รอยแค้นทางประวัติศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีไม่มีวันลบเลือน โดยเฉพาะในวันรำลึกการสิ้นสุดสงครามโลก ชาวเกาหลีได้นำรูปปั้นแทนหญิงเกาหลีที่ถูกบังคับให้เป็น “ทาสกาม” สมัยสงครามโลกขึ้นรถเมล์ตระเวนทั่วกรุงโซล
รูปปั้นเด็กสาวที่เป็นสัญลักษณ์แทนหญิงเกาหลีที่ถูกบังคับให้เป็น “สตรีผู้ให้ความสำราญ” แก่กองทัพทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกนำขึ้นรถเมล์หลายสายในกรุงโซล เพื่อตอกย้ำถึงความเจ็บช้ำที่ชาวเกาหลีถูกย่ำยี โดยผู้ว่าการกรุงโซลก็ได้ร่วมโดยสารรถเมล์เที่ยวปฐมฤกษ์ที่มีรูปปั้นเด็กสาวนี้เป็นหนึ่งในผู้โดยสารด้วย
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า “วันสิ้นสุดสงครามโลก” แต่ฝ่ายเกาหลีเรียกว่า “วันปลดปล่อยชาติจากการปกครองของญี่ปุ่น” จากชื่อที่แตกต่างกันนี้ก็สะท้อนชัดเจนว่า ทัศนคติต่อประวัติศาสตร์ช่วงสงครามของทั้ง 2 ประเทศแตกต่างกันเพียงใด
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงกับรัฐบาลเกาหลีในสมัยประธานาธิบดีปาร์กกึมเฮ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรเงินทุน 1 พันล้านเยนให้กับเกาหลีใต้ เพื่อยุติความบาดหมางเรื่องสตรีผู้ให้ความสำราญ โดยตกลงกันว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวเกาหลีจำนวนมาก และประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้ก็แสดงท่าทีว่าเขาจะเจรจากับญี่ปุ่นใหม่ เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับชาวเกาหลีทั้งมวล
ผู้นำเกาหลีใต้เข้าร่วมในพิธีซึ่งรำลึกถึงการที่เกาหลีได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากการปกครองในฐานะอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเชิญอย่างเป็นทางการไปยังสตรีผู้ให้ความสำราญและบรรดาชายที่ถูกบังคับเกณฑ์ไปทำงานในญี่ปุ่น
ผู้นำเกาหลีใต้ชี้แจงถึงนโยบายในการขยายการแลกเปลี่ยนหลายด้านเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เช่น การนำนโยบายการทูต "shuttle diplomacy" กลับมาใช้อีกครั้งโดยที่ผู้นำของสองประเทศนี้จะผลัดกันเดินทางไปเยือนประเทศของกันและกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวว่าการมุ่งเน้นไปที่อนาคตนั้นไม่ได้หมายความว่าประเทศสามารถมองข้ามประเด็นต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ได้ เขาย้ำว่าในการรับมือกับประเด็นเหล่านี้ มีหลักการสากลเพื่อกอบกู้เกียรติยศและชดเชยความเสียหายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ ค้นหาความจริง และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิม
ญี่ปุ่น-เกาหลี แค้นนี้ไม่มีวันลืม?
ในวันที่ 15 สิงหาคม รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดพิธีรำลึกวาระครบ 72 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กรุงโตเกียว เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,100,000 คนในสงคราม โดยสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงมีพระราชดำรัสถึงความสำนึกผิดอย่างลึกซึ้งต่อสงคราม และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีก
นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ กล่าวสุนทรพจน์มีใจความว่าการทำลายล้างของสงครามไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก และเน้นถึงบทบาทของญี่ปุ่นในการส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลกในช่วงหลายทศวรรษนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก
แต่ในวันเดียวกัน ผู้นำญี่ปุ่นมอบหมายคนสนิทถวายเครื่องสักการะที่ศาลเจ้ายะซุกุนิ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสักการะผู้ที่เสียชีวิตในสงครามของญี่ปุ่น รวมถึงบรรดาผู้นำที่ถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงครามภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
พฤติกรรมของนายอะเบะถูกวิจารณ์จากทั้งรัฐบาลจีนและเกาหลีใต้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ชาติได้ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สำนึกผิดต่อพฤติกรรมในอดีต และพยายามทำให้การรุกรานสมัยสงครามเป็นเรื่องของเกียรติภูมิเพื่อชาติ พฤติกรรมเช่นนี้ไม่แสดงถึงความรับผิดชอบ และทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่อาจไม่วางใจได้.