xs
xsm
sm
md
lg

สุขาและห้องอาบน้ำ สิ่งมหัศจรรย์ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ไม่น้อยเลยนะคะ อะไร ๆ มันช่างชวนดูชวนมองชวนสนใจไปหมด ฉันยังจำได้ถึงบรรยากาศและกลิ่นของประเทศญี่ปุ่นที่ฉันได้สัมผัสเมื่อไปเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อตอนเด็ก ๆ จำได้ถึงบ้านเรือนและอาคารที่แลดูเล็กจิ๋วแต่สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามถนนหนทางไม่มีขยะแม้สักชิ้น รถยนต์ก็เป็นรถคันเล็ก ๆ กระทัดรัด น่ารัก ดูคล้าย ๆ เป็นเมืองมายาอะไรสักอย่างหนึ่งสำหรับเด็กที่เพิ่งเคยไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในเวลานั้น อาจเพราะเป็นต่างประเทศแห่งแรกที่ได้ไป ถึงประทับใจเป็นพิเศษก็เป็นได้

เวลานั้นเป็นช่วงกลางเดือนตุลาคม ตอนที่เครื่องลงจอด เครื่องไม่ได้จอดหน้าอาคารผู้โดยสารขาเข้า แต่จอดกลางลานแล้วต้องต่อ shuttle bus ไปยังอาคารผู้โดยสารขาเข้า ก้าวแรกที่ออกจากเครื่อง ฉันสัมผัสได้ถึงอากาศเย็นฉ่ำเหมือนอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ด้วยความไม่เคยสัมผัสกับอากาศเย็นขนาดนั้นนอกอาคารมาก่อนในประเทศไทย ฉันเลยคิดว่า "โอ้โห...ญี่ปุ่นยอดเยี่ยมกระเทียมดองมาก ขนาดเปิดเครื่องปรับอากาศในตัวอาคาร ก็ยังมีประสิทธิภาพความแรงสูงถึงกับทำให้เย็นไปทั่วนอกอาคารได้ถึงเพียงนี้ "  ฉันหันไปมองทิวทัศน์รอบ ๆ เห็นภูเขาไกล ๆ แล้วก็เริ่มเอะใจ เอ๊ะเดี๋ยว...เครื่องปรับอากาศที่ไหนมันจะเย็นออกมาได้ในพื้นที่กว้างขวางขนาดนี้ ท่าจะไม่ใช่แล้วละ แต่กระนั้นใจก็ยากจะยอมรับความแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคยแต่มีจริงเมื่อแรกสัมผัส จนกระทั่งไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ อุณหภูมิก็ยังเย็น ๆ หนาว ๆ แบบเดิมอยู่ก็เลยได้ยินยอมเปิดใจว่าความหนาวเย็นเช่นนี้มีอยู่จริงในที่อื่น ๆ

