คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ฉันชอบรถไฟในกรุงโตเกียวมาก แต่ละขบวนช่างวิ่งได้อย่างนุ่มนิ่มราวกับนั่งอยู่บนพรมวิเศษของอาละดินก็ไม่ปาน ต่อให้มีเลี้ยวโค้งหรือรางรถไฟมีความสูงต่ำเหลื่อมกัน ก็จะมีเสียงประกาศล่วงหน้าว่า “ต่อไปนี้รถไฟจะส่าย กรุณายึดที่จับไว้” ญี่ปุ่นนี่ช่างละเอียดอ่อนจริงๆ
เหนือที่นั่งผู้โดยสารเป็นที่วางสัมภาระทั้งหลายทั้งปวง คาดว่ามีขึ้นเพื่อช่วยให้สัมภาระผู้โดยสารไม่ไประรานผู้โดยสารอื่นๆ เนื่องจากรถไฟญี่ปุ่นมักมีผู้โดยสารแน่นอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งระหว่างไปทำงานตอนเช้า ฉันเอากระเป๋าวางไว้บนชั้นวางด้านบนที่ว่า กะว่าพอลงแล้วจะค่อยหยิบ แต่พอถึงเวลาลง ด้วยความใจลอยเลยไม่ได้ติดกระเป๋าไปด้วย นึกได้อีกทีตอนที่ประตูกำลังปิดลงต่อหน้าต่อตา ฉันช็อคมาก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แถมตั๋วเดือนก็อยู่ในกระเป๋าด้วย ตอนออกจากสถานีก็เลยต้องบอกเจ้าหน้าที่ว่าลืมกระเป๋าไว้บนรถไฟ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้ผ่านไปแต่โดยดี
ไปถึงที่ทำงานอย่างคนตระหนก พอเล่าให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นฟัง เขาบอกว่ารถไฟตอนเช้าๆ คนแน่น ไม่น่ามีคนที่จะสังเกตว่ามีใครลืมของไว้ จึงอาจจะยังอยู่ เพื่อนถามว่ารถไฟสายอะไร ปลายทางอะไร ขึ้นจากที่ไหน ขบวนกี่โมง ขึ้นตู้เบอร์อะไร พอได้รายละเอียดแล้ว เพื่อนก็ช่วยโทรไปถามสถานีปลายทางให้ช่วยดูว่ากระเป๋าแบบนี้ๆ อยู่ไหม เจ้าหน้าที่ก็ให้รอสายครู่เดียว แล้วก็ตอบมาว่ามี และให้มารับได้ที่สถานีปลายทาง ฉันโล่งอกไปเป็นปลิดทิ้ง ขอบคุณเพื่อนเหลือเกินที่ช่วยเหลือ เพื่อนเองก็ดีใจไม่แพ้กัน
ความที่รถไฟญี่ปุ่นตรงต่อเวลามาก จึงทำให้การตรวจสอบเป็นไปไม่ยากตราบเท่าที่รู้ว่าเป็นรถไฟที่ขึ้นในเวลากี่โมงกี่นาทีจากที่ใด เป็นรถไฟสายใด ปลายทางที่ใด ตู้ใด สมัยก่อนฉันเคยขำตอนที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่าเราต้องไปขึ้นรถเมล์ตอน 16:03 น. เพราะคิดว่ามีรถเมล์ที่ไหนมาตรงเวลาเป๊ะอย่างนั้น แต่ฉันคิดผิดไปถนัดตอนที่มัวแต่โอ้เอ้และพลาดรถเมล์คันนั้น เพื่อนบอกว่าอย่างนี้เราต้องรอรถรอบต่อไปซึ่งจะมาในเวลานี้ๆ ตอนที่ขึ้นรถเมล์ ฉันเหลือบมองดูนาฬิกาและเห็นว่ามันพอดีกับเวลาที่ระบุไว้เป๊ะจนฉันต้องอึ้ง ด้วยความคุ้นเคยแต่กับประเทศของตัวเองจึงพลอยหลงคิดไปว่าที่อื่นในโลกจะเป็นแบบเดียวกัน พอได้ออกมาเห็นความต่างในที่อื่นๆ แล้วโลกทัศน์จึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความแตกต่างทำให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในมุมกว้างขึ้นจริงๆ
หลังเลิกงานในตอนเย็น ฉันรีบมุ่งไปที่สถานีปลายทางของรถไฟสายที่นั่งเมื่อเช้า แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาขอรับกระเป๋าที่ลืมไว้บนรถไฟ เจ้าหน้าที่หนุ่มท่าทางใจดีสองนายยิ้มอย่างเป็นมิตร ดูท่าจะทราบเรื่องดีอยู่แล้ว คนหนึ่งลุกไปหยิบกระเป๋าที่วางอยู่บนชั้นวางของมาส่งให้ ที่กระเป๋ามีลวดเส้นหนึ่งไขว้กันเป็นเกลียวบริเวณซิบกระเป๋า ราวกับผนึกไว้เพื่อไม่ให้ใครไปเปิดจนกว่าจะดึงเกลียวลวดนั้นออก นับเป็นความช่างใส่ใจและมีมารยาทของชาวญี่ปุ่นกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าทึ่ง น่าขอบคุณยิ่ง พอฉันเปิดกระเป๋าถือได้ก็หยิบบัตรประจำตัวให้เจ้าหน้าที่ดูเพื่อให้เขาสบายใจว่าเป็นเจ้าของกระเป๋าจริงๆ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก มาอย่างนี้ก็รู้แล้วว่าเจ้าของชัวร์ ฉันรับกระเป๋ากลับไปด้วยความขอบคุณพร้อมกับโค้งแล้วโค้งอีก
