xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นกับคำขอบคุณและขอโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"


สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างเด่นในสังคมญี่ปุ่นคือ คนมักจะพูดคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” จนติดปาก เรียกได้ว่าไม่มีวันไหนเลยที่ไม่ได้ยินคำใดคำหนึ่งในสองคำนี้ ที่สำคัญ คนญี่ปุ่นไม่ได้พูดสองคำนี้อย่างขอไปที แต่พูดในแบบที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีได้จริง

คนญี่ปุ่นจะสอนลูกหลานให้รู้จักพูดทั้งสองคำนี้กันตั้งแต่เด็กๆ จึงไม่แปลกหากให้อะไรแก่เด็กแล้วเด็กพูดตอบขอบคุณกลับมา แต่ถ้าไม่ตอบ แม่ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ จะสอนให้เด็กพูดขอบคุณ มิหนำซ้ำเวลาคนญี่ปุ่นขอบคุณ บางทีก็ไม่ใช่แค่หนเดียวจบ อย่างเวลาสละที่นั่งให้ใครสักคนบนรถไฟ เขาจะขอบคุณเราในเวลานั้น พอเขาจะลงก่อนหรือเราจะลงก่อน เขาจะพยายามหาทางสบตาเราแล้วขอบคุณอีกครั้ง มันทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นมีทั้งความเกรงใจและความขอบคุณในไมตรีที่คนอื่นหยิบยื่นให้ กิริยามารยาทที่ดูเล็กน้อยแต่เต็มไปด้วยความใส่ใจเช่นนี้ชวนให้คนฟังพลอยใจอ่อนโยนและอยากเป็นมิตรกับผู้อื่นไปด้วย

สามีของฉันเคยลุกให้คุณยายคนหนึ่งนั่ง คุณยายไม่ได้ขอบใจอย่างเดียว แต่เปิดกระเป๋าเอาข้าวเกรียบ (เซมเบ้) ถุงหนึ่งที่คุณยายคงพกไว้กินระหว่างทางยัดใส่มือฉันซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ฉันกลัวคุณยายจะหิวเลยบอกว่าไม่เป็นไร แต่คุณยายไม่ยอม เราสองคนเลยรับมาไม่ให้เสียน้ำใจพร้อมกล่าวขอบคุณ แล้วคุณยายก็นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

คนญี่ปุ่นยังขอบคุณในสิ่งที่ผ่านมาแล้วด้วย เป็นการแสดงว่ายังจำได้ในน้ำใจของอีกฝ่าย เช่น ขอบคุณที่คราวก่อนให้ความร่วมมือ ขอบคุณที่คราวนั้นเป็นธุระให้ ขอบคุณที่ตอนนั้นแนะนำโน่นนั่นนี่ ฯลฯ แต่บางทีคนขอบคุณบอกแค่ว่า “ขอบคุณมากสำหรับเมื่อวันก่อน”  ก็ทำให้อีกฝ่ายนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเรื่องอะไร วันไหน บางที “วันก่อน” อาจหมายถึงหลายวันก่อนย้อนไปนานได้เหมือนกัน

เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฟังว่าได้รับขนมของฝากจากผู้ใหญ่ชาวไทย พอได้พบหน้าผู้ใหญ่ท่านนั้นในคราวต่อมาก็เลยเอ่ยปากขอบคุณอีกครั้งและบอกว่าขนมอร่อยดี ผู้ใหญ่ท่านนั้นเลยเข้าใจว่าชอบขนมนั้นเลยบอกว่างั้นคราวหน้าจะซื้อมาฝากอีก คนญี่ปุ่นงง เพราะจริง ๆ ต้องการเพียงขอบคุณและชมขนมไปตามมารยาท ไม่ได้หมายความว่าชอบกินหรืออยากกินอีก แต่บ้านเราจะหมายความตามนั้นตรงๆ เพราะถ้าไม่ได้คิดว่าขนมนั้นอร่อยจริงหรือชอบจริงก็คงไม่อุตส่าห์พูดถึงมันขึ้นมา
ประโยคนี้แปลว่า คำว่า “ขอบคุณ” ทำให้คนมีความสุข...ภาพจาก https://matome.naver.jp/odai
เมื่อก่อนตอนที่ฉันยังไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ฉันไม่คุ้นกับการซื้อของแล้วพนักงานกล่าวขอบคุณ ครั้นจะพูดขอบคุณตอบกลับไปก็กระไรเพราะเห็นคนอื่นเขาก็ไม่พูดอะไรกัน แต่ไม่พูดอะไรตอบกลับไปเลยก็รู้สึกเย็นชาพิกล ถามเพื่อนคนญี่ปุ่นก็ได้รับคำตอบว่าไม่ต้องพูดอะไร ให้ทำเฉยๆ เดินออกมา แรกๆ ฉันก็ขัดๆ เขินๆ แต่พออยู่ๆ ไปก็ชิน ส่วนเพื่อนชาวญี่ปุ่นของฉันคนเดิมนี้ ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตในออสเตรเลียที่คนพูดขอบคุณกันและกันเวลาซื้อของ ตอนกลับมาญี่ปุ่นเธอซื้อของและจ่ายเงินที่แคชเชียร์ พอพนักงานพูดขอบคุณ เธอก็เผลอขอบคุณกลับไปตามความเคยชิน ทำเอาพนักงานทำหน้างงไปแทน

