คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน “ซาระซัง” ขอมาร่วมวงสนทนาเล่าเรื่องราวชีวิตในประเทศญี่ปุ่นให้เพื่อนผู้อ่านฟังกันพอเป็นที่จำเริญใจกัน ฉันเป็นสาวไทย (ซึ่งไม่ค่อยจะสาวแล้ว) ที่ก็ไม่รู้ว่าทำไมชีวิตถึงได้มีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมาแต่เด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปมาญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้งจนเริ่มอิ่มตัว พอคิดว่าจะลองไปสำรวจหาความแปลกใหม่ประเทศอื่นดูบ้าง ก็ดันมาเจอเนื้อคู่เข้าให้เป็นชาวญี่ปุ่นเสียอีก ความฝันในวัยเด็กที่อยากจะใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเลยเป็นจริงขึ้นมาตอนเลิกฝันแล้ว คราวนี้เลยยาวนานเลยค่ะ
แม้จะไม่ต้องบอกเพื่อนผู้อ่านก็คงทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เจริญ ธรรมชาติสวยงาม อนุรักษ์ความเป็นญี่ปุ่นมาจนกระทั่งเข้าสู่สมัยปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ ประเทศเขายังสะอาดสะอ้าน อาหารอร่อย ผู้คนดูมีอัธยาศัยดี มีนวัตกรรมสินค้าเครื่องใช้ใหม่ๆ ออกมาไม่หยุด จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศยอดฮิตสำหรับทั้งคนไทยและคนอีกหลายๆ ชาติ แต่กระนั้นก็ยังมีแง่มุมอีกหลากหลายที่ซ่อนอยู่ในภาพลักษณ์เหล่านี้ เอาไว้ฉันจะทยอยเล่าให้ฟังผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น หรือถ้าเพื่อนผู้อ่านอยากทราบเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ลองบอกผ่านกันมาได้นะคะ ถ้าพอทราบจะมาเขียนให้อ่านกันค่ะ
เพื่อนผู้อ่านเคยรู้สึกไหมว่าเวลาที่เราอยู่ท่ามกลางอะไร เราจะมองเห็นสิ่งรอบตัวได้ไม่ถนัดตา ครั้นพอถอยออกมาดูอยู่วงนอก เรากลับเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ฉันก็เป็นแบบนั้นค่ะ พอออกมาอยู่ญี่ปุ่นก็เห็นประเทศไทยได้ชัดเจนขึ้น และพอย้ายจากญี่ปุ่นมาอยู่สหรัฐฯ ก็เห็นญี่ปุ่นชัดเจนขึ้นเช่นกัน หลายๆ ครั้งพอเราจากอะไรบางอย่างมา ถึงได้รู้ค่าของมันมากกว่าเดิม อย่างตอนอยู่ญี่ปุ่นก็มีความเบื่อหรือความไม่ชอบอะไรหลายอย่าง พอจากมันมา เห็นสหรัฐฯ ไม่มีหลายสิ่งที่ญี่ปุ่นมี ก็กลับมองเห็นคุณค่าของสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันที่ญี่ปุ่นขึ้นมา และจุดนี้เองที่ทำให้ฉันนึกอยากถ่ายทอดเรื่องราวให้เพื่อนผู้อ่านอ่านกันอย่างได้อรรถรสมากขึ้น
โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พิเศษจริงๆ เขามีแบบแผนในการดำรงชีวิตที่เคร่งครัด เป็นระเบียบเรียบร้อยในแทบทุกมุม ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนดีว่าอยู่ในฐานะอะไร ควรทำอะไร เพราะได้รับการอบรมจากทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในสังคมถึงเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ จากการมีกรอบที่สังคมกำหนดไว้แล้ว ทุกคนจึงทำอะไรเป็นแบบเดียวกันหมดทั้งชาติ กระทั่งเพื่อนชาวญี่ปุ่นเองถึงกับบอกว่าญี่ปุ่น “ประหลาด” และ “ผิดธรรมชาติ” ของมนุษย์ซึ่งแท้จริงแล้วมีความหลากหลาย
