xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นปลดล็อคมัคคุเทศก์ไม่ต้องมีใบอนุญาต รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ไขกฎระเบียบเปิดทางให้มัคคุเทศก์นำเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ สามารถทำงานได้โดยไม่มีต้องมีใบอนุญาตพิเศษ เพื่อตอบสนองต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาญี่ปุ่นมาเป็นประวัติการณ์สูงสุด 4ปีติดต่อกัน

การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนมาถึงปีละกว่า 24ล้านคน ทำให้จำนวนมัคคุเทศก์หรือไกด์เที่ยวสำหรับชาวต่างชาติไม่เพียงพอ เพราะมัคคุเทศก์ที่ใช้ภาษาต่างประเทศจะต้องมีใบอนุญาตพิเศษ ที่เรียกว่า “ล่ามนำเที่ยว” โดยผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต ถึงแม้จะพูดภาษาต่างชาติได้ดีก็ทำได้เพียงเป็น “อาสาสมัคร” ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขกฎหมายที่ใช้มายาวนานเกือบ 70 ปี เปิดทางให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต “ล่ามนำเที่ยว” ทำงานและรับค่าตอบแทนได้ เพื่อให้คนเหล่านี้ได้เป็น “ทูตชาวบ้าน” เผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่น

ใบอนุญาต “ล่ามนำเที่ยว” ออกโดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ซึ่งจัดสอบปีละหนึ่งครั้ง ผู้สอบจะต้องทำข้อสอบข้อเขียนทั้งด้านทักษะภาษาต่างประเทศ, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และการเมืองของญี่ปุ่น รวมทั้งสอบสัมภาษณ์ด้วย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้ออกใบอนุญาตให้กับไกด์ 10ภาษา โดยในปี 2016 มีผู้ผ่านการทดสอบ 2,404 คน คิดเป็นร้อยละ 21.3 เท่านั้น

สถิติเมื่อปี 2016 พบว่า ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีมัคคุเทศก์ที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 20,000 คน โดยร้อยละ 70 เป็นไกด์ภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาญี่ปุ่นปีละ 6.3ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 รองลงมาได้แก่นักท่องเที่ยวเกาหลี ที่มาเยือนญี่ปุ่นปีละกว่า 5ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 และถ้าหากรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน และอาเซียนแล้วจะคิดเป็นร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดจึงไม่สอดคล้องกับจำนวนไกด์ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตจำนวน 1 ใน3อาศัยอยู่ในเขตกรุงโตเกียวและภูมิภาคคันไซ (นครโอซากาและเกียวโต) จึงเป็นอุปสรรคต่อภูมิภาคต่างๆที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้ ไม่ได้เปิดกว้างให้มัคคุเทศก์ไม่ต้องมีใบอนุญาตทั้งหมด ทุกคนยังต้องมีวีซ่าที่สามารถทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง แต่เปิดทางให้ “มัคคุเทศก์ท้องถิ่น” ทำงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ส่วนมัคคุเทศก์ระดับชาติยังต้องสอบใบอนุญาตเช่นเดิม

สมาคมมัคคุเทศก์แห่งญี่ปุ่น กังวลว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะทำให้มีมัคคุเทศก์ที่ด้อยคุณภาพ เพราะทักษะภาษาอย่างเดียวไม่สามารถเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีได้ แต่ต้องมีการศึกษาความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 40ล้านคนภายในปี 2020 ที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก.
กำลังโหลดความคิดเห็น