ห้องน้ำสาธารณะสมัยนั้นยังเป็นแบบนั่งยอง ๆ เป็นส่วนมาก ฉันชอบตรงที่เราสามารถวางเท้าลงบนพื้นได้เลยโดยไม่ต้องห่วงว่าจะถ้าเผลอแล้วจะลื่นพรืดแบบโถนั่งยอง ๆ ของบ้านเราที่มันยกพื้นขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ตอนที่ฉันเห็นโถนั่งยอง ๆ แบบญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ฉันสงสัยมากว่ามันต้องนั่งหันหน้าเข้าด้านไหนแน่ เพราะโถเป็นทรงยาว ๆ หลุมที่มีน้ำเอ่ออยู่เหมือนจะเป็นด้านหน้า แต่ที่ไทย หลุมน้ำจะเป็นด้านหลัง ด้วยความสับสนเลยลองหันหน้าหันหลังดูทั้งสองแบบ พอกดชักโครกแล้วก็ถึงได้แน่ใจว่าอ้อ ด้านที่มีหลุมน้ำนี่แหละคือด้านหน้า ความแตกต่างอันนี้นับว่าท้าทายสามัญสำนึกเรื่องการนั่งสุขาอยู่พอสมควร
ภาพจาก https://matcha-jp.com
ปัจจุบันนี้ห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งในญี่ปุ่นเป็นแบบนั่งชักโครกกันเยอะขึ้นมาก ที่เป็นแบบนั่งยอง ๆ ยังมีอยู่บ้างในบางห้างสรรพสินค้าหรือตามสถานีรถไฟบางแห่ง แต่ตามห้องน้ำสาธารณะสำหรับรถทัวร์เดินทางข้ามจังหวัดนั้น เดี๋ยวนี้ฉันไม่เจอแบบนั่งยองๆ เลย แต่ก็ไม่ทราบว่าบางแห่งยังมีอยู่หรือเปล่า เจอแต่แบบหย่อนก้นลงนั่งแปะได้เลย แถมเป็นโถแบบฝาอุ่นและสามารถกดปุ่มให้น้ำชำระได้อัตโนมัติอย่างที่เพื่อนผู้อ่านที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นรู้จักนั่นเอง โถสุขาแบบนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์เดิม ๆ ของห้องน้ำสาธารณะใหญ่ ๆ ตามต่างจังหวัดที่น่าจะไม่ค่อยสะอาดให้กลายเป็นห้องน้ำไฮโซ ญี่ปุ่นเขาลงทุนจริง ๆ เลยค่ะกับสาธารณูปโภคแบบนี้

เวลาเสียภาษีเงินได้ในญี่ปุ่น ฉันแทบไม่เคยนึกเสียดายเลย เพราะรู้สึกว่าได้รับอะไรมากมายจากรัฐ ทั้งสวัสดิการสังคม สาธารณูปโภคที่จำเป็น จนไม่ค่อยจะรู้สึกว่ามีอะไรขาด มีอะไรควรปรับปรุงแก้ไข ถนนหนทางก็ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือชนบท ถ้าสังเกตจะพบว่าเวลานั่งรถยนต์ในญี่ปุ่นจะรู้สึกว่ารถวิ่งนุ่มมาก ไม่มีกระแทกกระเทือนกระเด็นกระดอน

ในขณะเดียวกันมหานครนิวยอร์กที่มีภาพลักษณ์ของความมั่งคั่งโอ่อ่านั้น ถนนหนทางกลับยับเยินไปหมด ทั้งหลุมบ่อ ทั้งแผ่นเหล็กใหญ่ๆ ที่วางพาดบนถนน บางทีก็มีน็อตหรือเศษอะไรต่อมิอะไรจากการก่อสร้างหล่นอยู่บนถนนรอให้วันดีคืนดีไปวิ่งทับให้ยางแบนเล่น นึกสงสัยว่าประชาชนเขาตั้งคำถามกับผู้ว่าการรัฐบ้างไหมว่าเงินภาษีที่จ่ายไปนี่เคยเอาไปปรับถนนให้เรียบหรือเปล่า

ในญี่ปุ่นนั้น รัฐเอาเงินไปสร้างประโยชน์ให้ประชาชนค่อนข้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อะไรเป็นปัญหา อะไรขาดแคลน อะไรจำเป็น อะไรต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เขาก็ไม่รอช้า รีบวางแผน หาคนที่มีความรู้จริงในด้านนั้น ๆ มาทำ บางครั้งก็เชิญคนนอกภาครัฐที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นประธานและ/หรือที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐ เร่งลงมือทำ และประชาชนได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า นโยบายหลาย ๆ อย่างเท่าที่ฉันได้มีโอกาสได้เข้าไปรับฟังหรือศึกษาผ่านงาน รวมทั้งจากที่ทราบจากสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดูจะเป็นนโยบายที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นไปได้จริง เพราะมีมาตรการที่สอดคล้องกันรองรับตามไปด้วย ทำแล้วน่าจะเกิดผลตามสมมติฐานที่ตั้งไว้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังเร่งดำเนินนโยบายพร้อมเพรียงกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการให้ความรู้แก่ประชาชนแบบย่อยให้เข้าใจง่ายผ่านทางรายการโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไปที่ประชาชนทั่วไปดู โดยมีนักวิชาการ คนดัง หรือดารามาประกอบรายการ มีการอัพเดทข้อมูลผ่านข่าวและช่องทางสื่อสารอื่น ๆ ซึ่งนอกจากทำให้ประชาชนไม่ตกข่าวแล้ว ประชาชนก็ได้ข้อมูล ได้เข้าใจปัญหา ที่มาที่ไป ความจำเป็นต่าง ๆ และให้ความร่วมมือ