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เรียกได้ว่าต่างจากญี่ปุ่นเสียแทบจะกลับข้างกันเลยก็ว่าได้ ฉันอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าสหรัฐฯ แทบจะไม่มีกฎเกณฑ์ทางสังคมมากนัก เพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่ความหลากหลายไปหมด และหลายคนก็ยึดเอามาตรฐานและความเห็นของตนเป็นหลัก อาจเพราะการอพยพย้ายถิ่นฐานของชนชาติต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาอาศัยอยู่เนืองๆ ทำให้สหรัฐฯ เป็นที่รวมของผู้คนทุกชาติทุกภาษาจนยากจะหาอะไรมาเป็นแบบแผนชัดเจนให้เป็นมาตรฐานที่ทุกคนจะยอมรับร่วมกัน แถมการเน้นค่านิยมเรื่องสิทธิและเสรีภาพก็ให้อิสระแก่ผู้คนที่จะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ไปล่วงละเมิดผู้อื่น
ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นจะยอมทิ้ง “ตน” เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในสังคม ด้วยการทำตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน ชาวอเมริกันจะแสดงความโดดเด่นของ “ตน” ที่แตกต่างจากผู้อื่นให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อแสดงถึงการมีอยู่ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับสังคม เปรียบเทียบอย่างนี้คงพอเห็นภาพบ้างนะคะ
มีเรื่องเปรียบเทียบตลกๆ อยู่เรื่องหนึ่งคือ ชาวญี่ปุ่นจะมองชาวอเมริกันว่า “เด็กๆ” เพราะคิดจะพูดอะไรก็พูด อยากแสดงออกอะไรก็แสดง ไม่รู้จักเก็บอารมณ์ แต่ชาวอเมริกันก็มองชาวญี่ปุ่นว่า “เด็กๆ” เช่นกันเพราะไร้ความสามารถในการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ก็แอบขำอยู่เหมือนกันตรงที่มันสะท้อนเอกลักษณ์ของคนทั้งสองชาติได้ดี ซึ่งเรื่องนี้อ่านมาจากหนังสือทางวิชาการเมื่อนานแล้วค่ะ
ส่วนเมืองไทยก็มีเอกลักษณ์ของตนที่ไม่เหมือนทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ พวกเราเป็นชนชาติที่ง่ายๆ สบายๆ อะไรก็ได้ แล้วแต่อีกฝ่าย หลายครั้งไม่ตัดสินใจแน่ชัด แม้จะมีกรอบทางสังคมกำหนดอยู่เหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน และอาจมีเกินหนึ่งมาตรฐาน ผู้คนทำตามบ้างไม่ทำตามบ้าง ทำให้เกิดความสับสนหรือขัดแย้งตามมา แม้โดยมากจะดูทิศทางของสังคมและทำตามกระแสที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับคล้ายญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่คนก็เริ่มมีความปัจเจกชน และแสดงออกถึง “ตัวตน” ที่ไม่เหมือนใคร และรู้จักสิทธิเสรีภาพของตนมากกว่าแต่ก่อน
