xs
xsm
sm
md
lg

“ฮอนด้า” ยอมจ่าย 605 ล้านดอลลาร์ชดเชยเจ้าของรถติดถุงลมนิรภัยมรณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฮอนด้ามอเตอร์ บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่น ตกลงจ่ายค่าชดเชยรวม 605 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 19,900 ล้านบาท ให้แก่เจ้าของรถยนต์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากถุงลมนิรภัย “ทะกะตะ” ที่มีข้อบกพร่องจนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง

สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า ฮอนด้าประกาศข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน โดยจะใช้เงินประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ในการหาเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ได้ซ่อม และใช้ 80 ล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายคืนค่าธรรมเนียมรถเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนเงินที่เหลือจะใช้ชดเชยเจ้าของรถที่ได้รับผลกระทบจากถุงลมนิรภัย "ทะกะตะ" หรือจากความล่าช้าในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใหม่

บริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มาสด้า และซูบารุ บรรลุข้อตกลงลักษณะเดียวกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนนิสสันมอเตอร์ตกลงเรื่องการจ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม

ข้อตกลงครั้งนี้ของฮอนด้าคิดเป็นมูลค่ามากสุดในบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ทั้งหมด เพราะการเรียกคืนรถยนต์ของฮอนด้านั้นมีจำนวนมากที่สุด

ถุงลมนิรภัยของบริษัททะกะตะ ถูกพบว่ามีความบกพร่องทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวขึ้นอย่างรุนแรงเกินไปคล้ายการระเบิด และดันเอาชิ้นส่วนต่างๆให้กระเด็นพุ่งเข้าใส่ผู้ใช้รถยนต์จนเป็นอันตราย โดยเจ้าหน้าที่ด้านขนส่งสหรัฐระบุว่าถุงลมนิรภัยของทะกะตะเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย

“ทะกะตะ” คือผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งผลิตถุงลมนิรภัยให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกมากถึง 19 ยี่ห้อ ตั้งแต่รถยนต์หรูอย่างเฟอร์รารี, เมอร์ซิเดส เบนซ์ BMW ไปจนถึง รถยอดนิยมอย่างโตโยต้า, ฮอนด้า และซูบารุ

ทั้งนี้มีรถยนต์ที่มีปัญหาต้องเรียกคืนมากกว่า 100 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นรถในสหรัฐมากกว่า 70 ล้านคัน เป็นการเรียกคืนรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐเผยว่า ในจำนวนถุงลมนิรภัยทั้งหมดที่อยู่ในข่ายการเรียกคืนนั้น จนถึงขณะนี้มีเพียงประมาณร้อยละ 40 เท่านั้นที่ผ่านการซ่อมแซมแล้ว

บริษัททะกะตะได้ยื่นขอล้มละลายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้เหยื่อผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยของทะกะตะแทบไม่ได้เงินชดเชย โดยทะกะตะได้ถูกฟ้องร้องในสหรัฐเพื่อให้ชดเชยเงิน 1,000 ล้านดอลลาห์เนื่องจากปกปิดความบกพร่องของถุงลงนิรภัยมานานกว่า 10ปี .
กำลังโหลดความคิดเห็น