คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
วัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่นที่น่ารักและคล้ายกันอย่างหนึ่งคือการเอาของฝากติดไม้ติดมือไปด้วยเวลาไปเยี่ยมบ้านใคร ฉันจำได้ว่าเวลาเพื่อนของอามาเยี่ยมบ้านจะต้องซื้อผลไม้อะไรมาฝากย่าด้วยเสมอ เพื่อนฉันเองเวลามาเยี่ยมบ้านก็มักซื้อผลไม้ ซื้อขนมมาฝากแม่ฉันเหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นก็เห็นคุณครูสมัยประถมของสามีฉันติดขนมดี ๆ มาฝากแม่สามีกับคุณยายเวลามาเยี่ยมที่บ้าน ซึ่งคนญี่ปุ่นก็มักจะเอาขนมที่เขาหิ้วมาฝากนี้ออกมารับประทานด้วยกัน ไม่ได้เอาเก็บขึ้นไว้รับประทานกันเองภายหลัง
แต่เวลาคนญี่ปุ่นเขาเอาของฝากติดไม้ติดมือไปเยี่ยมบ้านใครนั้น ถ้าโดยธรรมเนียมแล้วก่อนยื่นจะพูดประโยคหนึ่งซึ่งแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยได้ว่า “(นี่เป็น)ของน่าเบื่อครับ/ค่ะ” ตอนแรกที่ได้ยินนี่ทำเอาหัวร่องอหายไปหลายวัน นึกถึงทีไรเป็นต้องขำไปเสียทุกที
ถ้าเป็นที่เมืองไทยซึ่งเราพูดต่างกันไปคนละเรื่อง เราจะบอกว่า "นี่ของดีนะ นี่อร่อยนะ เลยซื้อมาฝาก" คงคิดไม่ออกเลยว่าจะเอาของน่าเบื่อมาฝากกันได้อย่างไร ขืนพูดว่านี่ของน่าเบื่อนะ คนรับคงงงว่างั้นเอามาให้ฉันทำไม หรือไม่ก็คงเผลอหลุดปากอุทานออกมาว่า “หา?”
แต่คนญี่ปุ่นจะติดนิสัยถ่อมตัวไว้ก่อนตามมารยาท ทำให้กระทั่งของที่เอาไปฝาก ซึ่งคงจะเป็นของดีนั่นแหละ ก็ต้องโดนถ่อมตัวให้กลายเป็นเสมือนของไม่มีคุณค่าอะไรไปด้วย แต่ที่จริงแล้วเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นของน่าเบื่อตามที่พูดเป๊ะๆ เพียงแต่สำนวนภาษามันเป็นแบบนั้น ปัจจุบันคำนี้ไม่ค่อยได้ยินกันเท่าไหร่แล้ว เดี๋ยวนี้จะพูดกันว่า “หวังว่าจะรับประทานแล้วชอบ” หรือ “นี่เป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ” อะไรทำนองนี้แทน
สิบกว่าปีก่อนฉันไปพักบ้านเพื่อนคนญี่ปุ่น เลยติดของฝากอย่างดีจากไทยไปด้วย ตอนบอกแม่เพื่อนว่า “นี่เป็นของน่าเบื่อค่ะ” แม่ก็ยิ้ม ตีฉันเบา ๆ หนึ่งทีและบอกว่า “ไม่ใช่ของน่าเบื่อสักหน่อย” ในใจฉันแอบคิดว่า "อ้าว...ก็ในธรรมเนียมญี่ปุ่นเขาให้พูดแบบนี้ไม่ใช่รึ"
เรื่องความถ่อมตัวของคนญี่ปุ่นนี้ อาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่ามีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งแกเล่นกอล์ฟเก่ง คนเล่นกอล์ฟเก่งนี้ก็เล่าว่าเล่นได้อย่างโน้นอย่างนี้ พอคนชมเข้า แกก็บอกว่าไม่เก่งหรอก ๆ แต่ก็เล่าเรื่องฝีมือของแกต่อไปไม่หยุดปาก แสดงว่าแกก็คิดแหละว่าแกเล่นกอล์ฟเก่ง แต่ด้วยวัฒนธรรม ด้วยมารยาท ก็ต้องพูดติดปากไว้ก่อนว่าไม่เก่ง ๆ
บ้านเราก็มีวัฒนธรรมคล้ายกันกับญี่ปุ่นตรงเรื่องการถ่อมตัว ฉันจำไม่ค่อยได้เหมือนกันว่าสมัยเด็ก ๆ ใครเป็นคนสอนเรื่องการถ่อมตัว ไม่รู้ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือในหนังสือสอนมารยาทที่โรงเรียนแจก จำได้ว่าได้รับการสอนว่าเวลาคนชมต้องถ่อมตัวด้วยการปฏิเสธ ไม่บอกว่าตัวเองเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ มีดีมีเด่นอย่างไรบ้าง แต่เรื่องนี้ถ้าเป็นที่อเมริกา ขืนไปถ่อมตัวว่าตัวเองไม่เก่งหรอก ไม่หล่อไม่สวยหรอก ไม่ดีหรอก เขาจะหาว่าเราไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความนับถือตัวเอง ไม่มีความน่าสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าอยู่อเมริกาอาจต้องทำใจให้ชินกับการอวยตัวเองของคนอื่นและของตัวเองเหมือนกัน
