xs
xsm
sm
md
lg

บริจาคเลือดก็สนุกได้@กาชาดญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก http://www.yamagata.bc.jrc.or.jp
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน พูดถึงการบริจาคเลือดแล้ว หลายท่านที่บริจาคเลือดเป็นประจำคงจะรู้สึกชินกับเข็มเจาะเลือด และรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้บริจาค ส่วนใครที่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ลองอ่านเรื่องนี้ดูอาจทำให้มีกำลังใจอยากไปขึ้นมาบ้างก็ได้ เพราะที่จริงฉันเองก็กลัวทั้งเข็มทั้งเลือด(มากถึงมากที่สุด)เหมือนกันค่ะ
ป้ายสีแดงหมายถึงเลือดกรุ๊ปนั้น จำนวนนั้นไม่พอ แถวสีฟ้าขวาสุดคือเกล็ดเลือด (ภาพจากอินเตอร์เนต)
ฉันบริจาคเลือดเป็นครั้งแรกในชีวิตกับกาชาดญี่ปุ่น เดิมทีไม่เคยได้บริจาคเลือดที่เมืองไทยเลยเพราะน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานบ้าง เลือดจางบ้าง ความดันต่ำบ้าง ไปทีไรแค่เจาะเลือดดูนิดเดียวว่าใช้ได้หรือไม่ก็ได้ยาบำรุงเลือดมากินแทนเสียแล้ว จนมาวันหนึ่งฉันเดินอยู่แถวสถานีรถไฟใกล้บ้านที่ญี่ปุ่น เห็นเจ้าหน้าที่กาชาดยืนชูป้ายขอความร่วมมือผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่าให้ช่วยบริจาคเลือดตามกรุ๊ปต่าง ๆ ซึ่งยังขาดอยู่ ฉันก็เลยเดินเข้าไปหา
ป้ายบอกว่าตอนนี้กำลังขาดเลือดกรุ๊ปเอและโอจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ก็พาฉันเข้าไปข้างในศูนย์รับบริจาค บรรยากาศภายในดูสบาย น่านั่งเล่นไม่น้อย ด้านหนึ่งเรียงรายไปด้วยของกิน ทั้งขนมขบเคี้ยวแยกซองเล็ก ๆ หลากชนิดทั้งแบบหวานและแบบเค็มที่วางไว้ให้หยิบตามสบาย มีตู้กดเครื่องดื่มร้อนเย็นรวมถึงซุปร้อน ๆ และเครื่องกดไอศครีม ขนาดฉันโตแล้ว เห็นแล้วยังตื่นตาตื่นใจเลย
ภาพจาก http://www.saitama.bc.jrc.or.jp/kenketsu/kawaguchi
หลังจากลงทะเบียนแล้ว ก็ต้องตอบคำถามต่าง ๆ ซึ่งเขามีตู้ให้เราไปยืนจิ้มตอบคำถาม Yes / No ใช้เวลาราว ๆ 5-10 นาที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคำตอบเราดู ถ้าไม่มีปัญหาใด ๆ ก็จะให้ผ่านในเบื้องต้น และให้เราเอาของไปเก็บในล็อคเกอร์ จากนั้นจะให้วัดความดัน แล้วพบพยาบาลเพื่อตรวจกรุ๊ปเลือดและดูว่ามีความเข้มข้นพอไหม แค่พยาบาลจะตรวจเลือดนิดเดียว ฉันก็หน้าซีดไปก่อนแล้ว

พอพยาบาลเอาสำลีชุบแอลกอฮอล์ทา ฉันก็รีบหันศีรษะไปอีกทางเพราะรู้ว่าเข็มกำลังจะตามมา พยาบาลเห็นแล้วไม่สบายใจ ถามฉันว่า “เอาจริงเหรอ ถ้ากลัวเข็มมากไม่ต้องฝืนก็ได้นะคะ” แต่ฉันไม่ยอม “ไม่ค่ะ ฉันจะบริจาค” ฉันไม่อยากให้ความกลัวแบบไร้เหตุผลมาทำให้ฉันเสียโอกาสในการทำอะไรเพื่อคนอื่น และก็คงไม่มีใครกลัวเข็มจนวายชีวาคาเข็มแน่ ๆ พยาบาลเห็นอย่างนั้นเลยจนใจเจาะเลือดตรวจให้ ก็พบว่าผลเลือดเป็นปกติดี แล้วให้พบกับคุณหมออีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันกันว่าสุขภาพพร้อมบริจาคเลือดจริง ๆ แล้วกลับออกมานั่งรอพยาบาลเจาะเลือดเรียก

