xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นต้องทำโอที !?.. (แนวทางเลี่ยงงาน)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ หลายครั้งที่ผ่านมาผมพูดเกี่ยวกับลักษณะของพนักงานบริษัทญี่ปุ่นและวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ เพื่อนๆ เองก็คงจะคุ้นเคยกับบริษัทญี่ปุ่นมาบ้าง ลักษณะสำคัญๆ บางประการขององค์กรบริษัทญี่ปุ่นก็อาทิเช่น ความจริงจังกับหน้าที่การงาน ความตรงต่อเวลา ความทุ่มเทต่องานหนัก ต้องรวมกลุ่มเป็นพวกพ้องเดียวกัน มักจะทำงานที่เดิมตลอดจนเกษียณ ความอ่อนน้อมต่อหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน การทักทาย การติดต่อและแจ้งข้อมูลต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความมีวินัย การอยู่ทำงานนานๆ ระหว่างวัน เป็นต้น

บางคนคิดว่าค่าแรงที่ญี่ปุ่นสูงมาก แต่สำหรับพนักงานประจำหรือพวก サラリーマン Salary man ถ้าเทียบค่าแรงต่อชั่วโมงที่ต้องทำงานอย่างยาวนานต่อวันแล้วถือว่าน้อยมากเลยครับ ถึงการทำงานที่องค์กรบริษัทญี่ปุ่นจะได้ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงน้อยแต่บริษัทญี่ปุ่นก็ยังมีเครดิตที่ดีอยู่บ้างใครๆ ก็ยังอยากเข้าทำงาน ปัจจุบันเรื่อง GDP ของญี่ปุ่นตกอันดับไปมาก ถ้ามองด้านสังคมและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานเหล่านี้ผมมองว่าแย่ลง เนื่องจากความกดดันต่างๆ และเรื่องเศรษฐกิจ ปัจจุบันพนักงานที่เพิ่งเริ่มทำงานไปจนถึงเริ่มสร้างครอบครัว อายุยังไม่มากนักก็จะลงทุนในการซื้อทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งหมายถึงการทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาผ่อนส่งทรัพย์สินนั้นๆ นั่นเอง

สภาพการทำงานของคนในองค์กรญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นค่อนข้างต่างจากไทยมากเหมือนกันครับ เพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่บริษัทญี่ปุ่นในไทยอาจจะลองสังเกตพฤติกรรมคนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่ไทยดูก็ได้ แต่คนญี่ปุ่นที่ทำงานที่ไทยก็อาจจะไม่เข้มงวดมากเหมือนตอนที่พวกเขาอยู่ญี่ปุ่นก็เป็นได้ครับ เพราะมีคนบอกว่าการได้มาทำงานที่ไทยนี่เหมือนมาสวรรค์ บางคนอยู่สุขสบาย มีบ้านมีคนขับรถให้ มีคนทำความสะอาดห้อง ราวกับอยู่โรงแรมห้าดาว แต่ตอนทำงานที่ญี่ปุ่นต่างกันราวฟ้ากับเหว แม้ว่าจะหมดเวลาทำงานแล้วอยากจะกลับบ้านมากๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะคนอื่นยังไม่กลับ โดยเฉพาะหัวหน้างานยังนั่งอยู่เลย จะกลับได้ยังไง ต้องทำงานต่อไปๆ เด็กเข้าใหม่บางคนนี่ต้องรอหัวหน้ากลับก่อนนะ ไม่เช่นนั้นกลับไม่ได้ มีเพื่อนผมเล่าว่าหัวหน้างานเค้าเป็นขาโหดใครๆ ก็กลัว เพื่อนนี่อยากกลับบ้านมาก วันนั้นนายออกจากออฟฟิศเกือบสามทุ่ม พอเพื่อนเห็นนายถือกระเป๋าจะกลับบ้านนี่สวรรค์โปรดเลย นายออกไปแป๊บเดียวเพื่อนก็ลุกตาม ที่จริงเพื่อนไม่ได้อยากให้เป็นสภาพเช่นนี้นักหรอกแต่มันเลี่ยงไม่ได้ ใครยังไม่มีที่ไป ใครยังรักจะเติบโตในองค์กรก็ต้องจำทน หรือพยายามรักกับสิ่งที่ต้องเผชิญให้ได้ ถ้าบางคนเริ่มไม่อยากทำงานบริษัท เริ่มรู้สึกตัวว่าไม่ใช่ ไม่ไหวแล้วแบบนี้ออกมาทำงานส่วนตัวเองดีที่สุดครับ

