะ”

“เปล่าครับ ไม่ได้ไปไหน”

“อย่างนี้แปลว่าต้องกำลังยุ่งอยู่กับนิยายเรื่องยาวเรื่องนั้นแน่เลย คิดว่าลืมทางมาบ้านดิฉันเสียแล้ว ว่าไหมคุณมิยะเกะ”เจ้าสำนักโฉมงามหันไปพะยักพะเยิดกับนักศึกษาหนุ่ม

ชายหนุ่มทั้งสองสบตากันแล้วทักทายตามธรรมเนียมอย่างเป็นกันเอง

“จริงครับ คุณหายไปนานมาก ขาดคุณไปคนหนึ่งซาลองของเราเงียบเหงาจริง ๆ “

นายมิยะเกะพูดด้วยน้ำเสียงดังเช่นรุ่นน้องพูดกับรุ่นพี่

“เชิญค่ะ คุณอะกิยะมะ เชิญมานั่งตรงนี้ คุณมาได้จังหวะดีแท้ กำลังเกิดปัญหาที่ต้องการให้คุณช่วยวินิจฉัยอยู่พอดี”

คุณนายรุริโกะพูดพลางลงมือเลื่อนเก้าอี้ที่ว่างอยู่มาไว้ข้าง ๆ ที่นั่งของตนเอง

“เชิญค่ะ เชิญนั่ง อยากฟังความคิดเห็นของคุณ จริงไหมคะคุณมิยะเกะ”

นายมิยะเกะที่กำลังจนแต้มดูเหมือนจะมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาจนเห็นได้ชัด

“คุณอะคิยะมะครับ ตอนนี้เรากำลังถกเถียงกันว่าใครคือนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยเมจิ เลยอยากฟังความคิดเห็นของคุณ เพราะปัญหาแบบนี้ต้องการคำวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญครับ”

ประโยคท้ายของนายมิยะเกะดูเหมือนจะพาดพิงไปที่ชินอิชิโร ซึ่งคุณนายรุริโกะจับหางเสียงได้จึงแนะนำขึ้นว่า

“คุณอะสึมิคะ นี่คุณอะคิยะมะ มะซะโอะ นักประพันธ์แนวก้าวหน้าของ “กลุ่มอะกะมง” ไม่ทราบว่ารู้จักกันหรือยัง”

พอได้ยินชื่ออะคิยะมะ มะซะโอะ ชินอิชิโรจึงนึกขึ้นมาได้ว่าตอนอยู่โรงเรียนมัธยมปลายปีหนึ่ง นายอะกิยะมะที่เป็นรุ่นพี่ปีสามในตอนนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนสายศิลป์ขั้นอัจฉริยะ มีผลงานประเภทบทกวีและบทวิจารณ์วรรณกรรมลงเป็นประจำในนิตยสารเพื่อนนักเรียนของโรงเรียนนั้น พอจบจากมหาวิทยาลัยชื่อเสียงของเขาก็เด่นดังราวพุพลุ่ง กลายนักประพันธ์เนื้อหอมมีผลงานขายดีติดอันดับยอดนิยม และได้ครองตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งของวงการประพันธ์แนวใหม่ ยิ่งกว่านั้นยังมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้มีความรอบรู้รอบตัวครอบคลุมหลายสาขาอย่างกว้างขวาง ซึ่งกล่าวกันว่านักประพันธ์รุ่นหนุ่มน้อยคนนักจะเทียมทันเขาได้

ชินอิชิโรไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อคิดว่าความคิดเห็นอันเฉียบคมของเขาจะต้องตกเป็นเป้าการวิจารณ์ของบุคคลผู้นี้ ความรู้สึกภาคภูมิใจสุดยอดของเขาเมื่อครู่ดิ่งวูบราวกับถูกพลังดึงดูดมหาศาลฉุดลงสู่ก้นเหวลึก และยิ่งคิดว่าบางทีอาจตกที่นั่งต้องประคารมทางวรรณกรรมกับนักอักษรศาสตร์ผู้รอบรู้ลึกซึ้งทั้งยังเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกร้อนรนจนเหงื่อซึมออกมาอย่างไม่รู้ตัว

นายอะกิยะมะคาบบุหรี่ที่จุดไฟแดงเอาไว้ที่มุมปาก ตีหน้าเฉยไม่แสดงว่ารับรู้ถึงความรู้สึกหวั่นไหวในใจของชินอิชิโร ขณะพูดด้วยเรียบเรียบ ๆ ว่า

“รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่เล่น ก่อนพูดอะไรผมคงต้องขอฟังความคิดเห็นของทุกท่านก่อน”

นักประพันธ์หนุ่มพูดพลางยกมือขึ้นเกาศีรษะสองสามที

8

“ครับ เราแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายมาก คุณอะสึมิ...คิดว่าผมคงเรียกชื่อคุณถูกนะครับ”

นายมิยะเกะหันไปทางชินอิชิโรนิดหนึ่งขณะพูดถึงเขาเป็นเชิงไม่ให้ความสำคัญนัก

“คุณอะสึมิท่านนี้พูดถึงโอะซะกิ โคโย อย่างยกย่องมากทำนองว่าโคโยเป็นนักประพันธ์อันดับหนึ่งของสมัยเมจิอย่างไม่มีผู้ใดทัดเทียม บอกว่าอ่านแค่สำนวนภาษาอย่างเดียวก็สัมผัสได้ถึงความสละสลวยราวกับเรียงร้อยด้วยกลีบดอกต้นตะบองเพชรอันสดสวยเข้มคมครับ”

น้ำเสียงของนายมิยะเกะที่พูดถึงชินอิชิโรขณะพูดกับนายอะคิยะมะนั้น แฝงความดูแคลนทำนองว่า “พวกสมัครเล่น” เอาไว้อย่างปิดไม่มิด ส่วนนายอะคิยะมะชำเลืองสายตาที่มีแววใสสงบสมเป็นนักประพันธ์ของเขาไปทางชินอิชิโร พลางดับบุหรี่ในมือลงกับจานเขี่ยบุหรี่พลางเปรยขึ้นว่า

“สละสลวยราวกับเรียงร้อยด้วยกลีบดอกต้นตะบองเพชรอันสดสวยเข้มคม...อือม์ เลือกคำวิเศษณ์ได้เก่งทีเดียว แต่ถ้าเป็นดอกต้นตะบองเพชรปลอมละก็รู้สึกว่าจะหาซื้อได้ถูก ๆ ตามร้านขายส่งต้นละราวสามสิบสี่สิบเซ็นเห็นจะได้”

คุณนายรุริโกะกับคนอื่น ๆ ในที่ชุมนุมนั้นหัวเราะคำเสียดสีของนายอะคิยะมะออกมาพร้อมกัน

“ความสดสวยเข้มคมของท่านอาจารย์โคโยอาจเป็นสิ่งจอมปลอมเพื่อเอาใจผู้อ่านประเภทกรี๊ดกร๊าดกับฉาก โรแมนติก มองผ่าน ๆ อาจดูแวววาวเหมือนกลีบดอกตะบองเพชรที่หาดูได้ยาก แต่พอสัมผัสดูจริง ๆ ก็รู้ทันทีว่าเนื้อแท้นั้นแข็งกระด้างไม่ผิดอะไรกับกระดูกวัวกระดูกควาย”

ชินอิชิโรรู้กิติศัพท์ของนายอะคิยะมะผู้นี้มาก่อนแล้วว่า แม้บนเวทีโต้วาทีเขาจะแสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจในตนเองอย่างสูงและเหยียดความคิดของคู่สนทนาให้ฟังเป็นเรื่องตลกอยู่เสมอ ชายหนุ่มรู้สึกอึดอัดอย่างยิ่งที่ต้องมาถกเถียงกับคนเช่นนี้และโกรธโชคชะตาที่ทำให้เขาตกที่นั่งลำบากอย่างไม่มีทางเลี่ยง ชินอิชิโรไม่มีทั้งความกล้าและความมั่นใจที่จะมาต่อกรกับนักอักษรศาสตร์ผู้เก่งกล้าสามารถคนนี้ คนอื่นหัวเราะกันครื้นเครงกับคำเสียดสีอันชาญฉลาด เว้นแต่เขาที่ไม่อาจทำอะไรได้นอกจากนั่งเงียบกริบ

สำหรับชินอิชิโรนั้น การที่นายอะคิยะมะผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์เอกที่สร้างสีสันให้แก่วงการวรรณกรรมสมัยใหม่ พูดจาเสียดสีคนที่มองว่าเป็นพวกสมัครเล่นอย่างตนเอาตรง ๆ ต่อหน้าราวกับเป็นการประจานต่อหน้าผู้อื่นเช่นนี้ เป็นการกระทำที่โฉดเขลาอย่างที่ปัญญาชนไม่มีใครเขาทำกัน และมันทำให้เขาโกรธและเคียดแค้นอย่างบอกไม่ถูก