ในขณะที่เมืองไทยบริจาคเลือดได้ครั้งละ 350 มล. ต่อน้ำหนักตัว 45-50 กก. และบริจาคได้ทุก ๆ 3 เดือนถ้าไม่มีปัญหาสุขภาพหรือมีข้อติดขัดตามที่กาชาดระบุไว้ แต่ที่ญี่ปุ่นนี่บริจาคได้ครั้งละ 200 มล. เท่านั้นสำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนัก 40 กก. ขึ้นไปและผู้ชายที่มีน้ำหนัก 45 กก. ขึ้นไป ฉันในเวลานั้นซึ่งมีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ที่เมืองไทยจึงได้มีโอกาสบริจาคเลือดกับเขาเป็นครั้งแรก (ส่วนเกณฑ์สูงกว่านี้คือ 400 มล. สำหรับคนน้ำหนัก 50 กก. ขึ้นไป)

สำหรับการบริจาคครั้งละ 200 มล. นั้น สามารถบริจาคได้ทุกเดือนถ้าสุขภาพปกติ ไม่ได้ใช้ยาบางประเภท หรือเพิ่งเจาะหู ฯลฯ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับกฎเกณฑ์ของเมืองไทย ส่วนที่อาจจะต่างไปคือ ในช่วง 1 เดือนมานี้ต้องไม่ได้ไปต่างประเทศ ถ้าไปต่างประเทศกลับมาก็ต้องรอให้ครบ 1 เดือนก่อนแล้วค่อยบริจาคเพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้รับเชื้อโรคอะไรติดมาจากต่างประเทศ อย่างฉันเวลาไปกรุงเทพฯ กลับมาก็ต้องรอให้ผ่านไปหนึ่งเดือนก่อนถึงจะบริจาคได้ แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงก็ตาม ถ้าเป็นพื้นที่เสี่ยงก็คงมีข้อจำกัดว่าบริจาคไม่ได้อะไรอย่างนี้เป็นต้น

สำหรับฉันที่เพิ่งบริจาคเป็นครั้งแรก ทั้งเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนและพยาบาลพากันเอาอะไรต่อมิอะไรให้ฉันกิน ทั้งน้ำเกลือแร่ถุง (ปกติเขาจะให้ถุงเดียวก่อนบริจาคเลือด แต่ดูเหมือนวันนั้นเขาจะให้ฉันดื่มสองถุง ถ้าจำไม่ผิด) และขนมนมเนยหลายชนิด ฉันรู้สึกเหมือนเด็กเล็กที่ผู้ใหญ่เอาอกเอาใจเกินควร กินอย่างหนึ่งหมดก็ถูกคะยั้นคะยอให้กินอย่างอื่นต่ออีก ฉันบอกว่าพอแล้ว รู้สึกเหมือนมารบกวนเลย (หรือพูดให้ถูกคือรู้สึกเหมือนมาเพื่อกิน) พยาบาลบอก “อ๋อ ไม่หรอก กินไปเถอะ ดีแล้ว ไม่งั้นถ้าคุณบริจาคเลือดแล้วเป็นลมเป็นแล้งไป อันนั้นแหละรบกวนของแท้” ฉันหัวเราะชอบใจกับคำพูดตรง ๆ ของพยาบาล ทั้งพยาบาลทั้งคนไข้เลยเฮฮากันสนุกสนาน