อย่างที่บอกว่าคนที่รักจะเป็นพนักงานบริษัทญี่ปุ่นอยากเป็นใหญ่เป็นโตต่อไปภายภาคหน้า ต้องมาทำงานแต่เช้าเลิกงานเย็นค่ำ เรื่องทำงานเก่งไม่เก่งไม่ค่อยเกี่ยวแต่อยู่ในออฟฟิศนานๆ จะดีมาก เรียกว่าระบบ 生産性 Seisansei ซึ่งระบบนี้คิดง่ายๆ คือ ค่าแรงต่อวันหารด้วยเรื่องระยะเวลาหรือจำนวนชั่วโมงทำงานในแต่ละวัน จะได้อัตราค่าแรงชั่วโมงที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น
(*´꒳`*)นาย A ทำงานได้ค่าแรงเฉลี่ยวันละ 2 พันบาท มีชั่วโมงทำงานต่อวันคือ 5 ชั่วโมง= ค่าแรงชั่วโมงละ 400 บาท Seisansei สูง ( สูงหรือดีกว่าคนนาย B)
(´•ω•`) นาย B ทำงานได้ค่าแรงเฉลี่ยวันละ 2 พันบาทเท่ากัน แต่มีชั่วโมงทำงานต่อวันคือ 15 ชั่วโมง= ค่าแรงชั่วโมงละ 133 บาท หมายถึง Seisansei ต่ำ ทำไมพนักงานเหล่านี้ต้องทำงานนานๆ มีบทความหนึ่งเขียนไว้ว่า

☆เพื่อสร้างความมั่นใจในทีม เพื่อทำให้องค์กรเป็นโครงสร้างที่ทุกคนต้องอยู่ด้วยกันด้วยความรักและศรัทธาในบริษัท บางบริษัทอาจจะใช้คำว่า Team Spirit หรือ Team Work คือทำให้ทุกคนสร้างสปิริตในการทำงานขึ้นมา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นคนในกลุ่มก้อนเดียวกัน การอุทิศตนเองครับ
☆มีความชอบส่วนตัวที่จะอยู่บริษัทนานๆ แม้จะเป็นช่วงนอกเวลาแต่ก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นพิเศษ อาจจะหลีกเลี่ยงช่วงรถติด ช่วงรถไฟแน่น
☆เป็นคนที่ไม่มีงานอดิเรกที่ชอบ ไม่มีความสนใจที่จะทำสิ่งอื่นๆ จึงทุ่มเททำแต่งาน จะกลับบ้านก็รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวเกินไป อยู่ที่ทำงานยังมีคนอื่นๆ ไม่เปลืองไฟเปลืองแอร์ที่บ้านด้วย
☆อีกกลุ่มคือพวกที่กลัว มีพนักงานบางคนทำงานเหมือนรักงาน อาจจะทำไปเพราะว่า เกิดความกลัว คือกลัวว่าตนเองจะทำงานไม่ดี กลัวการถูกทิ้งโดดเดี่ยว กลัวถูกกลั่นแกล้ง จึงต้องพยายามทำงานอย่างหนักให้เกิดการยอมรับในตัวของเขา นั่นเอง

ก็หลากหลายเหตุผลแล้วแต่บุคคล แต่ถ้าใครลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่า บางองค์กรแม้จะบอกว่าพนักงานมี Seisansei ต่ำ ชั่วโมงทำงานยาวนาน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ทำงานเต็มเวลาที่ยาวนานนั้นนัก สมมุติ 8 ชั่วโมง เข้างาน 8:00 น. เลิกงาน 17:00 น. พักกลางวัน 1 ชั่วโมง และอาจจะมีพักเบรคย่อยด้วย แล้วแต่นโยบายของบริษัทนั้นๆ ด้วยระบบที่ต้องทำงานนานๆ อยู่ในองค์กรนานๆ ทำให้พนักงานเหล่านั้นไม่ค่อยทำงานจริงจังในเวลางานที่แท้จริง บางคนก็เดินไปมา บางครั้งก็เข้าประชุมเรื่องไม่เป็นเรื่องนานๆ บางทีก็พักเบรคเกินเวลา บ้างก็ไปส่งแฟ๊กซ์ เดินไปถ่ายเอกสาร หาอุปกรณ์เครื่องเขียน ตัดกระดาษ วนไปๆ พอเริ่มจะเลิกงานค่อยเอางานขึ้นมาทำ เป็นรูปแบบเช่นนี้

