xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นรับมืออย่างไรกับ “สังคมคนแก่”?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ทุกวันนี้อายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ ถ้าใครบอกว่าอายุหกสิบคือแก่ (ทางกายภาพ) อาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ถ้าได้เห็นคนญี่ปุ่นวัยนี้ เพราะยังกระฉับกระเฉงแข็งแรงกันอยู่ และเนื่องในวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนเป็นวันเคารพผู้สูงอายุ จึงขอหันมามองเรื่องสภาพทั่วไปของผู้สูงวัยในญี่ปุ่นกันหน่อย

ถ้าใครเคยไปญี่ปุ่น แม้ไม่ต้องพยายามหา ก็จะพบคนสูงวัยอยู่ทั่วไป คุณตาคุณยายเดินกันฉับๆ ในสวน ในห้างร้าน แม้แต่ในย่านพลุกพล่านซึ่งมีภาพลักษณ์ของคนหนุ่มสาวเนืองแน่น หรือบนรถไฟก็เช่นกัน มีคนเฒ่าคนแก่ปะปนเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ช่วงเวลาออกจากบ้านของผู้สูงวัยเหลื่อมกับคนหนุ่มสาว ช่วงเช้าๆ เป็นเวลาของคนที่ออกไปทำงานนอกบ้านหรือไปเรียน พอสายๆ จะเป็นเวลาของคนสูงวัย (ส่วนใหญ่เป็นคุณยาย ดูเหมือนพวกคุณตาทั้งหลายชอบอยู่บ้านมากกว่า) พอบ่ายๆ เย็นๆ ก็กลับบ้าน และพอค่ำๆ ก็ถึงเวลาที่คนหนุ่มสาวกลับบ้าน

เมื่อเอ่ยคำว่าผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขนี้เป็นเส้นคั่นช่วงสำคัญของชีวิต คือสิ้นสุดการทำงานประจำ ในญี่ปุ่น อายุเกษียณของพนักงานบริษัทเอกชนและข้าราชการทั่วไปส่วนมากยังอยู่ที่ 60 ปี แต่หลังจากนั้นอาจมีการจ้างเป็นพิเศษแล้วแต่กรณี สำหรับมหาวิทยาลัยในสังกัดรัฐบาล อาจารย์ทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปี และถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนคือ 70 ปี

ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงอายุมานาน และขณะนี้มีประชากรวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปถึงประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น และเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยเป็นสัดส่วนสูง ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นนำหน้าไปเยอะ ดังที่กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นเผยแพร่สัดส่วนร้อยละของประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปต่อประชากรทั้งหมดโดยเปรียบเทียบ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559 ดังนี้

ด้วยความที่ญี่ปุ่นล้ำหน้าประเทศอื่นไปมาก หลายประเทศรวมทั้งไทยจึงมักมองญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนรองรับ แต่เอาเข้าจริง ญี่ปุ่นเองก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อย่างทั่วถึง ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่การปรับตัวไปตามสถานการณ์ เช่น พยายามขยายอายุเกษียณ สร้างระบบจ้างงานรอบสองสำหรับคนวัยเกินหกสิบ พยายามเพิ่มอายุที่จะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อนำบางส่วนมาขยายความ คือ ตามสภาพความเป็นจริงในขณะนี้ หลังเกษียณอายุในวัย 60 ปีแล้ว คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังมีสุขภาพแข็งแรงต่อไปอีกหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็มีปัญหาสังคมตามมา เพราะระบบประกันสังคมญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินเลี้ยงชีพ (บางคนเรียกว่าบำนาญตามความเข้าใจง่ายๆ) ให้แก่ผู้สูงวัยเหล่านี้ไปตลอดชีวิต เงินส่วนหนึ่งได้มาจากเบี้ยสำรองเลี้ยงชีพที่คนวัยทำงานจ่ายเข้ากองทุนทุกเดือนตามลักษณะงานของตนเพื่อให้ตนได้รับเงินนั้นหลังเกษียณ แต่ขณะที่จ่ายอยู่ เงินจะถูกโยกไปดูแลคนสูงวัยที่ไม่ได้ทำงานแล้ว พูดง่ายๆ คือนำเงินของคนทำงานไปอุ้มคนที่ไม่ได้ทำงาน แต่ในขณะที่คนญี่ปุ่นอายุยืนขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะได้รับเงินสำรองเลี้ยงชีพนานขึ้น และประชากรของญี่ปุ่นเริ่มลด ซึ่งต่อไปคนทำงานก็เริ่มน้อยลง ประกอบกับรัฐบาลเริ่มหมุนเงินไม่ทัน ตัวเงินที่จะนำไปอุ้มผู้สูงวัยก็เริ่มมีปัญหา จนในที่สุด อายุที่จะเริ่มได้รับเงินสำรองเลี้ยงชีพนี้ได้ขยับจาก 60 ปีเป็น 65 ปีแล้ว และเริ่มมีความเคลื่อนไหวว่าจะขยับออกไปอีก