“อย่างแรกเลยผมขอบอกว่า นิยายอย่าง “คนจิกิยะฉะ” อะไรนั่น มาอ่านดูตอนนี้ มันก็นิยายน้ำเน่าเราดี ๆ นี่เอง”

นายอะคิยะมะพูดอย่างแฝงนัย คุณนายโฉมงามอุทานเบา ๆ

“เอ๊ะ เมื่อกี้คุณมิยะเกะก็พูดอะไรคล้าย ๆ อย่างนี้...อ๋อ ดิฉันรู้แล้ว คุณมิยะเกะเป็นคนรับช่วงความคิดมาจากคุณอะคิยะมะนี่เอง”

นายมิยะเกะหน้าแดงยกมือขึ้นเกาศีรษะ ทำให้ทุกคนนอกจากชินอิชิโรหัวเราะขึ้นพร้อมกัน นายมิยะเกะยิ้มเยาะ

“รู้สึกเป็นเกียรติครับที่มีความเห็นพ้องกับคุณมิยะเกะโดยไม่ได้นัดหมาย”

ทุกคนหัวเราะพร้อมกันอีกครั้ง นายมิยะเกะรอจนเสียงหัวเราะสงบลงแล้วจึงเอ่ยขึ้นว่า

“ผมเป็นคนยกประเด็นที่ว่า “คนจิกิยะฉะ” เป็นนิยายน้ำเน่าขึ้นมาเอง แล้วคุณอะสึมิก็บอกว่าถ้าพิจารณาโดยใช้มาตรฐานของเราในสมัยปัจจุบันเป็นเกณฑ์ “คนจิกิยะฉะ” อาจถูกมองว่าเป็นนิยายน้ำเน่า แต่ในการถกเถียงกันถึงผลงานวรรณกรรมจะต้องคิดถึงยุคสมัยด้วย บอกว่าต้องมองในแง่ประวัติวรรณคดีครับ”

“มองในแง่ประวัติวรรณคดี...นั่นเป็นความเห็นที่ยอดเยี่ยมน่าคิดมาก” นายอะคิยะมะพูดยิ้ม ๆ

“ทว่า ถ้าโอะซะกิ โคโยกับคนในยุคสมัยเดียวกับเขา เขียนนิยายอย่างที่มองจากสายตาของเราทุกคนแล้วเห็นว่าเป็นนิยายน้ำเน่าแล้วละก็ จะบอกว่า “คนจิกิยะฉะ” เป็นนิยายน้ำเน่าก็ไม่เป็นไร แต่ก็ยังมีนักประพันธ์คนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกับโคโยที่เขียนนวนิยายที่แม้จะมองด้วยตาของเรายังเห็นว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์อยู่ด้วยเหมือนกัน สำหรับผม ถึงจะมองมาจากมุมมองด้านประวัติวรรณคดี ก็ไม่อาจยอมรับได้ว่าโคโยเป็นนักประพันธ์นวนิยายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยเมจิ มองจากด้านประวัติวรรณคดี นักประพันธ์อย่างโอะซะกิ โคโย เป็นนายอาลักษณ์สมัยโชกุนโทะกุงะวะมากกว่าจะเป็นนักประพันธ์เอกผู้เป็นตัวแทนของยุคเมจิ วิธีคิด มุมมอง และวิธีเขียนท่านผู้นี้ยังมีคราบไคลของวรรณกรรมสมัยโชกุนติดอยู่มาก ว่าไหมครับ”

มาถึงตรงนี้ชินอิชิโรหมดความอดทนที่จะนิ่งฟังอยู่ต่อไป จึงสวนขึ้นว่า

“ถ้ามองในแง่นั้น วรรณกรรมสมัยเมจิทั้งหมดก็เป็นการสืบทอดมาจากสมัยโทะกุงะวะ คิดว่าไม่ใช่โอะซะกิ โคโยคนเดียวนะครับ”

“ไม่ใช่นะ นักประพันธ์ที่เขียนนวนิยายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของสมัยเมจิโดยสืบทอดแบบอย่างชองสมัยโชกุนเลยก็มี”

“นักประพันธ์แบบนั้นมีอยู่จริงหรือครับ”

ชินอิชิโรโต้อย่างเผ็ดร้อน

“มีซิ”

นายอะคิยะมะต่อคำด้วยเสียงเยียบเย็น
กำลังโหลดความคิดเห็น