ผลการสำรวจโดยรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ที่อายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไปมากกว่า 67,000 คน ทำสถิติสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 47 ผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนมากเหล่านี้มีชีวิตอย่างไรในวันที่สวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นกำลังจะถึงจุดที่แบกรับไม่ไหว
วันที่ 18 กันยายนเป็นวันเคารพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวันหยุดในญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้สำรวจจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่าญี่ปุ่นมีผู้ที่อายุ 100 ปีขึ้นไปมากเป็นประวัติการณ์ถึง 67,824 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2,132 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 88 เป็นผู้หญิงที่อายุยืนกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นคือ นะบิ ทะจิมะ วัย 117 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดคะโงะชิมะทางใต้ของญี่ปุ่น ส่วนผู้ชายที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นคือ มะซะโซ โนะนะกะ วัย 112 ปี จากจังหวัดฮอกไกโดทางเหนือของประเทศ
จังหวัดชิมาเนะมีผู้ที่อายุยืนมากที่สุกในประเทศญี่ปุ่น โดยมีอายุเฉลี่ย 97.54 ปี ตามมาด้วยจังหวัดโทะโทริ และโคชิ ส่วนจังหวัดที่ประชาชนมีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ไซตามะ
ในปี 1963 ญี่ปุ่นมีผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีเพียง 153 คน รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบรางวัลอย่างหรูหราแด่ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้ แต่จำนวนชาวญี่ปุ่นที่มีอายุยืนได้เพิ่มมากขึ้นจนเกิน 10,000 คนในปี 1998 และเกิน 60,000 คนในปี 2015 ประกอบกับรัฐบาลไม่ได้มีงบประมาณมากมาย จึงลดรางวัลเกียรติยศเหลือเพียงประกาศนียบัตรเท่านั้น
รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่า จำนวนผู้สูงอายุจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ และความใส่ใจรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบสวัสดิการที่ดีเยี่ยม แต่ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นของญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายอย่าง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มจะไม่สามารถแบกรับภาระงบประมาณสวัสดิการสังคมได้ เพราะจำนวนคนหนุ่มสาวที่ทำงานจ่ายภาษีลดลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ถึงขนาดที่มีข้อเสนอให้เลื่อนระยะเวลาการรับเงินบำนาญเกษียณอายุออกไปเป็นหลัง 70 ปี หรือขอให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีสละสิทธิ์ไม่รับเงินบำนาญ
ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในสถานดูแลคนชรา หลายคนอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา เพียงแต่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ผ้เฒ่าผู้แก่อีกหลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่มีลูกหลาน หรือคู่ชีวิตเสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว และที่น่าสลดที่สุด คือ ผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนไม่น้อยจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครรับรู้
ในอดีต “อายุมั่นขวัญยืน” เป็นคำอวยพรที่ทุกคนปรารถนา แต่สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ชาวญี่ปุ่นแล้ว นับจากวันที่อายุ 100 ปีได้รับการยกย่องว่าเป็นเกียรติภูมิของประเทศชาติ ถึงวันนี้การยกย่องดังกล่าวก็ยังอยู่ หากแต่ชีวิตที่แท้จริงของผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านี้กลับอยู่ในสภาพที่ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” และไม่รู้ว่าการมีอายุยืนเป็นความสุขหรือทุกข์กันแน่?