เมื่อหันมามองที่ประเทศไทย ขณะนี้เริ่มมีความตระหนักถึงสภาพการณ์คล้ายๆ กันเพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเช่นกัน ปัญหาหลักที่ต่างกับญี่ปุ่น คือ ขณะที่ญี่ปุ่นเดือดร้อนเรื่องการไม่มีเงินจ่ายให้แก่ผู้สูงวัยตามระบบที่ตัวเองสร้างไว้ ของไทยคือ พอเกษียณแล้วไม่มีจะกินเพราะไม่มีระบบ หรือเกษียณแล้วจน คนญี่ปุ่นนั้นเป็นนักเก็บเงินตัวยงอยู่แล้ว อีกทั้งมีระบบรองรับการเกษียณด้วย เมื่อเกษียณจะมีทั้งเงินเก็บ เงินสะสมก้อนโตเมื่อออกจากงาน และเงินสำรองเลี้ยงชีพที่ได้เป็นรายเดือน แต่ถ้าอายุยืน ก็จะเสี่ยงต่อความไม่มั่นคง เพราะไม่แน่ว่าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะคลอนแคลนแค่ไหน

ส่วนของไทยนั้น เนื่องจากระบบไปไม่ทั่วถึงผู้คนที่ไม่ได้ทำงานในบริษัทหรือองค์กร คนส่วนมากจึงต้องตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่ด้วยตนเอง ในระยะ 4-5 ปีมานี้จึงมีทั้งการสัมมนาและการวิจัยว่าด้วยการใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยระบุว่าเมื่อถึงตอนนั้นจะต้องมีเงินเก็บกี่ล้านเพื่อให้เกษียณแล้วไม่จน แต่นั่นคือหลักการในอุดมคติใช่หรือไม่? คนทั่วไปจะเก็บเงินได้ขนาดนั้นเชียวหรือ? จากนี้ไปอีกสัก 10 ปี เตรียมตัวไว้ได้เลย คนไทยจำนวนไม่น้อยจะประสบปัญหาเกษียณแล้วจน แล้วไหนจะค่ารักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมากับวัยชราอีกมาก

ช่องทางการปรับตัวอย่างหนึ่งที่ญี่ปุ่นใช้คือ การจ้างงานรอบสองสำหรับผู้สูงวัย ในบริษัทใหญ่ๆ มีมาพักใหญ่แล้ว โดยทำสัญญาหลายรูปแบบ เช่น ปีต่อปี แม้ไม่ใช่พนักงานประจำ แต่แรงงานสูงวัยก็ยังมีส่วนช่วยให้เกิดผลิตภาพเป็นบวก ไม่ใช่ศูนย์ ยังพอมีรายได้และได้ใช้งานสมอง หรือในระดับท้องถิ่น ถ้าไปตามร้านสะดวก ตอนนี้จะเห็นพนักงานร้านเป็นคนญี่ปุ่นรุ่นตารุ่นยายมาทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาวมากขึ้น