นับว่าเป็นความโชคดีมากที่ทุกอย่างไม่สูญหาย แต่บางคนก็อาจจะไม่โชคดีอย่างนั้น เพราะเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งนั่งหลับไปโดยวางกระเป๋าสัมภาระไว้ข้างตัว พอจะลงอีกทีกระเป๋าโดนขโมยไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้น การดูแลสัมภาระของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ตัวเองต้องรับผิดชอบให้มากๆ ส่วนตัวฉันเองก็เข็ด ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยวางของมีค่าไว้บนชั้นวางของบนรถไฟอีกเลย
ไม่ทราบว่าประเทศอื่นๆ มีการสอนมารยาทกันในที่สาธารณะหรือเปล่านะคะ แต่เราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือจากภายในขบวนรถไฟนี่เอง ใครเคยนั่งรถไฟในโตเกียวคงทราบดีว่าในรถไฟมีแต่เสียงประกาศแจ้วๆ แทบไม่หยุดเลยทีเดียว ตั้งแต่ว่าประตูจะปิดแล้ว ขบวนนี้ปลายทางอะไร ต่อไปสถานีอะไร กระทั่งรถไฟจะส่ายเล็กน้อยก็บอกล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังมีคำเตือนหรือคำร้องขอด้วยเหตุผลทางมารยาทและจริยธรรมอีกด้วย เช่น “กรุณาสละที่นั่งให้คนชรา คนพิการ คนท้อง หรือคนที่มีลูกเล็ก” “กรุณาตั้งค่าโทรศัพท์มือถือให้อยู่ในโหมดมีมารยาท และกรุณาเกรงใจที่จะคุยโทรศัพท์ (แปลว่ากรุณาปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ และเลี่ยงการคุยโทรศัพท์) ส่วนบริเวณที่นั่งพิเศษ (priority seats) กรุณาปิดโทรศัพท์มือถือ” แถมยังมีสติกเกอร์ปิดอยู่บริเวณที่นั่งพิเศษเพื่อให้ทราบว่าผู้โดยสารควรทำอะไรบ้างอีกด้วย ส่วนเหตุผลที่ต้องปิดมือถือบริเวณที่นั่งพิเศษนั้นก็เพราะว่ามันอาจส่งคลื่นรบกวนให้กับคนเป็นโรคหัวใจที่ใช้เครื่อง pace maker นั่นเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งถึงกับบ่นอิดออดว่าสังคมญี่ปุ่นสอนทุกอย่าง บอกทุกอย่าง กำกับไปทุกอย่างจนน่ารำคาญเลยทีเดียว
แต่แม้เขาจะรณรงค์ให้สละที่นั่งให้คนที่สมควรนั่ง มันก็อาจเป็นเหตุให้ขัดใจกันได้อยู่เหมือนกัน ฉันเคยลุกให้คุณป้าคนหนึ่งนั่ง แต่คุณป้ามองหน้าด้วยสีหน้าเย็นชาแล้วก็เมินใส่ ฉันเลยเก้อ ทำอะไรไม่ถูก มาคิดดูแล้วฉันว่าก่อนจะสละที่ให้ใครนั่งบางทีก็อาจต้องสังเกตเหมือนกัน อย่างป้าคนนี้จะแต่งตัวดูออกสาวกว่าวัยอยู่บ้าง เลยคงรู้สึกเหมือนโดนหาว่าชราแล้วก็ได้
หรืออีกครั้งหนึ่งเคยมีที่นั่งว่างขึ้น คนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ มีฉันกับคุณลุงคนหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างเกรงใจเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายนั่ง แต่ลุงยืนยันให้นั่ง ฉันก็รู้สึกดีใจเพราะที่ผ่านมาเคยเห็นแต่ผู้ชายญี่ปุ่นแย่งที่นั่งผู้หญิงเป็นประจำ ลุงคนนี้ช่างสุภาพบุรุษนัก พอถึงสถานีที่ฉันจะลง ลุงก็ยังไม่ลง ฉันเลยหันไปขอบคุณอีกครั้ง ลุงไม่มองแถมมีสีหน้าเย็นชาผิดเป็นคนละคน ฉันก็งงๆ มาคิดดูอีกที สงสัยว่าช่วงนั้นท้องอืดบ่อยๆ เลยอาจท้องป่องเหมือนคนท้อง พอตอนที่ฉันนั่งอาจจะดูแบบว่าไม่ระวังท้องไส้เหมือนคนท้องทั่วไปเลยทำให้คุณลุงเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อีกอย่างคือจริงๆ แล้วคนท้องในญี่ปุ่นจะได้รับห่วงเล็กๆ ห้อยป้ายว่า “ในท้องมีเด็กทารกอยู่” สำหรับคล้องกระเป๋า เพื่อเวลานั่งรถไฟหรือรถเมล์ คนอื่นจะได้สละที่นั่งให้
ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทกันแบบสอนกันไม่หวั่นไม่ไหวจริงๆ เรื่องของมารยาทบนรถไฟยังไม่หมดแค่นี้ อย่างบริษัทรถไฟใต้ดินโตเกียวเอง ก็รับหน้าที่จัดทำโปสเตอร์รณรงค์เรื่องมารยาทออกมาเป็นซีรีย์ติดตามสถานีต่างๆ อยู่เป็นประจำทุกเดือน โปสเตอร์ที่จำได้แม่นคือโปสเตอร์สีเหลืองที่วาดด้วยตัวการ์ตูนออกแนวติดตลก อย่างเช่น โปสเตอร์รูปผู้หญิงกำลังดัดขนตาอยู่บนรถไฟ มีข้อความประกอบว่า “ไปทำที่บ้าน” (อย่ามาทำบนรถไฟ) นอกนั้นก็มีโปสเตอร์ชุดที่เขียนว่า “ทำอีกนะ” ซึ่งเป็นคำพูดประกอบรูปวาดที่แสดงถึงความมีน้ำใจหรือเห็นแก่ผู้อื่น เป็นต้น เป็นโปสเตอร์ง่ายๆ ช่างคิด น่าสนใจ และเข้าใจง่าย ในขณะเดียวกันมันก็ตลกดีเหมือนกันที่ชาวญี่ปุ่นต้องมาสอนมารยาทกันกระทั่งในที่สาธารณะ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าญี่ปุ่นมองตนเองเป็นกลุ่มก้อน และเห็นเป็นหน้าที่ที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน
แม้ตนเองจะไม่เคยแต่งหน้าบนรถไฟ แต่สมัยนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าการแต่งหน้าบนรถไฟเป็นเรื่องไม่สมควร และไม่เข้าใจว่าคนญี่ปุ่นจะเดือดร้อนกับมันไปทำไม พออยู่ญี่ปุ่นไปนานๆ เข้ามันก็ซึมซับความคิดแบบนั้นไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจ พอเห็นคนแต่งหน้าบนรถไฟก็จะเกิดความรู้สึกไม่ชอบใจขึ้นมา อาจเพราะรู้สึกว่าการแต่งหน้าเป็นเหมือนการแต่งตัวที่ต้องอยู่ในที่มิดชิดแทนที่จะเป็นที่สาธารณะ การเอาเรื่องที่ควรทำในที่รโหฐานมาทำในที่แจ้งเลยเป็นความไม่น่าดูก็ได้กระมัง
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่นเองนานวันเข้าก็ค่อย ๆ ซึมซับเอามารยาทแบบคนญี่ปุ่นหรือท่าทางแบบคนญี่ปุ่นไว้โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แม้ภายนอกจะดูเป็นชนชาติอื่นหรือสำเนียงญี่ปุ่นผิดแปลกไปบ้าง แต่เรื่องมารยาทหรือการปฏิบัติต่อผู้อื่นในสังคมก็จะเป็นแบบอย่างญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย
ด้วยความที่มารยาทเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อนและคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ ก็ทำให้คิดได้ว่าบางทีการเรียนรู้มารยาทหรือธรรมเนียมญี่ปุ่นไว้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าหาคนญี่ปุ่นได้มากยิ่งกว่าการรู้ภาษาเสียอีก หลายครั้งที่คนต่างชาติไม่เป็นที่ยอมรับนักในญี่ปุ่นก็เพราะคนต่างชาติไม่ได้ทำตัวตามมารยาทและธรรมเนียมญี่ปุ่น แต่ถ้าเราไม่รู้จริงๆ ก็อาจอาศัยสุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” ก็น่าจะช่วยให้เอาตัวรอดได้ในหลายสถานการณ์นะคะ.
“ซาระซัง” สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ได้ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.