จึงมีคนต่างชาติหลายคนมีมุมมองต่อการทำงานของคนญี่ปุ่นว่า "แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะดูเหมือนขยันและดูทุ่มเทให้กับการทำงานมาก แต่แท้ที่จริงแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจที่จะรีบทำงานให้เสร็จในเวลาแต่มักจะทำต่อช่วงหลังเลิกงาน หรือทำโอทีนั่นเอง บางครั้งระหว่างวันก็มีประชุมอะไรมากมาย จนใช้เวลาหมดไปเกือบทั้งวัน เวลาระหว่างวันบางทีก็เสียไปกับการสูบบุหรี่ พักเบรคนานเป็นชั่วโมง เสียเวลาไปกับการเข้าห้องน้ำ การโทรศัพท์เรื่องส่วนตัว เวลาทำงานจริงน้อยมากแต่แล้วต้องมาหาเวลาอื่นทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จนอกเวลางาน "

เมื่อผมบอกเพื่อนเรื่องระบบเช่นนี้ขององค์กรบริษัทญี่ปุ่น เพื่อนผมจึงแอบสังเกตพฤติกรรมคนญี่ปุ่นที่บริษัทญี่ปุ่นที่เมืองไทย วันหนึ่งก็ได้ข้อมูลอย่างที่ผมเล่า คือ หัวหน้างานคนญี่ปุ่นจะเข้างานสายกว่าเวลาออฟฟิศ แม้จะมาตั้งแต่เช้าก็จริงแต่จับกลุ่มกันนั่งสูบบุหรี่ เลยเวลาเข้างานไปกว่าครึ่งชั่วโมงจึงพากันเข้ามาออฟฟิศ ทำงานไปสักพักเมื่อพนักงานคนอื่นเบรคย่อยกันแล้วก็จะพากันไปสูบบุหรี่ ที่จริงพวกเขาอาจจะคุยเรื่องงาน เรื่องธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มองในประเด็นการใช้เวลาเท่านั้นนะครับ วันนั้นกลุ่มคนญี่ปุ่นนั้นเข้ามาในออฟฟิศอีกทีโดยใช้เวลาเบรคย่อยไป ชั่วโมงครึ่ง ทำงานอีกแป๊บก็พักทานข้าว พวกเขาขึ้นไปทานข้าวช้ากว่าพนักงานไทยก็จริง แต่ก็ทบเวลาเข้างานภาคบ่ายไปอีกเยอะ คือหลังพักกลางวันก็เข้าออฟฟิศช้ากว่าพนักงานทั่วไป ช่วงเวลาทำงานภาคบ่ายก็มีลักษณะพฤติกรรมเช่นเดียวกับภาคเช้า แต่พวกเขาจะอยู่ออฟฟิศต่อหลังเลิกงาน 5 โมงเย็น บางคนอาจจะถึงหนึ่งทุ่ม บางคนดึกกว่า แต่เพื่อนคนไทยผมบอกว่า เพื่อนผมตั้งใจทำงานให้เสร็จในเวลางานแล้ว พลังงานหมดแล้ว จะให้อยู่ต่อไปอีกนี่เหนื่อยเกินไป ค่าแรงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่นัก นี่ก็เป็นอีกมุมมองระหว่างคนไทยกับลักษณะการอยู่ในออฟฟิศนานๆ แบบคนญี่ปุ่นครับ

ปัจจุบันการดำรงชีวิตของพนักงานออฟฟิศญี่ปุ่นลำบากมากขึ้น เพราะมีการลงทุน 投資 Investment เยอะขึ้น คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งทำงาน ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้สิน จ่ายดอกเบี้ย จากเดิมที่ทำงานหนักอยู่แล้วก็ต้องทำงานหนักขึ้นนานขึ้นอีก ใช้เวลาที่ออฟฟิศนานมากก็ไม่มีเวลาที่บ้าน ยิ่งเรื่องอาหารการกินนี่ฝากท้องกับร้านนอกบ้านเลยครับ การจะทำอาหารเองนี่ยากมาก ที่จริงแล้วการทำอาหารกินนั้น อาหารหนึ่งอย่างก็ใช้เวลาเท่ากันไม่ว่าจะทำให้คนเดียวหรือทำสำหรับ 5 คนก็ใช้เวลาเท่าๆ กัน คือถ้าอยู่เป็นครอบครัวก็สมควรที่จะทำอาหารทานเอง เมืองไทยมีร้านอาหารเยอะ หาทานสะดวก ตามตลาดนัดมีร้านข้าวแกง และแกงถุงหลายร้าน เดินไปซื้อแป๊บเดียวไม่ยาก บางคนจึงไม่คิดทำอาหารเอง การทำอาหารนี่ก็คล้ายกับเรื่อง Investment นะครับ บางคนก็คิดว่าทำแล้วจะคุ้มทุนไหม ทำให้กี่คน ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร เหนื่อยมั้ย ซื้อเอาง่ายกว่าไหม เป็นต้น