นอกจากเรื่องงานแล้ว ด้านการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีก็สำคัญ เพราะหากปล่อยร่างกายกับสมองไว้นิ่งๆ ก็จะยิ่งเสื่อมสภาพรวดเร็ว คนญี่ปุ่นจึงหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลาหลังเกษียณ หากไม่หางานทำเป็นกิจจะลักษณะก็หากิจกรรมทำ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น เข้าชมรมชงชา ทำกิจกรรมอาสาสมัคร ไปจนถึงการออกกำลังกายอย่างจริงจัง ไปดูได้เลยในฟิตเนสของญี่ปุ่น ประเมินด้วยสายตาแล้ว อายุเฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่าห้าหกสิบ ทั้งการเต้นแอโรบิก สเตป หรือซุมบ้า เป็นคนวัยคุณลุงคุณป้ากว่าครึ่ง (คาดว่าเพราะมีเวลา) ธุรกิจด้านสุขภาพในญี่ปุ่นจึงแพร่หลายเพราะมีตลาดของคนสูงวัย แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากการสร้างความตระหนักของชุมชนท้องถิ่นและบรรยากาศทางสังคมที่ปลูกฝังมาโดยตลอดว่า แม้เข้าสู่วัยชรา ก็อย่าอยู่เฉย ไม่งั้นโรงสมองเสื่อมจะถามหา

เมื่อมองในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งญี่ปุ่นและไทยคงต้องรีบหามาตรการรับมือให้ทั่วถึงโดยเร็ว แต่ถ้ามองในเชิงสังคมซึ่งส่วนหนึ่งก็โยงไปถึงเศรษฐกิจด้วยนั้น ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นพร้อมกว่าไทย เพราะเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่นค่อนข้างแน่นและเพราะความตระหนักด้านสุขภาพของคนญี่ปุ่นเอง ในไทยเริ่มมีความเคลื่อนไหวเรื่องการจ้างงานคนสูงอายุอยู่บ้าง เท่าที่เห็นประกาศออกมาอย่างชัดเจนคือร้านหนังสือเครือข่ายซีเอ็ด แต่ก็แน่นอนว่าควรมีมากกว่านี้ และรัฐบาลต้องช่วยคิดแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้ผลิตภาพของคนสูงวัยเป็นศูนย์ในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่

ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของคนสูงวัย ญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนเป็น “วันเคารพผู้สูงอายุ” (敬老の日; Keirō no hi) และเป็นวันหยุดราชการ เดิมกำหนดไว้เป็นวันที่ 15 กันยายนของทุกปี แต่สืบเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยวันหยุดราชการฉบับแก้ไขปี 2543 ญี่ปุ่นเลื่อนวันหยุดราชการหลายวันให้ตรงกับวันจันทร์ เรียกกันทั่วไปว่า “แฮปปี้มันเดย์” เพื่อให้ประชาชนได้หยุด 3 วันติดกันคือเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ วันเคารพผู้สูงอายุจึงไม่ใช่วันที่ 15 กันยายนแล้ว แต่กลายเป็นวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 กันยายน

จุดประสงค์ของวันเคารพผู้สูงอายุ คือ “แสดงความรักและเคารพต่อผู้สูงวัยที่ธำรงสังคมมายาวนานหลายปี และฉลองการมีอายุยืนยาว” คนญี่ปุ่นจึงถือโอกาสไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย บางชุมชนจัดงานกิจกรรม โดยมักดำเนินการในนาม “ชมรมผู้สูงอายุ” ประจำท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการที่ทางการของพื้นที่นั้นสำรวจว่าแต่ละปีมีผู้สูงวัยรายใหม่กี่คนและส่งจดหมายเชิญมาเข้าเป็นสมาชิกชมรม เพื่อติดตามความเป็นอยู่ อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้พบปะผู้คนและมีกิจกรรมคลายเหงา

ในศตวรรษที่ 21 สังคมสูงอายุไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะในญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาคล้ายๆ กัน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและกระตุ้นเตือนให้รีบรับมือ ด้วยการเผยแพร่ข้อเท็จจริงโดยสังเขปไว้ 10 ประการ คือ

1) ประชากรโลกกำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจาก 900 ล้านคนในปี 2015 เป็น 2,000 ล้านคน หรือ 22% ของประชากรโลก

2) มีหลักฐานยืนยันน้อยมากว่าผู้สูงวัยในปัจจุบันนี้มีสุขภาพดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ สัดส่วนของผู้สูงวัยในประเทศที่มีรายได้สูงที่ต้องมีคนดูแลกิจกรรมหลักให้ (ซึ่งถือว่าอาการหนัก) เช่น การกิน การซักล้าง ลดลงเล็กน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ความช่วยเหลือด้านอื่นที่รุนแรงน้อยกว่านั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง

3) ความเสื่อมโทรมทางสุขภาพที่ปรากฏมากที่สุดในผู้สูงวัยนั้นไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้สูงวัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ มีแนวโน้มว่าจะประสบภาระด้านโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าประเทศร่ำรวย แต่ผู้สูงวัยของที่ไหน ๆ ก็ตาม โรคที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรังเกี่ยวกับปอด และโรคที่เป็นสาเหตุทำให้สมรรถภาพร่างกายเสื่อมถอยคือ ปวดหลังปวดคอ ซึมเศร้า เบาหวาน สมองเสื่อม ข้อเสื่อม

4) ในด้านสุขภาพ ไม่มีใครได้ชื่อว่า “ผู้สูงวัยตามแบบฉบับ” ความชราทางชีวภาพนั้นสัมพันธ์กับอายุของคนผู้นั้นก็จริง แต่เป็นไปแบบหลวม ๆ ตลอดช่วงชีวิต คนอายุแปดสิบปีบางคนมีสภาพร่างกายและจิตใจใกล้เคียงกับคนวัยยี่สิบ แต่บางคนก็มีสุขภาพทรุดโทรมตั้งแต่อายุน้อย ดังนั้น การใช้คำว่าผู้สูงวัยตามแบบฉบับทั่วๆ ไปจึงไม่เหมาะสม

5) ความหลากหลายในสุขภาพของผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม แม้ว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ แต่ในกรณีส่วนใหญ่ สุขภาพของบุคคลขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาสุขภาพ

6) การเหยียดอายุอาจแผ่ลามมากกว่าการเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติ การแสดงความรังเกียจผู้สูงวัยอาจปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น มีอคติ เลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมถอยในสุขภาพของผู้สูงวัยและคุณภาพของการรักษาพยาบาล

7) ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดเกี่ยวกับความชราและสุขภาพ ต้องตั้งเป้าเรื่องการเข้าสู่วัยชราอย่างมีสุขภาพดี และมองเสียใหม่ว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและประกันสังคมสำหรับผู้สูงวัยไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นการลงทุน เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ต่อไป

8) ระบบประกันสุขภาพต้องปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงวัย ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมรับมือความต้องการของผู้สูงวัย โดยเฉพาะเรื่องการดูแลโดยเน้นให้ผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง และพยายามรักษาไว้ซึ่งศักยภาพของคนกลุ่มนี้

9) ในศตวรรษที่ 21 ทุกประเทศต้องมีระบบดูแลรักษาพยาบาลระยะยาวแบบบูรณาการ สำหรับบางประเทศ อาจเป็นการเริ่มจากสภาพที่ไม่มีอะไรเลย แต่สำหรับบางประเทศ อาจหมายถึงการปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่เรื่องการดูแลรักษาพยาบาลในระยะยาว เช่น การดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ

10) การเข้าสู่วัยชราโดยมีสุขภาพดีนั้นเกี่ยวข้องกับทุกระดับและทุกภาคส่วนของรัฐบาล นั่นหมายถึงมาตรการระดับนโยบาย เช่น การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้านการจ้างงานให้มีความหลากหลายทางอายุ การทำให้อาคารและการสัญจรมีอุปสรรคต่อคนสูงวัยน้อยที่สุด การป้องกันไม่ให้ผู้สูงวัยตกอยู่ในสภาพยากจน (http://www.who.int/features/factfiles/ageing/en/)

สิ่งที่ WHO ระบุไว้ บางข้ออาจขัดกับความรู้สึกของหลายๆ คน แต่ที่แน่ๆ คือ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยทั่วโลกนั้นเป็นจริง ขณะที่ใครๆ ก็มองญี่ปุ่นว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร จะได้นำมาประยุกต์ใช้ แต่ส่วนใหญ่เป็นการมองในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าเพิ่มมุมมองด้านการใช้ชีวิตและแนวคิดการรักษาสุขภาพของคนญี่ปุ่นซึ่งก็พ้องกับสิ่งที่ WHO ระบุไว้เข้าไปด้วย เชื่อว่าน่าจะรับมือกับปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น