xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! ชิมจริง พิสูจน์ “โคลา สลายไขมัน” จากญี่ปุ่นชัวร์หรือมั่วนิ่ม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โคคาโคลา พลัส” น้ำอัดลมที่เพิ่งวางจำหน่ายในญี่ปุ่น อ้างว่าสามารถลดการดูดซึมไขมันในอาหาร โฆษณาว่าเป็น “น้ำอัดลมสุขภาพ” ดื่มแล้วไม่อ้วน เครื่องดื่มน้ำดำที่ดังข้ามประเทศมาถึงไทยมีดีจริง หรือแค่มายา ต้องพิสูจน์ชัดๆด้วยการชิมจริง และผลทดลองทางวิทยาศาสตร์

เว็บไซต์เกี่ยวกับญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวนมาก ตื่นเต้นกับ “โคคาโคลา พลัส” ที่วางจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานผู้บริโภคของญี่ปุ่นว่าเป็น “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” เพราะผสมสาร dextrin ที่มีผลวิจัยพบว่าช่วยลดการดูดซึมไขมัน และลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

“โคคาโคลา พลัส” จึงลบล้างภาพลักษณ์ของน้ำอัดลม ซึ่งเป็นวายร้ายบั่นทอนสุขภาพ และยังอ้างว่า มีรสชาติดีกว่าน้ำอัดลมสูตร Light หรือ Diet ที่เป็นสูตรน้ำตาล 0%
เครื่องหมาย เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  โดยสำนักงานผู้บริโภคญี่ปุ่น
“โค้ก” ไม่ใช่เจ้าแรก “เม็ทส์ โคลา” คือต้นตำรับ

“น้ำอัดลมเพื่อสุขภาพ” มีในญี่ปุ่นมานานแล้ว โดยผู้ริเริ่มคือ “คิริน” ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่นำเสนอ “เม็ทส์ โคลา” ตั้งแต่ปี 2012 โดยมีส่วนผสมหลักคือ dextrin ช่วยดูดซับไขมัน เหมือนกับ “โคลา โคลาพลัส” ทุกประการ และได้รับตรารับรองจากสำนักงานผู้บริโภคแห่งญี่ปุ่นเป็นรายแรกด้วย

ในปีต่อมา “เป๊ปซี่ สเปเชียล ซีโร่” ที่ผลิตโดย “ซันโทรี่” ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่มอีกรายของญี่ปุ่นก็วางจำหน่าย โดยมีคุณสมบัติดูดซับไขมัน และได้รับตรารับรองเหมือนกัน
 “เม็ทส์ โคลา” ต้นตำรับโคล่าลดไขมัน
อย่างไรก็ตาม “เม็ทส์ โคลา” ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก ทั้งจากรสชาติที่ไม่โดนใจผู้บริโภค และช่องทางจำหน่ายที่เน้นเฉพาะตู้จำหน่ายอัตโนมัติของคิริน “เม็ทส์ โคลา” ขายได้ปีละ 1.5 ล้านลัง เทียบไม่ได้กับเป๊ปซี่ ซีโร่ที่ขายได้มากถึง 31ล้านลัง

ดังนั้น “โคคาโคลา พลัส” ที่เพิ่งเปิดตัวจึงถือว่าล่าช้ากว่าเพื่อนถึง 5 ปี แต่กลับเป็นที่ฮือฮา เพียงเพราะความเป็นเจ้าตลาด และกลยุทธ์การตลาดของค่ายโค้ก

ดื่มจริง พิสูจน์จริง รีวิวชัดๆ

ผู้สื่อข่าว MGR Online ประจำญี่ปุ่นได้ทดลองซื้อ “โคคาโคลา พลัส” และพบข้อความโฆษณาว่า “ช่วยลดการดูดซึมไขมันหลังกินอาการได้ประมาณ 7% พร้อมแนะนำว่า “เหมาะกับผู้ที่อายุเกิน 40 ปี และควรดื่มพร้อมหลังกินอาหารวันละ 1ขวด 470 มล.”

“แพน” สาวน้อยชาวไทยที่ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศญี่ปุ่นนานกว่า 6 ปี จนได้รับหน้าที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้จังหวัดนากาโนะ ได้ทดลองชิมแล้วบอกว่า “รสชาติอร่อยดี หวาน กินง่าย” แต่เธอก็บอกว่ารสชาติใกล้เคียง “โค้กซีโร่” คือหวานติดปลายลิ้น ซึ่งคงเป็นเพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั่นเอง

นักท่องเที่ยวไทยที่ได้ลิ้มลองก็บอกว่า รสหวานต่างจากของไทย เหมือนมีรสตามมา แต่ก็ถือว่าอร่อยใช้ได้

ทางด้าน “พลอย” นักศึกษาสาวไทย ณ นครโอซากา บอกว่า รสชาติใกล้เคียงกับโค้กปกติมาก แต่เธอก็คิดว่าโค้กของไทยซ่ากว่า อร่อยกว่าโค้กญี่ปุ่น

