xs
xsm
sm
md
lg

ศาสตร์แห่ง “ความกลมกลืน” ของคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

วง World Order ของญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของท่าเต้นเลียนแบบหุ่นยนต์ ซึ่งมีความพร้อมเพรียงอย่างเหลือเชื่อ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


โลกเราทุกวันนี้รู้อะไรเกือบจะพร้อมๆ กันหมดเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคมออนไลน์ทำให้ความจริงหลายอย่างกระจ่างและก่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่บางทีก็กลายเป็นความแตกต่างที่กระทบต่อความกลมกลืนของสังคมจนทำให้เสียกระบวนได้เหมือนกัน

ระยะนี้สังคมไทยเกิดสารพัดกระแสไม่เว้นแต่ละวัน กลายเป็น “ดรามา” รัวๆ ที่ต่างฝ่ายต่างกระหน่ำความคิดใส่กันไม่ยั้ง และเป็นที่น่าสังเกตว่า คนจำนวนไม่น้อยที่แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรแห่งข้อมูล พอถูกอารมณ์ชักพาไป หลายๆ ครั้งการวิจารณ์ก็แปลงร่างเป็นการด่าทอ พลอยทำให้รู้สึกว่าเราขาดทักษะการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนไปแล้วหรือเปล่า คราวนี้จึงอยากนำสิ่งที่คิดว่าเป็นวิธีสร้างความกลมกลืนของคนญี่ปุ่นมาบอกเล่า เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อความกลมเกลียวของคนไทยในหลายๆ โอกาส

ความกลมกลืนภายในกลุ่มเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างสูง ไม่ใช่ว่าสังคมญี่ปุ่นไม่มีคนก้าวร้าวทางความคิดหรือทางกายภาพ แต่โดยรวมแล้ว บรรยากาศในสังคมจะฝนเหลี่ยมของคนให้มีลักษณะมนๆ ไม่ทิ่ม ไม่แทง แต่เมื่อต้องเผชิญหน้าจริงๆ ก็จะอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ดูท่าทีก่อน แล้วค่อยๆ ขัดจนลงตัว และคงเพราะเหตุผลนี้ วัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนแปลงช้า การว่ากันซึ่งหน้ามีน้อย การคัดง้างกับเจ้านายไม่ค่อยเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาไว้ซึ่งความกลมกลืนภายในกลุ่ม ซึ่งเกี่ยวพันกับการบริหารอารมณ์

เมื่อกล่าวถึงการบริหารพื้นที่ทางอารมณ์ หมายความว่า ขณะที่อยู่ในกลุ่ม ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นข่มอารมณ์ที่อยากจะระเบิด และขยายความได้ว่า อันดับแรก คนญี่ปุ่นมองว่าการเก็บอารมณ์ของตัวเองไม่ให้ล้นทะลักออกมาคือความดีงามอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดอารมณ์ในทางลบ คือไม่ว่าจะหงุดหงิด หัวเสีย โกรธ เสียใจ หากควบคุมไว้โดยไม่เผยให้ใครรู้ ไม่ขึ้นเสียง ไม่ด่าทอ นี่คือลักษณะของ “ความเป็นผู้ใหญ่” หรือหากจะตำหนิ ก็ว่ากันแบบผู้ใหญ่ ด้วยเหตุผล ด้วยการฟังความรอบด้าน และเมื่อลุกลามถึงจุดล่อแหลมที่จะนำไปสู่ความแตกหัก หากเป็นสังคมที่จำกัดวง คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะยอมเงียบ (ไม่รวมถึงนักการเมืองที่โต้คารมกันในสภา) มากกว่าการเข้าปะทะ หากเป็นสังคมใหญ่ระดับประเทศ อาจเกิดการประท้วงบ้าง แต่ก็เป็นการประท้วงที่ไร้การปะทะ

ถ้าใครได้เห็นการประท้วงในญี่ปุ่นก็จะเข้าใจมากขึ้น ในญี่ปุ่นไม่ใช่ไม่มีการประท้วง มีเหมือนกัน แต่น้อยครั้งมากที่จะกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ การประท้วงรุนแรงที่ออกไปในแนวทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงสองสามทศวรรษนี้ (ครั้งที่รุนแรงหน่อยคือตอนที่รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านกฎหมายความมั่นคงชุดใหม่) เพราะคนญี่ปุ่นประท้วงเพื่อบอกให้รู้ว่า “เราไม่เห็นด้วย” หรือ “เราเป็นห่วงสภาพที่เกิดขึ้น” และประท้วงอย่างมีมารยาทไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์หรือทางผลประโยชน์ก็แล้วแต่ ผมเคยไปยืนดูคนญี่ปุ่นเดินขบวนประท้วงในย่านชิบุยะเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มองแล้วก็ยังนึกชม เพราะขนาดเดินประท้วงก็เข้าแถวกันดิบดี กินพื้นที่ถนนไปนิดเดียว และมีตำรวจเดินอยู่ใกล้ๆ เพื่อกันให้ทั้งคนทั้งรถทั่วไปสัญจรได้สะดวก เมื่อจบก็แยกย้ายกันไปโดยสงบ เพราะคนญี่ปุ่นเคารพระบบ