เรื่องของฝากนี้ค่อนข้างจะเป็นธรรมเนียมที่เห็นได้ชัดในที่ทำงานคนญี่ปุ่น อย่างถ้าลาไปเที่ยวหลายวันต่อ ๆ กันหรือโดนให้ไปทำงานในต่างจังหวัดไกลๆ หรือต่างประเทศ เขาก็มักจะซื้อขนมมาฝากเพื่อนร่วมงาน โดยอาจจะวางไว้ในครัวให้คนไปหยิบเอาเองตามสบาย หรือเดินไปแจกให้คนละอัน ๆ ซึ่งถ้าเราไปต่างจังหวัดในญี่ปุ่นกลับมานี่ยังง่าย เพราะว่าพวกขนมของฝากเขาทำแยกชิ้นแยกห่อเอาไว้สามารถให้เป็นคนๆ ได้ แต่ถ้าเป็นประเทศอื่น ๆ บางทีหาของฝากทำนองนี้ค่อนข้างยาก จำได้ว่าเวลาสามีหาขนมของฝากในไทยเพื่อเอาไปฝากคนที่บริษัทนี่หากันเนิ่นนานและไม่ค่อยได้อย่างที่ต้องการเท่าไหร่ เจอแต่ขนมที่ใส่รวมกันไว้ในกล่องหรือในถุงโดยไม่ห่อแยกชิ้น ที่เป็นห่อหรือเป็นถุงเล็ก ๆ ก็ไม่ค่อยจะมี
ฉันว่าวัฒนธรรมของการเอาขนมมาเดินแจกเพื่อนร่วมงานเป็นคน ๆ อย่างนี้มันก็น่ารักดี ทำให้มีโอกาสได้หาเรื่องคุยกับเพื่อนร่วมงาน ได้ละจากงานตรงหน้ามาพักบ้าง โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่คนไม่ค่อยจะเอาเวลางานมาคุยเล่นหรือนั่งกินขนมไปด้วย ฉันจำได้ว่ารู้สึกตื่นตาตื่นใจและดีใจเวลาได้ของฝาก แม้จะเป็นขนมแค่ชิ้นเดียวก็ตาม เพราะขนมญี่ปุ่นในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละจังหวัดอาจมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน ทำให้การได้รับขนมชิ้นหนึ่งๆ เป็นเรื่องสนุก และการได้คุยสัพเพเหระกับเพื่อนร่วมงานแม้นาทีสองนาทีก็เป็นเรื่องสนุกและคลายความเครียดจากงานไปได้บ้าง
บางทีผู้ใหญ่ในที่ทำงานอาจจะเป็นคนได้รับขนมของฝากมาจากหน่วยงานอื่นที่มาติดต่อ ซึ่งโดยธรรมเนียมแล้วเขาจะเอาขนมนี้มาแบ่งกันกับพนักงานคนอื่น ๆ อาจจะฝากพนักงานสักคนหรือเลขาฯ เป็นคนไปเดินแจก ซึ่งตัวผู้ใหญ่เองอย่างมากก็ได้รับประทานเท่ากับคนอื่น ๆ ไม่นิยมเก็บไว้เป็นของตัวเองส่วนตัว ตรงจุดนี้อาจเป็นมุมมองของคนญี่ปุ่นที่เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ขององค์กร เวลาได้อะไรมาก็เลยไม่ได้คิดว่าเป็นของส่วนตัว แต่แบ่งกันกับในองค์กรด้วย และโดยมากคนที่เขาฝากของมาก็จะเผื่อว่าคนรับจะแบ่งกันกับคนอื่น ๆ ในที่ทำงานด้วยเช่นกัน นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับความเป็นหมู่คณะมากกว่าปัจเจกชนได้อยู่เหมือนกัน
