ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่นคือมหายาน ซึ่งมีข้อแตกต่างกับของไทยที่คนไทยมักจะตกใจ คือ พระญี่ปุ่นมีภรรยาได้ ดื่มเหล้าได้ และคนญี่ปุ่นมองว่าพระคืออาชีพ อีกทั้งยังมีคนอีกมากที่มองเชิงตำหนิว่าพระรวยและวัดก็รวยเพราะไม่ต้องจ่ายภาษี เงินบริจาคกับเงินค่าบริการดูแลสุสานมียอดเท่าไรก็ไม่ต้องเปิดเผยให้เป็นที่กังขาถึงที่มา ลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นทราบกันดี แต่ถ้าถามถึงคำสอนหรือประวัติของศาสนาพุทธแล้วละก็ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้คำตอบจากคนญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีวัดตามขนบพุทธและมีศาลเจ้าตามขนบชินโตอยู่ทั่วประเทศ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไปทั้งวัดและศาลเจ้า แต่ญี่ปุ่นไม่มีวันหยุดราชการที่เป็นวันทางศาสนาเลย และคนญี่ปุ่นทุกวันนี้รู้จักศาสนากันอย่างผิวเผิน ผมเคยถามลูกศิษย์หลายคน บางคนบอกว่า “ไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลย” พอถามอีกว่าไปวัดไหม? ก็ตอบว่าไป ไปศาลเจ้าไหม? ก็ตอบว่าไป แต่พอถามว่ารู้อะไรเกี่ยวกับพุทธและชินโตบ้าง ก็เงียบไป ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าคงไม่ค่อยรู้ และยังมีคนญี่ปุ่นอีกไม่น้อยที่จะนิ่งคิดสองสามวินาทีเหมือนลังเล แล้วจึงตอบว่า “นับถือพุทธมั้ง”
ตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่นมาเกือบยี่สิบปี พอถามคนญี่ปุ่นเรื่องศาสนา ก็แทบไม่มีใครอธิบายได้ละเอียดมากกว่าคำว่า “เกิดแบบชินโต แต่งงานแบบคริสต์ ตายแบบพุทธ” เพิ่งมาระยะหลังนี่ ผมถึงค่อยๆ หาหนังสือมาอ่านเองได้ (แรกๆ อ่านไม่ได้เพราะศัพท์ศาสนาใช้ตัวอักษรยากๆ มากมาย) แล้วก็เจออยู่คนเดียวที่ช่วยสาธยายให้ฟังได้ยาวมากจนถึงขั้นสวดมนต์แถมอีก ด้วยบังเอิญว่าเพื่อนคนนี้เป็นลูกชายของพระชินโตเจ้าของศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ซึ่งชีวิตปกติก็เป็นฆราวาสทั่วไป แต่พอถึงฤดูกาล พ่อก็จะเรียกให้ไปช่วยงาน เช่น ไปทำพิธีปัดรังควานตามบ้านแล้วแต่จะมีใครมานิมนต์
แม้คนญี่ปุ่นที่ตระหนักว่าตัวเองนับถืออะไรและเข้าใจคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธนั้นจะมีไม่มาก แต่พุทธศาสนาก็ส่งอิทธิพลหลายด้านในสังคมญี่ปุ่นโดยที่คนญี่ปุ่นไม่รู้ตัวหรือไม่เคยสังเกต ศาสนาพุทธเริ่มแผ่เข้ามาสู่ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อราวศตวรรษที่ 6 หรือประมาณ 1,500 ปีที่แล้ว โดยผ่านจากจีนมาทางคาบสมุทรเกาหลี เคยผ่านทั้งยุคที่รุ่งเรืองและยุคที่เสื่อมถอยโดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติเมจิปลายทศวรรษ 1860 เมื่อเกิด “ความเคลื่อนไหวเพื่อขจัดพุทธศาสนา” (廃仏毀釈; haibutsu kishaku) และมีการเชิดชูศาสนาชินโตขึ้นแทน ในระยะนั้นวัดหลายแห่งถูกยุบ วัตถุอันเป็นพุทธบูชาถูกทำลาย พระสงฆ์ถูกบังคับให้กลายเป็นพระชินโต หลังจากนั้น สถานการณ์จึงค่อยๆ ซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งว่ากันว่าศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตกองทัพญี่ปุ่น ช่วงนั้นเมื่อทหารเสียชีวิตในสงครามก็จะต้องทำพิธีศพและตั้งชื่อตามคติพุทธให้ใหม่ พระสงฆ์จึงเป็นที่ต้องการตัวมากขึ้น
นิกายย่อยในศาสนาพุทธของญี่ปุ่นมีไม่ต่ำกว่าสิบ ถ้าสายที่คนไทยคุ้นชื่อหน่อยก็คือ “เซ็ง” (禅;Zen) หรือมักเขียนว่า “เซน” ซึ่งแปลว่า “ฌาน” โดยมีต้นกำเนิดจากพระโพธิธรรม หรือ “โบะได-ดะรุมะ” (โพธิ-โบะได [菩提;bodai]; ธรรมะ-ดะรุมะ [達摩;daruma]) หรือ “ตั๊กม้อ” (แต้จิ๋ว) ผู้สถาปนาวัดเส้าหลินในจีนนั่นเอง ซึ่งว่ากันตามตำนานว่ามาจากอินเดีย มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 หรือ 6 และบำเพ็ญพรตโดยการนั่งสมาธิ (เข้าฌาน) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซะเซ็ง” (座禅;zazen)
อิทธิพลที่ศาสนาพุทธมีต่อคนญี่ปุ่นยังปรากฏให้เห็นมากมายในชีวิตประจำวันแม้คนญี่ปุ่นไม่ตระหนักก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ง่ายก็เช่น โบราณวัตถุ พระพุทธรูป หรือตุ๊กตาดะรุมะตัวป้อมๆ ตาโตๆ คล้ายตุ๊กตาล้มลุก ซึ่งใช้ขอพรโดยเขียนตาสีดำข้างหนึ่งลงไปก่อน พอสมหวังก็เติมตาอีกข้างให้สมบูรณ์ ชื่อ “ดะรุมะ” ก็คือ “ธรรมะ” ซึ่งมาจากชื่อพระโพธิธรรม
ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรมกว่านั้นก็มี เช่น ความหมายของการไหว้ ปกติคนญี่ปุ่นทำความเคารพโดยการคำนับ แต่เมื่อไปวัดก็ยกมือไหว้พระ คติญี่ปุ่นบอกว่าการพนมมือสื่อความหมายว่า ตัวเรากับพระพุทธเจ้าผสานรวมกัน มือขวานั้นหมายถึงพระพุทธผู้ทรงไว้ซึ่งบริสุทธิคุณ ส่วนมือซ้ายหมายถึงกิเลสของตัวเรา เมื่อประกบเข้าหากันก็สื่อว่า เราจะชำระล้างกิเลสโดยดำเนินตามรอยพระศาสดา
เทศกาล “โอะบง” (お盆;O-bon) ซึ่งก็คือการไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ ก็มีที่มาจากศาสนาพุทธเช่นกัน ในสมัยพุทธกาล พระโมคคัลลานะ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โมะกุเร็ง” [目連; Mokuren]) เข้าสู่สมาธิท่องไปในนรกและเห็นมารดาของตนในนั้น จึงไปถามพระพุทธเจ้าว่าควรทำประการใดเพื่อช่วยให้มารดาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสแนะให้ทำบุญแก่เหล่าพระสงฆ์ที่เพิ่งจำพรรษาหน้าร้อนเสร็จสิ้นและอุทิศส่วนกุศลให้แก่มารดา จึงกลายเป็นที่มาของโอะบงในญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับช่วงหน้าร้อนกลางเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ เมื่อมีคำสอนก็ต้องมีภาษา ภาษาสันสกฤตจึงหลั่งไหลเข้ามาด้วย คำบางคำใช้แพร่หลายจนไม่มีวี่แววให้คนญี่ปุ่นสงสัยเลยว่านี่เป็นคำที่มาจากศาสนาพุทธ อย่างเช่นคำว่า “สามี” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “ดันนะ” (旦那;danna) ซึ่งก็คือคำสันสกฤต dāna หรือตามที่ภาษาไทยใช้คือ “ทาน” (ทา-นะ) ความหมายตามภาษาสันสกฤตคือ “การให้” เป็นรากเดียวกับคำว่า donor-ผู้บริจาค และด้วยนัยตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผู้ที่ให้การเลี้ยงดูและคุ้มครองภรรยานั้นคือผู้ให้ ต่อมาคำนี้จึงมีความหมายว่า “สามี”
ส่วนคำอื่นๆ ในภาษาญี่ปุ่นก็มีอีกหลายคำที่เป็นการถ่ายเสียงภาษาสันสกฤตเข้ามาแบบนั้นเลยโดยไม่แปลเป็นญี่ปุ่น แต่หาตัวอักษรที่มีเสียงใกล้เคียงมาถ่ายทอดและให้สื่อความหมายทางศาสนา (ลำดับคำในวงเล็บคือ ตัวอักษรญี่ปุ่น-เสียงอ่านญี่ปุ่น-เสียงอ่านสันสกฤต) ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้
อะ-ชุ-ระ (阿修羅; ashura; asura) – อสุร- (อสูร)
นะ-ระ-กุ (奈落; naraku; naraka) – นรก (คำญี่ปุ่นที่แพร่หลายกว่าคือ “จิโงะกุ” [地獄;jigoku])
บุด-ดะ (仏陀; budda; Budhda) – พุทธะ (พระพุทธเจ้า)
ยะ-ชะ (夜叉; yasha; yakṣa) – ยักษ์
อะ-จะ-ริ (阿闍梨 ; ajari; ācārya) – อาจารย์ทางศาสนา
บิ-กุ (比丘; biku; bhikṣu) – ภิกษุ
ขณะที่เมืองไทยอยู่ในสัปดาห์วิสาขบูชา หลายคนคงสงสัยว่าญี่ปุ่นมีเหมือนไทยหรือไม่ คำตอบคือ “มี” แต่ไม่ได้นับเหมือนเราและไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เทศกาลของญี่ปุ่นที่เทียบเคียงได้กับวิสาขบูชาของไทยคือ “คัมบุสึเอะ” (灌仏会;kanbutsue) กำหนดตายตัวทุกปีคือวันที่ 8 เมษายน โดยถือเป็นการฉลองวันประสูติของพระพุทธองค์ และไม่ได้ยึดถือขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แบบไทย ไม่มีประเพณีทำบุญตักบาตรเวียนเทียนเหมือนคนไทย แต่เป็นการสักการะด้วยดอกไม้อย่างที่ปฏิบัติกันเป็นประจำ แต่อาจจัดเป็นงานที่ใหญ่กว่า
คนญี่ปุ่นน้อยคนมากที่จะรู้ว่าศีลห้าประกอบด้วยอะไรหรือรู้ว่าอริยสัจสี่คืออะไร ศาสนาพุทธสำหรับคนญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนประเพณีด้านการประกอบพิธีมากกว่าการเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ หากถือว่าศาสนาคือหลักยึดทางใจ ก็คงน่าเสียดายถ้าไม่นับถือศาสนาใดเลย แต่ถ้ามองอีกที หากมีหลักดำเนินชีวิตอันเหมาะสมอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นศาสนา แค่นั้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับการอยู่ในสังคมดังแนวโน้มของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th