เรื่องคำขอบคุณในสังคมญี่ปุ่นนั้นว่าพูดกันบ่อยแล้วยังอาจไม่บ่อยเท่าคำขอโทษ แถมคำขอโทษยังมีหลายคำมากกว่าคำขอบคุณ แถมยังมีหลายรูปแบบด้วย ลดหลั่นตามระดับภาษา ระดับสนิทสนม หรือระดับความอาวุโส คงเพราะธรรมเนียมของการกล่าวคำขอโทษมีมากกว่าที่เคยเห็นในวัฒนธรรมอื่น ผู้ใหญ่ก็เลยพูดขอโทษกับผู้น้อยกันมากกว่าด้วย คือผิดก็ยอมรับผิด ไม่ใช่ว่าอาวุโสกว่า ฐานะสูงกว่า แล้วเลยพูดขอโทษไม่ได้เสียเมื่อไหร่

บางทีคนญี่ปุ่นยังใช้แทนคำขอโทษแทนคำขอบคุณอีกด้วย อย่างเช่น เวลาไหว้วานใครให้ทำอะไรให้ หรือเวลาใครสละที่นั่งให้ หรือใครช่วยเหลือทำอะไรให้ เป็นต้น คาดว่าคงเพราะความเกรงใจและรู้สึกเป็นความผิดของตนที่รบกวนคนอื่นเลยทำให้รู้สึกขอโทษก่อนจะรู้สึกขอบคุณ

ขนาดเวลาเราจ่ายเงินค่าอาหารที่แคชเชียร์ พอวางเงินให้บนถาดปุ๊บ บางทีพนักงานก็พูด “ซุมิมาเซ็น” คงแบบว่าเกรงใจที่ทำให้เราต้องจ่ายเงินหรือเปล่าก็ไม่ทราบ พอจะออกจากร้านเขาถึงค่อยขอบคุณ ฉันเคยกินอาหารชุดแล้วมือเผลอไปถูกถ้วยซุปเลยหกใส่พื้นและเบาะนั่งด้วย ตอนไปจ่ายเงินฉันขอโทษพนักงานที่ทำซุปหกเลอะเทอะ พนักงานกลับตอบว่า “ขอโทษด้วยนะคะ แล้วคุณพลอยเลอะไปด้วยหรือเปล่า”  ฉันเลยทำอะไรไม่ถูกที่กลายเป็นฝ่ายถูกขอโทษแทน แต่ก็แปลกดีที่มันช่วยลดความไม่สบายใจที่ทำให้เขาเดือดร้อนไปได้บ้างและรู้สึกดี ๆ กับร้านนี้เป็นพิเศษทั้งๆ ที่อาหารก็รสชาติงั้นๆ

เวลารถไฟช้าไปสักนาทีสองนาที คนขับรถไฟยังต้องประกาศแล้วประกาศอีกว่า “ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ทุกท่านเดือดร้อน” เรื่องทำให้คนอื่นเดือดร้อนนี่เป็นอะไรที่คนญี่ปุ่นจะรู้สึกผิดและจะคอยระวัง ในหลายครั้งฉันก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัย และก็เห็นใจคนที่ต้องมาคอยขอโทษกันซ้ำๆ ซากๆ อยู่เหมือนกัน

เมื่อก่อนฉันเคยต่อต้านคนญี่ปุ่นที่ก้มหัวขอโทษคนอื่นทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างเช่น เวลามีคนมาร้องเรียน หรือจริงๆ เป็นความผิดของคนอื่นในที่ทำงาน หรือความผิดของระบบในองค์กร ฉันคิดว่ามันไม่ยุติธรรมที่คนไม่ได้ทำผิดต้องรับหน้าหรือถูกต่อว่าเสมือนตัวเองเป็นคนทำผิด

