คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
เพื่อนผู้อ่านคิดว่าคนญี่ปุ่นใจดีไหมคะ?....เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งของสามีฉันเคยบ่นออดแอดกับวิถีชีวิตในอเมริกามาก เพราะมีแต่สิ่งละอันพันละน้อยที่น่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้แต่กลับไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งระบบอะไรต่าง ๆ ทั้งความไร้มาตรฐาน และไร้ระเบียบมากมาย รวมทั้งพนักงานที่ฟร้อนท์ของอะพาร์ตเมนต์ที่พูดจาใหญ่โต ไร้ความสุภาพนอบน้อมใดๆ ทั้งๆ ที่ควรจะสุภาพกับลูกบ้าน เป็นต้น
เขาคนนี้มีเหตุให้ต้องย้ายกลับญี่ปุ่นพร้อมภรรยาและลูกที่เพิ่งเกิด เมื่อกลับมาอยู่ในสภาพสังคมและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น เขากลับคิดถึงชีวิตเมื่ออยู่อเมริกาที่เขาเคยเบื่อเคยเซ็ง เขาเล่าว่าในญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของความเคร่งเครียด เพียงแค่ขึ้นลิฟท์ก็รู้สึกถึงความน่าอึดอัด ต่างคนต่างเงียบกริบ ไม่มีใครคุยกับใคร ไม่เหมือนอเมริกาที่อาจจะทักทายคนไม่รู้จักและคุยกันสบาย ๆ ได้
ในญี่ปุ่นนั้นอยากจะไปทานอาหารเย็นนอกบ้านโดยพาลูกเล็ก ๆ ไปด้วยก็ทำไม่ได้ เพราะพอพาเด็กเล็ก ๆ ไป ผู้คนตามร้านอาหารต่าง ๆ ก็จะชักสีหน้าไม่ชอบใจกันแล้ว ยิ่งบางร้านนี่ระบุไว้เลยว่าไม่ต้อนรับเด็กเล็ก แต่ในอเมริกา แม้เป็นร้านอาหาร คนเห็นเด็กเล็ก ๆ ก็จะชอบ เข้ามาคุยมาเล่นด้วย ต้อนรับเด็ก ๆ กันดี แม้บางทีเด็กจะเล่นซนก็ตาม
เพื่อนร่วมงานสามีคนนี้บอกว่า สังคมญี่ปุ่นนั้นต่างคนต่างเมินเฉยกันและกัน ไม่มีใครสนใจใคร ในขณะที่ในอเมริกานั้น คนจะใส่ใจกันมากกว่า ประเด็นนี้ทำเอาหูผึ่งเลยค่ะ เพราะในอดีตเคยเรียนมาว่าคนอเมริกันมีความเป็นปัจเจกชนสูง ยิ่งในเมืองใหญ่อย่างนครนิวยอร์กยิ่งตัวใครตัวมัน นึกว่าญี่ปุ่นที่เป็นสังคมเอเชียซึ่งมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนและพึ่งพาอาศัยกันจะมีความใส่ใจกันและกันมากกว่าเสียอีก พอมาฟังเพื่อนร่วมงานสามีเล่าให้ฟังแบบนี้ก็มาลองพิจารณาดู ก็รู้สึกว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย
ไม่กี่วันก่อนฉันก็ได้ยินเรื่องเล่าคล้ายๆ กันอีก ตอนนั้นฉันอยู่ในโตเกียว กำลังเดินเล่นอยู่กับเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งกำลังตั้งท้อง เธอเล่าว่าขนาดเธอท้องโตเห็นได้ชัดอย่างนี้ เวลาขึ้นรถไฟกลับไม่มีใครลุกให้นั่ง ฉันตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาอาจง่วนอยู่กับการจิ้มมือถือเลยไม่ทันมองหรือเปล่า เพื่อนปฏิเสธ บอกว่าพวกเขาเห็นแน่นอน แต่ต่างคนต่างเมิน ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ก็เล่นมือถือไปเรื่อยๆ
ในขณะที่ตอนไปเมืองไทยซึ่งตอนนั้นเธอเพิ่งตั้งท้องได้ไม่นาน ท้องยังไม่โตขนาดนี้ เวลาขึ้นรถราทีคนกลับลุกกันพรึ่บพรั่บให้เธอนั่ง ทำให้รู้สึกว่าคนไทยใจดีจริง ๆ