กลับมาเรื่องห้องน้ำกันต่อดีกว่า เพื่อนผู้อ่านที่รักเคยเข้าห้องน้ำที่ญี่ปุ่นหรือที่ประเทศอื่นเป็นครั้งแรกแล้วเจอชักโครกปิดฝาไว้ไหมคะ? ตอนเห็นครั้งแรกฉันระทึกมากเลยค่ะ กลัวว่าไปเปิดแล้วจะเจอบางสิ่งบางอย่างอร่ามตาเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนานเข้าให้ พอเปิดด้วยความกล้า ๆ กลัว ๆ ก็พบว่าไม่เจออะไรอย่างที่กลัวไว้ พอหลังจากนั้นก็เจออะไรแบบนี้บ่อย ๆ วันหนึ่งจึงถึงบางอ้อว่ามันเป็นมารยาทสำหรับผู้ที่จะมาใช้ห้องน้ำต่อ ไม่ใช่ว่าปิดไว้เพราะว่าชักโครกไม่ลงแบบที่เคยเจอบ่อย ๆ ในบ้านเรา ดูเหมือนในหลาย ๆ ประเทศก็จะปิดฝาชักโครกเมื่อใช้เสร็จแล้วเป็นมารยาทเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทราบว่าประเทศไหนบ้าง และอาจจะเป็นคนๆ ไปที่ทำ บางคนก็ไม่ได้ทำ

ห้องน้ำสาธารณะในญี่ปุ่นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสนองความต้องการดีไปหมดเหมือนรู้ใจคนเข้า เพื่อนผู้อ่านที่เคยไปญี่ปุ่นคงทราบดีว่าพอนั่งบนโถแล้ว บางทีก็มีเสียงน้ำไหลจ๊อก ๆ ดังมาจากที่ไหนก็ไม่ทราบมาข่มซาวด์เอ็ฟเฟ็คเวลาเราทำธุระ ทำให้เรานั่งอย่างสบายใจว่า(คง)ไม่มีใครได้ยินเรา ถ้าเสียงนี้ไม่ดังเอง เราก็อาจจะเอามือไปอังตรงเซ็นเซอร์หรือกดปุ่มเปิดปิดเสียงนี้เองได้ แรก ๆ ฉันก็ไม่ทราบ ทีนี้บังเอิญไปเจอมันเข้าตอนพยายามหาปุ่ม/เซ็นเซอร์สำหรับชักโครกอยู่นานสองนาน บางทีถ้าไม่ทันดูให้ดีว่าปุ่มไหน ก็อาจเผลอไปกดปุ่มฉุกเฉินเรียกคนมาช่วยแทน อย่างนี้จะโกลาหลมาก บางทีกว่าจะหาเจอว่าแถบเซ็นเซอร์สำหรับกดชักโครกอยู่ตรงไหนนี่ต้องยืนหมุนตัวไปรอบ ๆ อยู่นานเหมือนกัน สงสัยว่าคนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับระบบแบบนี้ และอ่านญี่ปุ่นไม่ได้คงกลุ้มไม่น้อยเลย
ภาพจาก http://kaigai-matome.net
สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นก็ได้แก่ น้ำยาเช็ดทำความสะอาดฝาโถสุขา ที่นั่งสำหรับเด็กเล็กในห้องน้ำเวลาคุณแม่จะทำธุระ ชั้นวางของด้านหลังโถสุขา แท่นอเนกประสงค์สำหรับยืนเปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หรือวางกระเป๋า อยู่ตรงกำแพงห้องน้ำซึ่งสามารถดึงเปิดปิดได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะยืนหรือวางของบนพื้นห้องน้ำที่สกปรก บางแห่งจะมีกระทั่งที่สำหรับให้ผู้สูงอายุแขวนไม้เท้าด้วย

