ญี่ปุ่นครบรอบ 70 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 3 พฤษภาคมของปีนี้ ขณะที่รัฐบาลของนายกฯชินโซ อะเบะ พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลก แต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นยังมีความเห็นสนับสนุนและคัดค้านสูสีกันมาก
หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลก ศูนย์บัญชาการสูงสุดของกองกำลังสัมพันธมิตรได้ร่างรัฐธรรมนูญให้กับญี่ปุ่น โดย ยึดถือหลัก 3 ประการ ได้แก่ อำนาจอธิปไตยของประชาชน, เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และสันตินิยม รัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามว่า “ฉบับสันติภาพ” ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้โดยไม่มีการแก้ไข
ประเด็นในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ มาตรา 9 ซึ่งระบุว่า ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามเพื่อเป็นวิธียุติข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อแสดงถึงเจตนารมย์ใฝ่สันติภาพต่อนานาชาติ และจะไม่คงไว้ซึ่งกองทัพบก เรือ และอากาศ รวมทั้งศักยภาพในการทำสงคราม
ความจริงแล้วข้อความท่อนนี้ไม่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญดั้งเดิม ซึ่งร่างโดยศูนย์บัญชาการสูงสุดของกองกำลังสัมพันธมิตร แต่ถูกเพิ่มเติมลงในรัฐธรรมนูญโดยฝั่งญี่ปุ่นเอง
ผู้ที่เรียกร้องให้ใส่คำว่า "สันติภาพ" ลงในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ คือ โยะชิโอะ ซุซุกิ คณะอนุกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญหลังสงคราม บันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการแสดงให้เห็นว่า คุณซุซุกิเรียกร้องว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะประกาศว่าประชาชนญี่ปุนรักสันติภาพ โดยให้เหตุผลว่าแค่การละสิทธิ์ในการทำสงครามนั้นไม่เพียงพอ แต่ญี่ปุ่นควรเขียนอุดมคติอันสูงส่งนั้นลงไปในรัฐธรรมนูญด้วย
เหตุผลที่คุณซุซุกิยืนกรานที่จะใส่คำว่า "สันติภาพ" นั้น มาจากประสบการณ์ของเขาในช่วงสงคราม ซึ่งทหารจะถูกส่งไปตามโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้นเป็นต้นไปเพื่อสอนวิธีใช้อาวุธ และปลุกเร้าบรรดานักเรียน
ในช่วงสงคราม รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ประกาศใช้กฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามผู้ใดก็ได้ที่ไม่ทำตามนโยบายของประเทศ ผู้คนจำนวนมากถูกจับกุม, สังหาร และละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยข้อกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ”
คุณซุซุกิซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโทโฮขุอิมพีเรียล คัดค้านนโยบายดังกล่าวเพราะขัดต่อหลักเสรีภาพในการศึกษา ท่าทีของเขาสร้างความโกรธแค้นให้กับกองทัพและเขาก็ถูกบังคับให้ออกจากมหาวิทยาลัย
หากแต่วันนี้ สงครามโลกได้สิ้นสุดลงเป็นเวลา 72 ปีแล้ว และสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นและโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐบาลของนายกชินโซ อะเบะ ที่เมื่อรวมกับพรรคการเมืองพันธมิตรและมีเสียงในทั้ง 2 สภามากกว่า 2 ใน3 เหลือ สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เหลือเพียงแค่การลงประชามติจากประชาชนชาวญี่ปุ่นเท่านั้น
ชาวญี่ปุ่นเห็นด้วย,คัดค้าน ครึ่งต่อครึ่ง
ผลการสำรวจล่าสุดของสำนักข่าวเกียวโต พบว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 49 เห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ที่คัดค้านมีร้อยละ 47 ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบไม่แตกต่างจากการสำรวจ 2 ครั้งเมื่อปีก่อนหน้า
ผู้ที่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอิทธิพลของเกาหลีเหนือและจีน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลว่า ต้องการทำให้สถานะของ “กองกำลังป้องกันตนเอง” มีความชัดเจน
ส่วนกลุ่มที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ญี่ปุ่นรอดพ้นจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนพัฒนาเศรษฐกิจได้ก้าวหน้า พร้อมกลัวว่าว่าหากมีการแก้ไขมาตรา 9 จะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มศักยภาพทางการทหาร และจุดชนวนความขัดแย้งหรือสงครามขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 60 ยอมรับว่าจะต้องมีการทบทวนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทันสมัย โดยเฉพาะประเด็นถกเถียงเรื่องมาตรา 9 และกองกำลังป้องกันตนเอง
แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เห็นว่า รัฐบาลของนายกฯอะเบะไม่ควรรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้วิธี “พวกมากลากไป” เหมือนเช่นการผ่านชุดกฎหมายความมั่นคงในชั่วข้ามคืน
หากจะพูดกันอย่างยุติธรรม ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้รัฐธรรมนูญที่คนอื่นร่างขึ้นมาให้ และยังกำหนดให้สละสิทธิ์ในการมีกองทัพ ญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวมานานถึง 70 ปี ขณะที่ประเทศอื่นฉีกรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่น อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพจะเป็นอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับฉันทามติของประชาชนชาวญี่ปุ่น.