เมื่อพร้อมแล้วพยาบาลก็ถามว่าจะเข้าห้องน้ำก่อนไหม (เพราะกินน้ำไปเยอะด้วย) แล้วก็ไปที่เตียงเจาะเลือด เตียงนี้มีทีวีจอเล็กส่วนตัวพร้อมรีโมทปรับช่องตามสบาย หรูมาก เป็นอะไรที่เอาอกเอาใจคนบริจาคเลือดสุด ๆ ไปเลย พยาบาลเอาถุงร้อน (แบบเดียวกับที่ใช้พกไว้ในกระเป๋าเสื้อโค้ทเพื่อซุกมือให้อุ่นในฤดูหนาว) มาให้ฉันถือไว้ในมือให้อุ่นพร้อมกับขยำไปด้วยให้เลือดเดิน
ภาพจาก http://www.fukushima.bc.jrc.or.jp
ตอนพยาบาลเตรียมจะแทงเข็มเข้าที่ข้อพับแขน ฉันกลัวสุดขีด ฉันรู้แต่ว่าเข็มนี้ใหญ่กว่าเข็มฉีดยา และก็ไม่อยากจะมองแม้แต่นิดเดียว แน่ละว่าฉันหันศีรษะไปคนละทางกับเข็มในระยะราว 180 องศา พลางคิดปลอบใจตัวเองว่าในโลกนี้คงไม่มีใครตายเพราะเข็มบริจาคเลือดหรอกน่า!!! ก็เลยอดทนสู้กับความกลัว พอพยาบาลแทงเข็มลงไป ฉันกลับไม่รู้สึกถึงความเจ็บเลยแม้สักนิด พอพยาบาลปล่อยแขน ฉันก็หันไปถามว่าอ้าวเสร็จแล้วเหรอ! ทำไมไม่เห็นเจ็บ พยาบาลยิ้มดีใจ และบอกว่าดีแล้วที่ไม่เจ็บ บริจาคเลือดครั้งแรกจะได้ไม่เสียกำลังใจ

แต่อันที่จริง เมื่อฉันไปบริจาคเลือดครั้งต่อมา พอเห็นว่าเป็นพยาบาลคนเดิม ฉันก็ดีอกดีใจว่าพยาบาลคนนี้มือเบา คงจะไม่เจ็บ แต่แปลก คราวนี้กลับเจ็บ ถามพยาบาลว่า "ทำไมคราวก่อนไม่เจ็บ คราวนี้เจ็บล่ะ?"  แล้วฉันก็อธิบายให้พยาบาลฟังว่าเพื่อนเคยบอกว่าถ้าโชคดีเจอพยาบาลคนไหนทำไม่เจ็บแสดงว่าพยาบาลคนนั้นมือเบา พยาบาลตอบว่า “อ๋อ ไม่เกี่ยวหรอกค่ะ คราวก่อนมันฟลุค” ทำเอาฉันต้องแอบโอดครวญในใจด้วยความผิดหวัง

พยาบาลถามฉันว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง โอเคไหม และบอกให้ฉันคอยเอาเท้าไขว้สลับกันไว้แล้วคอยเหยียดคอยขยับให้เลือดเดินสะดวกด้วยอีกทางหนึ่ง โดยให้ทำสลับข้างกันไปเรื่อย ๆ ฉันแอบมองเลือดที่ไหลผ่านสายยางลงถุงอย่างต่อเนื่องแล้วก็เบือนหน้ากลับไปหาทีวีดูให้ลืม ๆ แต่ใจก็ยังพะวงกับเข็มกับเลือดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เจ็บอะไร ดูเอาเถอะ กายไม่ได้บ่นสักแอะว่าเจ็บ แต่ใจเตลิดไปไหนต่อไหนแล้ว

ดูเหมือนว่าพยาบาลจะให้เลือดไหลออกจากตัวฉันช้า ๆ ทีละน้อย ๆ คงเพราะร่างกายยังไม่เคยเสียเลือดมาก่อน กลัวเอาออกพรวดทีเดียวแล้วจะสลบ ครั้งแรกนี้เลยใช้เวลานานกว่าปกติทั่วไป พอได้เลือดจำนวนพอเพียงแล้ว พยาบาลก็มาถอดเข็มออก ถามฉันอีกว่าเป็นอย่างไรบ้าง และแนะนำให้นอนอยู่นี่ไปอีกอย่างน้อยสัก 20-30 นาทีเพราะเพิ่งบริจาคครั้งแรกจะได้ไม่เป็นลม แล้วพยาบาลก็เอาขนมมาให้ฉันกินอีก พลางถามฉันว่าจะกลับบ้านอย่างไร ฉันบอกว่าขี่จักรยานกลับ พยาบาลเลยกำชับว่า “ห้ามขี่กลับนะคะ ตอนนี้อากาศร้อน ๆ อยู่ด้วย เดี๋ยวเกิดหน้ามืดไปหล่นลงมาจะยุ่ง จูงกลับบ้านเอาก็แล้วกันนะ”