เคยมีครั้งหนึ่งที่คนขับรถเช่าของบริษัทรถซึ่งที่ทำงานฉันใช้บริการประจำพูดจาห้วน ๆ หยาบคายแบบคนพาล สร้างความรำคาญใจให้เรามาก พอเราแจ้งเรื่องให้ตัวแทนบริษัทรถเช่าทราบเรื่องและขอเปลี่ยนคนขับในวันอื่น ๆ ตัวแทนซึ่งมีความคุ้นเคยกับที่ทำงานฉันมาหลายปีก็ขอโทษขอโพยใหญ่โต วันหนึ่งหรือสองวันต่อมา ตัวแทนก็มาหาเราถึงที่ทำงานพร้อมกับขนมกล่องใหญ่กล่องหนึ่งหรือสองกล่องจำไม่ได้ถนัด และก้มหัวขอโทษที่วันก่อนทำให้พวกเราเดือดร้อน จริง ๆ พวกเราไม่ได้คิดอะไรมากมายและลืมไปแล้วด้วยซ้ำ รู้สึกเกรงใจเหมือนกันที่ทำให้เขาต้องเดินทางมาหาถึงที่เพื่อขอโทษ แต่นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขารู้ธรรมเนียม รู้มารยาทของสังคมญี่ปุ่น และนี่เองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนและระหว่างองค์กรเป็นไปได้ด้วยดี ไม่สร้างความบาดหมางคลางแคลงใจระหว่างกัน ส่วนขนมพวกเราก็เอาไปให้นายก่อน รายงานเรื่องให้นายทราบ แล้วนายก็อนุญาตให้พวกเราเอาไปแจกจ่ายกัน เขียนถึงบรรทัดนี้แล้วก็ชักคิดถึงที่ทำงาน คิดถึงนายและเพื่อนร่วมงานขึ้นมาเหมือนกัน
ส่วนการนำของไปฝากคนอื่นก็ไม่พ้นเรื่องมารยาทและขั้นตอนอีกเช่นเคย ถ้านำไปให้ถึงที่คนรับ เช่น ที่บริษัทหรือที่บ้าน เราต้องเอาของฝากออกมาจากถุงด้วย หากบนของฝากนั้นมีตัวหนังสืออะไรเขียนอยู่ก็ต้องหันด้านที่คนรับอ่านได้ยื่นส่งให้ ไม่ใช่ยื่นแบบตัวหนังสือกลับหัวกลับหางใส่คนรับ ส่วนถุงที่ใส่มาเราควรถือกลับไป แต่ถ้าเจอกับอีกฝ่ายนอกสถานที่ก็อาจให้พร้อมถุงไปได้เลยเพราะอีกฝ่ายจะได้หิ้วกลับได้สะดวก โดยไม่ลืมพูดว่า “ขอเสียมารยาทด้วยที่ส่งให้ทั้งถุง” นับว่ารายละเอียดเรื่องมารยาทยิบย่อยเยอะมาก สะท้อนความช่างใส่ใจทุกกระเบียดนิ้วสไตล์คนญี่ปุ่นจริง ๆ
ก่อนนี้มีโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งที่ทำงานฉันใช้บริการต่อเนื่องกันมาหลายปี วันหนึ่งตัวแทนคนเดิมลาออกไป ตัวแทนคนใหม่ซึ่งก็พอจะคุ้นเคยกันบ้างแล้วมาทักทายในที่ทำงาน คล้ายๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ให้สม่ำเสมอ พอเขากลับไป ก็ได้ยินคนเปรยว่าตัวแทนคนใหม่นี้มาตัวเปล่าๆ ไม่มีการติดของฝากมาด้วยเหมือนตัวแทนคนเก่า ดูไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ ฟังแล้วก็รู้สึกเสียดายว่าตัวแทนคนนี้อุตส่าห์เดินทางมาทักทายตามมารยาทที่ดี แถมจำชื่อพวกเราได้หมด เสียแต่ไม่ได้ติดอะไรมาด้วย เลยกลายเป็นมีภาพลบติดตัวไปแทน
ของฝากบางทีก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นของมีราคาแพงอะไร แต่มันเป็นสื่อที่แสดงถึงความใส่ใจ น้ำใจ ความระลึกถึง รวมทั้งเป็นมารยาทไปด้วยในตัว คนเราคงไม่มีใครไม่ชอบที่รู้ว่าตัวเองเป็นที่จดจำ เป็นที่นึกถึงในทางดี เมื่อได้รับของขวัญ ได้รับของฝากถึงได้ดีใจ
ว่าดังนี้แล้ว วันนี้คุณผู้ชายลองหาดอกไม้สวย ๆ น่ารักสักดอกไปฝากแฟนหรือภรรยา คุณผู้หญิงอาจหาขนมเล็ก ๆ น้อยๆ ที่แฟนหรือสามีชอบไปฝาก ส่วนคุณลูกคุณหลานก็หาของรับประทานดีๆ หรือดอกไม้สวยๆ ไปฝากคุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาดูไหมคะ เดาว่าน่าจะได้รอยยิ้มพิมพ์ใจตอบกลับมาให้สุขใจเล่น ถ้าได้ผลดีก็อย่าลืมทำบ่อย ๆ เสียเลย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อันเรียบง่ายที่แสดงความใส่ใจในทุกๆ วันโดยไม่ต้องรอโอกาสพิเศษนี่เองที่ผูกใจคนเราได้ดีนักแล
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.