xs
xsm
sm
md
lg

เล่าเรื่องล่ามกับนักแปล : งาน “ล่ามญี่ปุ่น” ค่าตัวเท่าไหร่? (1)

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


การแปลถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้องค์ประกอบระหว่างศาสตร์ (แปลให้ให้ถูกต้องตรงตามความหมาย) กับศิลป์ (แปลให้สละสลวย) ออกมาพอเหมาะพอดีได้ทุกครั้งไป ถือว่าเป็นทักษะที่ยากกว่าจะมีติดตัวได้เพราะต้องใช้เวลาฝึกฝนนาน แต่เมื่อมีแล้ว ก็จะสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของได้มาก และเมื่อพูดถึงการแปล หลักๆ แล้วย่อมนึกถึง “ล่าม” กับ “นักแปล” ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปตามลำดับ

“ล่าม” หรือตามภาษาเดิมคือ “ท่องสื่อ” คืองานที่ดูเท่มากสำหรับผมเมื่อสมัยที่เป็นวัยรุ่นและได้เห็นการทำงานของผู้ใหญ่ในอาชีพนี้ ตอนนั้นรู้สึกทึ่งและชื่นชมความเก่งกาจของคนเป็นล่ามมาก ครั้งแรกเคยเห็นล่ามอังกฤษ-ไทย ต่อมาได้เห็นล่ามญี่ปุ่น-ไทยในโอกาสต่างๆ และเกิดแรงบันดาลใจว่าสักวันเราจะไปถึงจุดนั้นให้ได้บ้าง แล้วก็อยากรู้นักว่า ที่เขาว่ากันว่า “งานล่ามน่ะเงินดีนะ” มันดีขนาดไหน

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริงๆ เมื่อได้มีโอกาสทำงานล่ามทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นและไทย แปลไขว้ไปไขว้มา ใช้สามภาษาหากินวนอยู่อย่างนั้นหลายปีตอนเรียนปริญญาโทและเอก แน่นอนว่ามีงานญี่ปุ่น-ไทย/ไทย-ญี่ปุ่นมากกว่าเพราะอยู่ในญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่มีคนญี่ปุ่นทำกันมากอยู่แล้ว

พอผ่านไปพักใหญ่ ก็เริ่มรู้ตัวว่าไม่ชอบงานล่ามแม้มีรายได้สูง เพราะต้องเครียดกับการเตรียมตัวมากมาย และทุกวันนี้ ถ้ามีช่องให้ปฏิเสธ ก็จะพยายามเลี่ยงการเป็นล่าม แต่ตามธรรมชาติของสายงาน บางครั้งเมื่อผู้ใหญ่ขอมา ถึงมีปีกมีหางก็หมดทางหนี และตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ก็ยังมีหน้าที่ไปอบรมภาษาไทยเพื่อการเป็นล่ามให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นทุกเดือนอีก คือจะหลีกยังไงก็ไม่พ้น เช่นเดียวกับงานแปล (ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ) ซึ่งก็อยากจะเลี่ยง แต่ด้วยอาชีพที่ตีกรอบไว้ จึงกลายเป็นคู่กันไปแล้ว ถ้าไม่แจวก็จม

สำหรับเรื่องล่าม ในเบื้องต้น สิ่งที่อยากจะสร้างความชัดเจนสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่วงการ คือ “ล่าม” (interpreter) กับ “นักแปล” (translator) ทำงานคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว จริงอยู่ ก่อนจะเป็นล่ามได้ ต้องเป็นนักแปลมาก่อน แต่การเป็นล่ามก็ไม่ได้หมายถึงการเป็นนักแปลที่ดีเสมอไป และการเป็นนักแปลที่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นล่ามได้ ภาษาไทยมีความลักลั่นเล็กน้อยตรงนี้ คือ เราพูดว่า “ล่ามทำหน้าที่แปล” และ “นักแปลทำหน้าที่แปล” คำว่า “แปล” จึงทับซ้อน แต่ภาษาอังกฤษใช้ต่างกัน คือ “ล่าม” มีหน้าที่ interpret (ตีความ ถ่ายทอดออกมาเป็นอีกภาษาหนึ่งด้วยการพูด) และ “นักแปล” มีหน้าที่ translate (แปลออกมาเป็นอีกภาษาหนึ่งด้วยตัวหนังสือ)