วิศวกรหนุ่มชาวไต้หวันที่ประกาศตัวเป็น “แฟนพันธุ์แท้” ทดลองเครื่องดื่มญี่ปุ่นมาแล้วเกือบทุกชนิด ให้ความเห็นว่า รสชาติดีกว่า “เม็ทส์ โคลา” แต่ก็ยังไม่ใกล้เคียงกับโค้ก ต้นตำรับ โค้กที่ไต้หวันและญี่ปุ่นถือว่ารสชาติใกล้เคียงกันมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไต้หวันริเริ่มโดยญี่ปุ่น

แต่กลุ่มที่ “รับไม่ได้” คือ ชาวเกาหลีที่ระบุว่า รสชาติแปลกประหลาด!!
แผนภูมิวิเคราะห์รสชาติโคล่าในญี่ปุ่น แกนตั้งแสดงรสหวาน แกนนอนแสดงความซ่า
เจาะลึก “โคลา เจแปน” รสชาติเฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่นจริงหรือ?

ถึงแม้บริษัท “โคคาโคลา” และ “เป๊ปซี่” ผู้ผลิตน้ำดำชื่อดังระดับโลกจะบอกว่า รสชาติของโคลาในประเทศต่างๆ เหมือนกัน เพราะใช้หัวเชื้อสูตรลับพิเศษ แต่ความจริงแล้ว น้ำอัดลมในแต่ละประเทศและแต่ละยี่ห้อมีความต่างกัน เพราะรสชาติของน้ำเชื่อมที่ใช้และปริมาณก๊าซ เพียงแต่ความแตกต่างนั้นมีน้อยมากจนอาจรู้สึกไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ค่ายน้ำดำชื่อดังเคยเปิดเผยว่า โคลาในญี่ปุ่นถูกปรับปรุงสูตรเฉพาะ เนื่องจากลิ้นของชาวญี่ปุ่นแยกแยะรสชาติได้ 5 รส คือ หวาน, เปรี้ยว, เค็ม, ขม และกลมกล่อม หรือ รสอุมามิ ซึ่งอาหารหลายประเทศไม่มีรส “อุมามิ” นี้

ผลการวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า โคลาประกอบด้วย 2 รสชาติคือ หวานและซ่า ผลการแยกแยะรสชาติของโคลา 3 ยี่ห้อดังในญี่ปุ่นตามแผนผัง พบว่า “โคคาโคลา พลัส” มีรสหวานมากที่สุด มากกว่า “โค้ก ซีโร่” ด้วยซ้ำ ขณะที่ต้นตำรับอย่าง “เม็ทส์ โคลา” และคู่แข่งอย่าง “เป๊ปซี่ สเปเชียล ซีโร่” มีความหวานน้อยกว่า และเน้นที่ความซ่า

ผลการแยกแยะรสชาตินี้ชี้ชัดว่า “เม็ทส์ โคลา” และ “เป๊ปซี่ สเปเชียล” เน้นความซาบซ่า สดชื่นเวลาดื่ม ส่วน “โคคาโคลา พลัส” ซ่าน้อยกว่า เพื่อให้ดื่มได้ต่อเนื่องนั่นเอง

งานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคจำนวนมากรู้สึกว่า เครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล หรือใช้น้ำตาลเทียมไม่อร่อย โจทย์ที่ยากที่สุดของผู้ผลิตเครื่องดื่ม คือ ต้องผสมผสานรสชาติให้ใกล้เคียงกับรสต้นตำรับ ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนสูตร “เพื่อสุขภาพ” ก็ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ารสชาติเปลี่ยนแปลงไปจนรู้สึกได้ชัดเจน

เสพติดความหวาน อันตรายตัวจริงยิ่งกว่ากว่าไขมัน

งานวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า สาร dextrin ที่บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำดำอ้างนั้น สามารถลดไขมันได้จริง แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่มาก แต่ “ภัยมืด” ที่แฝงเร้น คือ การเสพติดความหวาน ที่อันตรายยิ่งกว่า

รสหวานเป็นรสชาติเดียวที่ดึงดูดมนุษย์จนเสพติดได้ บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มจึงใช้กลยุทธ์อันแยบยลเรื่อง “สุขภาพ” และ ”ลดไขมัน” เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาดื่มเครื่องดื่มรสหวาน และสุดท้ายก็จะเสพติดความหวานจนต้องดื่มอย่างต่อเนื่อง

การเลือกญี่ปุ่นเป็นสถานที่ทดลองตลาดก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะรู้กันดีว่าเครื่องดื่มและอาหารที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นนั้น มีโอกาสทำตลาดในนานาชาติได้สูงมาก ยิ่งเมื่อมีตรารับประกันเรื่องสุขภาพจากทางการญี่ปุ่นด้วยแล้ว ก็ยิ่งดึงดูดผู้บริโภคทั่วโลกได้ง่าย

กระแสตื่นตูม “โค้กสลายไขมัน” ของคนไทยคงไม่ต่างกับกระแส “ชาเขียว” เมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่ปรากฏการณ์ “เห่อสุขภาพ” นี้กลับ “ขึ้นต้นเป็นลำไม่ไผ่ เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา” เพราะความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นไม่นิยมดื่มน้ำอัดลมมากเท่ากับคนไทย และชาเขียวในญี่ปุ่นไม่มีรสหวานเหมือนชาเขียวเมืองไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น