ที่ว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นมุมมองส่วนตัวของฉันเองจากการได้สัมผัสชีวิตในทั้งสามประเทศนี้ บางคนนึกว่าการอยู่ต่างประเทศนั้นดี จริงๆ ก็ไม่ได้ง่ายนะคะ ทุกอย่างต้องปรับตัวใหม่ทั้งนั้น บางอย่างก็ทำอย่างที่เคยทำไม่ได้ การใช้ชีวิตไม่ว่าจะที่ไหนต่างมีทั้งข้อดีข้อเสียไม่ว่าจะเป็นประเทศที่น่าอยู่หรือเจริญเท่าใดก็ตาม ที่แน่ๆ ในทั้งสามประเทศนี้ ฉันรักบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองไม่เคยเปลี่ยน คิดถึงทุกวี่วันเลยทีเดียว ส่วนญี่ปุ่นก็คิดถึงไม่น้อยเช่นกัน
หนึ่งในเรื่องที่เมื่ออยู่อเมริกาแล้วทำให้นึกถึงญี่ปุ่นก็คือเรื่องรถไฟ ถ้าถามว่าทำไมต้องรถไฟ ก็เพราะรถไฟในนิวยอร์กมันชวนให้กุมขมับไปเสียทุกที โดยเฉพาะกับคนที่ชินกับรถไฟในญี่ปุ่นไปแล้วนั่นเอง
รถไฟในกรุงโตเกียวเป็นสิ่งหนึ่งที่ฉันชอบที่สุดเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพราะว่ามันสะดวกดีเวลาไปไหนมาไหน นั่งสบาย แถมยังมาตรงเวลาเป๊ะ ในรถไฟมีทั้งตัววิ่งบอกว่าสถานีต่อไปเป็นสถานีอะไร รวมทั้งมีประกาศบอกด้วย เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ไม่ต้องกังวลเพราะว่าเขาจัดเจ้าหน้าที่ไว้ดูแลหลายจุด ให้ความสะดวกสบายกับผู้โดยสารมากๆ
ส่วนที่ไม่ชอบก็ตรงที่มันจะไม่มาตามเวลาเอาเวลามีใครลงไปอยู่ในรางรถไฟหรือกระโดดให้รถไฟชน ซึ่งก็มีอยู่แทบทุกสัปดาห์
อีกอย่างคือ ในฤดูหนาวเขาจะเปิดเครื่องทำความร้อนโดยตั้งอุณหภูมิไว้ค่อนข้างสูง กระทั่งถอดเสื้อกันหนาวออกแล้วก็ยังรู้สึกร้อน ที่จริงแล้วแต่ละคนก็สวมเสื้อกันหนาวที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอกับการเดินอยู่ข้างนอกแล้ว พอเข้ามาในพื้นที่ปิดที่อุ่นมากเลยกลายเป็นความอึดอัดแทน ทำเอาบางทีฉันเกือบเป็นลม
สำหรับรถไฟในกรุงโตเกียวตอนเช้าๆ ในชั่วโมงเร่งด่วนที่แน่นเอี๊ยดนั้นฉันกลับไม่ได้รังเกียจเท่าไหร่ ที่ว่าแน่นนี้คือแน่นเปรี๊ยะขนาดที่ว่าถ้าประตูปิดแล้วยังยืนอยู่ท่าไหน ก็อยู่ท่านั้นเรื่อยไปจนกว่าจะถึงอีกสถานีที่มีคนลงนั่นแล ดังนั้นวินาทีที่ได้ที่มั่นแล้วต้องรีบจัดท่าให้เหมาะสม หาที่จับไว้ให้ดี แต่บางทีมันก็แน่นเสียจนไม่ต้องกลัวว่าจะล้มถ้าไม่มีที่ให้เกาะ เพราะแน่นจนไม่มีที่ให้ล้มเลยนั่นเอง
พี่คนหนึ่งเคยพูดติดตลกว่าดีใจมากที่คนที่ยืนข้างๆ เป็นหนุ่มหล่อ เลยได้ซบอกมาตลอดทาง ส่วนฉันไม่เคยโชคดีแบบนั้น อย่างมากก็คือยืนอยู่ตรงหน้าชายหนุ่มคนหนึ่งที่เดาว่าคงจะหน้าตาดี แต่ไม่ค่อยแน่ใจเพราะเจ้าตัวคาดหน้ากากอนามัยไว้ คราวนั้นรถไฟหยุดกระทันหันแล้วฉันคะมำไปข้างหน้า มือข้างหนึ่งรีบยันไปข้างหน้าตรงกำแพงที่หนุ่มคนนั้นนั่งพิงอยู่ไม่ให้ล้มโครมลงไปใส่ตัวเขา ชายหนุ่มสะดุ้ง ฉันรู้สึกหน้าร้อนผ่าวด้วยความอายพลางกล่าวขอโทษขอโพย แล้วเขาก็สังเกตว่าขาอันยืดยาวของเขาทำให้พื้นที่ยืนของฉันจำกัดและเสียการทรงตัว เขาเลยกางขาสองข้างออกให้ฉันยืนได้โดยสะดวก ฉันเลยหน้าร้อนผ่าวอีกรอบจนอยากจะขอยืมหน้ากากอนามัยของเขามาใส่แทน พอถึงสถานีที่เขาจะลง ฉันก็เลยได้นั่ง ก่อนลงไปเขาหันมายิ้มให้ด้วยแววตาเป็นมิตร ฉันเลยโค้งศีรษะให้ “รักแรกพบ “บนรถไฟอันแสนสั้นก็จบลงเท่านี้ล่ะค่ะ