อันดับต่อมา คือ คนญี่ปุ่นมี “ความเป็นมนุษย์คู่มือ” สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากมาจากความอดกลั้น หมายความว่า คนญี่ปุ่นเคารพระบบและรูปแบบ โดยมักจะทำอะไรๆ ตามขั้นตอนที่ผ่านการตัดสินใจของกลุ่มหรือองค์กรที่มีอำนาจเหนือตนเอง การตัดสินใจเหล่านั้นจะแปลงเป็นตัวหนังสือชัดเจน และกลายเป็น “คู่มือ” หรือในอีกนัยหนึ่งคือ กฎ ระเบียบ หรือกติกาให้คนทั้งองค์กรนำไปปฏิบัติ การทำงานของพนักงานญี่ปุ่นจึงอิงคู่มืออย่างเหนียวแน่น ทำให้คนญี่ปุ่นผู้อยู่ในหน้าที่กลายเป็น “มนุษย์คู่มือ” ซึ่งก็มีทั้งข้อเสียและข้อดี ข้อเสียคือ ทำให้คนระดับล่างๆ ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ แต่จุดนี้สังคมญี่ปุ่นก็มีกลไกช่วยคลี่คลายในระดับหนึ่งซึ่งจะได้ขยายความกันต่อไป ส่วนข้อดีคือ การเป็นมนุษย์คู่มือทำให้เกิด 1) ความชัดเจนในการปฏิบัติ ลดความผิดพลาดในการทำงาน เพราะมีข้อความเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร, 2) ความกลมกลืนในองค์กร เพราะทุกคนปฏิบัติเหมือนกัน และ 3) การลดความกดดันของบุคลากรระดับล่างๆ หากเกิดกรณีที่จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วยตัวเอง

ถ้าถามว่า คนญี่ปุ่นทุกคนยอมรับ “คู่มือ” อย่างเต็มใจหรือไม่ คำตอบคือไม่เสมอไป บางคนอาจจะบ่น บางคนเลี่ยง บางคนหาวิธีเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ บางคนหลีกลี้ไปหาที่ชอบๆ ของตัวเอง เพราะในโลกนี้คงไม่มีเรื่องอะไรที่จะถูกใจมนุษย์ได้ทุกคนอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในกลุ่มเดิม คนญี่ปุ่นจะปฏิบัติตามสิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นใบสั่งนั้นในขอบข่ายที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “ความกลมกลืน” ระหว่างตัวเองกับกลุ่ม จึงถือได้ว่าปรากฏการณ์มนุษย์คู่มือนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกลุ่ม

สภาพแบบนี้มักเป็นที่สงสัยของคนภายนอกว่า “คนญี่ปุ่นสอนกันยังไง ผู้คนถึงได้เคารพสิทธิของกลุ่มกันถึงขนาดนี้” จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก กล่าวคือ โรงเรียนญี่ปุ่นปลูกฝังเรื่องพวกนี้ให้แก่นักเรียนตั้งแต่เล็กๆ ด้วยกิจกรรมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งกลุ่มเลี้ยงกระต่าย เลี้ยงไก่ ทำเวร ทำความสะอาด เสิร์ฟอาหารกลางวัน เมื่อเดินทางไกลก็ให้เด็กจับมือเป็นคู่ๆ กันไปตลอด เป็นต้น เด็กๆ จะซึมซับความตระหนักเรื่องการอยู่ร่วมกันเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