ถ้าแบ่งประเภทล่ามตามลักษณะกว้างๆ ได้แก่ ล่ามแปลทันที และ ล่ามแปลต่อเนื่องหรือแปลสลับ ล่ามแปลทันทีนั้นอาจแยกเป็นล่ามที่นั่งแยกอยู่ในพื้นที่ต่างหาก เช่น ในบูท เพื่อฟังเสียงต้นทางแล้วแปลโดยพูดใส่ไมโครโฟนไปยังปลายทางอย่างในการประชุมระหว่างประเทศ หรืออาจจะเป็นล่ามกระซิบ คือ นั่งใกล้ๆ คนฟังและแปลทันทีด้วยเสียงที่เบากว่าปกติอย่างที่เห็นในรายการโทรทัศน์ การเป็นล่ามแปลทันทีต้องใช้ทักษะและสมาธิสูงมาก ถ้ามีเนื้อหายาวและยาก ก็ต้องมีล่าม 2-3 คน โดยสลับกันทำหน้าที่คนละ 10 -20 นาทีเพื่อให้อีกคนได้พัก ส่วนประเภทแปลสลับนั้นจะเป็นการรอให้ผู้พูดพูดจบเป็นช่วงๆ แล้วล่ามก็จะแปล

ในวงการล่ามเอกชน รายได้ของล่ามจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้องาน เช่น ด้านการแพทย์ เทคโนโลยี การแถลงข่าว ถือว่าเป็นงานยาก ค่าตัวในญี่ปุ่นเท่าที่ทราบมา คือ ครึ่งวัน (4 ชม.) 20,000-25,000 บาท, เต็มวัน (8 ชม.) 30,000-40,000 บาท ถ้าเป็นการหารือทั่วไประหว่างบริษัท การฝึกอบรมดูงาน การติดตามและนำทางไปยังที่ต่างๆ จะถือว่าง่ายลงมา ครึ่งวัน 10,000-20,000 บาท, เต็มวัน 25,000-35,000 บาท ล่ามแปลทันทีจะได้ค่าจ้างสูงกว่าล่ามแปลสลับ ซึ่งก็แล้วแต่เกณฑ์ของบริษัทตัวแทนที่ล่ามสังกัด หรือหากเป็นล่ามอิสระก็กำหนดค่าตัวได้เอง และภาษาที่หาล่ามได้ยาก ล่ามก็อาจจะได้ค่าตัวสูงกว่าภาษาที่มีล่ามมาก ล่ามญี่ปุ่น-ไทยที่เก่งๆ ก็เข้าข่ายหายากเช่นกัน

ล่ามที่มีค่าตัวคือล่ามฟรีแลนซ์ ส่วนล่ามบริษัทก็รับเงินเดือนประจำไป แต่ในญี่ปุ่นการจ้างล่ามประจำมีน้อย เพราะคนที่จะทำงานในญี่ปุ่นได้ก็มักรู้ภาษาญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว บริษัทจึงไม่ต้องพึ่งล่าม ถ้าเป็นการเจรจาระหว่างประเทศ มักให้พนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้เป็นผู้ทำหน้าที่ ส่วนบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยมีการจ้างล่ามกันทุกที่เพื่อแปลสื่อสารระหว่างเจ้านายคนญี่ปุ่น (ซึ่งแทบไม่พูดภาษาอังกฤษ) กับพนักงานคนไทย ตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่เป็นทั้งล่ามและนักแปล เงินเดือนล่ามญี่ปุ่นในไทยเริ่มที่ 30,000 บาทถือเป็นเรื่องปกติ บางบริษัทอาจไม่จ้างล่ามประจำ แต่เรียกใช้ล่ามอิสระเป็นครั้งคราวเพื่อลดภาระค่าบุคลากรรายเดือนและสวัสดิการ อัตราค่าล่ามญี่ปุ่นรายวันในเมืองไทย ครึ่งวัน 5,000-6,000 บาท เต็มวัน 7,000-9,000 บาท ลองคิดคร่าวๆ ว่าถ้าทำเดือนละ 3 วัน จะอยู่ได้ไหม?

สำหรับล่ามในราชการนั้น สถานที่ที่มีบุคลากรด้านนี้มากที่สุดคือกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีของญี่ปุ่น คนที่เป็นล่ามก็คือนักการทูตประจำแผนกนั้น สิ่งที่ผมได้ทราบจากล่ามระดับประเทศเหล่านี้คือ เมื่อมีการเข้าเฝ้าฯ พระจักรพรรดิหรือเชื้อพระวงศ์ของญี่ปุ่น ล่ามคนไทยจะไม่ได้เข้าไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่แปลคือล่ามคนญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องพูดภาษาไทยให้คนไทยฟัง ในทางกลับกัน เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นเข้าเฝ้าฯ เชื้อพระวงศ์ไทย ล่ามคนไทยก็จะเป็นผู้แปลและถ่ายทอดเป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นฟัง

