xs
xsm
sm
md
lg

โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต...จากวันรุ่งถึงวันร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” สโลแกนนี้กำลังจะกลายเป็นอดีต เพราะบริษัทโตชิบากำลังเผชิญมรสุมทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นนี้ล้มลง ขั้นเลวร้ายที่สุด คือ ถูกเพิกถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ และถูกซื้อกิจการโดยบริษัทต่างชาติ

บริษัทโตชิบา ซึ่งขาดทุนมหาศาลจากธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ จำต้องประกาศรายงานการเงินของปี 2016 ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากต้องเลื่อนมาแล้วถึง 2ครั้ง เพราะหาวิธีลงบัญชีผลขาดทุนก้อนโตไม่ได้

หากแต่รายงานการเงินที่โตชิบาประกาศออกมานี้กลับไม่ได้รับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนชัดเจนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้เข้าตาจนสุดขีด กลับตัวก็ไม่ได้ เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง

บริษัทไพรช์ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ อาระตะ ผู้สอบบัญชีของโตชิบา ระบุว่า ไม่สามารถรับรองรายงานการเงินของโตชิบาได้ เพราะมีแรงกดดันที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ลงบัญชีตัวเลขขาดทุนจากธุรกิจนิวเคลียร์ในสหรัฐฯ น้อยกว่าเป็นความจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขขาดทุนของโตชิบาที่แท้จริงมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะคาดกันว่าโตชิบาอาจขาดทุนในระดับ “ล้นพ้นตัว” คือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินราว 620,000ล้านเยน แต่จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา เชื่อกันว่าผลขาดทุนอาจมากกว่าในระดับที่คาดไม่ถึง

ไร้ธรรมาภิบาล เสี่ยงถูกถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์

ก่อนหน้านี้ ในปี 2015 โตชิบาก็เคยถูกตลาดทรัพย์โตเกียว “ให้ใบแดง” หลังพบว่าตกแต่งบัญชีอยู่นานถึง 7 ปี ทำให้บริษัทมีผลกำไรเกินจริง และตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น โตชิบาอาจถูกถอนหุ้นถ้าหนี้สินยังสูงกว่าสินทรัพย์ในงบการเงินเดือนมีนาคม ปี 2018 นี่คือเหตุผลที่โตชิบาต้องจำใจขายธุรกิจเมมโมรี่ชิป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นหัวใจของบริษัทที่ทำกำไรให้โตชิบามาตลอด เพื่อรักษาองคาพยพขององค์กรไว้ให้ได้

แต่ก็เหมือน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” เพราะถึงแม้จะมีนักลงทุนต่างชาติที่จับจ้องธุรกิจเมมโมรี่ชิปอย่างตาเป็นมัน แต่รัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า ธุรกิจเมมโมรี่ชิปของโตชิบามีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศ จึงไม่ควรให้ตกเป็นอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามให้บริษัทต่างๆในญี่ปุ่นลงขัน เพื่อประมูลซื้อหุ้นในธุรกิจเมมโมรี่ชิปของโตชิบา แต่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาวะยากลำบาก จึงไม่อยากจะเป็น “เตี้ยอุ้มค่อม” อีก

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังประกาศว่า จะสืบสวนโตชิบาเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมมโมรี่ชิป ที่อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกของโตชิบาในฟิลิปปินส์อาจละเมิดสิทธิบัตรของบริษัทไต้หวัน ซึ่งก็หมายความว่า สุดยอดเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นภูมิใจนักหนา ก็ไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่ตัวเองคิดค้นขึ้นทั้งหมดแต่อย่างใด!
กัวไถหมิง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ของหงไห่ ซื้อกิจการของชาร์ป โดยไม่ใช้เงินจากธนาคารญี่ปุ่นแม้แต่เยนเดียว!
รัฐบาลญี่ปุ่นขวาง หวั่นเทคโนโลยีไหลสู่แดนมังกร

ในการประมูลซื้อหุ้นธุรกิจเมมโมรี่ชิปของโตชิบาครั้งแรก บริษัทที่เสนอราคาสูงสุด คือ หงไห่ พริซิชั่น ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ที่เพิ่งซื้อกิจการของชาร์ปเมื่อ 2ปีที่แล้ว โดยเสนอราคามากถึง 3ล้านล้านเยน สูงกว่าราคาที่โตชิบาคาดไว้ถึง 1ล้านล้านเยน

นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าประมูล ก็ยังมี SK Hynix จากเกาหลีใต้ และ BROADCOM ของสหรัฐฯ โดยแต่ละรายต่างเสนอราคาที่สูงมากในระดับ 2 -2.5 ล้านล้านเยน เพื่อหวังครอบครองธุรกิจของโตชิบา หากแต่ไม่มีธุรกิจของญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลเลยแม้แต่รายเดียว!
รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่า หงไห่ จะทำให้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นตกอยู่ในมือจีน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมา “ตีปลาหน้าไซ” ทันที โดยแสดงความกังวลว่าเทคโนโลยีของโตชิบาจะตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะหงไห่ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตโทรศัพท์ไอโฟนจนร่ำรวยนั้น มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีน และ นาย “กัวไถหมิง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ของหงไห่ ก็มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนอย่างมาก

นาย “กัวไถหมิง” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไต้หวัน ได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะได้ธุรกิจเมมโมรี่ชิปของโตชิบามาไว้ในครอบครอง และได้เดินเกมเหนือชั้นโดยเจรจากับบริษัทแอปเปิลของสหรัฐฯ และบริษัทซอฟแบงก์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นให้ร่วมกันซื้อหุ้นของโตชิบา เพื่อลดความกังวลของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าเทคโนโลยีจะตกไปอยู่ในมือต่างชาติ

เงื่อนไขพันธมิตรครั้งนี้ คือ แอปเปิลจะถือหุ้นในโตชิบา 20% หงไห่ถือหุ้น 30% ส่วนซอฟแบงก์จะให้การสนับสนุนทางการเงินจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังจะให้โตชิบารวมทั้งบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ ถือหุ้นได้ในสัดส่วนหนึ่งด้วย

โมเดลนี้น่าจะทำให้โตชิบากระดี๊กระด๊า เพราะจะได้เงินมากู้ธุรกิจของตัวเอง ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นก็น่าจะโล่งใจ หากแต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากอเมริกา, ไต้หวัน หรือญี่ปุ่นเอง ที่จะมาครอบครองกิจการของโตชิบา ก็ไม่ได้รับประกันว่าเทคโนโลยีจะยังคงอยู่ในญี่ปุ่น เพราะเงินตราไม่มีสัญชาติ พร้อมจะไหลไปสู่แหล่งที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุดเสมอ โดยที่ธุรกิจและรัฐบาลญี่ปุ่นต้องยอมรับว่า.... “อ่อนแอก็แพ้ไป”.

กำลังโหลดความคิดเห็น