คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ซุปเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นนี่ไปทีไรสนุกทุกที ต่อให้บางทีแค่เดินดูเล่นก็ได้อะไรติดกลับมาด้วยเสมอ แค่ยืนอยู่หน้าตู้แช่ที่เรียงรายไปด้วยเครื่องดื่ม โยเกิร์ต คัสตาร์ดหลากชนิด หลากรส หลากสีสัน หลากแพ็คเกจก็ตื่นเต้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ฉันก็เห็นอย่างนั้นอยู่ทุกวันนั่นแหละ
คงเพราะแพ็คเกจสินค้าดูน่าสนใจ และเขาก็ขยันออกสินค้าตัวใหม่กันสม่ำเสมอ เปลี่ยนแพ็คเกจสินค้าเรื่อย ๆ หรือบางยี่ห้อก็มีของแถมติดมาด้วยเป็นบางคราว จึงทำให้ไม่ชินตาจนน่าเบื่อ และโดยมากเครื่องดื่มของญี่ปุ่นก็รสชาติดี กินแล้วหวานจัดหรือแต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติรุนแรงบ่งบอกถึงความห่างไกลธรรมชาติหลายขุมนี่ยังไม่เคยเจอ
ฉันทึ่งคนญี่ปุ่นมากที่ให้ความสำคัญกับการระบุแหล่งผลิตของอาหารสดทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ว่ามาจากแหล่งใด เช่น จังหวัดไหน ประเทศอะไร ถ้าเป็นของในประเทศญี่ปุ่นเองส่วนใหญ่จะแพงกว่าและคุณภาพดีกว่า
นอกจากจะบอกว่ามาจากแหล่งใดแล้ว สำหรับเนื้อสัตว์นั้นบางทีที่ฉลากติดราคาบนแพ็คก็บอกด้วยว่าเนื้อส่วนนี้เหมาะเอาไปทำอะไร เช่น สเต็ก ตุ๋น หม้อไฟ ย่างกระทะ อะไรอย่างนี้ ทำให้ได้ไอเดียว่าจะทำกับข้าวอะไรดี บางทีก็อาจมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้คู่กันวางขายอยู่ใกล้ๆ กับเนื้อสัตว์ด้วย เช่น ซอสประเภทต่าง ๆ หรืออาจมีไขมันวัวตัดเป็นลูกบาศก์ก้อนเล็กๆ ในห่อพลาสติกให้หยิบฟรี บางทีก็มีสูตรอาหารเป็นเล่มเล็ก ๆ หรือเป็นแผ่นแจกฟรี ให้ไปหยิบเอาเอง ปลาบางอย่างก็อาจจะมีป้ายเขียนด้วยลายมือน่ารัก ๆ ว่าปลานี้อยู่ในฤดูพอดี (แปลว่าช่วงนี้กินอร่อย) พวกปลานี่สังเกตว่าต้องเป็นช่วงฤดูหนาวจะอร่อยกว่าช่วงอื่น ๆ เพราะมีไขมันเยอะกว่า อย่างปลาซาบะนี่เคยซื้อฤดูร้อน เอามาย่างแล้วก็แห้งๆ ไม่ชุ่มฉ่ำเหมือนย่างในฤดูหนาว ว่าแต่คนเล่าเองกำลังน้ำลายจะหกอยู่รอมร่อเหมือนกันนะคะนี่
โดยทั่วไปแล้วผักผลไม้ในญี่ปุ่นมีความหวานฉ่ำอยู่ในเนื้อ กินเปล่าๆ ก็อร่อย เสียแต่ว่าผักในซุปเปอร์จะไม่ค่อยหลากชนิดมากเท่าไหร่ อาจต้องไปหาเพิ่มจากตามท่ีเขาแบกะดินขายข้างนอกที่บางทีบังเอิญเจอ หรือไปหาจากร้านขายผักโดยเฉพาะ
ส่วนพวกผลไม้อย่างสตรอเบอรี่ก็อาจเขียนไว้ว่าความหวานอยู่ที่ระดับใด และอธิบายว่าตัวเลขความหวานเท่านี้ๆ หมายถึงหวานมากหรือน้อย ถ้าเป็นผลไม้ที่มาจากคนละจังหวัดกัน บางทีรูปร่างและสีก็อาจไม่เหมือนกัน ราคาก็อาจไม่ต่างกันมาก ทำให้สับสน ไม่รู้ว่าจะเลือกของจังหวัดไหนดี เวลาเลือกไม่ถูกก็หยิบมาทั้งสองแบบเลย แต่กินแล้วก็ยังบอกไม่ถูกอยู่ดีว่าอันไหนอร่อยกว่า อย่างเดียวกับที่ฉันแยกไม่ออกว่าโค้กกับเป๊บซี่รสชาติต่างกันอย่างไร?
