xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตขนมปังเคือง กระทรวงศึกษาฯญี่ปุ่นสั่งเปลี่ยนเนื้อหาตำรา อ้าง "ขนมปัง" ไม่ใช่ "ขนมญี่ปุ่น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นแนะนำให้ผู้ผลิตหนังสือสำหรับเด็กเปลี่ยนเนื้อเรื่องเกี่ยวกับร้านขนมปัง เป็นร้านขนมแบบญี่ปุ่น โดยระบุว่าเด็กควรซึมซับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น แทนวัฒนธรรมตะวันตก

“ฉันไปยังร้านขนมปังที่ส่งกลิ่นหอม ร้านขนมปังนี้เป็นของเพื่อนที่อยู่ชั้น ป.1 ของฉัน ฉันซื้อขนมปังที่น่าอร่อยกลับไปให้พ่อกับแม่ที่บ้าน”

ข้อความข้างต้นมาจากหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กชั้นประถมของญี่ปุ่นเรื่อง “เส้นทางเดินเล่นวันอาทิตย์” ของสำนักพิมพ์โตเกียว โชเซคิ ที่ส่งให้คณะกรรมการของกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา แต่ผลการพิจารณาระบุว่าหนังสือดังกล่าว “ไม่สามารถทำให้เด็กนักเรียนรักในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น”

คำแนะนำจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ทางสำนักพิมพ์ปรับเนื้อหาจาก “ร้านขนมปัง” เป็น “ร้านขนมญี่ปุ่น” หรือ “วะกะชิ” พร้อมบรรยายว่า ขนมญี่ปุ่นช่างสวยงาม และยังเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลด้วย
อันปัง หรือขนมปังไส้ถั่วแดง ที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น
ความพยายามปลูกฝังค่านิยมแบบญี่ปุ่นของคณกรรมการของกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นนี้ ทำให้บรรดาเชฟเบเกอรี่ และคนรักขนมปังไม่สบอารมณ์  “ทาคะโอะ นิชิคาวะ” ประธานสมาพันธ์แห่งผู้ผลิตขนมปังแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า การอ้างขนมปังเป็นวัฒนธรรมตะวันตกจนต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาหนังสือเรียน “เป็นเรื่องไร้สาระและพิลึกพิลั่น”

สมาพันธ์แห่งผู้ผลิตขนมปังแห่งญี่ปุ่นมีสมาชิกกว่า 1,500 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนมปังสำหรับอาหารเที่ยงของโรงเรียนต่างๆ ระบุว่า โรงงานขนมปังหลายแห่งยืนหยัดผลิตขนมปังให้โรงเรียน ถึงแม้ต้องขาดทุนก็ตาม แต่ทางการกลับมองขนมปังว่าเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ ที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นนี้”

สมาพันธ์แห่งผู้ผลิตขนมปัง ระบุว่า มีแผนที่จะประท้วงต่อกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับคำสั่งให้แก้ไขตำราเรียนเช่นนี้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ขนมปังไส้ถั่วแดงหรือครีมถือเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นโดยแท้ ไม่ใช่วัฒนธรรมต่างชาติ

มีรายงานว่าหลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป กระทรวงศึกษาธิการได้รับโทรศัพท์มากกว่า 30 สาย แสดงความไม่พอใจกับการแก้ไขตำราเรียนดังกล่าว แต่ทางกระทรวงฯ ยืนยันว่าไม่ได้สั่งให้แก้ไขเนื้อหาเปลี่ยน “ขนมปัง” เป็น “ขนมญี่ปุ่น” เพียงแต่แนะนำว่า เนื้อหาของหนังสือเด็กในชั้นประถมควรเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่การปรับเปลี่ยนเนื้อหาเป็นดุลยพินิจของทางสำนักพิมพ์เอง

ทางด้านสำนักพิมพ์ เปิดเผยว่า ผลการพิจารณาของทางกระทรวงเปิดช่องให้แก้ไขได้น้อยมาก เพราะนอกจากเนื้อหาของหนังสือจะต้องสอดแทรกหลักจริยธรรม สอดคล้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องจำกัดความยาวของประโยค และความยากของเนื้อหาให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียนชั้นป.1 ด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น