ตามร้านอาหารบางแห่งหรือบางบ้านที่เขายังใช้โถสุขาแบบเก่า คือไม่มีระบบทำความร้อนและมีหัวฉีดน้ำอัตโนมัตินั้น เขาจะใช้ผ้าครอบฝาโถที่ผลิตมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้ฝาโถเย็น แต่บางบ้านก็มีทั้งผ้าครอบฝาโถ ผ้าครอบฝาปิดโถ และผ้าบริเวณที่วางเท้า รวมทั้งผ้าตกแต่งที่ม้วนทิชชู่เข้าชุดกันดูสวยงามด้วย ดูน่ามองจนอยากนั่งชื่นชมอยู่ในห้องน้ำนาน ๆ ส่วนด้านบนสุดของถังเก็บน้ำของโถสุขาก็อาจมีก็อกน้ำสำหรับล้างมือ น้ำที่ล้างมือนี้ก็ไหลลงไปเก็บในถังเก็บน้ำสำหรับชักโครก เท่ากับได้ใช้ประโยชน์สองครั้ง คุ้มค่าดี
ภาพจาก http://mansion-market.com
ที่อเมริกาไม่มีโถอุ่น ๆ แบบนี้ เวลาฉันตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน พอนั่งลงไปทีก็สะดุ้งกับฝาโถเย็น ๆ ทำเอาตื่นสนิทเลย ฉันเลยซื้อผ้าครอบฝาโถมาจากญี่ปุ่นมาครอบไว้เพื่อความสงบสุขของชีวิตยามค่ำคืนในฤดูหนาว พอมีคนอเมริกันมาบ้าน ขอใช้ห้องน้ำที เขาเห็นผ้าครอบฝาโถ ก็ออกมาเล่าให้เพื่อนคนอื่นฟังอย่างตื่นเต้นว่า “โถส้วมบ้านนี้ใส่เสื้อด้วย ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย”

เพื่อนสนิทชาวอเมริกันที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นเคยบอกฉันว่า หากเธอจะย้ายกลับมาอยู่อเมริกา ถ้าให้เธอเอาอะไรกลับมาจากญี่ปุ่นได้ เธอจะขอเลือกโถสุขาอุ่น ๆ นี่แหละ เพราะเธอเองก็ไม่ชอบนั่งโถเย็น ๆ ชวนสะดุ้งเหมือนกัน ส่วนฉันคงขอเอาอ่างแช่น้ำร้อนของญี่ปุ่นมาแทนเพราะอ่างมันลึกดี แช่ได้ทั้งตัว แต่อ่างแบบอเมริกันจะเป็นอ่างตื้น แช่ได้แค่ครึ่งตัวแบบสระพลาสติกสำหรับเด็ก ๆ เล่นในบ้าน ไม่สะใจ แถมอะพาร์ตเมนต์ที่ฉันเห็นมาหลายแห่งนั้น พื้นห้องน้ำจะไม่มีท่อเลยยกเว้นในอ่างล้างหน้ากับอ่างอาบน้ำเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาถูบ้านแล้วจะเทน้ำถูบ้านทิ้งก็ต้องเทลงอ่างอาบน้ำ ฉันเลยไม่มีแก่ใจจะไปแช่น้ำในนั้นเพราะจะนึกไปถึงน้ำถูบ้านเป็นประจำ