ฉันถามด้วยความแปลกใจว่า อ้าว เห็นญี่ปุ่นรณรงค์อยู่ตลอดเรื่องให้สละที่นั่ง แถมสังคมญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับการนึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ มันไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นมีน้ำใจหรอกหรือ เธอส่ายหัวพร้อมทำเสียงคำรามในลำคอ ก่อนจะบอกว่า “มันเป็นแค่คำพูดที่สวยหรู หรือสร้างภาพเท่านั้นแหละ ในทางปฏิบัติจริงมันไม่ใช่เลย” ฉันสรุปว่า “แสดงว่าการที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความรู้สึกคนอื่น หรือระวังไม่ให้ไปรบกวนคนอื่นนี่ ก็เป็นคนละเรื่องกับน้ำใจงั้นสิ” เพื่อนตอบว่า “ก็อย่างนั้นแหละ”
จะว่าไปแล้วฉันก็รู้สึกว่าบนรถไฟหรือรถเมล์นั้น คนญี่ปุ่นสละที่นั่งให้คนอื่นน้อยมากทั้งชายและหญิง และที่นั่งบางที่ก็สงวนไว้ให้สำหรับคนชรา คนท้อง คนบาดเจ็บ คนมีลูกเล็กด้วยซ้ำ คนอื่น ๆ เวลาเห็นที่นั่งแบบนี้ว่างก็ไปนั่งกัน แต่เวลาคนที่ควรจะได้สิทธิ์นั่งที่นั่งนั้นขึ้นรถมา คนที่นั่งอยู่ก็ควรจะลุก แต่แทบไม่มีใครสนใจเลยว่าควรจะต้องลุก บางทีคนแก่หรือคนที่ขาบาดเจ็บถือไม้เท้ามากลับต้องยืนเพราะไม่มีใครยอมลุกให้ ส่วนผู้ชายญี่ปุ่นนี่ปกติจะไม่ค่อยเห็นสละที่นั่งให้ผู้หญิงเลย
นานมาแล้วตอนสมัยสาว ๆ ฉันไปเที่ยวญี่ปุ่น เห็นผู้หญิงต่างชาติขึ้นรถเมล์มา จำไม่ได้ถนัดว่าเธอหิ้วของพะรุงพะรังหรือแบกลูกเล็กมาด้วย แต่ไม่มีใครสนใจเธอ ชายหนุ่มซึ่งนั่งอยู่ตรงที่นั่งใกล้ที่เธอยืนก็ไม่มีทีท่าจะลุกให้นั่ง ฉันยืนคุยกับเธอไปเรื่อย บอกเธอว่ารู้สึกแปลกใจที่ผู้ชายข้าง ๆ เธอไม่สละที่นั่งให้ทั้ง ๆ ที่เธอมีอะไรเต็มไม้เต็มมือไปหมด เธอบอกว่า “อย่าได้คาดหวังอะไรแบบนี้กับผู้ชายญี่ปุ่นเลย พวกเขาไม่มีความคิดแบบนี้อยู่ในสมองด้วยซ้ำไป” แต่นานทีปีหนก็เห็นผู้ชายลุกให้คนอื่นนั่งอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ ไม่ถึงขนาดไม่มีเลย
บางทีฉันเห็นคนวัยชราราวคุณตาคุณยายขึ้นรถไฟมาด้วยกันเป็นคู่ พอที่นั่งว่างลงปุ๊บ คุณตารีบนั่งปั๊บ ปล่อยให้คุณยายยืน ฉันเห็นภาพแบบนี้หลายครั้งหลายคราว รู้สึกสะท้อนใจมากๆ สงสารคุณยายว่าจะรู้สึกอย่างไร อยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต ทำงานบ้าน ทำกับข้าวให้ เลี้ยงลูกให้ เสียสละอะไรมากมาย แต่สามีไม่ยอมสละให้แม้เรื่องเล็กน้อยอย่างนี้
ส่วนผู้ชายวัยทำงานนั้นเวลาขึ้นรถไฟมาคนเดียว ถ้ามีที่นั่งก็มักจะไม่มองรอบตัวกันสักเท่าไหร่ว่ามีคนอื่นที่ต้องการที่นั่งมากกว่าตัวเองไหม แต่รีบปราดเข้าไปนั่งทันที ดูไม่แมนเลย บางทีฉันก็คิดปลอบใจตัวเองว่าเขาคงเหนื่อยมากจากการทำงานมหาโหดในแต่ละวัน และอาจต้องยืนบนรถไฟนานกว่าจะถึงบ้าน ไม่ได้เหนื่อยน้อยกว่าผู้หญิง อะไรทำนองนี้
ฉันเคยเห็นผู้ชายวัยทำงานสองคนนั่งหลับบนรถไฟ ต่างคนต่างซบกันและกันด้วยความเหนื่อยอ่อนหลับไม่รู้เรื่อง ที่แน่ ๆ ทั้งสองคนนี้ไม่น่าจะรู้จักกัน นึกสภาพไม่ถูกว่าตอนตื่นขึ้นมาแล้วต่างคนจะต่างทำหน้าอย่างไร มันเป็นภาพที่ดูน่ารักน่าขันดี แต่มองอีกมุมก็น่าสงสารว่าคงจะเหนื่อยมาก ตอนนั้นคิดอยากแอบถ่ายรูปไปให้เพื่อนดูเหมือนกันค่ะ แต่มือถือที่ญี่ปุ่นเขาตั้งระบบไว้ให้มันส่งเสียงแชะเวลากดชัตเตอร์ถ่ายรูป แล้วการแอบถ่ายก็เสียมารยาทด้วย ก็เลยไม่ได้ถ่ายมา กลัวเดี๋ยวจะเป็นเรื่อง