อีกอย่างที่โชคดีคือ ตอนเช้าๆ แบบนี้ผู้โดยสารยังตัวสะอาดกัน เลยยังไม่เคยเจอคนที่ตัวเหม็นชวนให้พะอืดพะอมแต่เช้า อย่างมากก็เจอคนผายลมแต่จับตัวไม่ถูกว่าใคร เพียงแค่รู้สึกใกล้ตัวมากจนเกรงว่าจะโดนใครครหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยเลยเผลอยกมือขึ้นปิดจมูกก็มี
ด้วยความที่รถไฟตอนเช้าในญี่ปุ่นแน่นมากจึงมีผู้ชายที่ฉวยจังหวะแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิงกันไม่น้อย จนรถไฟในญี่ปุ่นบางสายมีตู้โดยสารแยกสำหรับผู้หญิงเท่านั้นหนึ่งตู้ในชั่วโมงเร่งด่วน โดยที่พื้นชานชาลาจะระบุไว้ว่าเป็นตู้ไหน ช่วงเวลาไหน และบนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนก็จะมีประกาศบอกอีกเช่นกัน บางทีก็มีลุงหลงเข้ามาในตู้เหมือนกัน คาดว่าคงไม่ทราบ เพราะสักพักหนึ่งลุงก็จะรู้ตัวว่าหลงมาอยู่ในโลกที่สตรีเป็นใหญ่ พอถึงสถานีถัดไปก็จะรีบย้ายไปตู้อื่นแทน
วันหนึ่งขณะที่กำลังยืนรอรถไฟไปทำงาน ฉันเห็นผู้โดยสารที่พยายามจะขึ้นรถไฟให้ได้พยายามกันเบียดเสียดยัดเยียดแออัด ซึ่งมองดูแล้วไม่น่าจะอัดเข้าไปได้อีก แต่ก็ยังดันกันเข้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นภาพที่แปลกประหลาดทีเดียว เพราะโดยปกติชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ช่างเกรงใจและใส่ใจเรื่องมารยาทกันสุดๆ ไปเลยทีเดียว พอมาเป็นเรื่องรถไฟตอนเช้าน่ะหรือ มารยาทอะไรนั่นลืมมันเสียเถอะ !
ขณะกำลังมองภาพที่เห็นอย่างตาค้างด้วยความสนเท่ห์ เจ้าหน้าที่ก็เดินอาดๆ มา นึกว่าเดี๋ยวคงจะได้เห็นเจ้าหน้าที่ดึงคนที่กำลังดันคนอื่นเข้าไปนั่นออกมาแน่เลย ที่ไหนได้ ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ช่วยดันตาคนนั้นเข้าไป แถมยังต้องมีเจ้าหน้าที่อีกคนมาช่วยเสริมกำลังดันทุกสิ่งที่แพลมออกมานอกประตูเข้าไปก่อนประตูจะปิดลง แอบอึ้งไปด้วยความผิดหวังเล็กน้อย เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่คงจะมาอบรมเรื่องมารยาทกับผู้โดยสารแบบนี้ แต่มานึกดูอีกทีคงเพราะเขาเห็นความสำคัญกว่าของการที่รถไฟจะต้องออกและถึงตามเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบเวลาเดินรถไฟสายอื่นๆ หรือทำให้ผู้โดยสารตกขบวน จนกระทั่งก่อความเดือดร้อนไปในวงกว้างก็เป็นไปได้.
“ซาระซัง” สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา.....ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ได้ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.