พออยู่ญี่ปุ่นนานวันเข้า ฉันก็ค่อยเข้าใจว่าเหตุผลหนึ่งคือสังคมญี่ปุ่นมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ดังนั้นหากกลุ่มของตัวเอง(ในที่นี้คือบริษัท/องค์กร)สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ก็เท่ากับว่าตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นต้องรับผิดไปด้วย อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าการทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นเรื่องไม่สมควรทำ จึงต้องแสดงการรับผิดออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ ซึ่งโดยมากก็จะเป็นที่ยอมรับ เพราะการขอโทษถือเป็นเรื่องมารยาทสังคมและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การไม่ขอโทษจึงเท่ากับเป็นการทำผิดธรรมเนียมสังคมญี่ปุ่น
ภาพจาก http://the-prisoner.jugem.jp
คนรู้จักที่ทำงานฝ่ายบริการลูกค้าญี่ปุ่นเคยบอกว่า เมื่อลูกค้าญี่ปุ่นโทรหรืออีเมลมาร้องเรียน ถ้าพนักงานพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าอะไรทั้งหลายมาปกป้องตัวเอง แต่ไม่มีการเอ่ยคำว่าขอโทษ ลูกค้าจะโกรธมาก เพราะบางทีลูกค้าก็แค่อยากได้ยินคำขอโทษเพื่อแสดงการรับผิดก็เท่านั้นเอง

บางทีคนญี่ปุ่นก็ขอโทษแทนคนในครอบครัวหรือเพื่อนตนเองด้วยเหมือนกันแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม อย่างน้องชายเพื่อนฉันที่ไม่ได้เจอกันนานหลายปีเห็นหน้าฉันแล้วก็ถามโต้งๆ ว่า “ตอนนี้อายุเท่าไหร่” ฉันบอกว่าเขาถามเหมือนถามเด็กเล็กๆ เลยว่ากี่ขวบ ภรรยาเขาซึ่งนั่งฟังอยู่ก็พูดขำๆ ว่า “ขอโทษด้วยค่ะ อีตาคนนี้ไม่มีความละเอียดอ่อนเอาซะเลย” คือเขาจะไม่พูดเพียงแค่ส่วนที่ต่อว่าหรือพูดแก้ตัวแทนอีกฝ่าย แต่ใส่คำว่า “ขอโทษ” ควบมาด้วย

อยู่ญี่ปุ่นไปนาน ๆ ฉันก็ติดนิสัยพูดขอโทษมากขึ้น พอมาอยู่สหรัฐอเมริกาฉันก็เลยขอโทษ “มากไป” เมื่อเทียบกับมาตรฐานสังคมอเมริกันที่คนไม่ได้พูดขอโทษกันเกร่อแบบนั้น แรกๆ ที่มาอยู่ฉันรับไม่ได้มากๆ ที่คนอเมริกันไม่ค่อยพูดขอโทษ ทำให้รู้สึกว่าคนไม่มีมารยาท แต่พออยู่ๆ ไป ชินแล้วก็เฉยๆ ถ้ากลับไปญี่ปุ่น ฉันก็ต้องไปปรับตัวกันใหม่อีก ไม่อย่างนั้นอาจเข้ากับสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยได้

ฉันมีเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เป็นลูกครึ่ง คุณแม่เป็นญี่ปุ่น คุณแม่คิดอยากกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในญี่ปุ่นจึงลองไปอยู่ญี่ปุ่นดูสักระยะ และทำงานพิเศษในร้านอาหาร ด้วยความเคยชินกับชีวิตในสหรัฐฯ ทำให้เธอลืมรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่ถือเป็นมารยาทต้องพูดหรือทำกับลูกค้า กลายเป็นความ “ขัดตา” ชาวญี่ปุ่นที่ละเอียดอ่อน ท้ายสุดเธอลงความเห็นว่าญี่ปุ่นน่าจะอยู่ยากเสียแล้วสำหรับเธอ จึงกลับมาสหรัฐฯ ตามเดิม

ไม่ว่าจะในสังคมชาติไหนๆ การรู้แค่ภาษาของเขาอย่างเดียวมีประโยชน์ก็ในระดับการสื่อสาร แต่จะสื่อสารอย่างเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้จริง ต้องอาศัยความเข้าใจในชีวิตความเป็นอยู่ วิธีคิด และวิธีทำของสังคมนั้น แบบเดียวกันกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัวเรานี้เอง พูดง่ายเหมือนทำยาก แต่ถ้าวางไม้บรรทัดที่ถือไว้ลงเสียก่อน ทิ้งน้ำในแก้วไปเสียก่อน อะไรๆ ก็อาจจะง่ายขึ้น

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ
ภาพจาก https://www.photo-ac.com
"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น