พูดถึงเรื่องถ่ายรูปนี้ วันก่อนถ่ายรูปหมู่กับเพื่อน ๆ บริเวณใกล้ ๆ ทางเข้าออกสถานีรถไฟ พอจะถ่ายแล้วเพื่อนก็เห็นว่าแบ็คกราวนด์ในรูปมีผู้คนเดินขวักไขว่ เลยชวนกันไปถ่ายบริเวณที่ด้านหลังเป็นกำแพงแทน เพื่อนบอกว่าคนญี่ปุ่นไม่ชอบถูกถ่ายรูป อาจเพราะเดี๋ยวนี้โซเชียลเน็ตเวิร์คมีบทบาทมากขึ้น คนเลยไม่อยากไปมีภาพตัวเองไปปรากฏอยู่ในที่สาธารณะกระมัง
ไม่ทราบว่าเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวหรือเปล่านะคะ แต่ฉันสังเกตว่าในสถานที่อันจำกัดที่ทำให้คนเรารู้สึกถึงความมีตัวตนของตัวเองชัดเจนอย่างบนรถไฟ ในลิฟต์ ในร้านอาหาร คนจะมีโลกส่วนตัวกัน และรู้สึกถึงความแปลกแยกระหว่างตัวเองกับคนอื่นได้ชัดเจนกว่า เวลาทำอะไรขึ้นมาทีก็จะเป็นจุดสังเกตได้ง่าย ดูท่าทางคนญี่ปุ่นไม่ค่อยชอบให้ตัวเองเป็นจุดสนใจอยู่คนเดียวโดด ๆ อยู่แล้ว เลยอาจไม่อยากทำอะไรให้เป็นเป้าสายตาก็เป็นได้ สถานที่จำกัดเหล่านี้แหละที่ทำให้รู้สึกถึงความต่างคนต่างอยู่ของผู้คนในสังคมญี่ปุ่นได้ง่าย แต่พอเป็นที่โล่งแจ้งอย่างเช่นตามท้องถนน คนกลับค่อนข้างจะสบาย ๆ มองดูสิ่งรอบตัวกันมากกว่า อย่างฉันเคยขี่จักรยานแล้วทำซองใส่กุญแจบ้านตกโดยไม่รู้ตัว คุณลุงที่เดินผ่านก็ตะโกนเรียกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่าทำของตกแน่ะ ฉันขี่จักรยานเลยคุณลุงไปเกือบสิบเมตรแล้ว คุณลุงอุตส่าห์ก้มลงหยิบให้แล้วกึ่งเดินกึ่งวิ่งมาหาฉัน หรือฉันเคยใส่กระโปรงแล้วออกจากบ้านโดยไม่ทันดูว่าด้านหลังมันไม่เรียบร้อย พอถึงสถานีกำลังจะขึ้นรถไฟก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมากระซิบบอกให้ ไม่งั้นฉันคงแย่แน่ ๆ
ส่วนในอเมริกานี่คนมักจะสนใจคนอื่น สนใจสิ่งรอบตัวกันโดยทั่วไป และเป็นมิตร วันก่อนฉันนั่งอยู่ในเครื่องบินที่ลงจอดแล้ว เพิ่งตื่น ทั้งง่วง ทั้งเจ็ทแล็ค กำลังจะลุกจากที่นั่งเพื่อเดินออกจากเครื่องบิน หัวก็ไปโขกกับเพดานเข้าให้ส่งเสียงดังโป๊ก แม้จะไม่ได้เจ็บอะไร แต่คุณป้าชาวอเมริกันสองสามคนที่เห็นและได้ยินเสียงหัวโขกพากันร้อง “Ouch!” เสมือนเจ็บแทน ชายคนหนึ่งที่นั่งฝั่งตรงข้ามมีน้ำใจถามฉันว่าเป็นอะไรหรือเปล่า ฉันบอกว่าไม่เป็นไร ขอบคุณ แล้วเดินไปหัวเราะไป ขำตัวเองที่ซุ่มซ่าม และขำความน่ารักของคนฝรั่งที่พากันร้องอุทานเหมือนตัวเองเจ็บไปด้วย พลางนึกไปว่าถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น เดาได้ว่าแต่ละคนคงมองกันเงียบ ๆ โดยไม่พูดอะไรกันแน่เลย แม้ในใจจะคิดอะไรต่อมิอะไรอยู่ก็ตาม
แม้ฉันจะรักประเทศญี่ปุ่นมากขนาดไหนก็อดปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยกรอบที่มองไม่เห็น และมีความอึดอัดที่บอกไม่ถูกอย่างที่เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นของสามีเล่า นอกจากจะเป็นสังคมปิดแล้ว คนก็ยังค่อนข้างจะเหงากันมากทั้ง ๆ ที่ประชากรก็มากมาย แม้จะมีความในใจก็มักซ่อนไว้ภายใต้ใบหน้าเรียบเฉยที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ก็แปลกดีค่ะที่สังคมแบบหมู่คณะอย่างญี่ปุ่นกลับตัวใครตัวมัน ในขณะที่สังคมปัจเจกชนอย่างอเมริกากลับให้ความสนใจคนอื่นกว่ากันมาก
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.