พูดถึงห้องน้ำที่อเมริกา ฉันเคยไปดูห้องว่างให้เช่าในอะพาร์ตเมนต์หลาย ๆ แห่งแล้วก็พบว่าห้องน้ำหลายแห่งกว้างมาก แต่ส่วนที่กว้างนั้นเกินความจำเป็นมากเกินไป คือในห้องนั้นมีโถสุขาอยู่มุมหนึ่ง และมีอ่างอาบน้ำอยู่อีกฟาก โดยมีพื้นที่กว้าง ๆ โล่ง ๆ คั่นจนสามารถเอาเตียงไปวางนอนได้สบาย ๆ หรือไม่ก็เอาม้านั่งยาวสำหรับออกกำลังกายและดัมเบลชุดหนึ่งไปตั้งทำเป็นพื้นที่เล่นเวทได้เลยทีเดียว
ภาพประกอบจาก http://xn--jckte8ayb1f818zgri.com/toto/
ส่วนห้องอาบน้ำในบ้านคนญี่ปุ่น ถ้าไม่ใช่แบบ Unit bath หรือห้องน้ำที่เขาทำสำเร็จรูปมาแบบตามโรงแรมธุรกิจในญี่ปุ่น คือ มีโถสุขา อ่างอาบน้ำ และอ่างล้างหน้าในพื้นที่แคบ ๆ แล้ว ก็จะแยกพื้นที่นั่งอาบน้ำจากฝักบัวต่างหากจากอ่างแช่น้ำ

ครั้งแรกที่เห็นห้องอาบน้ำแบบนี้ที่บ้านเพื่อน ฉันรู้สึกฉงนมาก เพราะเคยแต่ยืนอาบฝักบัว คราวนั้นต้องนั่งอาบฝักบัวบนม้านั่งพลาสติกเล็ก ๆ โดยอาบน้ำให้สะอาดก่อนแล้วถึงค่อยแช่น้ำร้อนในอ่างต่อไป อ่างแช่น้ำนี้เขาจะผลัดกันแช่ต่อได้ โดยจะมีฝาพลาสติกสำหรับปิดอ่างไว้เพื่อให้น้ำร้อนไม่ลดอุณหภูมิลงเร็วเกินไป ถ้าเป็นอ่างแช่น้ำแบบเก่าจะไม่สามารถอุ่นน้ำร้อนใหม่ได้ แต่อ่างแช่น้ำสมัยนี้มีระบบให้อุ่นน้ำในอ่างได้ตามอุณหภูมิที่เราตั้งค่าไว้ได้ด้วย เราจึงสามารถแช่น้ำเดิมได้ในวันต่อไปเพียงอุ่นน้ำให้ร้อนเท่านั้นโดยไม่ต้องปล่อยน้ำทิ้ง บางบ้านจะมีท่อต่อสำหรับดูดน้ำจากอ่างน้ำร้อนนี้ซึ่งไม่ต้องการใช้แล้วเข้าเครื่องซักผ้าได้ด้วย เป็นการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่าหลายต่อเลยทีเดียว แถมห้องอาบน้ำบางบ้านยังมีระบบทำไอน้ำด้วย ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสปาอบไอน้ำ ไฮเทคมาก

การอาบน้ำในบ้านที่ญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำให้มีความสุข (เริ่มจะเข้าใจแล้วว่าทำไมชิซุกะถึงชอบอาบน้ำ) โดยเฉพาะหลังทำงานกลับมาเหนื่อย ๆ จนอยากสลบ ช่วยคลายเครียดได้ดี แต่ก็ต้องระวังไม่แช่น้ำร้อนนานเกินไป สมัยก่อนฉันไม่ทราบ เคยแช่ออนเซ็นนาน ๆ แล้วพอขึ้นมานี่วิงเวียนรุนแรง อยากจะอาเจียนก็อาเจียนไม่ออก นอนปวดหัวโลกหมุนอย่างทรมานยันเช้าเลยค่ะ

โดยสรุปแล้ว ห้องน้ำและห้องอาบน้ำของญี่ปุ่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับฉัน เป็นสิ่งหนึ่งที่คิดถึงคนึงหาสำหรับชีวิตประจำวันในญี่ปุ่นอยู่เสมอ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น