พอโตเป็นผู้ใหญ่ แน่นอนว่าก็จะมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น และก็แน่นอนอีกว่านานๆ ทีก็จะมีคนที่คิดอะไรฉีกแนวโผล่มาสักคน ถามว่ากลไกที่ “กลุ่มใหญ่” ในสังคมญี่ปุ่นนำมาใช้รับมือกับคนแบบนี้คืออะไร คำตอบคือ ทางกลุ่มก็ทำความเข้าใจความแตกต่างนั้น แล้วก็เปิดพื้นที่ให้แก่คนกลุ่มนี้ แต่...แต่ไม่ได้หมายความว่าทางกลุ่มจะต้องยอมรับทุกเรื่องที่ “กลุ่มฉีกแนว” เรียกร้อง พูดง่ายๆ คือ ยอมรับ แต่ไม่ยอมจำนนตราบใดที่กรอบเดิมยังคงเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ใครคิดต่างก็คิดไป อยากทำอะไรก็ทำไป แต่ห้ามล้ำเส้น หรือพูดให้ง่ายกว่านี้อีกก็คือ “ประนีประนอม” ซึ่งเป็นทักษะที่ญี่ปุ่นใช้มาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ มีคนอีกมากมายนอกญี่ปุ่นไม่ทราบว่าทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย สำหรับคนไทย พอได้ยินคำว่า “คอมมิวนิสต์” อาจมองเหมารวมไปในทางลบ แต่ในญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์คือพรรคการเมืองทั่วไปพรรคหนึ่งซึ่งทำกิจกรรมการเมืองโดยเปิดเผยและถูกกฎหมาย มีนโยบายของตน ลงรับสมัครเลือกตั้งตามปกติ นั่นคือพื้นที่ที่สังคมให้ แต่ผลที่สุด เมื่อมีการเลือกตั้ง แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะได้รับเลือกบ้าง แต่ก็ไม่มาก และสิ่งนั้นคือการตัดสินใจของสังคมญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดยที่ระบบก็ไม่ได้มุ่งจะทำลายล้างความคิดเห็นที่แตกต่างให้สูญสิ้นไม่เหลือซาก และสังคมก็ยังอยู่กันอย่างกลมกลืนได้
คะซุโอะ ชิอิ ประธานกรรมการ (หัวหน้า) พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นคนปัจจุบัน  (ภาพโดย  多摩に暇人)
แต่เงื่อนไขอย่างหนึ่งสำหรับการบรรลุจุดนั้นคือ ทั้งหมดนี้ต้องมีการปูพื้นมาแต่เนิ่นๆ ในวัยเด็ก และอย่าหาว่าอะไรๆ ก็เอาไปโทษการศึกษาเลย เพราะเรื่องแบบนี้ถ้าไม่ปลูกฝังทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ก็ไม่มีที่ไหนจะทำได้แล้ว โรงเรียนญี่ปุ่นเน้นเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในช่วงปฐมวัย คนญี่ปุ่นเรียนหนังสือกันหนักๆ ก็ต่อเมื่อขึ้นมัธยมปลาย ก่อนหน้านั้นคือการเรียนชีวิตขั้นพื้นฐานกับทักษะอ่านออกเขียนได้ทั่วไป และมาตรฐานโรงเรียนประถมของญี่ปุ่นก็ใกล้เคียงกันทั้งประเทศ เมื่อทุกคนมีกรอบพื้นฐานทางความคิดที่เคารพระบบและครรลองเดียวกันในการใช้ชีวิตเป็นหมู่คณะ จะคุยอะไรกันก็รู้เรื่อง หรือแม้มองอะไรต่างกันก็ยังหาทางออกได้โดยสันติ เมื่อสารพัดความแตกต่างถูกจับมาอยู่รวมกันและจัดระเบียบโดยมีจุดร่วมคือ “เอกภาพภายนอก” เมื่อนั้นการนำพากลุ่มไปข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น และนี่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญ

สำหรับโรงเรียนไทย เราถกกันไม่จบมาเป็นสิบๆ ปีว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร ข้อเสนอง่าย ๆ ส่วนหนึ่งจากคนที่ชินกับระบบญี่ปุ่นเพื่อความกลมเกลียวของคนไทยยุคสังคมออนไลน์ คือ เราควรเพิ่มอัตราส่วนการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้นด้วยกิจกรรมกลุ่ม อีกทั้งควรสอนกันอย่างจริงจังเรื่องมารยาทในสังคมปกติและสังคมออนไลน์ ฝึกจับใจความเพื่อแสดงทัศนะอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเขียนและการพูด จะได้เอาไว้เถียงกันได้ตรงประเด็น รวมทั้งต้องละเว้นคำพูดแสดงอารมณ์รุนแรง ยอมรับผิดเมื่อเราผิด ละอัตตาแม้เราเรียนสูง ไม่ดูถูกผู้ที่รู้น้อยกว่าเพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง ไม่พูดโดยไม่มีหลักฐาน ถ้ามีความคิดเห็นที่แตกต่างก็ควรแสดงออกตามบรรทัดฐานของขนบประเพณีอันดีงาม

ทักษะเหล่านี้ไม่มีทางจะผุดขึ้นมาเองได้ ถ้าโรงเรียนกับครอบครัวไม่สอนและให้เด็กได้ฝึกอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสียบ้าง เด็กก็จะไปจำดิบๆ จากโลกออนไลน์ ซึ่งบางทีอาจกรองผิดกรองถูก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจกลายเป็นคนหนึ่งที่ร่วมทำลายความกลมกลืนไปแล้ว หากเริ่มกันเสียตั้งแต่วันนี้ ดรามาออนไลน์ของไทยคงจะน้อยลง ความกลมกลืนและกลมเกลียวทั้งบนโลกออนไลน์และโลกจริงก็น่าจะครองพื้นที่สื่อได้มากขึ้น

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น