แม่บ้านชาวญี่ปุ่นเวลาไปจ่ายกับข้าวมักจะขี่จักรยานไป ไม่รู้เพราะอย่างนี้หรือเปล่าจักรยานที่มีตะกร้าค่อนข้างใหญ่สำหรับใส่ของด้านหน้าถึงได้เรียกว่า “จักรยานของแม่” บางคนจะติดตะกร้าด้านหลังเพิ่มด้วย เพราะด้านหน้าอย่างเดียวใส่ของไม่พอ ขี่ทีก็ค่อนข้างหนักอยู่ แต่สบายกว่าเดินหิ้วจนถึงบ้านแน่นอน
พูดถึงจักรยานแล้วเขามีพวกอุปกรณ์เสริมขายหลายอย่างเหมือนกัน เป็นต้นว่า ผ้าคลุมที่นั่งขี่จักรยาน (อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจว่าห่อไว้ทำไม อาจไว้กันเวลาฝนตกจะได้ไม่เปียกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) ที่บังลมบริเวณคันจับจักรยาน คงไว้สำหรับเวลาหนาว ๆ ขี่จักรยานมือจะได้ไม่เย็นแข็งไปเสียก่อน ผ้าคลุมตะกร้าด้านหน้าสำหรับเวลาใส่ของมีค่าอย่างกระเป๋าถือ จะได้กันไม่ให้คนเห็นแล้วฉกไป อ้อ ฉันเคยซื้อกับข้าวแล้วแวะบ้านเพื่อนแป๊บเดียวโดยทิ้งพวกกับข้าวไว้ในตะกร้าจักรยาน กลับมาอีกทีกับข้าวหายเกลี้ยงเลย ตกใจมาก!!! ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนแบบไหนขโมย แถวนั้นก็ไม่มีคนเร่ร่อนด้วย เรื่องขโมยของในญี่ปุ่นนี่เป็นประสบการณ์ที่นานทีปีหนถึงจะเจอหรือได้ยินเสียที
บรรดาแม่บ้านที่มีลูกเล็ก ๆ ด้วยเขาจะมีอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มมาอีกคือที่นั่งสำหรับเด็ก ถ้ามีลูกสองคน ลูกคนเล็กนั่งด้านหน้า (ด้านหลังของตะกร้าด้านหน้า อยู่ชิดตัวแม่) และลูกคนโตกว่าซ้อนท้ายบนที่นั่งสำหรับเด็ก มีที่วางขาด้วย ซึ่งก็ไม่ต้องมาห่วงว่าเด็กจะเผลอเอาขาใส่เข้าไปในล้อ ดูท่าจะนั่งสบายอยู่ โดยมากแล้วจักรยานแบบนี้จะเป็นจักรยานไฟฟ้าเพื่อช่วยแม่ ๆ ผ่อนแรงในการรับน้ำหนักลูก ๆ และกับข้าวที่ซื้อ เมื่อก่อนฉันไม่ทราบว่าจักรยานแบบนี้เป็นจักรยานไฟฟ้า เห็นแม่ ๆ บรรทุกน้ำหนักมากมายบนจักรยาน ปั่นขึ้นเนินชัน 45 องศาหน้าตาเฉย ฉันก็มองตาค้างด้วยความทึ่ง เข้าใจผิดไปว่าความแข็งแกร่งของคนเป็นแม่ทำให้แม่มีพลังปั่นจักรยานขึ้นเนินสูงชันได้ด้วยความอดทนเสียอีก
ฉันเคยอ่านเจอในหนังสือการ์ตูนว่าเวลาซุปเปอร์มีของลดราคากระหน่ำนั้น บรรดาแม่บ้านทั้งหลายจะกรูกันแย่งซื้ออุตลุดมากจนแทบจะตบตีกัน ฉันนึกว่ามาอยู่ญี่ปุ่นแล้วจะได้เห็นบ่อย ๆ เสียอีก แต่กลับไม่เคยเห็นกับตาเสียที ไม่รู้ว่าไปไม่ทัน หรือว่ามันไม่มีจริงก็ไม่ทราบ ใครเคยมีประสบการณ์ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ
บางทีฉันก็ลืมไปว่าในกระเป๋าตังค์มีเงินสดไม่พอ วันหนึ่งระหว่างกลับบ้านหลังเลิกงาน ฉันแวะซุปเปอร์ซื้อขนมปังแถวหนึ่ง ราคาร้อยกว่าเยน พอไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ก็ต้องชะงักที่พบว่าเงินไม่พอ ขาดไปไม่กี่เยน ฉันยืนจ๋อย สารภาพกับคุณน้าพนักงานว่า “ขอโทษค่ะ พอดีเงินไม่พอ ขอคืนของนะคะ” คุณน้าพนักงานก็ยิ้มใจดีอย่างเข้าใจ บอกว่าไม่เป็นไร ฉันก็เลยเดินอายๆ ออกจากซุปเปอร์ไป
เรื่องเงินไม่พอแล้วซื้อของไม่ได้นี่น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่เคยได้ยินคนอเมริกันที่อยู่ในญี่ปุ่นบ่นว่าเขาซื้อของแล้วเงินขาดไปแค่เยนเดียว พนักงานก็ไม่ยอมขายให้ ฉันฟังแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคาดหวังว่าพนักงานจะยอมปัดเงินหนึ่งเยนให้ เพราะเวลาทางร้านสรุปบัญชีก็จะพบว่าเงินหายไปหนึ่งเยน และอาจแตกตื่นว่าทำไมเงินถึงขาดไปไม่ใช่ว่างกกับอีแค่หนึ่งเยน แต่เพราะสงสัยว่าในขั้นตอนของการทำงานที่ไม่น่าผิดพลาดได้นั้นเกิดความผิดพลาดขึ้นที่จุดใด ไม่อย่างนั้นพนักงานก็ต้องควักเนื้อยอมจ่ายแทนลูกค้า แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยนิดมันก็ดูไม่สมเหตุสมผล พอมาอยู่อเมริกา ถึงทราบว่าบางทีพนักงานก็ปัดเศษให้ถ้าเงินเราไม่พอ ฉันก็งง!! ไม่ทราบว่าเวลาเขาสรุปบัญชีเขาทำกันอย่างไรเหมือนกัน และมีการยักยอกเงินหรือเปล่า
ซุปเปอร์ที่ญี่ปุ่นเขานิยมใช้ตะกร้ากัน ถ้าเป็นรถเข็นก็เป็นรถเข็นเล็ก ๆ วางตะกร้าได้สองใบแบบบ้านเรา เพราะเวลาจะจ่ายเงินที่แคชเชียร์ เขาจะวางของบนสายพานกันทั้งตะกร้าโดยไม่ต้องหยิบสินค้าออกมาเป็นชิ้นๆ เหมือนเมืองไทยหรืออเมริกา
พนักงานจะหยิบตะกร้าใหม่ที่วางอยู่ข้างตัวเขาออกมาอีกใบ พอเขาหยิบสินค้าชิ้นหนึ่งออกมาจากตะกร้าเราเพื่อคิดเงินเสร็จ ก็จะหยิบสินค้านั้นวางลงในตะกร้าใหม่ ซึ่งเขาคงเทรนกันมาดีมาก เพราะพนักงานจะจัดของแต่ละชิ้นแบบรู้ว่าของหนักควรอยู่ล่าง ของเบาหรือเละเทะง่ายควรอยู่บน ช่องว่างในตะกร้าตรงนี้สามารถใส่อะไรได้อีก พวกของที่อาจมีของเหลวรั่วไหลได้อย่างเช่น เต้าหู้สด เนื้อสัตว์แพ็คกล่องโฟม เขาจะใส่ถุงพลาสติกออกใส ๆ บาง ๆ มาให้ด้วย ถ้าเป็นสินค้าในขวดแก้วก็จะใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาล อีกอย่างที่น่าสังเกตคือถ้าหากซื้อผ้าอนามัย ถ้าเป็นซุปเปอร์เขาจะห่อถุงกระดาษสีน้ำตาลให้มิดชิด หากซื้อจากร้านขายยาเขาจะมีถุงสีทึบใส่แยกไว้ต่างหากเลย ตรงนี้เข้าใจว่าเขาคงเกรงว่าลูกค้าอาจจะอาย ไม่อยากถือเดินไปเดินมาแล้วคนอื่นเห็น เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมากเลย
พอพนักงานแคชเชียร์ของซุปเปอร์คิดเงินเสร็จ ถ้าร้านไหนเขาให้ถุงพลาสติกฟรีก็จะวางถุงมาให้บนตะกร้า ซึ่งเขากะมาแล้วว่าเราต้องใช้กี่ถุง โดยมากก็ไม่เกิน 2-3 ถุง พอเราจ่ายเงินแล้วก็เดินไปบริเวณที่เขาจัดไว้ให้เพื่อเอาสินค้าจัดใส่ถุงเอาเอง ถ้าถุงไม่พอจริง ๆ ก็ไปขอเพิ่มได้ มีบางร้านเหมือนกันที่เขาใส่ถุงให้เลย แล้วแต่นโยบายเป็นร้าน ๆ ไป
ซุปเปอร์บางแห่งใช้นโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเขาจะลดค่าของให้เราประมาณ 2 เยนถ้าเราบอกเขาว่าไม่เอาถุง สำหรับบางร้านถ้าเราจะเอาถุงก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ราคาไม่เท่ากันแล้วแต่ขนาด แม้จะไม่มากแต่ก็ชวนให้รู้สึกว่าไม่อยากจ่ายเพิ่ม ร้านอย่างหลังนี้เขาจะมีลังกระดาษที่บรรจุสินค้ามาและไม่ใช้แล้ว (คือจะทิ้งแล้ว) มาวางซ้อนเป็นชั้น ๆ หลายใบหลายขนาดพร้อมเทปกาวให้เราปะลังเองแล้วใส่ของกลับบ้าน ลังพวกนี้เวลาจะทิ้งเขาจะทิ้งแบบเป็นขยะรีไซเคิลอยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าได้ใช้สองต่อก่อนรีไซเคิล เป็นการเอาของที่ยังใช้ได้มาใช้ซ้ำ และลดการใช้ของที่เพิ่มขยะและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างถุงพลาสติก บางคนที่สะดวกใช้ถุงมากกว่ากล่องก็จะพกถุงผ้ามากันเอง มันอาจจะไม่ค่อยสะดวกอยู่บ้างกับการต้องพกถุงมาเองหรือใช้ลังพวกนี้ แต่ก็ช่วยลดขยะไปได้เยอะ และสร้างนิสัยใหม่ให้เราเห็นคุณค่าของทรัพยากร เห็นความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจเพื่อรักษาโลกที่เราเองก็อยู่อาศัยนี้ให้น่าอยู่ต่อไป
ไปจ่ายกับข้าวกันครั้งต่อ ๆ ไปลองเตรียมถุงไปใส่ของเองดูไหมคะ บางบ้านถุงพลาสติกเยอะมาก เก็บไว้ก็ใช้ไม่ทัน จะทิ้งก็เสียของเพราะยังใช้ได้อยู่ ถ้าเราเอาถุงที่มีไปใช้ซ้ำ มันก็ลดปริมาณถุงพลาสติกในบ้านไปได้เยอะ ช่วยโลกลดขยะไปได้ จะเปลี่ยนโลกเปลี่ยนสังคมเราเริ่มได้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ตัวเราเองโดยไม่ต้องรอใครนำ ทำเรื่องดี ๆ ก็รู้สึกดี ๆ สบายใจดีนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.