เมื่อถึงเวลา พยาบาลก็มาถามฉันอีกว่ารู้สึกวิงเวียนหรือไม่มีแรงหรือเปล่า ฉันว่าไม่เป็น พยาบาลจึงปล่อยฉันลงจากเตียงมาลองยืนดู เห็นว่าไม่มึน ไม่เซ พยาบาลก็ให้ฉันออกจากห้องมานั่งพักข้างนอกบริเวณที่นั่งที่มีขนมนมเนยและเครื่องดื่ม ไม่วายยังกำชับให้นั่งพักไปอีกสัก 15-20 นาทีพร้อมกับกินอะไรไปด้วย

ส่วนเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนยังให้ของที่ระลึกมานิดหน่อย โดยให้เลือกว่าจะเอาอะไรระหว่างปากกาลูกลื่นมีโลโก้กาชาดหรือโกโก้ผงสองห่อ และให้เหรียญพลาสติกมาหนึ่งเหรียญสำหรับกดไอศครีมจากตู้ได้ 1 อัน ส่วนของกินอย่างอื่นก็สามารถเลือกหยิบได้ตามอัธยาศัย พอจะออกจากศูนย์ เจ้าหน้าที่ก็พากันกล่าวขอบคุณอย่างมีไมตรีและโค้งให้อย่างนอบน้อม เรียกได้ว่าเห็นผู้บริจาคเป็นเสมือนผู้มีบุญคุณก็ไม่ปาน เอาอกเอาใจ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่มีสิ่งไหนขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่น้อย ฉันประทับใจมาก ๆ กับบริการทั้งหมดนี้ แล้วก็ทำให้รู้สึกอยากจะมาอีกเรื่อย ๆ พอช่วงไหนที่ฉันรู้ตัวว่าสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ได้อดนอน ไม่ได้เหนื่อยกับงานจนเกินไป ฉันก็จะไปบริจาคเลือด
(ผงโกโก้ที่เจ้าหน้าที่แจกแทนคำขอบคุณ และเอกสารให้อ่านว่าด้วยข้อควรปฏิบัติหลังบริจาคเลือด
วันนั้นฉันน้ำตาซึมด้วยความดีใจที่ตัวเองทำในสิ่งที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัยวัยรุ่นได้สำเร็จ รู้สึกเหมือนตัวเองโตขึ้นอีกก้าวหนึ่งใหญ่ ๆ เพราะเป็นก้าวที่ต้องฝืนอดทนฝ่าความกลัวแสนกลัวออกไปเพื่อช่วยต่อชีวิตคนอื่นให้ได้ เลยรู้สึกดีใจเป็นทวีคูณ และรู้สึกมั่นใจว่าเราจะก้าวข้ามอุปสรรคอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย

จริง ๆ แล้วในชีวิตมีสิ่งที่ฉันกลัวอยู่เต็มไปหมด แต่ฉันก็มักพยายามอดทนเดินหน้าเข้าหามันทั้ง ๆ ที่กลัว พอผ่านมาได้ถึงได้รู้ว่าคนเราสามารถทำอะไรและเป็นอะไรได้มากกว่าที่ตัวเองคิดมากมายนัก พอผ่านมาได้แล้วถึงรู้ว่าความเป็นจริงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คาดไว้ แต่ความปรุงแต่งของเราเองต่างหากที่หลอกหลอนเราและทำให้เราไม่กล้าเดินไปข้างหน้า พอผ่านมาได้แล้วถึงได้โตขึ้น เข้มแข็งขึ้น และเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น

ถ้าเพื่อนผู้อ่านยังไม่เคยบริจาคเลือด และอยู่ในข่ายที่บริจาคได้ อยากให้ลองดูสักครั้งค่ะ แต่ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก่า วันไหนใจอ่อนแอแล้วอยากหาอะไรทำให้ใจเข้มแข็ง หรือใจเศร้าหมองแล้วอยากทำอะไรให้รู้สึกดีขึ้น การบริจาคเลือดช่วยได้ไม่น้อยเพราะเป็นการให้ทานที่อาศัยกำลังใจมากกว่าการให้ทานที่เป็นวัตถุสิ่งของ ทำให้ใจสว่างเบิกบาน และเมื่อนึกถึงเมื่อไหร่ก็มีความสุขเบิกบานได้เรื่อย ๆ เหมือนที่ผู้เขียนเองก็รู้สึกในระหว่างที่พิมพ์บรรทัดนี้อยู่

ขอส่งความสุขนี้ให้เพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่านด้วย แล้วพบกันใหม่อาทิตย์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา  ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น