นอกจากนี้ หลักการสำหรับล่ามของญี่ปุ่นคือ จะแปลโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ตามเพศของผู้พูด เช่น นายกรัฐมนตรี (ชาย) พูดว่า “ผมยินดีที่ได้ต้อนรับคณะจากไทย” ล่ามซึ่งเป็นผู้หญิงก็จะต้องแปลโดยใช้คำว่า “ผม” ตามนั้น ส่วนในการประชุมที่จะต้องมีการแจ้งนโยบายหรือข้อสรุปค่อนข้างตายตัว ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยมักจะเตรียมเอกสารฉบับแปลไว้ก่อน พอถึงเวลาก็นำออกมาอ่านตามนั้น

ล่ามของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแปลจนชำนาญกันอยู่แล้วทุกคน แต่ละคนเคยมาอยู่เมืองไทยคนละหลายปี ผมถึงได้งงว่าเก่งขนาดนี้แล้วจะมาทาบทามให้ผมไปสอนอะไร? แต่ต่อมาก็ได้ทราบความจริงว่า สิ่งที่ยากสำหรับล่ามขั้นเทพเหล่านี้คือ คำราชาศัพท์ และคำที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ย่อมกลายเป็น “ล่ามมหาเทพ” ในที่สุด

ในด้านเนื้องาน การเป็นล่ามอาจถูกมองว่าเป็นงานสบาย อย่างล่ามอิสระในเมืองไทย ทำแค่เดือนละ 3 วันก็มีเงินพออยู่ได้ทั้งเดือน แต่การมองแบบนี้มีทั้งส่วนถูกและส่วนผิด ถูกในแง่ที่ว่าได้เงินเร็ว ส่วนที่ผิดก็คือ งานล่ามไม่ใช่งานสบาย ดูเหมือนไม่เหนื่อยกาย แต่กว่าจะผลิตลมออกมาเป็นคำพูดได้นั้นต้องใช้เวลาเรียนนานหลายปี มีความเครียดสูงขณะทำงาน อีกทั้งยังหยุดเรียนรู้ไม่ได้เด็ดขาด และต้องรู้ในทุกๆ ด้านด้วย

นักการทูตหญิงในกลุ่มลูกศิษย์ที่กระทรวงเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง เชื้อพระวงศ์ไทยเสด็จเยือนญี่ปุ่น เมื่อทอดพระเนตรเห็นรูปปั้นลักษณะแปลกตาในวัด ทรงถามว่านี่อะไร ล่ามคนญี่ปุ่นก็ต้องทูลเป็นภาษาไทย คำญี่ปุ่นเรียกว่า “โบะซะสึ” แต่ปรากฏว่าล่ามไม่ทราบคำไทย ผมจึงถามว่าแปลไม่ได้แล้วทำยังไง เธอบอกว่าก็พยายามอธิบายอ้อมไปอ้อมมา แล้วก็บังเอิญว่ามีล่ามจากฝ่ายไทยอยู่แถวนั้นพอดี จึงช่วยกัน เมื่อผ่านทั้งอ้อมน้อยและอ้อมใหญ่ จึงได้คำว่า “พระโพธิสัตว์” ออกมา

นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่า การเป็นล่ามที่ดี นอกจากเข้าใจภาษาแล้วก็ต้องรอบรู้ครอบจักรวาลโดยลงให้ลึกถึงรากทางวัฒนธรรมด้วย เพราะคำที่เหนือความคาดหมายมักปรากฏออกมาเป็นระยะๆ ล่ามประเภทเศรษฐกิจ การเมือง การค้า ถือว่าธรรมดามากในวงการ เพราะประเทศไหนๆ ก็มีจุดร่วมเหมือนกันเกือบหมด คำที่ใช้ก็ซ้ำๆ เป็นคำทั่วไป แต่เมื่อขยับไปถึงเรื่องเฉพาะทาง อย่างวัฒนธรรมจำเพาะซึ่งประเทศหนึ่งมีแต่อีกประเทศหนึ่งไม่มี หรือประเทศหนึ่งสนใจมากกว่าอีกประเทศหนึ่ง การแปลก็จะกลายเป็นงานช้างขึ้นมาทันที เพราะคำประเภทนี้น้อยนักที่จะมีสอนในแบบเรียน ถ้าไม่ไปอยู่ในประเทศนั้นก็มองไม่ออกว่าคนที่นั่นสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

ขณะที่ภูมิต้านทานความเครียดสวนทางกับอายุ ทุกวันนี้ ผมก็ยังทึ่งทุกทีที่ได้เห็นล่ามในงานต่างๆ ยังรู้สึกดีและชื่นชมเหมือนเดิม แต่เพิ่มความโล่งอกลงไปหน่อยตรงที่ว่า ดีที่วันนี้คนตรงนั้นไม่ใช่เรา

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น