ที่ญี่ปุ่นคนที่อยู่คนเดียวจะทำอาหารทานเองก็แพงเกินไป ใช้งบประมาณมาก แถมไม่มีเวลาเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ออฟฟิศสำนักงานซะมาก พอเดินทางกลับมาถึงห้องพักก็หมดแรงซะแล้ว สู้ไปหาทานตามร้านกิวด้งตามสถานีรถไฟ ราคาไม่แพงมาก หรือไม่ก็ซื้อเบนโตะตามร้านสะดวกซื้อเพราะราคาถูก ใช้ชีวิตเช่นนี้น่าจะง่ายกว่าการทำอาหารทานเอง แต่ก็มีบางคนที่มีใจชอบการทำอาหารเองก็จะใช้วิธีทำไว้คราวละเยอะๆ แล้วเก็บแช่แข็งไว้กินได้อีกหลายมื้อ เช่น ทำคาเรไรส์ หรือข้าวแกงกระหรี่ญี่ปุ่นจะทำทีละเป็นหม้อๆ ให้กินได้เป็นอาทิตย์ๆ แต่อย่างที่บอกว่าแม้จะทำเองเหล่าบรรดาพ่อครัวแม่ครัวทั้งหลายก็ไม่ชอบการล้างจานและเตรียมของ แม้จะทำคาเรไรส์ไว้เยอะๆ ก็ต้องมีข้าว ต้องหุงข้าวต้องเตรียมของ ก็ขี้เกียจอีก คิดจะทำสปาเกตตี้ ก็ขี้เกียจต้มน้ำ สรุปคนญี่ปุ่นประเภทนี้เลือกทำอาหารอะไรรู้ไหมที่ง่ายและถูกปากมาก อาหารชนิดนั้นก็คือ 焼きそば Yakisoba ยากิโซบะนั่นเอง ยากิโซบะหรือเมนูบะหมี่ผัดของญี่ปุ่น ใช้เส้นบะหมี่ยากิโซบะผัดกับหมู ผัก และซอส ง่ายมากๆ พูดเรื่องซอส คนชอบซอสมาก ถือเป็นอีกเครื่องปรุงประจำครัวญี่ปุ่นที่เรียกว่าขาดไปไม่ได้เลยครับ

ซอสที่ว่าจะไม่ใช่โชยุนะครับจะเป็นซอสน้ำข้นกว่าโชยุ แบบที่ร้านขายอาหารฝรั่งใช้ จะมีรสชาติผสมกันระหว่างหวานอมเปรี้ยวและอาจจะเผ็ดเล็กน้อย มีสีดำหรือน้ำตาล มักจะทำมาจากผัก ผลไม้ เครื่องเทศ น้ำตาลและโชยุ และซอสที่เข้มข้นมากขึ้นจะใช้ทำยากิโซบะหรือใช้ปรุงรสตามร้านโอโคโนมิยากิ ทาโกะยากิครับ คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะนึกภาพออกครับ

คนญี่ปุ่นชอบกินซอสมาก เพราะเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วสมัยที่ชาติตะวันตกกำลังล่าอาณานิคมได้นำซอสแบบอุมามิมาเผยแพร่ด้วย ทำให้คนญี่ปุ่นชอบทานซอสมาตลอดตั้งแต่นั้นมาครับ ปัจจุบันมีซอสหลากหลายรสชาติและรูปแบบมากกว่า 500 ชนิด ยืนยันได้ว่าทุกบ้านขาดไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าถามว่าในตู้เย็นนอกจากของกินต่างๆ วัตถุดิบในการปรุงรสต่างๆ มีอีกสิ่งที่คนที่ใช้ชีวิตคนเดียวต้องมีคืออะไรพอเดาได้ไหมครับ สิ่งนั้นก็คือ นำ้อัดลมโคล่า ครับเพราะนอกจากดื่มดับกระหายคลายร้อนแล้ว นำ้อัดลมโคล่า ยังสามารถนำมาใช้ปรุงแต่งอาหารได้ง่าย สะดวก และอร่อยมากๆ ด้วย เพื่อนๆ เคยลองปรุงอาหารจากนำ้อัดลมโคล่าไหมครับ ตัวอย่างง่ายๆ จากเมนูที่ทำด้วยโคล่า เช่น ต้มหมูกับโคล่า , ปีกไก่อบโคล่า และอื่นๆ อีกมากมาย

นี่แหละครับการใช้ชีวิตของพนักงานที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ทำงานนานๆ ไม่อยากทำก็ต้องทำ เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมและดำเนินตามวิถีชีวิตแบบที่เล่าไป ทนไม่ได้ก็ต้องทนครับ จึงจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ มีความอดทนสูงมาก ก็มันถูกหล่อหล่มด้วยสภาพเช่นนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตามเดินทางสายกลางนะครับ รักษาสุขภาพด้วยวันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น